จับตา‘ธนาธร’ จัดทัพสู้เลือกตั้งยึดท้องถิ่น

จับตา‘ธนาธร’ จัดทัพสู้เลือกตั้งยึดท้องถิ่น

หมายเหตุความคิดเห็นนักการเมืองท้องถิ่น-นักวิชาการกรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า เตรียมความพร้อมสำหรับการจัดผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับทั่วประเทศ

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Advertisement

คณะก้าวหน้าคงมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขในเรื่องของการเมืองไทยตั้งแต่ฐานราก ฐานรากที่สำคัญนั้น คือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สะท้อนภาพว่าคณะก้าวหน้าเองก็ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยการขับเคลื่อนพลังของชุมชน ถามว่าจะประสบความสำเร็จทั้งหมดหรือไม่ ก็คงไม่ง่ายนัก เนื่องจากการเมืองท้องถิ่นมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลการเมือง ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ สายสัมพันธ์กับผู้นำท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งการที่กระแสการเมืองระดับชาติ ไม่เหมือนช่วงธนาธรฟีเวอร์ ที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ครั้งนี้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไป

กระแสตกก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้มีส่วนที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงเรื่องคะแนนนิยมของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เปลี่ยนไปมากนัก กล่าวคือ คนที่สนับสนุนก็สนับสนุนอยู่เช่นนั้น แต่คนที่ไม่ได้สนับสนุนก็อาจจะไม่ได้มีแนวโน้มที่จะสนับสนุน ดังนั้นในแง่ของกระแสไม่น่าจะมีผลบวกหรือลบมากนัก เพียงแต่การเลือกตั้งท้องถิ่นจะคาดหวังให้มีกระแสเป็นแรงส่งเหมือนการเลือกตั้งระดับชาติไม่ง่าย เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้เลือกพร้อมกันทุกแห่งในวันเดียว ฉะนั้นกระบวนการที่แตกต่าง มุมมอง และปัจจัยทางการเมือง กระทั่งภูมิทัศน์ของผู้คน จะมองการเมืองท้องถิ่นคนละแบบกับการเมืองระดับชาติ

การประสานงานกับพรรคก้าวไกลอาจทำได้เพียงบางส่วน บางประเด็นเท่านั้น ต้องอย่าลืมว่า พรรคก้าวไกลก็คือพรรคอนาคตใหม่เก่า ไม่ได้มีฐานที่มั่นระดับพื้นที่มากนัก ส.ส.ส่วนใหญ่ที่มาจากระบบบัญชีรายชื่ออาจประสานงานกับพรรคก้าวไกลได้ในบางประเด็น เช่น การผลักดันกฎหมายว่าด้วยจังหวัดจัดการตนเอง เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่นให้เป็นฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการเมืองระดับชาติ แต่หากจะประสานงานกับพรรคก้าวไกลเพื่อทำให้เกิดผลบวกหรือลบในการเลือกตั้ง ก็ไม่น่าจะมีผลนักกับสายสัมพันธ์กับผู้นำท้องถิ่น

Advertisement

วันนี้พื้นที่ของธนาธรในการเมืองระดับชาติ เราจะเห็นชัดเจนว่า ทั้งธนาธร และกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง ดังนั้น การทำงานการเมืองระดับชาติมีพื้นที่ลดลง ขณะที่การทำงานในท้องถิ่นธนาธรและกรรมการบริหารพรรคไม่สามารถที่จะลงสมัครเองได้ เนื่องจากมีการกำหนดคุณสมบัติว่า ต้องไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การลงสู่การเมืองท้องถิ่นเป้าประสงค์สำคัญของธนาธรและคณะก้าวหน้า ก็คงต้องการที่จะสร้างฐานชุมชนท้องถิ่น เพราะคือฐานที่มั่นอันแท้จริงของการเมือง มีความใกล้ชิดกับผู้คน เป็นพลังในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมกับคนในพื้นที่ ทั้งยังจะนำไปสู่การขยายฐานพรรคการเมืองในระดับท้องถิ่น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับท้องถิ่นจึงถือว่ามีความสำคัญ เป็นการเมืองอันแท้จริงเพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก หากผลักดันนโยบายต่างๆ เช่น กฎหมายจังหวัดจัดการตนเอง หรือผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจได้อย่างจริงจัง จะเป็นพลังที่สำคัญที่สัมผัสกับมวลชนได้โดยตรงมากกว่าการเมืองระดับชาติ

ทั้งนี้ ในระยะสั้นอาจประสบความสำเร็จบ้างในบ้างพื้นที่ แต่จะถึงขั้นเป็นกระแสใหญ่เหมือนปี 2562 คงจะยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะยังไม่มีกระแสธนาธรฟีเวอร์ และไม่ได้เลือกตั้งพร้อมกัน อาจประสบความสำเร็จในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเขตใหญ่ หรือในพื้นที่เขตเมือง

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

โดยหลักการแล้วการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นสิ่งที่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสนามในการสร้างพื้นฐานการปกครองแบบประชาธิปไตย การจะสร้างประชาธิปไตยระดับชาติให้มั่นคงได้ในการเลือกตั้งระดับชาติ ต้องให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ส่วนตัวมองว่าคณะก้าวหน้าหรือพรรคก้าวไกลวางยุทธศาสตร์ได้ถูกต้อง แต่สิ่งสำคัญคือการเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่หลายจังหวัดถูกกุมไว้โดยกลุ่มตระกูลการเมืองของจังหวัดนั้นๆ หรืออาจเรียกว่ากลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ต้องวางยุทธศาสตร์ให้ดีว่าจะขับเคลื่อนการต่อสู้ในสนามการเลือกตั้งอย่างไร

ประเด็นเรื่องกระแสของอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ตกลงไปอาจมีส่วนบ้าง ถ้าคณะก้าวหน้าหรือพรรคก้าวไกลวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ธนาธรและปิยบุตรอาจต้องสร้างแคมเปญฟื้นพลังศรัทธาประชาชนขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปที่ท้องถิ่น ตอนนี้อาจลดระดับการเมืองระดับชาติ ปล่อยให้พรรคทำงานไป โดยทั้ง 2 คนต้องลงมายังสนามการเมืองท้องถิ่น สร้างยุทธศาสตร์และแคมเปญเหมือนที่เคยทำก่อนหน้านี้

ประการต่อมา คณะก้าวหน้าต้องวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่บรรดาบ้านใหญ่ ตระกูลการเมือง ชนชั้นนำท้องถิ่นควบคุมอยู่ อาจจะยากลำบากในการต่อสู้ในช่วงเวลานี้ เพราะส่วนใหญ่ตระกูลการเมืองท้องถิ่นในช่วงเวลานี้อิงอยู่กับรัฐบาล จึงมีความพร้อมในแง่ทรัพยากร อำนาจ เครือข่าย ทางที่ดีคือ ธนาธรและปิยบุตรต้องหาพื้นที่ยังไม่มีกลุ่มบ้านใดหรือตระกูลการเมืองใดคุม มีหลายพื้นที่ในประเทศไทยให้เข้ามาเป็นตัวแทน เช่น ภาคอีสานจังหวัดหนึ่ง ภาคใต้จังหวัดหนึ่ง ภาคกลางจังหวัดหนึ่ง เพื่อสร้างกระแสระยะยาว ถ้าลงเลือกตั้งกับบรรดาบ้านใหญ่ แม้ว่าอาจชนะ แต่ต้องสูญเสียทรัพยากรและพละกำลังเยอะ

อีกหนึ่งประการที่สำคัญคือ หลังจากธนาธรและปิยบุตร ลดกระแสลงมาอาจเกิดปัญหาความขัดแย้งกันของคนในกลุ่มก้อนของคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลเอง อาจต้องไปเคลียร์ความขัดแย้งให้ชัดเจน แล้วขับเคลื่อนงานท้องถิ่นต่อไป

ในยุคนี้บทบาทของบ้านใหญ่ ขึ้นอยู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจชุมชนและการเติบโตขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลาง ถ้าพื้นที่จังหวัดใด ชนชั้นกลางเติบโตขึ้น กลุ่มบ้านใหญ่ทำงานไม่ค่อยได้ เนื่องจากชนชั้นกลางมีเครือข่าย ทรัพยากร และความสามารถในการดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งบ้านใหญ่ อาจทำให้ตระกูลการเมืองเหล่านั้นลดทอนความสำคัญลงไปแต่ในบางพื้นที่ ในหลายจังหวัด ชนชั้นกลางยังไม่เติบโต เมื่อเจอปัญหาเศรษฐกิจ เจอโควิด ชัดเจนว่าทำให้กลุ่มบ้านใหญ่ฟื้นขึ้นมาอีก เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้หลังจากรัฐบาลไม่สามารถช่วยเหลือดูแลได้เต็มที่ ชาวบ้านต้องไปพึ่งพาบรรดานักการเมืองในตระกูลการเมืองประจำจังหวัด นี่คือสิ่งที่ต้องประเมิน

แต่ถามว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ ก็มี เช่นในจังหวัดชลบุรี ในการเลือกตั้งล่าสุด ไม่มีใครคาดคิดว่ากลุ่มตระกูลคุณปลื้มจะแพ้การเลือกตั้งให้กับกลุ่มอนาคตใหม่ที่ชนะมาจากชนชั้นกลาง ถ้ากล่าวโดยสรุปคือ ชนชั้นกลางทำให้กลุ่มบ้านใหญ่ลดบทบาทและอิทธิพลลง

ประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์
อดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.)

การประกาศตัวเพื่อทำงานการเมืองท้องถิ่นของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่มาจากสนามการเมืองระดับชาติ เดิมในสนามการเมืองท้องถิ่นมีเพียงตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ให้ความสนใจลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งผู้ว่าฯ กทม. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเมืองพัทยา และเทศบาลนคร ที่มีงบประมาณจำนวนมาก แต่ยอมรับว่ามีน้อยมากที่ตัวแทนพรรคการเมืองจะลงมาถึงระดับเทศบาลเมือง เทศบาลตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

ธนาธรต้องเข้าใจว่าการเมืองสนามใหญ่กับการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความเหมือนที่แตกต่าง เนื่องจากสนามใหญ่มีการหาเสียงเลือก ส.ส.ด้วยนโยบายที่เป็นภาพรวมทั้งประเทศ โดยเน้นพรรค ตัวบุคคลที่มีชื่อเสียง ขณะที่คนรุ่นใหม่จะติดตามนโยบายพรรคเป็นหลักจากหลายช่องทาง แต่สนามท้องถิ่นการลงคะแนนเลือกตั้งจะดูที่ความใกล้ชิดกับผู้ที่เสนอตัวเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เพราะประชาชนท้องถิ่นตั้งแต่เกิดจนตายหรือมีความเดือดร้อนจะนึกถึงบุคคล หรือผู้นำในท้องถิ่นของตัวเองเป็นหลัก ดังนั้นบริบทในการหาเสียงจึงแตกต่างกัน เนื่องจากนักการเมืองท้องถิ่นให้ความสนใจประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก โดยเฉพาะการใช้งบในการพัฒนา การช่วยเหลือเกื้อกูล ความสนิทสนม แตกต่างจากการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในฝ่ายนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร

ที่ผ่านมาหลายพรรคการเมืองระดับชาติสนใจแจ้งเกิดในสนามท้องถิ่น แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทั้งที่บางจังหวัดมี ส.ส.ในพรรคหลายเขต แต่ประชาชนไม่เลือกตัวแทนพรรคนั้นไปทำงานท้องถิ่นด้วยปัจจัยหลายด้าน ส่วนกรณีธนาธรเดินหน้าเปิดตัวสร้างกระแสในสนามการเมืองท้องถิ่น ไม่แน่ใจว่าจะมีการวางยุทธศาสตร์ที่แปลกใหม่จากพรรคการเมืองเดิมๆ หรือไม่ และไม่แน่ใจว่าจะมีนักการเมืองในสนามท้องถิ่นเดิมจะไปสังกัดในทีมงาน หรือจะมีการสร้างฐานผู้สมัครหน้าใหม่ทั้งหมด และการลงมาในสนามท้องถิ่นอาจมองว่าธนาธรไม่ได้หวังผลมากนัก โดยเฉพาะในการเลือกตั้งนายก อบจ.บางจังหวัด แต่อาจจะใช้โอกาสของการหาเสียงในสนามท้องถิ่น เพื่อวางรากฐานไปสู่การหาเสียงในการเมืองระดับชาติ

ต้องยอมรับว่าในสนามการเมืองใหญ่ การเลือกตั้งส.ส. ที่ผ่านมา ไม่มีใครคาดคิดว่าพรรคอนาคตใหม่จะมี ส.ส.หน้าใหม่ได้รับเลือกตั้งทุกระบบจำนวนมาก จากการสร้างกระแสเพื่อให้มีเป้าหมายกับคนรุ่นใหม่ ดังนั้นในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งต่อไป ต้องดูว่าการปลุกกระแสในสังคมโซเชียลจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจอีกหรือไม่ หรือจะประกาศนโยบายในภาพรวมอย่างไร เพราะการหาเสียงนายก อบจ.แต่ละจังหวัดประชาชนมีข้อเสนอและความต้องการที่แตกต่างกัน

แต่ส่วนตัวเชื่อว่าธนาธรจะเข้ามาทำงานการเมืองท้องถิ่นเพื่อเป็นฐานให้การเมืองระดับชาติมากกว่าเป้าหมายอื่น สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการทำงานการเมืองท้องถิ่นของธนาธร หากยังมีการคัดสรรผู้สมัครท้องถิ่นในระบบไพรมารีโหวต เชื่อว่าไม่เป็นผลดีในสนามเลือกตั้งนั้นๆ ขณะที่พรรคการเมืองอื่นจะสนใจเลือกผู้สมัครจากการทำโพล ฐานความนิยมทางการเมืองและปัจจัยอื่น สร้างความขัดแย้งน้อยกว่าการเลือกตัวบุคคลแบบไพรมารีโหวต

ยอมรับว่าเป็นระบบการคัดสรรที่ทันสมัย แต่ต้องถามว่าผู้ที่แพ้การทำไพรมารีโหวตจะสนับสนุนฐานคะแนนที่มีอยู่ให้ผู้ที่ชนะเป็นตัวแทนพรรค หรือกลุ่มการเมืองที่ลงสมัครเลือกตั้งในสนามนั้นหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image