พิพัฒน์ รัชกิจประการ ปลุกเที่ยวไทยกระตุ้นศก.

หมายเหตุ – เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม เครือหนังสือพิมพ์มติชน จัดสัมมนา ปลุกไทยเที่ยวไทย ปลุกเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าŽ โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงาน และกล่าวปาฐกถาพิเศษ ที่ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก

พิพัฒน์ รัชกิจประการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ภาพรวมสถานการณ์ทางการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวไทยถือว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย และถือว่าเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญในการกระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจ ปี 2561 รายได้จากภาคการท่องเที่ยวคิดเป็น 18% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 4.3 ล้านงาน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยังส่งผลต่อการขยายตัว และการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับภาคธุรกิจอื่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย

ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยปี 2562 สร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยวกว่า 3.01 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.37% แบ่งเป็นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 39.79 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.24% สร้างรายได้ประมาณ 1.93 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.05% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ส่วนตลาดในประเทศ มีการเดินทางของไทยเที่ยวไทย จำนวน 166.84 ล้านคน-ครั้ง หดตัวลงเล็กน้อย 0.06% สร้างรายได้หมุนเวียนในประเทศมูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.18% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561

Advertisement

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้รวมทางการท่องเที่ยว 2 ใน 3 มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นช่วงเดือนธันวาคม 2562 ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปจนหมด ซึ่งการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยลดลงตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ ส่งผลกระทบต่อสายการบินหลายแห่งต้องล้มละลาย โรงแรมต้องหยุดให้บริการ ยุติการดำเนินการ มีการห้ามและจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ การเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกต้องหยุดลงอย่างสิ้นเชิง ประกอบกับหลายประเทศมีนโยบายห้ามไม่ให้พลเมืองเดินทางออกนอกประเทศ สถานการณ์จึงเริ่มเลวร้ายลง

องค์การการท่องเที่ยวโลก (ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ) คาดว่าปี 2563 นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะเดินทางลดลงถึง 60-80% ในไตรมาสแรกปี 2563 นักท่องเที่ยวลดลง 22% หรือประมาณ 67 ล้านคน เกิดการสูญเสียรายได้กว่า 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2564 คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะสามารถฟื้นกลับมา แต่จะเผชิญกับความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวทั่วทั้งโลก ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เร็วกว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

การท่องเที่ยวในปี 2563 หากไม่มีการระบาดโควิด-19 รัฐบาลตั้งเป้าว่าภาคการท่องเที่ยวไทย จะต้องสร้างรายได้รวมทั้ง 2 ตลาดกว่า 3.04 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 ขึ้น ทำให้ความคาดหวังในการสร้างรายได้ผ่านการท่องเที่ยวหายไป แต่ยังหวังว่าประเทศไทย จะสามารถค้นพบวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ได้ หรือต่างประเทศมีการค้นพบวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวมีความเสี่ยงน้อยลง แม้ขณะนี้ยังไม่มีการพบวัคซีนต้านไวรัส แต่ก็มีความคืบหน้าในการทดลองวัคซีนเพิ่มเติม ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ หากไม่มีวัคซีนต้านไวรัส อาจทำให้ภาคการท่องเที่ยวเปิดได้เฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศ

Advertisement

เดิมนั้นคาดการณ์แนวโน้มรายได้รวมของภาคท่องเที่ยวในปี 2563 อยู่ที่ 3.04 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40.78 ล้านคน สร้างรายได้ 2.02 ล้านล้านบาท เติบโต 4.5% หากเทียบกับปีก่อน และตลาดไทยเที่ยวไทยออกเดินทาง 172 ล้านคนต่อครั้ง เติบโต 4.4% สร้างรายได้ 1.13 ล้านล้านบาท โต 4.3% แต่เมื่อเกิด โควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยทุกส่วน และปรับเป้าหมายการทำงานปี 2563 ใหม่ คาดรายได้รวมทั้งปีไม่ต่ำกว่า 1.23 ล้านล้านบาท มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทย 14-16 ล้านคน และนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 120 ล้านคนต่อครั้ง จากสถานการณ์ในปัจจุบันหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ 9-10 ล้านคน ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 มีรายได้รวมจากภาคท่องเที่ยว 742,500 ล้านบาท หากเทียบปีก่อนมีรายได้แล้ว 1.5 ล้านล้านบาท ติดลบ 75% หรือเหลือแค่ 1 ใน 3 จึงตั้งเป้าการทำงานสร้างรายได้ทั้งปี 1.23 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวเข้าไทยได้เกิน 10 ล้านคน

ประเทศไทยขณะนี้ เชื่อว่าสามารถเดินต่อไปได้ ไม่ถึงกับเข้าสู่ภาวะแย่มากแล้ว เพราะยังมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายด้าน ตั้งแต่การเป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นเมืองเกษตรกรรม มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่พร้อมเพรียง ไม่ร้อนไม่หวานเกินไป ฝนตามฤดูกาล มีแหล่งเที่ยวทางทะเลยาวกว่า 2 พันกิโลเมตร ถือเป็นต้นทุนที่มีค่ามาก

การระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ และภาพรวมเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้ไทยยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งตลาดไทยเที่ยวไทยและตลาดต่างชาตินึกถึง รวมถึงเลือกเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ โดยการส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถดำรงอยู่และขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้ ภายใต้การดำเนินงานตามแนวทางการกำกับของกระทรวงสาธารณสุข ควบคู่กับการปรับวิถีชีวิตใหม่ (นิวนอร์มอล) สร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางเพื่อท่องเที่ยว กำหนดแนวทางและรูปแบบการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมและปลอดภัย ด้วยการปลุกกระแสไทยเที่ยวไทย เพื่อก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทุกขนาด และการจ้างงานภาคประชาชนในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

อาทิ ธุรกิจภาคโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว กระตุ้นไทยเที่ยวไทยด้วยรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและบริการที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบดังกล่าวนั้น ดำเนินการภายใต้นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว 4 ประการ คือ ความปลอดภัย ความสะอาด ความเป็นธรรม และกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสู่ความยั่งยืน

เรื่องความปลอดภัย ต้องการปรับรูปแบบการท่องเที่ยวไทยให้มีความปลอดภัยมากที่สุด อาทิ ไปเที่ยวญี่ปุ่น แม้จะลืมสิ่งของมีค่าทิ้งไว้ในขนส่งสาธารณะ หรือตามสถานที่ต่างๆ สามารถติดตามคืนได้ ไม่หายอย่างแน่นอน เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งแรกๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องการเมื่อออกเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยต้องรณรงค์ให้คนไทยมีสามัญสำนึก และสร้างความรู้สึกว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา มาเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ และสร้างความสุขให้กับคนทั่วไป เพราะเมื่อมีการท่องเที่ยวของต่างชาติ จะเห็นเม็ดเงินหมุนเวียนประเทศ จะทำให้คนไทยมีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น

ในเรื่องความสะอาด กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้มีการสร้างมาตรฐานใหม่ด้านการท่องเที่ยว ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงสาธารณสุข ในการออกตราสัญลักษณ์ (เอสเอชเอ) ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ โดยต้องจัดการอบรมและตรวจประเมินผู้ประกอบการในแต่ละบริการ ตั้งแต่โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ จึงได้ตราสัญลักษณ์เอสเอชเอ ที่สามารถรับรองความปลอดภัย ความสะอาดได้

อีกเรื่องคือเน้นย้ำเรื่องความเป็นธรรม จะรณรงค์และส่งเสริมผู้ประกอบการไม่ให้เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว จากในอดีตที่เคยมีบริษัททัวร์นำต่างชาติเข้ามา แล้วพาลูกทัวร์ไปใช้บริการตามร้านอาหารหรือร้านค้าต่างๆ จะมีการหักหัวคิวหรือคิดค่าใช้จ่ายในระดับที่สูงกว่าปกติ หรือสูงกว่าคนไทยใน
ระดับสูงๆ โดยต้องการให้ราคาของสินค้าหรือบริการต่างๆ ไม่สูงกว่าคนไทยในระดับที่มากเกินไป ประมาณ 20-30% ถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้

รวมถึงต้องกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสู่ความยั่งยืนด้วย ควรคงอัตลักษณ์ที่ดีของไทยไว้ อย่าทำให้ทุกอย่างหายไป โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ หรือสถานที่สำคัญทางศาสนา ถือเป็นเรื่องของจิตสำนึกในการดูแล เพื่อให้สถานที่เหล่านั้นได้รับการดูแลจากคนในพื้นที่ให้คงอยู่ต่อไปหรือเสื่อมสภาพช้าที่สุด

สิ่งที่อยู่ระหว่างการปลุกคนไทยเที่ยวไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำโครงการเที่ยวปันสุข เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ผ่านแพคเกจเราเที่ยวด้วยกันและกำลังใจ โดยใช้งบรวม 22,400 ล้านบาท แบ่งเป็นงบของแพคเกจกำลังใจ 2,400 ล้านบาท ในการเปิดให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล (รพ.สต.) จำนวน 1.2 ล้านคน ลงทะเบียนรับสิทธิเที่ยวฟรี โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐจำนวน 2,000 บาท เพื่อเป็นการขอบคุณกลุ่มผู้ที่รับมือกับโควิด-19 เป็นด่านแรก ส่วนแพคเกจเราเที่ยวด้วยกัน ใช้งบ 20,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนส่วนต่างของการใช้สิทธิห้องพัก 5 ล้านห้อง และตั๋วเครื่องบิน 2 ล้านใบ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ 40% ผู้ลงทะเบียนจ่ายเอง 60% และจากการสำรวจการใช้สิทธิเห็นว่ายังไม่ได้ตามคาดการณ์ เชื่อว่าจะเหลืองบประมาณจากโครงการนี้ประมาณ 9,000 ล้านบาท จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และนายกรัฐมนตรี เห็นชอบในการนำเงินประมาณคงเหลือไปขยายกระตุ้นการท่องเที่ยวในเฟส 2 เดือนสิงหาคมนี้จะประเมินผลจากเฟสแรก และปรับปรุงเพิ่มเติมในเฟส 2 คาดว่าจะดำเนินให้เสร็จทั้งโครงการเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวยาวถึงสิ้นปี เบื้องต้นเงื่อนไขจะแตกต่างจากเดิม มีการเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและเป้าหมายที่กว้างขึ้น

เพื่อเป็นการขับเคลื่อนให้ได้เป้าการทำงาน จะเพิ่มกลุ่มเป้าหมายส่วนเสริม 4 ส่วน คือ 1.กลุ่มจัดประชุมสัมมนา หลังจากผ่อนคลายกิจกรรมได้มาก
ซึ่งมีการแสดงความต้องการเข้ามาประมาณ 10,000 คน 2.กลุ่มที่ต้องการเดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ ที่ได้ยื่นขออนุญาตแล้ว 7 เรื่อง จาก 4 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ อังกฤษ สหรัฐ 3.ต่างชาติที่ต้องเข้ามารักษาตัวที่ไม่ใช่การเข้ามารักษาโรคไวรัสโควิด-19 ก็แสดงความสนใจแล้วเป็นหมื่นคน ซึ่งแต่ละรายก็มีผู้ติดตามได้ 3 คน และ 4.กลุ่มคนที่เป็นสมาชิกไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ภายใต้ ททท. ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง ในส่วนนี้ถือแล้วกว่า 1 หมื่นราย แต่อยู่ในไทยแล้วก่อนโควิด 3 พันราย อยู่ในต่างประเทศกว่า 7 พันราย ในจำนวนนี้ยื่นเรื่องขอเดินทางเข้าไทย 200 คนแล้ว

ทั้งหมดไม่ว่าอย่างไรต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 คือ ทุกคนต้องกักตัวดูอาการก่อน 14 วัน หลังจากไม่พบเชื้อ สามารถเดินทางท่องเที่ยวต่อหรือพักในไทย ซึ่งได้มีรูปแบบแพคเกจท่องเที่ยวนำเสนอ 8 แพคเกจ ได้แก่ แพคเกจลักชัวรี่ จังหวัดเชียงใหม่ 7 วัน 6 คืน, จังหวัดภูเก็ต 6 วัน 5 คืน, จังหวัดภูเก็ต 8 วัน 7 คืน, ล่องเรือยอชต์ จังหวัดกระบี่ 5 วัน 4 คืน, เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 7 วัน 6 คืน, เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 5 วัน 4 คืน, พัทยา จังหวัดชลบุรี 6 วัน 5 คืน และพัทยา จังหวัดชลบุรี 11 วัน 10 คืน และจะเพิ่มเติมอีกในระยะถัดไป

อีกกลุ่มต่างชาติที่เริ่มเจรจาขออยู่ในไทย คือ กลุ่มแบ๊กแพค (Backpacker) และต่างชาติบางส่วนที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทย ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังการใช้จ่ายสูงกลุ่มหนึ่ง เพื่อเป็นตลาดทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ทั้งเป็นนักธุรกิจ นักกิจกรรม เช่น ชอบตีกอล์ฟ เป็นทั้งชาวยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และกลุ่มมาแบบครอบครัว สนใจเรื่องอาหารการกิน ช้อปปิ้ง ทำสปา ชอบเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเดินทางเข้าถึงง่าย ส่วนกลุ่มแม่บ้านที่มีลูกเล็ก มักจะสนใจแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนระยะใกล้ๆ สนใจเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นทะเล ไปกันในรูปแบบครอบครัวและเลือกกิจกรรมที่มีมาตรฐานและให้ความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ กลุ่มเจ้าหน้าที่ทางการทูต กิจกรรมความสนใจ ได้แก่ สินค้าบริการทางการท่องเที่ยวด้านการดูแลสุขภาพ สปา การรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข

อย่างกลุ่มแบ๊กแพคปกติมีถึง 2 ล้านคน หากคนเหล่านี้เข้ามาเที่ยวไทยได้ 4 รอบ ก็เกิดรายได้ถึง 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ใช้เงินวันละ 4-8 พันบาท จะเป็นการสร้างรายได้อย่างมาก ก็ขอให้ ททท.ช่วยประชาสัมพันธ์ การจะฟื้นฟูท่องเที่ยวฟื้นฟูเศรษฐกิจจากนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกัน และต่อสู้ไปด้วยกับการผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิดในครั้งนี้

 

ปานบัว บุนปาน
กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

วันนี้นับเป็นอีกวาระหนึ่งที่หนังสือพิมพ์มติชนจัดงานสัมมนาขึ้นเพื่อร่วมหาทางออกให้กับประเทศ ทั้งนี้ ช่วงปี 2563
มติชนได้จัดสัมมนาขึ้นเป็นครั้งแรกชื่อว่า 2020 ปีแห่งการลงทุน-ทางออกประเทศไทย ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุน ต่อมา ได้จัดสัมมนาขึ้นเป็นครั้งที่ 2 คืองาน ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน เน้นประเด็นเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม วันนี้เป็นการจัดสัมมนาครั้งที่ 3 และเป็นครั้งที่สำคัญที่สุด เนื่องจากหัวข้อเสวนาใกล้ตัวทุกคน

เราเข้าใจกันดีแล้วว่าการลงทุนเป็นเครื่องยนต์ตัวหนึ่งในการพลิกฟื้นประเทศ แต่ก็ยังมีเครื่องยนต์อีกตัวหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กันนั่นคือ การท่องเที่ยว วันนี้เราจะพูดคุยกันเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อหาทางออกของประเทศไทย

งานสัมมนา ปลุกไทยเที่ยวไทย ปลุกเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าŽ จัดขึ้นเพื่อประกาศความพร้อมของภาคการท่องเที่ยวและกีฬา หลังจากที่ชาวไทยได้ร่วมแรงร่วมใจควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ได้รับการยอมรับและชื่นชมในระดับนานาชาติ โดยสภาผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพในระดับนานาชาติได้จัดให้ไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด-19 ดีที่สุดเป็นอันดับ 1 จาก 184 ประเทศทั่วโลก เมื่อประเทศไทยปลอดภัยระดับหนึ่งแล้ว นับจากนี้เป็นต้นไป การท่องเที่ยวและการกีฬาจะได้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการชุบชีวิตเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของคนไทยให้กลับคืนมาอีกครั้ง

ในฐานะที่เครือมติชนเป็นสื่อที่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับประชาชนทั่วประเทศในทุกภาคเศรษฐกิจ ตระหนักว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยมีความหมายอย่างยิ่งต่อการสร้างรายได้ในประเทศ กระจายรายได้ไปสู่ภาคธุรกิจต่างๆ อาทิ โรงแรมที่พัก อาหาร การขนส่ง กีฬา สถานบันเทิง งานฝีมือ ของที่ระลึก รวมถึงภาคการเกษตรในชนบทในฐานะผลิตอาหาร ชีวิตของผู้คนเหล่านี้จะกลับมามีงาน มีรายได้ มีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยเป็นสำคัญ จึงเป็นความตั้งใจของมติชน จะกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ที่จะต้องได้เห็นทิศทางร่วมกัน สู่ความประสานร่วมมืออย่างเร่งด่วน หากการท่องเที่ยวในประเทศพลิกฟื้น ก็สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ปลุกไทยเที่ยวไทยŽ จึงเป็นก้าวแรกแห่งความหวัง การชุบชีวิตการท่องเที่ยวไทย ด้วยคนไทย รวมไปถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จะต้องได้รับความมั่นใจว่าการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ในประเทศปลอดภัยจากการติดเชื้อ หากปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข พร้อมกันนั้น ยังได้รับประสบการณ์ท่องเที่ยววิถีใหม่ที่ดีและคุ้มค่ากว่าเดิมด้วยมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ขับเคลื่อนออกมาอย่างต่อเนื่อง

หนังสือพิมพ์มติชนขอบคุณ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ วันนี้การท่องเที่ยวไทยไม่ได้หมายถึงความสุขสบายอย่างเดียว หากแต่รวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประเทศชาติและคนในสังคมด้วยŽ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image