วิเคราะห์ : ปัจจัย ชี้ขาด บิ๊กตู่ แก้เงื่อน การเมือง-ศก.

วิเคราะห์ : ปัจจัย ชี้ขาด บิ๊กตู่ แก้เงื่อน การเมือง-ศก.

วิเคราะห์ : ปัจจัย ชี้ขาด บิ๊กตู่ แก้เงื่อน การเมือง-ศก.

วันที่ 6 สิงหาคม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ จำนวน 7 คน
1.นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 2.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 3.นายอนุชา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
4.นายปรีดี ดาวฉาย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 5.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 6.นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ 7.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2563

รายชื่อการปรับคณะรัฐมนตรีเป็นไปตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจตกเป็นโควต้าคนนอก ซึ่งถือเป็นโควต้าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ
ส่วนโควต้าที่เหลือ พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย มีการสลับกระทรวงกัน
แต่เดิม พรรคพลังประชารัฐดูแลกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ขณะที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยดูแลกระทรวงแรงงาน
ครั้งนี้สลับกัน โดยให้นายเอนกจากพรรครวมพลังประชาชาติไทยนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมฯ และนายสุชาติจากพรรคพลังประชารัฐนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
โดยมีนางนฤมลได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
สำหรับโควต้ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น แต่เดิมเป็นของพรรคชาติพัฒนา แต่เมื่อปรับคณะรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐดึงมาเป็นโควต้าของตัวเอง
และเสนอให้นายอนุชา เลขาธิการพรรค เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

จากรายชื่อรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีบิ๊กตู่ 2/2 มองได้ว่า พรรคพลังประชารัฐที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค สามารถคว้าเก้าอี้รัฐมนตรีมาได้เพิ่ม
แต่ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด
เพราะข้อเสนอที่ผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่เป็นผล
และข้อเสนอที่ผลักดันให้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ โยกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็ไม่เข้าเป้า
แม้ว่าก่อนหน้านี้ รายชื่อดังกล่าวจะออกในนามของมติพรรค แต่ก็ได้ไม่ครบถ้วนทั้งหมด
นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตรทำนายไว้ว่า หลังปรับคณะรัฐมนตรีอาจจะมีอาฟเตอร์ช็อก
แม้ว่าภายหลังนายสมศักดิ์จะออกมาปฏิเสธก็ตาม

หากย้อนกลับไปลำดับต้นสายปลายเหตุของการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาการเมืองและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
แก้ปัญหาการเมืองเนื่องจาก ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ มองว่าถึงเวลาที่จะต้องสลับสับเปลี่ยนเก้าอี้ สลับเอาหัวหน้ากลุ่มก้อนภายในพรรคที่ยังไม่ได้ตำแหน่งให้มีสถานะเป็นรัฐมนตรีได้แล้ว
อีกส่วนคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทำงานมาตั้งแต่ยังเป็นรัฐบาลในยุค คสช.
ทั้งนี้เพราะในระยะหลัง แนวร่วม พล.อ.ประยุทธ์เริ่มถดถอย เพราะปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ขณะที่การบริหารราชการแผ่นดินก็ไม่มีผลงานน่าชื่นชม กระทั่งกลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษาออกมาเรียกร้องให้ยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และเลือกตั้งใหม่
ปรากฏว่าในช่วงนั้นสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดแพร่เข้าสู่ประเทศไทยทันทีทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก
รวมทั้งความเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย
แต่เมื่อสถานการณ์โรคโควิด-19 ดีขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องผ่อนปรนมาตรการเพื่อรีสตาร์ตธุรกิจให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หยุดไประยะหนึ่งก็กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง
กลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษาได้แฟลชม็อบกันทั่วประเทศ
ยื่นข้อเสนอ ยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และเลิกคุกคามคนเห็นต่าง

Advertisement

ขณะเดียวกัน หากหันกลับไปดูความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็พบว่ามีการปรับตัว
หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยผ่อนคลายลง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศบริหารราชการแผ่นดินแบบนิว นอร์มอล
ประกาศแนวทาง “รวมไทย สร้างชาติ” ออกตระเวนพบปะกลุ่มนักธุรกิจและสื่อมวลชน เพื่อฟังความคิดเห็น
และเมื่อเผชิญหน้ากับข้อเรียกร้องของ “แฟลชม็อบ” พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่รอช้าที่จะตอบรับ
โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เริ่มจากความเคลื่อนไหวของคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ เป็นประธาน
เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 รัฐธรรมนูญ และตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการชุดเดียวกัน เสนอระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
พรรคประชาธิปัตย์ออกมาขานรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และมีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จับเข่าคุยกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยในเรื่องนี้
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังประกาศพร้อมรับฟังข้อเสนอของนักศึกษาด้วยตัวเอง
“กำลังหาเวลา เพื่อไปรับฟัง”
ทั้งหมดถือเป็นการปรับตัวทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์
ถือเป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่รัฐบาลกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ตั้งรับ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ดำเนินการแก้ไขปัญหาทางการเมือง และแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพร้อมรับฟังข้อเสนอของนักเรียนนิสิตนักศึกษา
ถือเป็นการเริ่มต้นการแก้ปัญหาที่สอดรับกับสถานการณ์
แต่การแก้ไขปัญหาทั้งหมดจะสำเร็จหรือล้มเหลว ขึ้นอยู่กับวิธีการดำเนินการและผลลัพธ์หลังจากนี้
การปรับคณะรัฐมนตรีถ้าสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อน หยุดผลร้ายทางด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบถึงฐานรากได้
เสียงตอบรับในการบริหารงานของรัฐบาลก็จะดังกระหึ่มเหมือนกับที่สามารถระงับการระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศไทย
และถ้าการปรับคณะรัฐมนตรี สร้างความพอใจให้กับพรรคพลังประชารัฐยุค พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าได้จริง ย่อมส่งผลให้เสียงในสภาของรัฐบาลสมบูรณ์
เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเกิดเป็นมรรคเป็นผล ไม่ปล่อยให้สมาชิกวุฒิสภาทำหน้าที่ล้มและกลายเป็นข้ออ้างของรัฐบาลที่จะไม่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
การเริ่มต้นของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะแก้ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจย่อมสำเร็จ
แต่ถ้าจังหวะก้าวแห่งการแก้ปัญหาเต็มไปด้วย “เล่ห์เหลี่ยม” และ “ความไม่น่าไว้วางใจ”
ยังไม่คิดที่จะเริ่มต้น “รวมไทย สร้างชาติ” อย่างจริงใจ
ปัญหาที่หนักอยู่แล้วจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
ปัญหาการเมืองภายในรัฐบาล ปัญหาการเมืองภายนอก และปัญหาเศรษฐกิจจะกลายเป็นปัญหาเดียวกัน
จนยากที่จะแก้ไข นอกจากต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image