จับตา หลังปรับ ครม. วิกฤต ซ้อน วิกฤต

จับตา หลังปรับ ครม. วิกฤต ซ้อน วิกฤต

จับตา หลังปรับ ครม. วิกฤต ซ้อน วิกฤต

ท้ายสัปดาห์ สื่อมวลชนเริ่มลงข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯรายชื่อรัฐมนตรีใหม่แล้ว 6 คน 7 ตำแหน่ง ประกอบด้วย นายปรีดี ดาวฉาย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

เป็นการปรับ ครม.แทนรัฐมนตรีที่ลาออกไปก่อนหน้านี้

สำหรับรัฐมนตรีที่ลาออก ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

Advertisement

หากทุกอย่างเป็นไปตามกระแสข่าว อีกไม่นานรัฐบาลบิ๊กตู่ชุดปรับปรุงใหม่ก็จะได้แสดงฝีมือ

การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นความหวังในการบริหารราชการแผ่นดิน

แม้ว่า “ต้นทุน” การดำเนินการจะถือว่าติดลบ เพราะผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนยังมองว่า การปรับ ครม.ไม่น่าจะช่วยให้ปัญหาอันหนักอึ้งผ่อนคลายลง

แต่หากดูจากตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็น นายปรีดี ดาวฉาย ที่จะมาเป็นรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ถือว่าเป็น “ตัวจริง” ที่คอยช่วยงานรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น

เพียงแต่ปัญหาของการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมาคือ “เอกภาพ” โดยเฉพาะเอกภาพของทีมเศรษฐกิจ

ปัญหาก็คือเมื่อปรับ ครม.แล้ว “เอกภาพ” ในการบริหารงานเศรษฐกิจจะดีขึ้นแค่ไหน

รัฐมนตรีเศรษฐกิจที่เป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองอื่น ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย จะยินยอมพร้อมใจผลักดันนโยบายใหม่ๆ มากหรือน้อยเพียงใด

เพราะรัฐมนตรีที่ปรากฏชื่อถือเป็น “คนนอก” ในโควต้าของนายกรัฐมนตรี ขณะที่การบริหารราชการแผ่นดินในระบบประชาธิปไตย ต้องประสานงานกับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ เป็นสมาชิก

ปัญหาเดิมที่นายสมคิด และกลุ่ม 4 กุมาร ประสบ คือ ไม่ได้รับการขานรับจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำ

สำหรับทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ปัญหานี้จะยังคงดำรงอยู่หรือไม่

เมื่อพิจารณารายชื่อรัฐมนตรีคนใหม่ และตำแหน่งที่ได้รับการนำเสนอ พบว่าตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นความต้องการของพรรคพลังประชารัฐ มิได้เป็นของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร

อย่าลืมว่าเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐ ถึงขั้นปรับกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมออก แล้วเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และมีมติให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้า นายอนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรคนั้น มีเป้าหมายที่การปรับ ครม.

ผลักดันให้กลุ่มสามมิตรได้ตำแหน่งตามที่ต้องการ

ในจำนวนนั้นคือตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่มีมติเสนอชื่อนายสุริยะ

แต่เมื่อนายสุริยะพลาดหวัง จะมีผลต่อการคุมคะแนนเสียงในสภามากหรือน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ การปรากฏชื่อ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ท้าทายกลุ่ม ส.ส.ภายในพรรคพลังประชารัฐไม่น้อย

จึงต้องจับตาดูต่อไปว่า การทำงานของรัฐบาลกับการประสานงานในสภาผู้แทนราษฎร จะราบรื่นตามปรารถนาหรือไม่

แม้การปรับ ครม.ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจบนความตั้งใจจะให้เกิดผลงานการบริหาร

แต่สำหรับพรรคพลังประชารัฐ การปรับ ครม.อาจจะยังไม่ตอบโจทย์การเมืองที่ตัวเองต้องการ

ปัญหาเรื่องเอกภาพในคณะรัฐมนตรี และปัญหาการประสานงานในสภาผู้แทนราษฎร เป็นปัญหาที่สามารถส่งผลกระทบต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน

หากผลการบริหารราชการแผ่นดินออกมาเป็นลบ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกวูบ และวิกฤตของโรคโควิด-19 ยังไม่หายไป

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อาจจะต้องประสบกับ “วิกฤต” ซ้อน “วิกฤต”

เพราะขณะนี้กลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษามีความเคลื่อนไหว เรียกร้องให้รัฐบาลและสภาตอบสนองเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เป้าหมาย 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1.ต้องประกาศยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อหยุดสืบทอดอำนาจ นั้น รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรจะมีท่าทีเช่นไร

การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก-Free YOUTH และสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ได้ขีดเส้นไว้ 2 สัปดาห์

นับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ครบกำหนดที่รัฐบาลต้องมีคำตอบ

น่าสนใจตรงที่ การเคลื่อนไหวของนักเรียนนิสิตนักศึกษาคราวนี้ได้รับการตอบรับมากขึ้น

แม้ข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีมาตลอด แต่ดูเหมือนข้อเรียกร้องนี้ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่แสดงว่าสังคมเริ่มมีความรู้สึกคล้อยตามว่าถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

การปรับ ครม.เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีหนึ่งที่สามารถสร้างความหวังแก่สังคมได้

ดังนั้น รัฐมนตรีทุกคนที่ทำหน้าที่ใน ครม.ชุดใหม่ จึงมีงานหนักที่ต้องทำให้สำเร็จ

ปัญหาด้านสุขภาพเกี่ยวกับโควิด-19 อาจจะประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม แต่ปัญหาด้านเศรษฐกิจยังแก้ไขไม่ตก และนับวันจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ

หากสถานการณ์ดังกล่าวมาผนวกกับปัญหาการคุกคามสิทธิเสรีภาพ การทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจโดยมิชอบ และอื่นๆ

โอกาสที่รัฐบาลจะเผชิญหน้ากับ “วิกฤต” ซ้อน “วิกฤต” ย่อมมีสูง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างจะเกิดหรือไม่เกิด ย่อมขึ้นอยู่กับฝีมือการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี

เท่ากับว่าแม้จะมีการปรับ ครม.แล้ว รัฐบาลก็ยังไม่พ้นอันตราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image