สังคมไทย ไปต่ออย่างไร ในความ(ไม่)ใหม่

สังคมไทย ไปต่ออย่างไร ในความ(ไม่)ใหม่

สังคมไทย ไปต่ออย่างไร
ในความ(ไม่)ใหม่

หมายเหตุ – เนื้อหาส่วนหนึ่งจากงานเสวนาหัวข้อ “80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์’ #Oldไม่Out สังคมไทย ไปต่ออย่างไร ในความ(ไม่)ใหม่” จัดโดย มติชนสุดสัปดาห์ ที่มติชน
อคาเดมี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม


ปิยบุตร แสงกนกกุล
แกนนำคณะก้าวหน้า

ขอพูดผ่านสิ่งที่ทำงานมาโดยตลอด คือ รัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุด เป็นเรื่องกติกาของสถาบันการเมือง และการประกันสิทธิเสรีภาพต่างๆ ปัญหาของประเทศไทยอาจเรียกว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง และวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญด้วย ฉันทามติครั้งสุดท้ายของประเทศไทยคือรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเกิดการตกลงกันว่าไม่เอาแล้วกับการที่ให้ทหารเข้ามารัฐประหารบ่อยๆ ไม่เอาแล้วกับการให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมือง ต้องการให้มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ไม่ใช่เข้ามาแล้วลาออก ยุบสภา เปลี่ยนรัฐบาล จนส่งมอบนโยบายอะไรไม่ได้ พร้อมกันนั้น ต้องให้มีระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐด้วย รวมทั้งการประกันสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมีความรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญ 40 ไปครอบงำวุฒิสภา และองค์กรอิสระจนทำให้การเมืองเสียดุลยภาพไป แล้วเลือกใช้วิธีที่ผิดคือตัดสินใจสนับสนุนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จากนั้นออกแบบรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีเป้ามายหลักคือต้องการกำจัดกลุ่มการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง พอทำแล้วปรากฏว่าไม่สำเร็จ พ.ศ.2557 จึงต้องรัฐประหารซ่อม แล้วออกแบบกติกาแบบที่เป็นอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560

Advertisement

กล่าวโดยสรุปคือรัฐธรรมนูญไทย 4 ฉบับหลัง ได้แก่ ฉบับปี 49, 50, 57 และ 60 กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ส่วนตัวใช้คำว่า แก้แค้น เอาคืน เป็นรัฐธรรมนูญแบบกินรวบทั้งกระดาน พูดง่ายๆ คือ ใครชนะ ใครเป็นเจ้าของอำนาจจะออกแบบกติกาให้ตัวเองและจะอยู่ในอำนาจตลอดเวลา โดยไม่คิดถึงว่าวันหนึ่งหากตัวเองเป็นผู้แพ้แล้วจะอยู่อย่างไร โดยเฉพาะฉบับปี 60 แย่กว่านั้นคือออกแบบมาแล้วไม่ให้คนอื่นแก้ด้วย

ส่วนตัวคิดว่าพื้นฐานที่สำคัญ คือ 1.รัฐธรรมนูญต้องยืนยันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตย 2.ต้องมีการออกแบบสถาบันทางการเมืองต่างๆ ให้มีการแบ่งแยกอำนาจได้อย่างดุลยภาค ไม่ใช่โป่งไปที่นักการเมืองจัดการเลือกตั้งหรือบรรดาองค์กรตรวจสอบ 3.ต้องมีการประกันสิทธิ เสรีภาพ โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดคือเสรีภาพในการแสดงออก เพราะสะท้อนว่าเมื่อเราแสดงออกไปแล้ว ตัดสินใจอะไรบางอย่าง มีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ฝ่ายข้างน้อยที่ไม่ชนะ ก็ยังจะสามารถแสดงออกต่อไป เพื่อเปลี่ยนใจคนให้ฝ่ายตัวเองขึ้นมาเป็นเสียงข้างมากที่ชนะบ้าง เพราะฉะนั้นการประกันเสรีภาพในการแสดงออกคือการประกันว่าทุกๆ การตัดสินใจของประชาชน แม้ผิดพลาดแต่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงให้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แล้วแต่ละฝ่ายก็จะอดทนอดกลั้นกันว่าถึงจะคิดไม่เหมือนกัน ก็ไม่เป็นไร แต่มีการรณรงค์แข่งกันได้

4.ต้องรับประกันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความแตกต่างหลากหลาย ยึดหลักว่าเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วย่อมมีความเสมอภาค เท่าเทียม ที่สำคัญคือเปิดทางให้มีการแก้กติกาได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่เขียนให้แก้ยากมากๆ จะติดล็อกในตัวเองจนกลายเป็นระเบิดเวลา

Advertisement

สำหรับปัจจุบันที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจ คสช.ที่สืบทอดอำนาจมาเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ไม่เคยมองรัฐธรรมนูญโดยมีวิธีคิดในฐานะคุณค่า ซึ่งจริงๆ แล้วสังคมไทยก็มีปัญหาเรื่องนี้ ในขณะที่โลกตะวันตกซึ่งมีการพัฒนาคอนเซ็ปต์เรื่องรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้ มีคุณค่าพื้นฐานสำคัญ 2-3 เรื่อง คือ 1.เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกันเพราะประชาชนร่วมกันออกแบบ ไม่ใช่พวกใดพวกหนึ่ง 2.รัฐธรรมนูญต้องเป็นกติกาที่ประกันไว้ให้กับทุกฝ่าย ไม่ใช่คิดรวบหมด ต้องกล้าจินตนาการว่าวันหนึ่งคุณแพ้ จะอยู่อย่างไรกับรัฐธรรมนูญแบบนี้ ไม่ใช่จินตนาการว่าตัวเองจะชนะตลอดแล้วออกแบบให้เอื้อตัวเองฝ่ายเดียว

วิธีของ คสช.คือรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการปกครอง ในการอ้างความชอบธรรม ยึดอำนาจเสร็จต้องออกรัฐธรรมนูญปี 57 นิรโทษกรรมสิ่งที่ตัวเองทำมาทั้งหมด ประกาศคำสั่งที่ตัวเองออกมาถูกหมด พล.อ.ประยุทธ์อ้างกฎหมายตลอดเวลา ทั้งที่เป็นคนทำผิดกฎหมายคนแรก คือฉีกรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันเมื่อประชาชนอ้างรัฐธรรมนูญบ้าง เช่น เสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง พล.อ.ประยุทธ์กลับกระโดดหนีจากรัฐธรรมนูญโดยบอกว่าอย่าดูแต่รัฐธรรมนูญ ต้องดูกฎหมายอื่นบ้าง สรุปคือรัฐธรรมนูญในวิธีคิดของ พล.อ.ประยุทธ์คือตัวเอง วิธีคิดแบบนี้ไม่มีวันหากติการ่วมกันในประเทศไทยได้เลย

ตราบใดที่คณะผู้ปกครองชุดนี้ยังนั่งอยู่ตรงนี้ ยากมากที่จะแสวงหาฉันทามติร่วมกันในการออกแบบสังคมการเมืองไทย


พวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ส่วนตัวไม่ได้มีจินตนาการอะไรที่เลิศเลอหรือเป็นแบบยุคพระศรีอารย์ แต่แค่เรามีประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่มีกฎเกณฑ์ มีกติกาและกลุ่มองค์กรต่างๆ ทำหน้าที่ในการรักษากฎ กติกาเหล่านี้อย่างเที่ยงธรรม ไม่บิดเบือน ไม่ตีความกฎหมายเข้าข้างพวกตัวเองหรือทำลายฝ่ายตรงข้าม ละเมิดหลักการของกฎหมายที่กำหนดไว้ สังคมที่หน่วยงานต่างๆ สามารถคัดง้าง มีการตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ สังคมที่เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าทำผิดต้องถูกดำเนินคดี อยู่ใต้กติกา ไม่ใช่ว่าทำผิดแล้วลอยนวล เพราะเชื่อว่ากลไกอำนาจรัฐทั้งหลายที่มีอยู่จะช่วยปกป้องตัวเอง เป็นสังคมที่เราสามารถเห็นได้ในสังคมอื่นๆ ไม่ต้องใช้ความสามารถพิเศษอันยิ่งใหญ่ของความเป็นไทยในการครีเอต อย่างไรก็ตาม ความเป็นไทยที่เราเคยชิน คือความเป็นไทยที่ให้ความสำคัญกับระบอบพวกพ้อง เครือข่าย มีระบบการยกเว้น มีสถานะยกเว้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นภาวะปกติ

ส่วนตัวอยากเห็นสังคมไทยที่มีความเป็นไทยอย่างที่เราคุ้นเคยกันน้อยลง และอยากเห็นระบบที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบว่าเราจะไม่มีนักการเมืองและข้าราชการที่คอร์รัปชั่น ไม่ได้ฝันอย่างนั้นเพราะการคอร์รัปชั่นต้องมีอยู่แล้ว แต่ต้องมีระบบที่จะจัดการกับคนคอร์รัปชั่นได้อย่างเด็ดขาด และเป็นบทเรียนที่จะทำให้คนอื่นๆ ไม่กล้าทำแบบเดิม หรือถ้าทำจะต้องมีวิธีการที่แยบยลพอที่จะป้องกันตัวเองได้ แต่สังคมไทยไม่ใช่อย่างนั้น ทุกอย่างเปลือยเปล่า มีการโกงและโกหกตลอดเวลาเพราะเชื่อว่าพวกตนกุมอำนาจทุกอย่างไว้ อยากให้สังคมไทย เป็นสังคมที่ระบบที่สามารถจัดการตัวเอง จัดการปัญหาต่างๆ และพูดถึงปัญหาใหม่ๆ โลกของเราทุกวันนี้ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อัตลักษณ์ ชีวิตคน

แต่สังคมไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพูดกันเรื่องที่พื้นฐานมาก เช่น คนเท่ากันหรือเปล่า เลือกตั้งดีหรือไม่ จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรข้ามพ้นไปได้แล้ว แต่สังคมไทยไปต่อไม่ได้ เหมือนอยู่กับที่ และถอยหลังเสียอีก


เกษียร เตชะพีระ
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ที่ผ่านมาเนื่องจากสูตรสะกดความเปลี่ยนแปลงแบบตะวันตกโดยกลุ่มอนุรักษนิยมไทยเคยสะกดประชาธิปไตยแบบตะวันตกเอาไว้ ใช้ความเป็นไทยสะกดปัจเจกนิยม แต่ทุกวันนี้สะกดไม่ได้ สะกดไม่อยู่ เพราะฉะนั้นเหลือแต่เครื่องมือคือกำลังอำนาจ ได้แก่ กฎหมาย และกำลังบังคับ เราจะเห็นได้ว่าในช่วงตั้งแต่ คสช.ขึ้นมา การใช้กฎหมายแบบบังคับและการใช้กำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการที่คนจะยอมอยู่ใต้ส่วนผสมเดิมที่สะกดอยู่มันหมดมนต์ขลังแล้ว จึงเหลือวิธีน้อยมากในการทำให้ยอมเลยต้องบังคับ

สำหรับการปฏิรูป ถ้าเป็นไปได้ควรมีการปฏิรูปจากเบื้องล่าง เพิ่มอำนาจต่อรอง ช่วงชิงอำนาจนำ รอรัฐล้มเหลว ซึ่งก็เกือบล้มเหลวในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ได้กองกำลังหมอมาช่วย ในการปฏิรูป ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง ปฏิรูปไม่ได้หากชนชั้นนำไม่ร่วมมือ เท่าที่เห็นมาชนชั้นนำชุดนี้ไม่ปฏิรูป ดังนั้นช่องทางจึงเหลือน้อย ดูจากสภาพการณ์ทั้งหมด คิดว่าต้องปฏิรูปจากเบื้องล่าง

รัฐทันสมัย เรียกว่ารัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยคือลบทุกอย่าง ไม่เหลือความเหลื่อมล้ำ ทุกคนเป็นปัจเจกเหมือนกันหมด การสร้างเสรีประชาธิปไตยแบบปกติที่ตะวันตกทำ ผ่านกระบวนการที่เจ็บปวด คือ ทำให้ทุกคนยอมรับว่าเป็นแค่ปัจเจกบุคคลคนเดียวแล้วสัมพันธ์กับรัฐ รัฐบังคับใช้อำนาจกับทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งน่ากลัวมาก หากเป็นผู้ที่มีอะไรจะเสีย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image