บทนำวันจันทร์ที่29มิถุนายน2563 : ‘ฉุกเฉิน’จำเป็นแค่ไหน

สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดย พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ แถลงว่า สมช.เห็นชอบให้มีการขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ครอบคลุมเดือนกรกฎาคม และจะนำเรื่องเตรียมเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาในวันที่ 29 มิถุนายน และให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ เพื่อรองรับการคลายล็อกกิจการ และกิจกรรมในระยะที่ 5 ที่มีความเสี่ยงสูงในการแพร่ระบาดมากที่สุด รวมถึงการเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

เลขาธิการ สมช.เผยว่าไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 31 วันแล้ว การต่อ พ.ร.ก.เพื่อให้มั่นใจว่า กิจการที่มีความล่อแหลมในเฟส 5 จะได้รับการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ แต่มีคำถามว่า กฎหมายฉบับอื่นที่จะนำมาใช้มีหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามี แต่ถ้าไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะต้องใช้กฎหมายไม่ต่ำกว่า 5 ฉบับ เพื่อนำมาทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ และก็ไม่มั่นใจว่า จะมีประสิทธิภาพเท่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นการแก้เฉพาะจุด จึงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคู่กับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ทำให้ควบคุมสถานการณ์มาได้จนถึงปัจจุบัน และยืนยันว่าไม่มีนัยยะทางการเมือง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการชุมนุมอยู่หลายจุด เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้มาตรการอะไรไปห้ามปราม การชุมนุมก็มี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะใช้ได้อยู่แล้ว

การควบคุมการแพร่ระบาดจากการปลดล็อกเฟส 5 เป็นเรื่องจำเป็น ขณะเดียวกัน การเปิดธุรกิจเฟส 5 ก็เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปัญหาคือ จำเป็นต้องใช้อำนาจอย่างมาก ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.หรือไม่ การใช้อำนาจดังกล่าว มีผลทางการเมืองแน่นอน เพราะมีเจ้าหน้าที่ใช้เป็นข้อห้ามในการชุมนุม 24 มิถุนายน และติดตามผู้ร่วมชุมนุมไปถึงบ้าน จึงมีกระแสต่อต้าน และสังคมยังเห็นว่าการใช้ต้องมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศบ้านเมืองโดยทั่วไปและบรรยากาศของการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก และกำลังส่งผลร้ายแรงต่อธุรกิจและกิจการต่างๆ สิ่งที่ควรทำขณะนี้ คือขอความร่วมมือจากประชาชนป้องกันตนเอง ขจัดอุปสรรคทุกอย่าง เปิดกว้างให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินการได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image