รายงานหน้า2 : ปฏิกิริยา-เสียงเตือน จับ‘แกนนำ’แฟลชม็อบ

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ นักการเมือง องค์กรสิทธิ ภายหลังเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่จับกุม นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และนายภาณุพงศ์ หรือไมค์ จาดนอก นักกิจกรรมชาว จ.ระยอง แกนนำการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และมีการเผยแพร่เอกสารรายชื่อแกนนำเยาวชนปลดแอก 31 คน ที่อาจถูกออกหมายจับ

 

โคทม อารียา
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

ส่วนตัวไม่กลัวว่าจะมีเหตุการณ์ซ้ำรอยอดีต ถ้าไม่มีคนเข้าไปแทรกแซงมาก ปล่อยให้ขบวนการต่างๆ ขยับเขยื้อนไป ซึ่งนี่คือเรื่องคุกคาม ดังนั้น จะต้องกลับมาหาหลักการบางอย่าง ที่ตนเสนอคือ 1.กติกาที่ยอมรับกันได้ เยาวชนขอมา บอกว่าอย่าคุกคามหากจะเรียกร้องทางการเมือง 3 ข้อนี้ ให้มีสิทธิ เสรีภาพ อย่าอ้างว่าจะติดโควิด ไม่ต้องพูดเรื่องนั้น ขณะเดียวกันฝ่ายผู้มีอำนาจก็เสนอกติกาว่า เรียกร้องได้ เราไม่คุกคาม แต่ถ้าข้ามมาเรื่องนี้ เช่นนี้ลำบาก เยาวชนยอมรับได้หรือไม่ ถ้ายอมรับได้ก็สามารถเรียกร้องเรื่องของการเมืองได้ ไม่น่าจะบานปลายอะไร
การคุยอย่างไม่เป็นทางการมีหลายช่องทาง ไม่ต้องไปคุยแบบกระโตกกระตาก แบบนั่งคุย มีสื่อมวลชนมาล้อมรอบเพื่อความโปร่งใส ต้องอธิบายเรื่องนี้ ซึ่งในแง่ของการทำความเข้าใจ กลายเป็นว่า ถ้ามีความกระโตกกระตากเราก็จะไม่ได้คุยกัน ไม่ได้ตั้งใจฟัง ตั้งใจแต่จะพูด ซึ่งบางทีไม่ได้พูดให้คนที่อยู่ข้างหน้าฟัง แต่พูดผ่านสื่อไปถึงประชาชน ซึ่งไม่ถูกวัตถุประสงค์ คุยกันแบบเงียบๆ อย่างถ้อยที ถ้อยรับฟัง แต่จะคุยระดับไหนก็แล้วแต่ จะมีคนกลางมาช่วยจัดเวทีให้ก็ได้ ถ้า ส.ส.หรือคนที่นักศึกษาไว้ใจได้ คนที่ทางการไว้ใจได้ สามารถช่วยได้ ก็มาช่วยกันจัดเวที แต่ก็พยายามมาหลายทีแล้วไม่สำเร็จเพราะไม่ตั้งใจจริงที่จะคุย ราว 10 ปีมานี้มีแต่ตั้งใจที่จะหาทางเอาชนะทางการเมือง

Advertisement

 

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

นักศึกษาหรือเยาวชนรุ่นใหม่มีการตื่นตัวทางการเมืองสูง เข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั่วโลก มีความห่วงใยบ้านเมืองไม่แพ้ผู้ใหญ่ สิ่งที่เยาวชนเรียกร้องคือ การไม่สืบทอดอำนาจรัฐประหาร ที่ไม่ได้มาจากประชาชน อยากให้มีการเลือกตั้งตามวาระทุก 4 ปี ประกอบกับมีโควิดระบาดที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ประชาชนและคุณภาพชีวิต ทำให้มีการตื่นตัวทางความคิด เนื่องจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องแบกรับภาระหนี้ของรัฐบาล 1.9 ล้านล้านบาทในอนาคต
“การที่เยาวชนหรือนักศึกษาเคลื่อนไหวเพราะห่วงใยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง อยากมีส่วนร่วมเลือกผู้นำประเทศ และตัวแทนสภา ให้ระบบยุติธรรมเกิดความเที่ยงธรรม ประเทศเดินไปข้างหน้าได้เพราะต้องถ่วงดุลและแข่งขันกับนานาชาติ ไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ได้นับตั้งแต่ปี 2475 หรือ 88 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยยังไม่เต็มใบ หรือไม่ถึงไหน ยังคงวนเวียนอยู่ที่เดิม โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาความขัดแย้ง ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้”
การจับกุมแกนนำนักศึกษาหรือเยาวชนไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดออกมาเองว่า ต้องการเปิดเวทีรับฟังเสียงนักศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ควรสั่งให้ยุติการดำเนินคดีแกนนำนักศึกษาไว้ก่อน ควรหันหน้ามาพูดคุยกัน และเปิดใจรับฟังเยาวชนอย่างจริงจัง เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช้วิธีโรยผักชี หรือเล่นละครทางการเมืองเท่านั้น
“หากใช้นิติศาสตร์หรือกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับแกนนำนักศึกษา เชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งรุนแรง อาจนำไปสู่สถานการณ์ประท้วง ต่อต้านรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลมีอายุสั้นลง ซึ่งหลายรัฐบาลเคยมีบทเรียนและถูกบันทึกทางประวัติศาสตร์มาแล้ว ดังนั้น ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ยืดหยุ่นประนีประนอม ออมชอม ที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้ประเทศเสียหาย บอบช้ำมากกว่าเดิม”

Advertisement

 

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การชุมนุมของนักศึกษาหรือแฟลชม็อบที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะการชุมนุมที่เป็นเซลล์อิสระ ทั้งในสถาบันการศึกษาใน กทม.และต่างจังหวัด ขณะที่การชุมนุมใหญ่จะต้องมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการระดมทรัพยากร การระดมมวลชน และชุมนุมที่ยังไม่มีเงื่อนไขที่ครบถ้วนพอ การชุมนุมใหญ่จึงเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก แต่เมื่อมีการจับกุมแกนนำก็อาจกลายเป็นเงื่อนไขทำให้การชุมนุมที่มีการขยายตัวมากขึ้น และสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในการระดมมวลชน แต่การดำเนินการต่างๆ ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ขณะที่ภาครัฐไม่ควรสร้างเงื่อนไขบางประการให้ถูกนำไปใช้เพื่อขยายมวลชนมากขึ้น
สำหรับผลทางการเมืองระยะสั้น คงจะมีการเรียกร้องของผู้ชุมนุมเพื่อขอให้ปล่อยตัวบรรดาแกนนำ นอกจากนั้นมีโอกาสที่จะมีการหยิบประเด็นนี้ไปสู่การเมืองในสภา อาจจะมีการตั้งกระทู้ถามเนื่องจากการจับกุมแกนนำก็มี ส.ส.บางส่วนที่เข้าไปให้กำลังใจ หรือว่าเข้าไปประกันตัวผู้ที่ถูกจับกุม แต่คราวนี้ต้องดูการเมืองทั้งในและนอกสภา หากมีการเชื่อมโยงกัน โอกาสที่จะเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองที่จะกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาลก็มีความเป็นไปได้ เพราะว่าใน 2 ส่วนคงแยกจากกันได้ยาก และวันนี้อย่าลืมว่าการเคลื่อนนอกสภา น่ากังวลมากกว่าในสภา เพราะว่าในสภายังไม่มีการเพลี่ยงพล้ำเรื่องคะแนนเสียง แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือการเมืองนอกสภา อาจมีการระดมมวลชนมากขึ้น
สำหรับการเจรจาหรือรับฟังความเห็นจากแฟลชม็อบ ควรมีเวทีที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด การใช้เวทีไม่ควรกำหนดกรอบการทำงานของทางราชการมากเกินไป เช่น มอบหมายให้สภาพัฒน์ไปดำเนินการ หรือฝ่ายสภามีการตั้งกรรมาธิการเพื่อรับฟังความเห็นภายใน 90 วัน เรื่องเหล่านี้อาจมีปัญหาในการเข้าถึงความรู้สึกของผู้ชุมนุมหรือการมีส่วนร่วมต่างๆ อาจไม่ได้เกิดขึ้น เพราะยังมีข้อจำกัด ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำโดยเร็วคือการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ชุมนุม สร้างความเข้าใจด้วยการเปิดพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องดำเนินการโดยภาครัฐ แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็อาจจะมีตัวแทนของรัฐบาลที่มีอำนาจตัดสินใจเพื่อสร้างความเข้าใจ
การจับกุมแกนนำ 2 ราย ไม่มีผลกระทบกับการชุมนุม แต่ขณะเดียวกันมีกลุ่มอื่นและแกนนำส่วนอื่นไปเรียกร้องขอให้ปล่อยตัว ดูแล้วพลังไม่ได้ลดลง ตรงนี้จะกลายเป็นเงื่อนไขในการเรียกระดมมวลชนและอาจทำให้เกิดความเชื่อมโยงของเซลล์อิสระที่ไม่มีแกนนำที่ชัดเจนให้มาร่วมกัน ดังนั้น การจับแกนนำจึงไม่ได้ทำให้สถานการณ์สงบลง
ขณะที่การจับกุมมีโอกาสที่กระจายไปในต่างจังหวัดหรือส่วนอื่น แต่คงไม่ใช่ระยะเวลาอันใกล้ เพราะหลังจากจับกุม 2 แกนนำทำให้มีกระแสในสังคมโซเชียลหรือกระแสการชุมนุม เป็นสิ่งที่น่าสนใจ หากมีการจับกุมแล้วมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกพื้นที่ อาจทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ประเมินว่าในระยะสั้นยังจะไม่มีการจับกุมแกนนำพร้อมๆ กัน แต่ในระยะยาวยังมีโอกาส ถ้ามีการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

 

ปดิพัทธ์ สันติภาดา
ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน การมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร

เป็นความไม่สบายใจอย่างมากที่มีการออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วง ซึ่งเราเห็นว่ามีคนที่ถูกออกหมายจับกว่า 30 คน การกระทำเช่นนี้ถือว่าขัดแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังสื่อสารที่ให้มีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณามีมติให้รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ระบุว่าจะออกมารับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาและผู้ชุมนุมด้วยตัวเอง แต่การดำเนินคดีกับเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การกระทำ
ความผิดเกิดขึ้นในวันที่ 18 กรกฎาคม แต่ว่าเกิดการจับกุมและนำตัวผู้ถูกออกหมายจับทั้ง 2 คนไปที่ศาลอาญาในวันที่ 7 สิงหาคม เป็นความเร่งรัดที่ไม่ตรงกับที่รัฐบาลบอก ฉะนั้น สถานการณ์ต่อจากนี้คงจะมีความตึงเครียด และดำเนินไปในทางที่อาจจะไม่ดีนักในแง่ของการสร้างความปรองดองด้วยความร่วมมือระหว่างกัน ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าจะเปิดเวทีรับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนและนักศึกษา
ขณะที่การแสดงออกของ ส.ส.พรรคก้าวไกลหลายคนที่พร้อมใจแสดงออกเพื่อปกป้องแกนนำเยาวชนที่ถูกออกหมายจับ อาจทำให้ฝ่ายรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจมองว่าพรรคก้าวไกลหรือคณะก้าวหน้าอยู่เบื้องหลังการชุมนุมหรือไม่ ผมขอชี้แจงว่า คิดว่าเราพร้อมใช้หน้าที่ของ ส.ส.ในการประกันทุกอย่างที่ประชาชนถูกอำนาจที่ไม่เป็นธรรมจากรัฐกระทำ แต่กรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา หลายคนที่ติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผมที่เป็นประธาน กมธ.การพัฒนาการเมือง ทำให้เราจำเป็นต้องแอ๊กชั่นเรื่องนี้

 

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร
เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

กรณีดังกล่าวจะเป็นเชื้อบานปลายแน่นอน เพราะจากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 1.หยุดคุกคาม 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3.ยุบสภา ก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า แค่ข้อเรียกร้องแรกรัฐบาลก็ทำสวนทางกับสิ่งที่นิสิตนักศึกษาเรียกร้องแล้ว แม้การดำเนินการครั้งนี้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่พยายามป้องปราม เพราะกลุ่มประชาชนปลดแอกมีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 16 สิงหาคมนี้แล้ว แต่เมื่อการดำเนินคดีกับ 2 นักกิจกรรมมีการข้ามขั้นตอนด้วยการออกหมายจับทันที มันยิ่งบ่งชี้ว่าเป็นการคุกคามเต็มรูปแบบด้วยการเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ โดยขาดการเรียนรู้รูปแบบการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยียุคโลกาภิวัตน์ในการสื่อสารกันแบบไร้พรมแดน และเข้าใจวิวัฒนาการของสังคมได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น จะเห็นได้เมื่อ 2 นักกิจกรรมโดนจับกุม พวกเขาใช้เวลาไม่นานในการสื่อสารเพื่อไปรวมตัวกันที่ด้านหน้าสถานีตำรวจเพื่อให้กำลังใจเพื่อน เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนชัดเจนถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลสืบทอดอำนาจที่สร้างความมืดมนไม่เห็นอนาคต ทำสังคมไม่มีความเท่าเทียม แล้วส่งต่อให้พวกเขาต้องมาแบกรับภาระเลี้ยงดูตัวเอง และสังคมผู้สูงอายุในอนาคตเอาไว้เต็มบ่า จนคนรุ่นใหม่รับไม่ได้ และตั้งคำถามว่า ทำไมต้องทน ทำไมต้องรอให้ชีวิตจมอยู่กับการสืบทอดอำนาจ
อย่างไรก็ตาม การประชุมยกระดับจัดตั้งคณะประชาชนปลดแอกเป็นหัวหอกการชุมนุม ยื่นข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ และล่าสุด ประกาศเพิ่ม 2 จุดยืนคือ 1.ไม่เอารัฐประหาร 2.ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ มาเป็นทางออก ทำให้สถานการณ์การเมืองเดินมาถึงจุดเผชิญหน้า ปะทะกันระหว่างคนยุควัฒนธรรมเก่ากับคนยุควัฒนธรรมใหม่ การเปลี่ยนผ่านจะราบรื่นได้เราต้องได้ผู้นำที่ฉลาดยึดมั่นความเป็นธรรม แต่พฤติการณ์ที่ผ่านมาของผู้นำสืบทอดอำนาจมันฟ้องว่า เขาใช้กระบวนการ และคนของกระบวนการยุติธรรมเป็นของเล่นทำร้ายสังคม จนประชาชนสิ้นศรัทธาต่อองค์กรอำนวยความยุติธรรม การบริหารแบบอำนาจนิยม ไร้สัจจะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image