รายงานหน้า2 : โฉมหน้า‘รมต.ใหม่’ ‘บิ๊กตู่2/2’รุ่งหรือร่วง ?

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการภายหลังเห็นโฉมหน้า ครม.บิ๊กตู่ 2/2 โดยแต่งตั้ง 7 รัฐมนตรี ได้แก่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน นายปรีดี ดาวฉาย รมว.การคลัง นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาฯ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

ในส่วนของการปรับเปลี่ยนทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่ จากรายชื่อที่ออกมามองว่าเป็นรายชื่อที่สามารถรับได้ในระดับหนึ่ง เพราะแต่ละคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีล้วนแต่เป็นคนที่มีความสามารถและเป็นที่รู้จักระดับประเทศ แต่ไม่ว่าจะมีความเชี่ยวชาญมากแค่ไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายให้ได้อีกด้วย ส่วนเรื่องที่จะมาให้คะแนนตอนนี้มองว่ายังเร็วเกินไป อยากขอดูผลงานก่อนเพราะทีมเศรษฐกิจใหม่ชุดนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพิสูจน์ให้เห็น
“สิ่งแรกที่ต้องรีบพิสูจน์ให้เห็นคือในเรื่องของยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนช่วงการระบาดของโควิด-19 และมองถึงแม้ตอนนี้ทีมเศรษฐกิจใหม่จะยังไม่ได้เข้ามาดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบก็ต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้ ว่าเมื่อเข้ามาจะดำเนินการนำพาประเทศไปในทิศทางใด มองว่าไม่สามารถซื้อเวลาในการแก้ไขปัญหาออกไปมากกว่านี้ได้แล้ว”
สิ่งที่น่าติดตามอีกเรื่องคือเมื่อการเข้ามาดำรงตำแหน่งแล้วจะสามารถพัฒนากลยุทธ์ให้ตอบโจทย์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงในการพัฒนาจะมีการสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้หรือไม่ นอกจากนี้ต้องดูว่าทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่นี้มีความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหามากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 400,000 ล้านบาท คาดว่าขณะนี้มีการใช้งบฯไปประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าช้ามาก ส่วนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ใช้ไปเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น
มองว่าจากปัญหาดังกล่าวที่ทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องเข้ามาช่วยผลักดันโดยเข้าไปหารือกับธนาคารพาณิชย์ในการกระตุ้น คือต้องมีความสามารถในการดำเนินมาตรการร่วมมือไม่ใช่ภายในกรอบของรัฐบาลเท่านั้น แต่ต้องมีการร่วมมือกับภาคเอกชน ที่สำคัญต้องรวดเร็วเพราะถ้าช้าอาจส่งผลกระทบต่อการว่างงานที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ส่วนในรื่องของการบริหารงาน เนื่องจากแต่ละคนมาจากคนละพรรคในกรณีนี้ความร่วมมือระหว่างพรรคเพื่อให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ฉะนั้น จะมีเอกภาพในการบริหารภายใต้สภาวะฟื้นฟู ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มองว่าเป็นเรื่องที่ทีมเศรษฐกิจใหม่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาและสามารถตอบคำถามเหล่านี้ของทั้งประชาชน ภาคเอกชน และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องให้ได้
สิ่งแรกที่ทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องเข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดดุลยภาพทั้งเรื่องทางการแพทย์ ควบคู่ไปกับเรื่องงบประมาณที่จะต้องควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นรอบที่ 2 และต้องกระตุ้นมาตรการเศรษฐกิจให้ตรงประเด็นและรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะในปีนี้คาดว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) จะอยู่ที่ -8% ถึง -10% ขึ้นอยู่กับการกระตุ้นของภาครัฐเป็นสำคัญ และมองว่ากว่าเศรษฐกิจจะไม่ติดลบอย่างเร็วสุดคงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูถึง 3 ปี หรือในปี 2566 เศรษฐกิจจึงจะกลับมาเติบโตใกล้เคียง กับปี 2562 หรือเติบโตประมาณ 4% ซึ่งอยู่บนสมมุติฐานที่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิดได้ แต่ถ้าฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ช้ากว่าจะกลับมาเติบโตเท่าปี 2562 คงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีแน่นอน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องเข้ามาแก้ไขให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นได้โดยเร็ว โดยใช้ข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
ส่วนที่มีการแต่งตั้งให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถือเป็นเรื่องที่มีความแปลกใหม่เนื่องจากโดยปกติแล้ว รองนายกรัฐมนตรีจะดูแลควบกับกระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ว่าจะสามารถคุมสถานการณ์อยู่ไหม เพราะขนาดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ยังคุมไม่ค่อยจะอยู่เลย ซึ่งเรื่องนี้ต้องมาดูท่าทีของแต่ละพรรคอีกทีว่าจะเป็นอย่างไรแล้วนายสุพัฒนพงษ์จะสามารถบริหารให้ทุกกระทรวงเป็นหนึ่งเดียวกันได้หรือไม่ หากเกิดปัญหามองว่าคนที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุดคือนายกรัฐมนตรี โดยต้องเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เพื่อดูแลให้เกิดเอกภาพมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ทีมเศรษฐกิจใหม่จะต้องมีการดำเนินงานที่รวดเร็ว ตรงไปตรงมา มีประสิทธิภาพและมีพลังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับคนตกงาน และต้องจัดการเรื่องงบประมาณรองรับหลังจากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงต้องแจกแจงว่าจะนำงบประมาณมาจากไหนในการพัฒนาประเทศต่อไป

 

Advertisement

ไพสิฐ พาณิชย์กุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การเข้ามาของคณะรัฐมนตรีใหม่จัดวางตัวบุคคลได้ดีจากที่พอรู้จักตัวบุคคล หรือพอไปได้กว่าที่ได้เห็นโผครั้งแรก แต่บทบาทที่จะมานำแก้ปัญหาและประสบการณ์การทำงานในขณะนี้ต้องมีความพิเศษอย่างมาก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีมากทั้งปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และผลกระทบที่จะตามมาอีกมาก หากจะใช้การทำงานในลักษณะเดิมจะไม่ทันกับสถานการณ์ เพราะระบบเดิมคือ การรอข้าราชการ และเป็นไปตามแผนงานหรือโครงการที่วางไว้ ซึ่งวิธีการทำงานลักษณะนี้จะไม่สอดคล้องกับงานที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
เรื่องจะไหวหรือไม่ไหวเป็นอีกเรื่อง แต่ต้องมีความชำนาญเฉพาะด้านเฉพาะกิจที่จะเข้ามาทำเวลานี้ ต้องระดมทีมและปรับการทำงานแบบใหม่ เพราะทั้งปัญหา อุปสรรค และงบประมาณ ที่ค่อนข้างติดขัด ด้วยกลไกของรัฐ การตรวจสอบ สถานการณ์การเมือง หรือการจะมีมือไม้ของรัฐมนตรี ค่อนข้างไม่เอื้อ ในเชิงระบบต้องเปลี่ยนแปลงระบบใหม่ ยุทธศาสตร์ และยุทธิวิธี ต้องใหม่ และเวลานี้เวลาหมดแล้ว ไม่สามารถให้เวลาทำงานได้ เรียกว่าต้องเร่งทำงานกันแบบเต็มที่ ทุกภาคส่วนในสังคมก็ต้องเข้ามาช่วยกันด้วย เพื่อให้การขับเคลื่อนไปได้เร็วขึ้น เพราะเวลานี้เราช้าไม่ได้แล้ว

 

Advertisement

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการรัฐศาสตร์

การปรับ ครม.ครั้งนี้ผู้มีอำนาจไม่ได้มีเจตนาที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ต้องการปรับเพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้รัฐบาล จากเสียงเรียกร้องภายในพรรคพลังประชารัฐ การปรับ ครม.ที่ผ่านมายังแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้แสดงศักยภาพของภาวะผู้นำไว้ได้ แต่อย่าลืมว่าบรรดาหัวหน้ามุ้งในพรรคพลังประชารัฐบางคนอาจจะยังไมได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ต้องการ เหมือนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.การยุติธรรม พูดไว้ว่าให้
ระวังอาฟเตอร์ช็อก ดังนั้นผู้มีอำนาจก็ต้องมีแผนรับมือกับปัญหาจากความปั่นป่วนภายใน
สำหรับการมองไปในอนาคตว่าหลังปรับ ครม.จะมีอะไรดีขึ้นบ้าง ต้องยอมรับว่าบรรดารัฐมนตรีที่เข้ามาก็ต้องทำงานตามนโยบายหลักที่วางกรอบไว้แล้ว ทั้งงบประมาณและวิธีการนำนโยบายไปสู่แนวทางการปฏิบัติ จึงไม่มีอะไรใหม่จากเรื่องเดิมๆ ที่สังคมเคยรับรู้ ดังนั้นการปรับ ครม.ที่มีคนใหม่เข้ามาไม่มาก ไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนอะไรได้ แต่การตั้งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มขึ้น โดยดึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาทำหน้าที่ควบ ก็อาจจะต้องการสื่อสารไปยังประชาคมโลก เพื่อร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นไปได้ที่อาจจะให้ทูตในต่างประเทศไปทำหน้าที่พ่อค้า มีหน้าที่ไปเจรจาเพื่อเปิดตลาดการส่งออกใหม่ๆ

 

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หากโฟกัสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามสร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาล โดยกลุ่มคนที่สนับสนุนการรัฐประหารซึ่งเป็นที่มาของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ว่าจะกลุ่ม กปปส. ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สะท้อนว่าฐานอำนาจของรัฐบาลมาจากกลุ่มที่ต่อต้านประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอุปสรรคการพัฒนาประเทศในภาพรวม อีกทั้งการที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ มานั่ง รมว.อว.เองก็อนุรักษนิยมค่อนข้างสูง อาจส่งผลกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วย
ถ้ามองภาพรวมโฉมหน้า ครม.ประยุทธ์ 2/2 จากคะแนนเต็ม 10 ขอให้ 6.5 เพราะมองว่าสุดท้ายแล้วก็ยังสะท้อนถึงการปรับ ครม.ที่ไม่ได้ปรับเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ แต่ปรับเพื่อผลประโยชน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเอง ในการอยู่ในอำนาจมากกว่าการเลือกคนที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่านี้เข้ามาพิจารณา เห็นแล้วว่าการตัดสินใจขึ้นอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ประเทศ

 

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

โฉมหน้า ครม.ประยุทธ์ 2/2 ครั้งนี้ ลงตัวในแง่การเมืองระดับหนึ่ง แต่ก็มีบางท่านอกหัก ดังที่ทราบดีอยู่ว่ามันแสดงถึงความมีอำนาจการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี นี่เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่เห็นว่าอาจมีคลื่นใต้น้ำในอนาคตหรือไม่ อยากให้ดูกันยาวๆ
ในส่วนกระทรวงการคลัง ต้องรอดูฝีไม้ลายมือของนายปรีดี ดาวฉาย ก่อน เพราะค่อนข้างใหม่ในการรับรู้ของคนทั่วไป เมื่อเทียบกับคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาจมีคนปรามาสว่าจะสู้ได้หรือไม่ คิดว่าเวลาน่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ แม้ในช่วงแรกๆ จะมีคนไม่มั่นใจในฝีไม้ลายมือ แต่ก็ต้องติดตามว่าภายหลังจากมานั่งเก้าอี้แล้วจะมีนโยบายใดที่น่าสนใจบ้าง
กระทรวงแรงงานถือเป็นพลังทางการเมืองที่ส่งให้ทั้ง 2 คนเข้ามาอยู่ในกระทรวงนี้ โดยกระทรวงนี้น่าจับตาอย่างยิ่ง เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหา เพราะพี่น้องประชาชนตกงานจำนวนมาก และในอนาคตก็ยังไม่รู้ว่าจะมีอีกเท่าไหร่ หรือจะมีการระบาดรอบ 2 ของไวรัสโควิด-19 หรือไม่ ตลอดจนยุทธศาสตร์แนวทางการรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ น่าสนใจว่าจะกำหนดแนวทางที่น่าสนใจอย่างไร
ถ้าจะให้คะแนน อย่าหาว่าใจร้ายเลย เพราะอาจยังไม่โดนใจคนทั่วไป จึงขอให้ไว้ที่ 6 คะแนน ส่วนอีก 4 คะแนนที่เหลือก็ให้เวลาพวกเขาในการพิสูจน์ตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image