วิเคราะห์ : ปรับ ครม. สิงหาฯ ลุ้น บิ๊กตู่ ผสมสูตร ‘คนนอก-คนใน’

วิเคราะห์ : ปรับ ครม. สิงหาฯ ลุ้น บิ๊กตู่ ผสมสูตร ‘คนนอก-คนใน’

วิเคราะห์ : ปรับ ครม. สิงหาฯ ลุ้น บิ๊กตู่ ผสมสูตร ‘คนนอก-คนใน’

การแถลงลาออกจากรัฐบาลของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และกลุ่ม 4 กุมาร คือ คำยืนยันว่าปรับ ครม.แน่

ทั้ง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึง นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงข่าวหลังจากยื่นหนังสือลาออก

เมื่อตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่างลงหลายตำแหน่งเช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีเหตุผลที่จะปรับ ครม.

Advertisement

ดีเดย์ สิงหาคม ทุกอย่างจะเรียบร้อย

เบื้องหลังความเคลื่อนไหวแบบฉับไวเช่นนี้ เกิดขึ้นจาก พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณไปยังนายสมคิด

บ่งบอกถึงความลำบากใจที่เกิดแรงกดดันจำนวนมากจากกลุ่มการเมือง

Advertisement

ในที่สุดนายสมคิดและกลุ่ม 4 กุมาร ก็เลือกหนทางถอย

ลดแรงกดดันให้นายกฯ และลดความคลุมเครือที่ไม่เป็นผลดีต่อการบริหารงานของประเทศ

ยื่นใบลาออก และแถลงข่าวยืนยัน

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่นาน แรงกดดันที่ว่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากที่ใด

ทุกอย่างเกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ เมื่อกลุ่ม ส.ส.เคลื่อนไหวผลักดันให้เปลี่ยนตัวกรรมการบริหารพรรค

กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดเดิมเข้าชื่อยื่นใบลาออกเกินกึ่งหนึ่ง จนทำให้กรรมการบริหารพรรคชุดเดิมต้องพ้นจากตำแหน่ง รวมถึง นายอุตตม นายสนธิรัตน์ นายสุวิทย์ และนายกอบศักดิ์

และเมื่อมีการประชุมใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ประชุมก็เลือก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้า และ นายอนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค

ไม่มีชื่อของกลุ่ม 4 กุมารในรายชื่อกรรมการบริหารพรรค

สุดท้าย นายอุตตมและพวกก็ขอลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แต่ในขณะนั้นยังคงไม่ลาออกจากรัฐมนตรี

ครานั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังมีท่าทีที่จะปรับ ครม.หลังจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ผ่านสภาไปก่อน

แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่เท่าไหร่ ทุกอย่างก็เร่งร้อน

จู่ๆ ก็เกิดกระแสข่าวกลุ่ม 4 กุมารนัดแถลงข่าวลาออก นายสมคิดยื่นใบลาและเก็บข้าวของ

ทุกอย่างเพื่อเปิดทางให้มีการปรับ ครม.

แทบจะในทันทีที่มีข่าวลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี รายชื่อของผู้ที่อยู่ในข่ายได้เป็นทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ก็กระหึ่มขึ้น

นายปรีดี ดาวฉาย นายกสมาคมธนาคาร มีชื่อเป็นรัฐมนตรีคลัง นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตผู้บริหารบริษัท ปตท. มีชื่อเป็นรัฐมนตรีพลังงาน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตผู้บริหารพีทีทีจีซี ในเครือ ปตท. นายกานต์ ตระกูลฮุน อดีตผู้บริหารเอสซีจี นายบุญทักษ์ หวังเจริญ บอร์ดการบินไทย นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ มีชื่อร่วมทีมเศรษฐกิจ

พร้อมๆ กับมีข่าวการหาคนมาแทน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

น่าสังเกตว่ารายชื่อที่ปรากฏล้วนเป็น “คนนอก” ขณะที่แรงกดดันที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้เกิดจาก ส.ส.ภายในพรรคพลังประชารัฐ

ดังนั้น การปรับ ครม.โดยนำพาแต่ “คนนอก” มาเป็นรัฐมนตรี ย่อมไม่ตอบโจทย์พรรคพลังประชารัฐ

อย่างน้อยกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพลังประชารัฐก็ต้องมีตำแหน่ง

ในวันต่อมาจึงปรากฏชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแทน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

โดย พล.อ.อนุพงษ์จะโยกไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอยู่

แต่ที่น่าจับตาคือตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีประวัติการยื้อแย่งกันมาตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาล

เป็นตำแหน่งที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตรเคยหมายปอง

เป็นตำแหน่งที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตแกนนำ กปปส. บอกว่ามีความถนัด

แต่ในที่สุดตำแหน่งดังกล่าวกลับไปตกอยู่กับนายสนธิรัตน์ จากกลุ่ม 4 กุมาร ขณะที่นายณัฏฐพลได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนนายสุริยะไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

มาถึงการปรับ ครม.ครั้งที่จะถึงนี้ เมื่อปรากฏชื่อ นายไพรินทร์ ซึ่งเป็น “คนนอก” จะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงปรากฏคำถาม

บรรดา ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐจะยอมกันล่ะหรือ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างของการวางตัว “คนนอก” กับการวางตัว “คนในพรรค พปชร.” ในตำแหน่งรัฐมนตรี

เป็นการบ้านที่ พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นต้องทำให้เกิดการประสมประสาน

ทั้งนี้ เพราะจากสถานการณ์ของประเทศ ทำให้สังคมคาดหวังการปรับ ครม.ที่จะถึงนี้ จะมี “ดรีมทีม” เข้ามากอบกู้สถานการณ์

ก่อนหน้านี้เคยปรากฏหลายชื่อที่มาจากกลุ่ม ส.ส. แต่ดูเหมือนไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม

แตกต่างจากชื่อ “คนนอก” ที่ปรากฏออกมานั้น ได้รับการตอบรับมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การทำงานของรัฐมนตรี หากไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. ย่อมมีปัญหาในการบริหารโดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับสภาผู้แทนราษฎร

นี่จึงเป็นโจทย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องแก้ไข ทำอย่างไรถึงจะผสมผสานระหว่าง “คนนอก” กับ “คนในพรรค” ให้ได้ลงตัว

ทำอย่างไรถึงจะทำให้ภาพลักษณ์ ครม.ชุดใหม่ที่จะมีการปรับปรุงในเดือนสิงหาคมนี้เป็นความหวังของคนในสังคมไทยขณะนี้

จากวันนี้ไปถึงเดือนสิงหาคม เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน

ทั้งนี้ หากการปรับ ครม.เป็นไปตามกระแสข่าวว่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ เข้าใจว่าขณะนี้เรื่องตัวบุคคลคงจะมีการทาบทามและคัดเลือกกันแล้ว

ทุกอย่างควรจะอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบประวัติและตรวจคุณสมบัติรัฐมนตรี

จากนั้นจึงถึงขั้นตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจะเสนอปรับ ครม.

และเมื่อถึงเวลาที่รายชื่อ ครม.ชุดใหม่ปรากฏออกมา คนไทยคงจะได้เห็นว่า โฉมใหม่ ครม.บิ๊กตู่ นั้นจะสนองตอบต่อ “ฝ่ายการเมือง” หรือประชาชน

หรือจะสามารถเลือกทีมงานได้อย่างกลมกลืน ทั้ง “คนนอก” และ “คนในพรรค” จนฝ่ายการเมืองก็พอใจ สังคมทั่วไปก็รับได้

ทุกอย่างจะเห็นชัดไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image