นักวิชาการวิพากษ์ โรคการเมือง-ชังชาติ

นักวิชาการวิพากษ์ โรคการเมือง-ชังชาติ

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการต่อกรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. กล่าวกับนักเรียนนายร้อยทำนองโรคโควิดยังรักษาหาย แต่ที่รักษาไม่หายคือโรคชังชาติ เกลียดชาติบ้านเมืองของตัวเอง

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส
คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

Advertisement

ประการแรก ต้องทำความเข้าใจกับวาทกรรมชังชาติก่อน คนที่คิดวาทกรรมนี้มีความพยายามที่จะสื่อให้เห็นว่า คนที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล กับทหาร เป็นคนชังชาติคนที่คิดวาทกรรมนี้ให้ความหมายของคำว่าชาติแคบอย่างมาก

คำว่าชาติในความคิดของคนที่สร้างวาทกรรมนี้คือรัฐบาล คือทหาร คือคนที่อยู่ในศูนย์กลางของอำนาจเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง ผิด คำว่าชาติคือ ประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่ทหาร ไม่ใช่ข้าราชการ ฉะนั้น การที่คนออกมาวิพากษ์รัฐบาล ระบบราชการ หรือวิจารณ์ทหาร ไม่ใช่คนชังชาติ แต่เป็นคนที่รักชาติ เพราะต้องการที่จะให้รัฐบาลบริหารงานดีขึ้น ต้องการให้ทหารแสดงบทบาทที่เหมาะสมกับสถานะของทหารมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าวาทกรรมชังชาติที่ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ต้องการสื่อ คือพวกที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล หรือแสดงออกซึ่งความไม่พอใจทหารและรัฐบาล จัดอยู่ในพวกชังชาติในความคิดของ ผบ.ทบ. แต่ความจริงคนเหล่านี้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายทหาร ไม่ได้ชังชาติ แต่ชังคนที่อยู่ในรัฐบาล ชังคนที่อยู่ในสถานะตำแหน่งทหารที่อาจนำพาประเทศชาติไปสู่หายนะ

Advertisement

การที่ ผบ.ทบ.ออกมาพูดเรื่องชังชาติ จึงเป็นการพยายามแบ่งแยกคนในประเทศ ออกเป็นคนที่ชังชาติ กับคนที่ชอบชาติ ทำให้นึกถึงวาทกรรมคนดี ถ้ามีคนดี ก็แปลว่าต้องมี คนเลว ดังนั้น ถ้ามาร่วมกับเราจะเป็นคนดี ชอบชาติแต่ถ้าไม่ร่วมกับเราก็คือพวกชังชาติ นี่คือแนวคิดที่พยายามจะแบ่งแยกคนออกเป็นฝ่าย จะยิ่งเป็นการตอกลิ่มความขัดแย้งในสังคมให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

ความจริงประเทศที่เจริญแล้ว พัฒนาแล้ว คนที่อยู่ในสถานะใดๆ จะต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เช่น ถ้าเป็นทหาร ก็จะต้องมีหน้าที่ในการปกป้องรักษาประเทศ ไม่มีหน้าที่ทางการเมือง ไม่มีหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ไม่มีหน้าที่จะมาบอกว่านักการเมืองคนนี้ทำดี คนนี้ทำไม่ดี ไม่ควรจะมีบทบาทตรงนี้ แต่ควรจะเป็นทหารอาชีพ ปกปักรักษามาตุภูมิ นี่คือการทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว

การที่ทหารพยายามจะก้าวล่วงทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ หรือสร้างวาทกรรมทำให้สังคมแตกแยก นี่ไม่ใช่หน้าที่ ยิ่งออกมาทำมากๆ เข้าจะทำให้เกียรติภูมิความเป็นทหารลดลง เพราะคนก็จะถามว่าหน้าที่ของทหารอยู่ตรงไหน

ดังนั้น ผบ.ทบ.ไม่ควรจะก้าวล่วงทางการเมืองและไม่ควรจะใช้คำพูด การสื่อสาร หรือสร้างวาทกรรมที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

เมื่อฟัง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ออกมาพูดเรื่องชังชาติแล้วรู้สึกว่ายิ่งเติมเชื้อไฟความขัดแย้งให้หนักขึ้น เพราะประเด็นชาติไม่มีใครสามารถผูกขาดความรักได้ ชาติในความหมายที่ถูกต้อง คือจิตสำนึกร่วมของประชาชนทั่วไป ที่มีต่อชุมนุมการเมืองที่เขาหวังว่าชุมชนการเมืองนี้จะนำไปสู่ความสุข ความปรารถนาที่ดีต่อกัน ชาติตามความหมายที่ถูกต้องจึงหมายถึงประชาชนทุกหมู่เหล่า แต่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันมีความพยายามจะนิยามเป็นอย่างอื่น ใครที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้นำ ผู้ปกครอง กองทัพ ราชการ ก็จะถูกนิยามว่าเป็นคนชังชาติ ซึ่งไม่ใช่ ประชาชนมีสิทธิจะวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่งของรัฐ ของชุมชนการเมือง ดังนั้นชาติก็คือประชาชน

ต้องยอมรับว่า พล.อ.อภิรัชต์คือ ตัวละครหลักที่ถูกโจมตีหนักจากฝ่ายตรงข้าม หรือคู่ขัดแย้งของกองทัพ เพราะกองทัพเองก็ไม่สามารถตอบอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์กับสังคมได้ เช่น การเกณฑ์ทหาร การซื้ออาวุธ และการปฏิรูปกองทัพ หรือเรื่องความรับผิดชอบที่มีต่อสาธารณะก็ดี กองทัพตอบไม่ได้ จึงพยายามสร้างเงื่อนไขสร้างวาทกรรมชุดหนึ่งขึ้นมาว่า ใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์กองทัพเท่ากับไม่รักชาติ เป็นคนชังชาติ ทั้งที่เขาก็มีหน้าที่สนับสนุนความมั่นคง ดูแลความปลอดภัย นี่คือการสร้างวาทกรรมที่เป็นเงื่อนไขไปสู่ความขัดแย้งของสังคม

เรื่องการปลูกฝังให้รักชาติ ส่วนตัวเห็นว่ากองทัพโดนมอมเมาจากกระบวนการศึกษาที่ผิดพลาด จนคิดว่าตัวเองเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง ระบบการศึกษาต้องสอนให้คนเห็นความสำคัญของเพื่อนมนุษย์ ซึ่งประชาชนก็มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน นี่คือการศึกษาที่ถูกต้อง แต่กองทัพกลับได้รับการศึกษาที่ผิดจากระบบการศึกษาของตัวเองจนคิดว่าตนเองเป็นผู้ปรารถนาดีที่สุดต่อชาติบ้านเมือง จนไม่เปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่าง นี่คือสิ่งที่ผิด

ดังนั้นการกล่าวเช่นนี้ ข้อเสียแรกคือ ทำให้คนรู้สึกว่าหากมีความคิด ความเชื่อ ที่คล้อยตาม พล.อ.อภิรัชต์ ก็จะรู้สึกว่าทำไมคนเหล่านี้ (ถูกกล่าวหาชังชาติ) จึงมีความรู้สึกไม่ดีต่อบุคลากรและชาติแต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้คนเห็นว่า ชาติก็คือประชาชนที่มีจิตสำนึกในชุมชนการเมืองเดียวกัน มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์เพราะเขารักชาติ แต่สิ่งที่เขาไม่รักคือผู้นำ คือรัฐบาลและกลไกของรัฐ เพราะคนเหล่านี้มีหน้าที่นำพาเป้าหมายแห่งความสุขสมบูรณ์ของรัฐ แต่ทำไม่ได้ หรือทำไปแล้วเอื้อต่อพวกพ้อง เอื้อต่อตัวเอง ก็มีสิทธิจะวิพากษ์วิจารณ์ เพราะคนเหล่านี้หวังดีต่อชาติ ไม่ได้ชังชาติ

เมื่อพิจารณาในภาพรวมทำให้เห็นว่า ระบบการศึกษามีปัญหาจริงๆ ทำให้คนในชาติไม่เข้าใจเรื่องความหมายของชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับชาติ และคนที่ทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐบาล ราชการ และกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปผูกขาดตนเองว่าเป็นชาติ ใครแตะต้องไม่ได้ ถ้าแตะต้องเท่ากับไม่รักชาติ ซึ่งไม่ถูกต้อง

หากกองทัพจะมีส่วนในการพัฒนาประชาธิปไตย ประการที่ 1.กองทัพไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเมือง 2.ต้องไม่แทรกแซงการเมืองทุกอย่าง โดยเฉพาะสิ่งที่ทำลายล้างประชาธิปไตยหนักมาก คือการรัฐประหารโดยกองทัพ ซึ่งกองทัพเองก็มีส่วนในการวางกลไกต่างๆ ดูได้จาก สนช. จาก ส.ว.และคณะกรรมการต่างๆ ของรัฐบาลชุดนี้ นี่คืออิทธิพลของกองทัพที่มีอยู่ในระบบการเมือง กองทัพต้องไม่มีพฤติกรรมทางการเมืองเช่นนี้

ประการสุดท้าย 3.กองทัพจะต้องปฏิรูป ให้เป็นกองทัพที่ทันสมัย สามารถมองรอบด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร ให้เป็นกองทัพในศตวรรษที่ 21 ที่ไม่ใช่เรื่องการรบ เพราะเมื่อผูกเรื่องการรบ วิธีคิดก็จะไปอยู่ที่การซื้ออาวุธ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง กองทัพต้องมีลักษณะสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยเหมือนกับนานาอารยประเทศ

ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

วาทกรรมชังชาติถูกใช้เป็นเครื่องมือผลักให้ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างกลายเป็นฝั่งตรงข้าม ถือเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องเท่าใดนัก เนื่องจากหากจะมองกันจริงๆ แล้ว ทุกคนต่างก็รักชาติทั้งสิ้น

ชาติ ที่ว่าก็คือ ประเทศที่ทุกคนต่างอาศัยอยู่ ถือว่าเป็นบ้านของพวกเราทั้งนั้น คนที่อาศัยอยู่ในชาติล้วนมีความต้องการอยู่อาศัยในชาติที่สงบสุข เท่าเทียม และเป็นธรรมทั้งสิ้น เมื่อชาติที่อยู่อาศัยไม่สามารถให้สิ่งดังกล่าวได้ จึงทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งต้องออกมาเสนอข้อคิดเห็น เรียกร้อง และแสวงหาแนวทางในการทำให้บ้านหลังนี้น่าอยู่มากขึ้น หากเป็นการวิพากษ์ในเชิงสร้างสรรค์ ติเพื่อก่อ และดำเนินการอย่างสันติวิธี เชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวย่อมจะทำให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้าและพัฒนายิ่งขึ้น

ดังนั้นหากมองให้เห็นถึงความปรารถนาดีในฐานะพลเมืองที่ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชาติ ก็จะช่วยเปลี่ยนจากวาทกรรมชังชาติไปสู่การรับฟังเสียงที่แตกต่างหลากหลายจากผู้คนหลายระดับนั่นเอง และทำให้การรักชาติของคนใดคนหนึ่งไม่ไปทำร้ายการรักชาติของคนอื่นด้วย

ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและพรรคการเมือง ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนายกรัฐมนตรีก็แสดงท่าเห็นด้วย ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ผู้นำประเทศมองเห็นข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและต้องการเปลี่ยนแปลง หากจะมีการแก้ไขขออย่าให้รัฐธรรมนูญมาจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดที่ประชาชนทั้งประเทศต้องปฏิบัติตาม เป็นอภิมหาสถาบันที่ควบคุมดูแลกลไกทางการเมืองการปกครอง รวมถึงให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน หากจะมีการปรับเปลี่ยน ยกร่าง หรือแก้ไขกันจริงๆ นายกรัฐมนตรีควรเปิดโอกาสให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง และมีองค์ประกอบที่ผสานความหลากหลายของกลุ่มต่างๆ ในสังคม เพื่อเป็นหลักประกันว่าทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญขอให้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญสามารถให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

ประเด็นที่ควรแก้ไขมากที่สุด จากการรับฟังเสียงของนักศึกษาที่ได้สอนในรายวิชารัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมือง มองว่าประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศมากที่สุด หากจะยังคงไว้เช่นเดิมอาจต้องมีการทบทวนอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาใหม่ให้เป็นเพียงที่ปรึกษา เนื่องจากการแต่งตั้งจากคณะใดคณะหนึ่งมีความชอบธรรมน้อยกว่าผู้แทนที่ประชาชนส่วนใหญ่วางใจให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image