ก.เกษตรฯประเดิมหมื่นล้าน ลุย1ตำบล1กลุ่มทฤษฎีใหม่ ช่วยฟื้นฟู ศก.ล้างพิษโควิด

ก.เกษตรฯประเดิมหมื่นล้าน ลุย1ตำบล1กลุ่มทฤษฎีใหม่ ช่วยฟื้นฟู ศก.ล้างพิษโควิด

ก.เกษตรฯประเดิมหมื่นล้าน ลุย1ตำบล1กลุ่มทฤษฎีใหม่ ช่วยฟื้นฟู ศก.ล้างพิษโควิด

หมายเหตุกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมดำเนินการโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ และโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน วงเงินร่วม 1 หมื่นล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) เพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตาม พ.ร.ก.เงินกู้วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จำนวน 5 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

ในจำนวนนี้ เป็นโครงการที่เสนอขอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ของกรมส่งเสริมการเกษตร วงเงิน 169.88 ล้านบาท โดยจะฝึกอบรมสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ให้มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมในการตรวจวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ย รวมทั้งขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่

Advertisement

คาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการจ้างงานในธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ประมาณ 2.36 พันคน ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชเศรษฐกิจต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20% หรือประมาณ 1.8 หมื่นตัน คิดเป็นวงเงิน 253 ล้านบาท ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563-กันยายน 2564

2.โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ วงเงิน 9,800 ล้านบาท เป็นการฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ และการเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับทำการเกษตร คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร จำนวน 4.4 หมื่นราย เพิ่มการจ้างงานเกษตร จำนวน 8,010 ราย มีพื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตรในฤดูแล้งเพิ่มขึ้น

โครงการนี้ ถือเป็นโครงการที่ใช้เม็ดเงินสูงที่สุดในกลุ่ม 5 โครงการที่ผ่านการอนุมัติล็อตแรกเมื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง พบว่าเดิมโครงการนี้ได้เสนอของบประมาณจาก ครม. 14,315 ล้านบาท แต่สุดท้ายถูกตัดลดลงเหลือ 9,805 ล้านบาท มีเป้าหมายพื้นที่ดำเนินการ 6,918 ตำบล ตำบลละ 10 ราย รวม 69,180 ราย รายละ 3 ไร่ เป็นพื้นที่ 207,540 ไร่ ระยะเวลาดำเนินการ 15 เดือน หรือเริ่มต้นเดือนกรกฎาคม 2563-กันยายน 2564

Advertisement

ภาคการเกษตร เป็นภาคการผลิตที่สำคัญ ที่ผลิตอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ ตามยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่ครัวโลกอีกทั้งความเสียหายของภาคเกษตรกรรมยังเป็นปัญหาลูกโซ่ที่จะนำไปสู่ปัญหาในวงจรการผลิตของภาคการเกษตรซึ่งเป็นแหล่งอาหาร รายได้ เป็นความมั่นคงในชีวิตสูงสุดของคนไทย ประกอบกับในช่วงวิกฤตดังกล่าว มีแรงงานที่หนีภัยโควิด-19 กลับสู่ภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ไม่มีงานทำขาดรายได้เพื่อการดำรงชีพ และมีแนวโน้มการตกงานมากขึ้นเนื่องจากการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มาทำงานแทนคนมากขึ้น

ทั้งนี้ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นแนวคิดของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกรรวมถึงเพิ่มการจ้างงาน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงหน้าแล้งและช่วยเหลือในเรื่องของผลกระทบจากโควิด-19 อีกด้วย

โครงการนี้ดำเนินงานภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563-2565 และตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เป็นต้นไป เป็นภารกิจที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดไปให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั้งประเทศ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว นอกจากจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ยังช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเองและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน พลิกฟื้นชีวิตด้วยศาสตร์พระราชา

ส่วนขั้นตอนวิธีการดำเนินงานโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ประกอบด้วย การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการที่จะต้องบูรณาการจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อน ติดตามประเมินผลและแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ

ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ตรวจสอบคุณสมบัติเกษตรกร ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ และคัดเลือกเกษตรกรให้เหลือจำนวนตามที่เป้าหมายกำหนด

ทั้งนี้ จะมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดำเนินการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือก โดยดำเนินการ 12 ครั้ง เพื่อร่วมสร้างความเข้าใจและปฏิบัติตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่

สำรวจระดับชั้นความสูงของภูมิประเทศสำรวจทำแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1 : 4,000 เส้นชั้นความสูง ชั้นละ 0.25 เมตร เพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบแปลงโคก หนอง นา

รวมถึงการออกแบบผังแปลง ดำเนินการออกแบบผังแปลง ร่วมกับเกษตรกรเจ้าของแปลง วางผังแปลง แบ่งส่วนการใช้ประโยชน์พื้นที่แต่ละรายอย่างยั่งยืน ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อปรับปรุงพื้นที่ของตนเอง โดยออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม ดิน น้ำและอากาศของแต่ละพื้นที่ มีเป้าหมายเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ให้ได้ 100% โดยพิจารณาจากขนาดของพื้นที่ และปริมาณฝนเฉลี่ยในพื้นที่

ปรับปรุงแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ดำเนินการขุดสระเก็บน้ำ ขุดเหมืองไส้ไก่ ปั้นโคก ปั้นหัวคันนาทองคำ และตกแต่งพื้นที่ ตามที่ได้ออกแบบไว้

ติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ดำเนินการติดตั้งระบบสูบน้ำจากสระเก็บน้ำ สูบน้ำขึ้นหอถังสูง โดยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรได้ตามต้องการ และติดตามประเมินผลในทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อติดตามความสำเร็จของงาน และหาโอกาสในการปรับปรุงเพื่อให้การปฏิบัติงานของโครงการดีขึ้น

จะเห็นได้ว่าโครงการนี้ไม่ใช่แค่การขุดบ่อน้ำแจกชาวบ้านเหมือนที่เคยมีมาในอดีต แต่เป็นการดำเนินการแบบครบวงจร จะทำให้ชาวบ้านที่ได้เข้าโครงการมีชีวิตใหม่ที่ดีมั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืนกว่าเดิม นอกจากนี้ยังจะทำให้ชุมชนได้มีแปลงต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา จำนวน 69,180 แห่ง สามารถต่อยอดขยายผลต่อไปได้อีกทวีคูณ

โครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร พัฒนาความมั่นคงน้ำและการเกษตร ช่วยเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำฝน และเพิ่มพื้นที่ป่าปลูกใหม่ และมีพื้นที่ต้นแบบเพื่อการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจนำทฤษฎีนี้ไปประยุกต์ใช้

รวมทั้งจะช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในท้องถิ่นช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น และช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทำให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเองสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนได้

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการส่งเสริมเรื่องการจ้างแรงงานท้องถิ่นเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ในช่วงฤดูแล้ง และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการดำเนินโครงการจ้างแรงงานในปีงบประมาณ 2563 สำหรับงานซ่อมแซม บำรุงรักษาขุดลอกปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำระบบส่งน้ำ เพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ

มีแผนจ้างแรงงานในปีงบประมาณปี 2563 จำนวน 4,497.59 ล้านบาท ระยะเวลาในการจ้างงาน 3-7 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา สามารถจ้างแรงงานได้ทั้งสิ้น 88,838 คน ค่าจ้างคิดเป็นรายวันวันละ 377.85 บาท หรือประมาณเดือนละ 8,000 บาท รวมรายได้ตลอดการจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-56,000 บาทต่อคน ขึ้นอยู่กับลักษณะงานและระยะเวลาในการทำงาน

ผลการจัดจ้างแรงงานล่าสุด ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 มีการจ้างแรงงานไปแล้วรวม 80,132 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนจังหวัดที่มีผลการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับได้แก่ เชียงใหม่ จำนวน 3,834 คน สกลนคร จำนวน 3,730 คน และอุบลราชธานี จำนวน 3,494 คน ส่วนสำนักงานชลประทานที่มีการจ้างแรงงานสูงสุด 3 ลำดับ ได้แก่ สำนักงานชลประทานที่ 7 จำนวน 11,054 คน สำนักงานชลประทานที่ 5 จำนวน 8,076 คน และสำนักงานชลประทานที่ 8 จำนวน 7,112 คน

ทั้งนี้ ยังสามารถจ้างแรงงานให้ครบตามเป้าที่กำหนดไว้ได้อีกประมาณ 8 พันคน หากเกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจ้างแรงงาน อาทิ เป็นเกษตรกรหรือเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทาน รวมไปถึงประชาชนและผู้ใช้แรงงานทั่วไป หรือในพื้นที่ดำเนินโครงการ หากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่เป้าหมายมีไม่เพียงพอจะพิจารณาจ้างแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงจากหมู่บ้าน ตำบลอำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ สามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้รับการอนุมัติจาก ครม. พร้อมกับการอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน จ.ฉะเชิงเทรา ปีงบประมาณ 2564-2567 วงเงิน 1,880 ล้านบาท ความจุ 19.2 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรองรับการพัฒนาและการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นและการขยายตัวของชุมชนทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรมในพื้นที่

รวมทั้งเป็นการป้องกันน้ำเค็มรุกจากแม่น้ำบางปะกงเข้ามาในพื้นที่ จากเดิมที่ต้องใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองระบม คลองสียัด ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และน้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำขุดด่านปราการชล จ.นครนายก เพื่อมาผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง แต่ในช่วงฤดูแล้งจะมีปริมาณน้ำน้อยทำให้การผลักดันน้ำเค็มได้ไม่ดีพอ สำหรับโครงการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image