‘ศักดิ์สยาม’รุก4มิติ บก-ราง-น้ำ-อากาศ สู่ฮับโลจิสติกส์อาเซียน

‘ศักดิ์สยาม’รุก4มิติ บก-ราง-น้ำ-อากาศ สู่ฮับโลจิสติกส์อาเซียน

หมายเหตุนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงภารกิจด้านโลจิสติกส์ใน 4 มิติ ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งที่จะนำขึ้นกล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน” ที่หนังสือพิมพ์มติชนจัดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กทม.

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ภารกิจของกระทรวงคมนาคมจะเป็นเรื่องของ โลจิสติกส์ ซึ่งมีอยู่ 4 มิติด้วยกัน คือ ทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ สิ่งที่ดำเนินการก็ยึดหลักกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเข้ามาดูตามกรอบเดิม

Advertisement

ทางบกก็เข้ามาดูการก่อสร้างต่างๆ ทางพิเศษมอเตอร์เวย์ ทางด่วน ก็มาดูว่าดำเนินการในเรื่องอะไรบ้าง ส่วนเรื่องใหม่ที่กำลังไล่ทำอยู่ตอนนี้คือ การขยายมอเตอร์เวย์สาย 7 จากศรีนครินทร์ไปสุดที่สัตหีบ เพราะมีอีอีซี มีเมืองการบินอยู่อู่ตะเภา แต่ขาดระยะอยู่ 7 กิโลเมตร นายกฯก็บอกว่าให้ไปถึงเลยจะได้เชื่อมโลจิสติกส์ อันนี้ก็เร่งและทำ

ส่วนอีก 2 เส้นที่กำลังทำคือ พระราม 2 ก็มีช่วงที่เราทำ คือจากพระราม 2 ไปที่เอกชัย-พระราม 2 ความพร้อมมีอยู่แล้ว ศึกษาอีไอเอ งบประมาณจะใช้จากกองทุนมอเตอร์เวย์

แต่อีกเส้นที่จะออกจากบางใหญ่ คือ นครปฐม-ชะอำ พอมาดูรายละเอียดจะต้องทำเป็นช่วง เพราะว่าติดอยู่ตรงกลางเพชรบุรี ตามแนวเดิมมีการคัดค้านจากประชาชน ไม่อยากให้ใช้แนวเดิม เพราะจะเป็นการทำให้ประชาชนโยกย้ายถิ่นที่อยู่ ผมก็บอกว่าถ้ารอให้สมบูรณ์ก็จะใช้เวลานานมาก ดังนั้นก็เลยเสนอว่าทำเป็นช่วงได้หรือไม่

Advertisement

จริงๆ ในต่างประเทศเขาก็กระจายเมืองเมื่อมีการเชื่อมต่อ ทางบกก็ไม่ใช่มีถนนอย่างเดียว มีทางรางด้วย นายกฯ ทำเรื่องรถไฟทางคู่ กับรถไฟความเร็วสูง ก็เลยคุยกันว่า ทำไมไม่บูรณาการกัน ก็เลยให้ทาง สนข.ไปกำหนดแนวและบูรณาการกันให้ได้ตัวแบบออกมา

การพัฒนาเรื่องนี้ ได้แบ่งเป็นแนวดิ่ง จากเหนือ-ใต้ มี 3 แนว คือ เชียงราย-บางบัวทอง มอเตอร์เวย์สายตะวันตกหมายเลข 9 แล้วก็วิ่งไปถึงภาคใต้ เชื่อมต่อกับมาเลเซีย ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา แนวที่ 2 จากหนองคาย ซึ่งมีแนวรถไฟอยู่ ที่เริ่มจากกรุงเทพฯ-โคราช ขึ้นไป ก็เอาแนวนี้มาทำมอเตอร์เวย์คู่มาด้วย แต่จะยิงไปที่แหลมฉบัง

อีกแนวตอนนี้ มีการทำสะพานที่บึงกาฬ เชื่อมไปฝั่งลาว ก็จะยิงจากแนวนั้นไปที่สุรินทร์ ก็ทะลุไปกัมพูชา ส่วนแนวขวางตะวันตก-ตะวันออก จะมีแนวจากตาก วิ่งไปนครพนม โดยจะต้องเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

อีกแนวจากกาญจนบุรี ผ่านโคราช ไปอุบลฯ อีกแนวจากกาญจนบุรีเหมือนกันแต่ไปแหลมฉบัง สระแก้ว ไปทางปอยเปต

แนวที่สำคัญทางภาคใต้มี 2 แนว คือ ชุมพร-ระนอง ซึ่งแนวตรงนี้พูดง่ายๆ เป็นแลนด์บริดจ์ เมื่อก่อนเคยได้ยินแต่การสร้างโลจิสต์ติกส์ทางน้ำ คือ คอคอดกระ หรือคลองไทย จากการศึกษาพบว่าระดับน้ำไม่เท่ากัน ฝั่งอันดามันสูงกว่าอ่าวไทย 1 เมตร การทำคลองที่ต้องทำ คือจุดพักเรือ เพื่อยกระดับน้ำ หรือลดระดับน้ำขณะที่เรือมา อย่างนั้นไม่เกิดความได้เปรียบในการเดินทางในเรื่องของวลา ส่วนอีกแนวหนึ่งก็เป็นช่วงสงขลา ขึ้นไปทางฝั่งอันดามัน รวมก็จะเป็น 5 แนวพอดี

อันนี้ถือเป็นกรอบความคิด ซึ่งจะมีการศึกษามาสเตอร์แพลนปี 2564 ใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์เหมือนกัน ซึ่งมีเงินอยู่มาศึกษา พอได้แนวได้อะไรเสร็จ ก็มาออกแบบอะไรกันอีกที เพราะจะต้องมีเรื่องของการเวนคืน แต่โครงการจะถูกลงแน่นอน เพราะไม่ได้วิ่งเข้าไปที่ราคาแพง การก่อสร้างก็จะเป็นแบบพีพีพี หากทำได้ก็จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียนได้อย่างแท้จริง

ทางราง ก็แยกเป็นทางคู่ และความเร็วสูง ก็เร่งรัดอยู่รถไฟไทย-จีนที่มีปัญหาเรื่องระบบอาณัติสัญญาณและเดินรถ ก็แก้ปัญหาเรียบร้อย และจะเซ็นสัญญาในเดือนตุลาคมนี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร เรื่องอีไอเอ ก็ติดปัญหาเฉพาะที่สถานีอยุธยา ก็ต้องไปขอนุญาตกรมศิลปากร ก็คิดว่าจะจบ

รถไฟความเร็วสูงอีอีซีก็ตามแผน ส่งมอบพื้นที่ก็เร่งดำเนินการ และมีรถไฟทางคู่บ้านไผ่-นครพนม ก็จะเข้า ครม.เพื่อปรับรูปแบบมาเหมือนเดิม หรือเอางานก่อสร้างกับงานระบบมารวมกัน จากก่อนหน้านี้แยกออกจากกัน มีทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ก็จะเอาเข้า ครม.เหมือนกัน

ยังมีเรื่องการฟื้นฟูการรถไฟฯ สินทรัพย์ที่การรถไฟมีคือรางรถไฟ ปัจุบันใช้งานเพียง 30% เอง ส่วนหนึ่งก็เพราะมีปัญหาเรื่องภาระหนี้สินจำนวนมาก ก็เลยบอกว่าทำไมไม่ให้เช่าใช้วิ่งด้วย จะได้เพิ่มรายได้ ก็ให้ไปศึกษาอยู่

รถไฟฟ้าที่กำลังทำ คือ สายส้มตะวันออก ส่วนตะวันตกเปิดขายซองแล้ว ก็กำลังดำเนินการอยู่ ตามแผนเปิดปี 2568 ก็ได้ใช้ สายสีแดง ก็ยังมีปัญหาเรื่องของการขยายเวลา โดยในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ก็เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเรื่องแผนการเปิดให้บริการที่ชัดเจนอีกครั้ง

ส่วนสีน้ำตาล ตั้งคณะทำงานหารือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ เพราะขอใช้พื้นที่ทางมหาวิทยาลัยด้วย และจะเกี่ยวกับทางด่วนไปแครายด้วย เงินมีหมดแล้ว คาดได้ข้อสรุปเดือนหน้า

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ถือเป็นน้องเล็กสุดในระบบการขนส่งประชาชน ปัจจุบันมีหนี้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท สิ่งที่ ขสมก.ดำเนินการ คือ เรื่องการปฏิรูปเส้นทางการเดินรถใหม่ ในอดีตมีการขับปะปนเส้นทางกันไปหมด 1 ถนน มีรถหลายสายวิ่งรวมกันอยู่ วิ่งทับกันทำให้ต้นทุนสูง

ขสมก.จึงจัดระบบเส้นทางใหม่แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1.ฟีดเดอร์ คือวิ่งรถระยะสั้น เชื่อมจากรถระยะยาวเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า หรือเชื่อมกับการขนส่งทางน้ำ 2.ไลน์เนอร์ คือ วิ่งในเส้นทางหลัก หรือวิ่งรถระยะยาว แบบเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก 3.เซอร์เคิล คือ วิ่งรถแบบวงกลม เชื่อมระหว่างรถระยะยาวกับรถระยะสั้น และ 4.เอ็กซ์เพรส คือวิ่งรถบนทางด่วน

ขสมก.ได้ปฏิรูปเส้นทางจากเดิมที่วิ่งทั้งหมด 254 เส้นทาง ลดลงเหลือ 162 เส้นทาง แบ่งเป็นรถ ขสมก.ให้บริการ 108 เส้นทาง รถร่วมบริการให้บริการ 54 เส้นทาง

แผนดังกล่าวได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แล้ว คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เนื่องจากสิ่งที่ดำเนินการก็อยู่ภายใต้การฟื้นฟู คือ ขสมก.ต้องไม่ขาดทุนอีกต่อไป

คาดว่าหลังปฏิรูปเส้นทางเสร็จ จะเปลี่ยนจากการซื้อรถใหม่มาเป็นการเช่ารถเมล์ไฟฟ้า (อีวี) ตอนนี้ให้ ขสมก.ร่างเงื่อนไขประกวดราคา (ทีโออาร์) เตรียมไว้แล้ว รอเพียง ครม.อนุมัติก็จะเช่ารถเมล์อีวีได้ทันที คาดว่าจะได้เห็นรถกลุ่มแรกในช่วงกลางปี 2564 แน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีทิคเก็ต รวมถึงติดตั้งระบบจีพีเอส เพื่อดูว่ารถแต่ละคันวิ่งในเส้นทางใดบ้าง ส่วนเรื่องของการเช็กอิน เช็กเอาต์ของผู้โดยสารนั้น จะสามารถเช็กได้ว่าตอนนี้บนรถโดยสารมีคนอยู่กี่คน เพื่อนำข้อมูลไปบริหารจัดการต่อว่า ในแต่ละช่วงเวลาควรจัดรถวิ่งจำนวนกี่คัน เพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสาร

หลังปฏิรูปเส้นทางเสร็จจะมีการลดเส้นทางลงและสามารถบริหารรถที่ออกมาวิ่งได้ รวมถึงเรื่องปรับลดพนักงาน เพื่อมาใช้ระบบอีทิคเก็ต เมื่อทำตามแผนที่วางไว้ได้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลง และจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในแต่ละวันลงได้ โดยใช้วิธีจ่ายเหมาค่าโดยสารเพียง 30 บาท/คน/วัน ส่วนนักเรียนจะอยู่ที่ 25 บาท/คน/วัน ซึ่งอยู่บนสมมุติฐานที่ต้องมีผู้ใช้บริการวันละ 2 ล้านคน

ได้เสนอวิธีดังกล่าวให้กับ คนร.พิจารณา ทาง คนร.ทักท้วงมาว่าจากแผนเดิมคาดว่าจะฟื้นฟู ขสมก.ได้ใน 3 ปี แต่เมื่อปรับแผนใหม่ ใช้วิธีเหมาค่าโดยสาร 30 บาท/วันทำให้ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่ารายได้ของ ขสมก.จะกลับมาเป็นบวก ทาง คนร.มองว่านานเกินไป ซึ่งที่นานเพราะรายได้ต่างกันจากเดิมที่คิดตามระยะทาง เปลี่ยนมาเป็นจ่ายเหมาทั้งวัน ทั้งนี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน แนวคิดคือประชาชนต้องมาก่อน

เรื่องนี้ต้องให้นายกฯ เป็นผู้ตัดสินใจเพราะ ขสมก. ขาดทุนกว่า 3,000-5,000 ล้านบาท/ปี หากไม่แก้ไข หนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ส่วน ขสมก.จะกลับมามีกำไรก่อนหักภาษี หักดอกเบี้ยและค่าเสื่อม หรืออีบิทด้า เมื่อไหร่นั้น ให้ คนร.ทำเครื่องมือชี้วัดเลยว่าตั้งแต่ปีที่ 1-7 ขสมก.สามารถชำระหนี้ได้ปีละเท่าไหร่ตามเป้าหมายหรือไม่ หากไม่สามารถทำได้ก็ปล่อยให้ล้มไปได้เลย แต่เชื่อมั่นว่าจากผลการศึกษาและวิธีที่ดำเนินการ เป็นไปได้สูงมากที่ ขสมก.จะกลับมามีกำไรได้ภายใน 7 ปี

ส่วนการขนส่งทางน้ำ มอบหมายให้ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดูแล โดยจะมีการปรับปรุงโลจิสติกส์ทางน้ำ รวมถึงได้เชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมทุน หรือพีพีพี ในการสร้างเทอร์มินอลซึ่งไม่ได้เป็นการเอื้อเอกชน แต่ต้องดูว่าเมื่อมาร่วมทุนกันแล้วประชาชนจะได้อะไร ส่วนเรื่องโลจิสติกส์ทางน้ำขนาดใหญ่ โดยนายกรัฐมนตรีให้ศึกษาการทำกองเรือพาณิชย์นาวี ซึ่งเรื่องนี้ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าเป็นผู้ศึกษา เพื่อเอื้อต่อการขนส่งสินค้าในอนาคต

ส่วนเรื่องการบริหารงานทางอากาศ หน่วยงานที่มีกำลังที่สุดตอนนี้คือ บริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ที่ขณะนี้ มีแผนที่จะพัฒนาศักยภาพ จากเดิมกระทรวงคมนาคมได้วางเป้าหมายการรองรับผู้โดยสารทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประมาณ 150 ล้านคนต่อปี ซึ่ง ทอท.ได้รับนโยบายและไปดำเนินการ

ปัจจุบันไทยมีสนามบินหลัก 2 แห่ง คือ สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งทั้ง 2 แห่งยังมีพื้นที่ที่สามารถขยายพื้นที่ไปได้ โดยทาง ทอท.ได้เสนอมาสเตอร์แพลน ที่มีหลายฝ่ายมองว่าทำไมไม่พัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิตามมาสเตอร์แพลน อยากให้เข้าใจว่ามาสเตอร์แพลนมีการปรับปรุง ทุก 4-5 ปี จะมีการปรับปรุง 1 ครั้ง

หลังจากนี้ จะมีการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 ซึ่งมีการประกวดราคาเรียบร้อยแล้ว ส่วนสนามบินดอนเมืองยังมีบางส่วนติดอีไอเอ แต่จากการศึกษาเบื้องต้นสามารถให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณาได้ ถ้าไม่มีผลกระทบออกไปนอกพื้นที่ ก็สามารถดำเนินการได้

ส่วนเรื่องของอู่ตะเภาเป็นอีกสนามบินที่ช่วยรองรับรับผู้โดยสารได้กว่า 60 ล้านคนต่อปี มองว่าเรื่องของการพัฒนาสนามบินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะรายได้หลักของประเทศมาจากภาคการท่องเที่ยวมาจากทางอากาศกว่า 80% แต่หากทางอากาศของไทยไม่เป็นประตูที่ใหญ่พอก็ไม่มีโอกาสที่จะได้รายได้จากการท่องเที่ยว

ส่วนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มีสนามบินภูมิภาคที่ดูแลกว่า 29 แห่ง ต้องมาดูกำลังการใช้งบประมาณปกติของกรมฯมีเท่าไหร่ ไม่อยากให้แบกภาระเยอะ อยากให้มีการหารือกับ ทอท.ให้เข้ามาบริหารแล้วรับรายได้ร่วมกัน จากการพูดคุยพบว่ามีบางสนามบินที่จะเป็นสนามบินที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ อาทิ กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ ส่วนที่เหลืออีกกว่า 20 แห่ง ต้องไปดูว่าจะสามารถพัฒนาอย่างไรได้บ้าง

เรื่องสายการบินต่างๆ เบื้องต้นมีกำหนดข้อกำหนดต่างๆ ตาม พ.ร.บ.เดินอากาศ โดยช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การจราจรทางอากาศได้หยุดพักหายใจว่าจะกำหนดกติกาหลังจากนี้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปรวมทั้งกำหนดแผนการเดินอากาศไทยหลังโควิด-19 เพื่อรองรับเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติอีกด้วย

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ทำให้โครงการของคมนาคมหายไปไหน แต่ระยะเวลาในการก่อสร้างอาจจะต้องเลื่อนออกไปให้ไปดูแต่โครงการไม่จำเป็นต้องเสร็จภายใน 1 ปี ให้ใช้วิธีผูกพันงบประมาณแล้วนำงบประมาณในส่วนดังกล่าวกลับเข้าสู่ภาครัฐเพื่อนำเงินไปช่วยโควิด-19 ซึ่งในปี 2563 กระทรวงคมนาคมตัดงบประมาณออกไปกว่า 8 พันล้านบาท ก็ไม่ได้มีผลกระทบกับโครงการที่หลายกรมดำเนินการอยู่ จะกระทบก็มีแค่เรื่องระยะเวลาการดำเนินโครงการที่ต้องเลื่อนออกไปเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ทางกระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง โดยการนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยด้านคมนาคม อาทิ กรวย และแบริเออร์ เพื่อลดอุบบัติเหตุทางท้องถนน

ได้ร่วมศึกษากับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพิ่มการรองรับจากเดิมที่รองรับได้เพียง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยแบริเออร์ไม่ระเบิด และลดการพุ่งข้ามเลนเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ โดยได้รับการยืนยันจากสถาบันที่ประเทศเกาหลีใต้ว่าแบริเออร์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพทนทานต่อการเกิดอุบัติเหตุจริง หากนำมาใช้งานจริงเชื่อว่าจะสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงได้ทันที

รวมถึงช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย เป็นไปตามนโยบายของนายกฯ ที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐมีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตัน ภายใน 3 ปี หรือระหว่างปี 2563-2565 จะช่วยให้ราคามีเสถียรภาพมากขึ้น คาดว่าเกษตรกรจะได้เงินจากโครงการดังกล่าวประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบการก่อสร้างเกาะกลางถนนของกรมทางหลวง การนำยางพารามาทำแบริเออร์ถือว่ามีราคาถูกและมีคุณภาพ คาดว่าช่วงเดือนสิงหาคมนี้นายกฯ จะนำโครงการนี้ขึ้นมาพิจารณา

ขณะนี้มีการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนไปแล้วกว่า 50% คาดว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม จะเพิ่มเป็น 70-80% และเชื่อว่าการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2564 จะไม่ล่าช้าซ้ำรอยปี 2563 แน่นอน

เมื่อได้เข้ามาทำหน้าที่นี้แล้วก็ต้องทำเต็มที่ ผมใช้วิธีการบริหารงานแบบการบริหารทีมฟุตบอลคือ หากข้าราชการคนไหนเหนื่อยหรือไม่สามารถบริหารงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ก็ต้องพักเหมือนนักฟุตบอลที่ไม่ไหวก็ต้องให้ตัวสำรองลงสนามแทน แต่พักแล้วต้องกลับมาทำงานให้ได้

ผมจึงเรียกการบริหารงานของตัวเองว่า คมนาคมยูไนเต็ด เป็นการทำงานแบบช่วยกันผลักดันเรื่องต่างๆ ให้เดินหน้าต่อไปได้ เรื่องไหนที่ยังติดปัญหาก็ช่วยกันแก้ไขต่อไป ส่วนเรื่องการแต่งตั้งปลัดเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าแต่ละคนทำงานเป็นอย่างไร แต่จากที่สัมผัสทุกคนเก่งหมด แต่ต้องดูคนที่เหมาะสมที่สุด เพราะการเป็นปลัดกระทรวงไม่ได้เข้ามาเป็นนายคนอย่างเดียว ต้องบูรณาการงานให้ครบทั้ง 4 ด้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image