ปรากฏการณ์‘แฟลชม็อบ’ กับข้อเสนอ‘ถอนฟืนจากเตา’

ปรากฏการณ์‘แฟลชม็อบ’ กับข้อเสนอ‘ถอนฟืนจากเตา’

ปรากฏการณ์‘แฟลชม็อบ’
กับข้อเสนอ‘ถอนฟืนจากเตา’

หมายเหตุ – เป็นความเห็นนักวิชาการในการประเมินการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในรูปแบบแฟลชม็อบ พร้อมข้อเสนอแนะเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ก่อน
เหตุการณ์จะบานปลาย


โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ชนวนเหตุการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา เกิดจาก 1.การชุมนุมแต่ก่อนนี้ที่บอกว่าไม่ได้ เพราะจะทำให้ไม่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคม คนจะติดโรคติดต่อกันไป แต่เมื่อสถานการณ์โควิดบรรเทาลง ก็เดาว่าเป็นเพราะ 2.ที่รัฐบาลบอกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายเร่งด่วน ซึ่งเยาวชนก็อยากรู้ว่าจะเอาอย่างไร โดยที่มีพื้นฐานไม่ชอบที่มาของรัฐธรรมนูญและการได้มาซึ่งอำนาจรัฐของเครือข่าย คสช. ประกอบด้วย
ส่วนตัวคิดว่าเยาวชนเตรียมความคิดมาดีพอสมควร โดยผ่านทางการสื่อสารออนไลน์ ยิ่งช่วงโควิดก็ยิ่งสื่อสารกันเรื่องนี้ว่าน่าจะพอได้แล้วมั้ง ขอเวลาหน่อยมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว น่าจะพอแก่เวลาแล้ว แต่จะลงอย่างไร ถ้าจะขอต่อไปเรื่อยๆ 20 ปีก็คงไม่ไหว เป็นความรู้สึกของเยาวชน
สถานการณ์จะบานปลายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตอนนี้ที่เยาวชนแสดงออกแล้วเป็นฝ่ายรุก แต่รัฐบาลจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เยาวชนแสดงออกแล้ว บอกว่าคุณฟังพวกเราสักหน่อยได้หรือไม่ รับฟังไม่พอ ช่วยนำไปปฏิบัติด้วยความจริงใจสักหน่อยได้หรือไม่ ถ้าอันไหนปฏิบัติไม่ได้ ฝ่ายผู้มีอำนาจก็จะต้องมาอธิบาย เช่น บอกว่าจะให้เลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญ 2540 ทำได้หรือไม่ ทำไม่ได้เพราะอะไร ก็ว่ากันไป ขึ้นอยู่กับว่าจะมีคำตอบเรื่องรัฐธรรมนูญหรือไม่ประกอบด้วย หรือจะแก้ตัว หากอธิบายอย่างฟังไม่ค่อยขึ้น พวกเยาวชนก็อาจจะใจร้อนเร่งรัดไปเรื่อยๆ ควรจะมีการตอบสนองเรื่องรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนกว่านี้อีกเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี นักศึกษาต้องระวัง ต้องมีขอบเขต ไม่เอาเรื่องอื่นมาโหน หรือไปแตะ อย่าทำอะไรให้เฉียดเข้าไปใกล้ เพราะจะเกิดเป็นความรู้สึกว่ากลัว โกรธ เกลียดขึ้นมา ซึ่งไม่เกี่ยวกับที่นักศึกษาเรียกร้อง มีเพียง 3 ข้อที่ว่ามา 1.เรื่องรัฐธรรมนูญ 2.เลือกตั้งโดยใช้รัฐธรรมนูญ 2540 หรืออื่นๆ 3.อย่าปิดกั้นการแสดงออกของพวกเรา ก็อยู่ตรงทำนองนี้ แล้วดูว่าประชาชนที่รับฟังจะว่าอย่างไร เรื่องอื่นอย่าไปแตะ
ส่วนฝ่ายผู้มีอำนาจก็ทราบอยู่แล้วว่าข้อเรียกร้องคืออะไร ก็ขอให้คุณมีคำตอบ อธิบายต่อสังคมได้

Advertisement

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การชุมนุมของนักศึกษาเกิดจากหลายปัจจัย อย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ เงื่อนไขการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินเดือนต่อเดือน ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องการเฝ้าระวังโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะตัวเลขที่ไม่มีผู้ติดเชื้อสะท้อนว่าคนไทยร่วมมือป้องกันได้อย่างดี เมื่อมีประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง กระแสความนิยมรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีที่ลดถอยลงตามลำดับ ก็มีมูลเหตุ โดยเฉพาะความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ ผู้คนในสังคมจึงรู้สึกว่าไม่มีที่พึ่ง ไม่สามารถแสดงออกได้

เหตุการณ์จะบานปลายหรือไม่ อยู่ที่ตัวเนื้อหา และรายละเอียดที่กลุ่มขบวนการนักศึกษาจะจัดในการแสดงออกทางสัญลักษณ์ หรือรวมตัว เนื้อหาที่ต่อต้านรัฐบาลในวงจำกัดเพียง 3 ข้อ หากอยู่ในเนื้อหานี้ก็ยังพอไปต่อได้ แต่หากปล่อยหรืออนุญาตให้คนมาแอบแฝงเคลื่อนไหว โดยการแสดงสัญลักษณ์ ชูป้าย ก้าวข้ามล้ำเส้นในพื้นที่อันล่วงละเมิดไม่ได้ ก็คิดว่ากระแสสังคมจะตีกลับถึงความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวชุมนุมเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้ นักศึกษาจึงต้องระมัดระวัง

Advertisement

ดังนั้น อุณหภูมิทางการเมืองจึงไปประดังประเดอยู่ที่นักศึกษาที่ทำให้ดูร้อนแรง และการชุมนุมในลักษณะแฟลชม็อบที่กินระยะเวลาไม่นาน โดยไม่มีการปักหลักพักแรม แน่นอนว่าผู้จัดกิจกรรมมีการประเมินทางยุทธศาสตร์การต่อสู้แล้วว่า เป็นเหตุการณ์ต่อเหตุการณ์ หรือวันต่อวันเท่านั้น

ส่วนเรื่องการชุมนุมในสถานศึกษา เป็นเรื่องภายในของอธิการบดี หรือผู้มีอำนาจในสถานศึกษา ในการพูดคุย เจรจา ประนีประนอมต่อการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล ซึ่งสถานศึกษาก็น่าจะเปิดพื้นที่ให้ได้พูดคุยกันกับผู้บริหารมากกว่าจะปิดกั้น

ในการบริหารสถานการณ์ที่ควบคู่นี้ สิ่งที่รัฐบาลพึงระวังมากที่สุด คือรัฐบาลมีโอกาสแล้วในการปรับ ครม. หรือหันเหความสนใจของผู้คนในสังคมให้เกิดความคาดวัง ว่าการปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 จะเป็นการชิงพื้นที่ข่าวทั้งหมด เพื่อให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับ

ซึ่งแน่นอนว่าพลังการต่อสู้เช่นนี้ของนักศึกษาอาจไม่สามารถยืนระยะได้ หากสมมุติวารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปรับ ครม.เอาคนซื่อสัตย์ มีความรู้ความสามารถเข้ามา แต่หากปรับโดยเป็นไปตามเงื่อนไข แรงกดดัน เสียงเชียร์ใน พปชร. หรือตามใบสั่ง แน่นอนว่าขบวนการนักศึกษาจะอ้างต่อเงื่อนไขในประเด็นนี้มาชุมนุม โดยเพิ่มอุณหภูมิและเนื้อหา เรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกต่อเนื่อง ต่อไป

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต

มีการประเมินข้อเรียกร้องของแฟลชม็อบ 3 ประเด็น เริ่มจากการหยุดคุกคามประชาชน ผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง รัฐบาลตอบเรื่องนี้ได้ง่ายที่สุด ทำได้ทันที โดยผู้มีอำนาจควรมีความชัดเจน ด้วยการประกาศว่าไม่มีนโยบายในการคุกคามประชาชน จะไม่มีคุกคามในทุกรูปแบบ การชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน สามารถทำได้ภายในกรอบของกฎหมาย แต่วันนี้ยังไม่มีใครออกมาพูดแม้แต่คนเดียว ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยพยายามหาเหตุในการใช้กฎหมายเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่จะหาได้ไปจัดการกับผู้ชุมนุม

ประการต่อมาเรื่องการยุบสภา หากมีการทำตามข้อเรียกร้องก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ตามกรอบเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน ไม่เกิน 60 วัน ภายใต้กฎกติกาเดิมทุกประการ รวมทั้งมีการควบคุมการเลือกตั้งโดย กกต.กลางชุดเดิม ขณะที่พรรคการเมืองส่วนหนึ่งอาจจะจัดตั้งพรรคไม่ทัน เรื่องนี้กลุ่มผู้ชุมนุมคงทราบดี แต่มีการชั่งน้ำหนักว่าดีกว่าให้รัฐบาลชุดนี้ทำงานบริหารประเทศต่อไป จึงเสนอให้มีการยุบสภา เพื่อทดสอบหรือเสี่ยงว่าเสียงของประชาชนจะเทไปข้างใดในอนาคต ซึ่งอาจดีกว่าอยู่กับปัจจุบันโดยไม่มีอนาคต

ข้อเรียกร้องเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สะท้อนให้เห็นว่ารากฐานปัญหาของการเมืองไทยวันนี้ มาจากการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและร่างเพื่อต้องการให้เกิดการได้เปรียบทางการเมือง แต่กระบวนการร่างใหม่ต้องใช้เวลายาวนาน ใครจะทำหน้าที่ร่างหรือประชาชนจะเข้ามีส่วนร่วมได้อย่างไร ทางออกเรื่องนี้ผู้มีอำนาจหรือกรรมาธิการพิจารณาแก้ไข จะต้องออกมาบอกไทม์ไลน์ให้ชัดเจนว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นแน่นอนเมื่อไหร่ รวมทั้งข้อเสนอหรือแนวทางที่ผู้ชุมนุมเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการได้จริง

ข้อเสนอทั้งหมดนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจะต้องเป็นผู้ตอบ โดยเฉพาะการยุบสภาเป็นเรื่องที่นายกฯต้องตัดสินใจเอง แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะยุบสภาง่ายๆ นอกจากมีปัจจัยอื่นมากดดัน ขณะที่ยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่โดดเด่นที่สุด หากทำช้าหรือไม่มีความคืบหน้า ไม่มีความหวังไร้การตอบสนอง ส่งผลให้มีการชุมนุมต่อเนื่อง ปัญหาจะบานปลาย การชุมนุมอาจยกระดับให้สูงขึ้น จากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วผ่านโซเชียลมีเดีย

การระดมมวลชนสามารถทำได้เร็วมากกว่าม็อบมือถือเมื่อพฤษภาคม 2535 ห่วงว่าหากหลายเวทีมารวมกันจุดเดียว ก็ทำให้สถานการณ์ยากต่อการควบคุม อาจส่งผลทำให้หัวหน้ารัฐบาลจะไม่มีที่อยู่หรือไม่ ผู้มีอำนาจควรนำไปประเมินให้รอบคอบ

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ขณะนี้ยังมองไม่เห็นข้อยุติหรือปลายทางของแฟลชม็อบ เพราะการชุมนุมที่ผ่านมาและที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องทั่วประเทศ ทั้งจัดซ้ำที่เก่า เพิ่มสถานที่ใหม่ๆ ถือเป็นการระบายอารมณ์ของคนรุ่นใหม่ ตราบใดที่รัฐบาลนี้ยังไม่มีคำตอบทำให้เกิดการยอมรับ และวันนี้มองว่ารัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับแฟลชม็อบเท่าที่ควร ดังนั้นถ้าถามว่าจะจบเมื่อไรคงตอบไม่ได้ คงขึ้นอยู่กับรัฐบาล หากมีการประกาศ ครม.ชุดใหม่ออกมาแล้ว หากคนส่วนใหญ่เกิดอาการยี้กับบุคคลบางราย รวมทั้งประเด็นอื่น แฟลชม็อบก็จะต้องนำไปขยายผลเปิดแผลเพิ่ม และอาจเพิ่มจำนวนผู้ชุมนุม

เงื่อนไขของแฟลชม็อบจะยุติได้ รัฐบาลต้องออกมายอมรับความจริงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปต่อไม่ได้ ต้องแก้ไข โดยมีกำหนดเวลาและแผนงานที่แน่นอน ไม่ใช่การตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อดึงเวลา ถ้ารัฐบาลยังเลื่อนลอยเหมือนปัจจุบัน แฟลชม็อบจบยาก แต่ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลก็ต้องอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ปกป้องตนเองก็ถือว่าเป็นเรื่องยาก ที่จะมีข้อตกลงยอมรับให้มีการแก้ไข เช่น ต่อไปอาจจะไม่ให้อำนาจ ส.ว. 250 คน โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหลังจากมีการยุบสภาหรือนายกรัฐมนตรีลาออก

ที่ผ่านมารัฐบาลมีความหวาดระแวง หวั่นไหวกับการชุมนุมต่อต้าน แต่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีการก่อตัวได้อย่างรวดเร็ว หรือแพร่หลายได้ โดยไม่จำกัดเวลาเช้าหรือเย็น และสถานที่ บวกกับเครื่องมือสื่อสารของคนรุ่นใหม่ทำให้การชุมนุมหาแนวร่วมได้ง่าย และคงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะปล่อยให้แฟลชม็อบชุมนุมไปเรื่อยๆ กระทั่งหยุดไปเอง เพราะก่อนหน้านี้แฟลชม็อบมีการประกาศเป้าหมายและเงื่อนไขเวลาไว้แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่แฟลชม็อบจะอยู่ยาว หรือมีแนวร่วมเพิ่มขึ้นหรือไม่ อยู่ที่ผลงานและท่าทีของรัฐบาล

ส่วนจะมองว่าแฟลชม็อบที่มีนักเรียน นักศึกษาออกมาทำกิจกรรม จะบริสุทธิ์จริงหรือไม่ หรือมองว่าการที่นักการเมืองจะเข้าไปร่วมแล้วจะเกิดความเสียหาย ต้องเข้าใจว่ากลุ่มที่ไม่พอใจรัฐบาล ไม่ได้มีเฉพาะนักเรียนและนักศึกษา ทำไมประชาชนทั่วไป หรือนักการเมืองจะร่วมแสดงออกไม่ได้ และสิ่งที่รัฐบาลต้องระวังมากที่สุดคือการใช้กฎหมายพิเศษที่ใช้ควบคุมโควิด-19 เข้าไปควบคุมมวลชน อาจถูกมองว่ามีการคุกคามเกิดขึ้นหรือมีสถานการณ์จากน้ำผึ้งหยดเดียว ถ้ามีการจับกุม ตั้งข้อหา เชื่อว่ารัฐบาลคงลำบากใจพอสมควร เพราะเชื่อว่าเบื้องหลังไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องการยุบสภาตามข้อเรียกร้อง

ถ้าจะให้ประเทศสงบ รัฐบาลต้องมีแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าซื้อเวลา เพื่อให้มีโอกาสให้พบกันครึ่งทาง ไม่ควรปล่อยให้คณะกรรมาธิการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทำงานไปเรื่อยๆ และยังเหลืออีก 2 เดือนก่อนจะสรุป ส่วนการเจรจากับนักเรียนนักศึกษา หลังจากนั้นถ้าเงื่อนไขที่เสนอไม่ได้รับความสนใจ ก็ไม่เกิดประโยชน์ ที่สำคัญรัฐบาลหรือกรรมาธิการจะไปเจรจากับแกนนำคนไหน มั่นใจอย่างไรว่าเจรจากับกลุ่มนั้น กลุ่มนี้แล้วจะสงบ เพราะวันนี้แฟลชม็อบกระจายไปทั่วประเทศมีแกนนำแทบทุกจังหวัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image