เปิดใจ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ ประสบการณ์-มุมมอง ก่อนอำลาเลขาฯ‘กสทช.’

เปิดใจ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ ประสบการณ์-มุมมอง ก่อนอำลาเลขาฯ‘กสทช.’

เปิดใจ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ ประสบการณ์-มุมมอง ก่อนอำลาเลขาฯ‘กสทช.’

หมายเหตุนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์และมุมมองต่างๆ ในการทำงาน ก่อนจะเกษียณในวันที่ 30 มิถุนายนนี้

วันที่ 30 มิถุนายนนี้ จะเป็นวันสุดท้ายของการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. หลังได้รับเกียรติและความไว้วางใจจาก กสทช. ให้ทำงานในตำแหน่งนี้มาเป็นเวลา 8 ปี 5 เดือน 25 วัน รู้สึกใจหายไม่น้อยที่จะต้องจากองค์กรและพนักงานที่รู้สึกผูกพันเหมือนเป็นคนในครอบครัว ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา แต่งานเลี้ยงย่อมต้องมีวันเลิกรา เช่นเดียวกับธรรมชาติขององค์กรที่ต้องมีการผลัดใบ

การเกษียณราชการ ทำให้มีโอกาสย้อนคิดถึงเส้นทางการทำงานในสำนักงาน กสทช. สิ่งที่เราได้ร่วมกันสร้างเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ อุปสรรคนานัปการที่เราต้องฝ่าฟัน การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสำนักงาน กสทช. และความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า

Advertisement

ในฐานะที่มีโอกาสร่วมทำงานผลักดันนโยบายที่สำคัญหลายอย่างของสำนักงาน กสทช. ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จึงอยากเล่าประสบการณ์และมุมมองที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ทำงานใน กสทช. ต่อไปได้อย่างดี

ผมเข้าทำงานวันแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 ขณะนั้นยังเป็นสำนักงาน กทช. ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษเทียบเท่ารองเลขาธิการ ตอนนั้น สำนักงาน กทช. เป็นองค์กรใหม่เพิ่งก่อตั้ง องค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานจึงมีจำกัดมาก ทุกอย่างเป็นสิ่งใหม่ ต้องลองผิดลองถูก ลองคิดลองทำเกือบจะทั้งหมด ก่อนจะเข้ามาคลุกคลีศึกษางานอย่างละเอียด

งานที่คิดถึงเป็นอันดับแรก คือ การกำกับวิทยุสื่อสาร หรือวอล์กกี้ ทอล์กกี้ มานึกตอนนี้ทำให้เห็นว่า เพียงไม่กี่ปี กสทช. เดินทางมาไกลขนาดไหน

Advertisement

ขณะที่ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ผมใช้เวลาศึกษาลักษณะคลื่นความถี่ต่างๆ และงานด้านโทรคมนาคม เพราะมีความสนใจเทคโนโลยีการสื่อสารและความสำคัญของการสื่อสารต่อสังคมเป็นทุนเดิม ตอนผมเป็นเด็ก ช่วงปี 2510-2520 อยู่ในอำเภอที่ใกล้เคียงกับพื้นที่สีแดง (พื้นที่คอมมิวนิสต์) จะได้ยินเสียงวิทยุจากทั้งฝั่งรัฐบาลและฝั่งตรงกันข้ามอยู่ทุกวัน ได้สังเกตการตอบสนองของชาวบ้านต่อสารต่างๆ ทำให้เห็นอานุภาพของการสื่อสารโดยไม่รู้ตัว

ขณะใช้เวลาศึกษางาน ตอนนั้นการพัฒนาด้านโทรคมนาคมของไทยยังตามหลังประเทศอื่นๆ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการจัดสรรคลื่นความถี่ เมื่อปี 2553 ไทยยังใช้เทคโนโลยี 2G สำหรับโทรศัพท์มือถือ เน้นให้บริการด้านเสียง ส่วนความเร็วในการใช้อินเตอร์เน็ตค่อนข้างช้า ตอนนั้นจะดูคลิปวิดีโอในยูทูบผ่านมือถือต้องใช้เวลานานมาก

ปี 2543 ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเริ่มใช้เทคโนโลยี 3G สำหรับโทรศัพท์มือถือ สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ที่ความเร็วสูงถึง 42 เมกะบิต มากขึ้นเป็น 100 เท่าของ 2G ประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่น ลาวและกัมพูชา มี 3G ใช้ตั้งแต่ปี 2548

เพราะฉะนั้น การจัดสรรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นรากฐานสำคัญของการสื่อสารและเศรษฐกิจสมัยใหม่ หากทำให้ดีจะสร้างผลประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วไป การจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการนำคลื่นความถี่มูลค่ามหาศาลที่เคยอยู่ในมือของรัฐวิสาหกิจและธุรกิจไม่กี่ราย ออกมาประมูลผ่านกลไกตลาดอย่างเสรีและโปร่งใส

หลังศึกษางาน กทช.อย่างใกล้ชิด ทำให้ตกตะกอนความคิดถึงก้าวต่อไปของ กทช. จึงตัดสินใจสมัครเป็นเลขาธิการ กสทช. ถือเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต และวันที่ 5 มกราคม 2555 ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ กสทช. คนแรก รู้สึกดีใจที่จะนำความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของประเทศ โดยไม่รู้เลยว่าจะมีเหตุการณ์และความท้าทายรออยู่นับไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นคือการประมูลคลื่นความถี่

การประมูลคลื่นความถี่ รอคอยมานาน เพราะความล่าช้าของ พ.ร.บ.จัดตั้ง กสทช. ซึ่งให้อำนาจ กสทช. ประมูลคลื่นความถี่ ในที่สุดการประมูล 3G เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 จุดมุ่งหมายสำคัญคือให้ผู้เล่นรายใหม่มีโอกาสเข้ามาประกอบธุรกิจคมนาคม เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น จึงได้รับการแบ่งเป็นชุดเล็ก 9 ชุด เพื่อให้ผู้เล่นรายใหม่ที่ทุนยังไม่หนามากมีโอกาสชนะ โดยแต่ละรายประมูลได้ไม่เกิน 3 ชุด

แต่โชคไม่ดีที่มีผู้เข้าประมูลเพียง 3 ราย และเป็นรายใหญ่ทั้งหมด ผลการประมูลแต่ละรายได้ 3 ชุด ด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตั้งต้นไม่มากนัก แม้การประมูลโดยรวมจะผ่านไปด้วยดี สร้างรายได้เข้ารัฐ แต่สังคมกังขาว่า รูปแบบการประมูลเอื้อให้ผู้เข้าประมูล “ฮั้ว” กันหรือไม่ ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เจตนาของผู้ออกแบบการประมูลอย่างแน่นอน แต่ก็เข้าใจได้ว่าเหตุใดสังคมจึงคิดเช่นนั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงเขียนบันทึกเสนอต่อ กสทช. ให้เลื่อนการรับรองผลการประมูลออกไปก่อน เพื่อพิจารณาหาหนทางที่เหมาะสม แต่ กสทช.ขอให้รับรองตามผลการประมูลที่เกิดขึ้น ถือเป็นบทเรียนสำคัญ

หลังการประมูล 3G มีการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริต วุฒิสภา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบกรรมการ กสทช. และเลขาธิการ กสทช. เป็นความท้าทายในการชี้แจงให้เหตุผล ซึ่งใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะเสร็จสิ้น แต่สุดท้ายคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยไม่พบการทุจริตในการประมูลแต่อย่างใด

แต่สิ่งที่ทำให้ดีใจอย่างมากคือการประมูลครั้งนั้นสร้างรายได้เข้ารัฐได้ถึง 41,625 ล้านบาท และการลงทุนสร้างโครงข่ายของผู้ให้บริการมือถือนับแสนล้านบาท จนปรากฏชัดในตัวเลขจีดีพี ในปีนั้น

ที่สำคัญคือ การประมูลทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) แต่ละค่ายขยายฐานลูกค้าออกไปได้มากขึ้น จากเดิมที่มีเบอร์มือถือ 80 ล้านเลขหมายในยุค 2G เป็น 120 ล้านเลขหมายในยุค 3G ในระยะเวลาเพียง 4 ปี คนไทยเกือบทุกคนติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และเริ่มหันมาใช้อินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ และใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น เอื้อต่อธุรกิจการค้าออนไลน์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของเศรษฐกิจดิจิทัล

ระหว่างนั้นร่วมกับทีมงานทำการบ้านอย่างหนัก ว่าจะทำอย่างไรให้การประมูล 4G ไม่ซ้ำรอย 3G เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อ กสทช. จึงเสนอรูปแบบการประมูลโดยแบ่งชุดคลื่นความถี่ให้ใหญ่ขึ้น แต่ใช้สูตร N-1 คือชุดคลื่นความถี่ที่ออกมาประมูลเท่ากับจำนวนผู้เข้าประมูลในครั้งนั้นๆ (N) ลบด้วย 1 วิธีนี้ทำให้เรามั่นใจได้ว่าจะมีการแข่งขันเกิดขึ้นในแต่ละรอบการประมูลอย่างแน่นอน

แต่โจทย์ยากที่ตามมา คือ จะนำคลื่นที่รัฐวิสาหกิจครอบครองอยู่เดิมออกมาประมูลได้อย่างไร ขณะนั้นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ไม่คืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในปี 2558 โดยอ้างว่าใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมยังไม่สิ้นสุด (จะสิ้นสุดในปี 2568)

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กสทช. หากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง หน่วยงานจะต้องนำคลื่นกลับคืนมาเป็นสมบัติของชาติทุกกรณี หลังประชุมเจรจาอย่างเข้มข้นระหว่าง กสทช. และแคท โดยมีรัฐบาลนำโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเป็นคนกลาง ทำให้แคทยอมคืนคลื่นความถี่ ให้ กสทช. นำไปประมูล

การประมูลคลื่น 4G ทั้ง 5 ครั้งระหว่างปี 2558-2560 ผ่านไปด้วยดี มีการแข่งขันระหว่างผู้เข้าประมูล สะท้อนจากราคาชนะการประมูลที่สูงกว่าราคาตั้งต้นค่อนข้างมาก ไม่มีใครกล่าวหาว่าราคาตั้งต้นต่ำเกินไป เพราะ กสทช.ใช้ข้อเสนอแนะของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญประกอบการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลทุกครั้ง

คลื่นความถี่ได้รับการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพผ่านกลไกตลาด สร้างรายได้ให้กับรัฐเกือบ 400,000 ล้านบาท ทำให้ความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อ กสทช.ดีขึ้น ที่สำคัญคือ ประชาชนได้ใช้บริการคลื่นมือถือที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลง อัตราค่าโทรระบบเสียงเฉลี่ยอยู่ที่ 51 สตางค์ต่อนาที หรือลดลง 24% เทียบกับปลายปี 2558 และค่าบริการอินเตอร์เน็ตมือถืออยู่ที่ 10 สตางค์ต่อ 1 เมกะไบต์ หรือลดลง 62% เทียบกับปลายปี 2558 ต่ำกว่าอัตราค่าบริการขั้นสูงที่ กสทช. กำกับดูแลในขณะนี้

คนมักถามบ่อยๆ ว่า อะไรคือหลักคิดให้เกิดการประมูลที่ดี จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สรุปเกณฑ์ที่ใช้นำความคิดได้ 5 ข้อ คือ 1.ต้องสร้างกฎกติกาให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้เข้าประมูล ภาษาชาวบ้าน คือไม่ให้ฮั้วกันได้ 2.ต้องสนับสนุนให้ผู้เล่นรายใหม่มีโอกาสเข้ามาแข่งขันได้ 3.ต้องมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม อาทิ ให้ผู้เข้าประมูลต้องวางเงินล่วงหน้าในระดับที่เหมาะสม

4.ราคาตั้งต้นต้องเหมาะสม ไม่สูงจนไม่มีผู้อยากเข้าประมูลหรือกระทบต่อธุรกิจของผู้เข้าประมูล ซึ่งจะมีผลต่อการให้บริการประชาชน หรือต่ำไปจนทำให้รายได้เข้ารัฐน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และ 5.ต้องโปร่งใส เช่น ประกาศหลักเกณฑ์การประมูลต้องชัดเจนไม่มีใครรู้ก่อน กระบวนการประมูลต้องจัดไม่ให้ผู้เข้าประมูลติดต่อกันได้ และประกาศผลการประมูลแก่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง

คำถามต่อมา คือ แล้วจะทำอย่างไรให้บรรลุเกณฑ์ทั้ง 5 ข้อได้ คำตอบคือ ไม่มีสูตรตายตัวที่แน่นอน การจัดการประมูลแต่ละครั้งต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่ในภาพรวมมีองค์ประกอบที่ขาดไปไม่ได้อย่างน้อย 3 อย่าง

อย่างแรก คือ ต้องอาศัยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ธุรกิจ และกฎหมาย ผสมผสานกัน เช่น ในการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูล วิธีการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์มีประโยชน์อย่างยิ่ง ขณะที่การคาดการณ์ผลการประมูลต่อโครงสร้างและรูปแบบการให้บริการของธุรกิจคมนาคมต้องใช้หลักการทางธุรกิจช่วยทำความเข้าใจ

อย่างที่สอง คือ ต้องเข้าใจสิ่งที่ธุรกิจหรือผู้เข้าประมูลกำลังเผชิญอย่างลึกซึ้ง เพื่อประกอบการกำหนดเกณฑ์ ระยะเวลา และรูปแบบการประมูลที่ส่งผลดีมากที่สุดต่อประโยชน์ของชาติ การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับภาคธุรกิจ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือก่อนจะประมูลคลื่น 4G มีคนบอกว่า ธุรกิจไม่ต้องการคลื่นความถี่นี้ แต่จากที่ศึกษาข้อเท็จจริงและแลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคธุรกิจต่อเนื่องทำให้เห็นว่าความเป็นจริงเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

อย่างที่สาม คือ การประสานงานระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้ประกอบการ รัฐวิสาหกิจที่เคยครอบครองคลื่นความถี่ รัฐบาล หน่วยงานตรวจสอบ และประชาชน กสทช. เปรียบเหมือนคนกลางของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ การสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจดีต่อกัน โดยยึดผลประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้งจึงสำคัญยิ่ง

การประมูลคลื่นความถี่ที่มีมูลค่ามหาศาลเป็นสิ่งใหม่ของประเทศไทย นอกเหนือจากแนวคิดพื้นฐานข้างต้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เมื่อเริ่มเห็นจุดที่จะทำให้เกิดข้อผิดพลาด ต้องรีบเข้าไปแก้ไข ไม่ปล่อยให้เรื้อรังหรือเป็นผลร้ายต่อประเทศ เมื่อได้รับข้อเสนอหรือข้อเท็จจริงใหม่ๆ ก็ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนกระบวนความคิดและการปฏิบัติอย่างเหมาะสม เพื่อให้งานออกมาดีมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image