‘เอกชน’ส่อง‘แฟลชม็อบ’ ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทย

‘เอกชน’ส่อง‘แฟลชม็อบ’ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทย

หมายเหตุภาคเอกชนได้ประเมินสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของนิสิต นักศึกษา จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 โดยรวมหรือไม่ พร้อมกับมีข้อเสนอแนะถึงฝ่ายรัฐบาลและผู้ชุมนุม

เกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์
นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย

Advertisement

จากการติดตามสถานการณ์ของม็อบที่มีหลายกลุ่มทำให้ภาคเอกชนกังวลว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังชะงักจากสถานการณ์โควิด-19 หากสถานการณ์ของม็อบทวีความรุนแรงอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและอาจทำให้ปริมาณม็อบเพิ่มขึ้นยังมาจาก 2 ประเด็นสำคัญ คือ คดีของบอส หรือ นายวรยุทธ อยู่วิทยา และกรณีของบ่อนพระราม 3 ประเด็น เหล่านี้หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมได้รับการยอมรับจะส่งผลเสียต่อรัฐบาลเอง กระทบต่อความเชื่อมั่นของคนไทยทั้งประเทศ สุดท้ายก็จะวนกลับมาที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ

อยากให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่เตรียมเข้าทำงานอย่างเป็นทางการเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ต่างๆ โดยเฉพาะซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กลไกที่มีอยู่ทำให้เอสเอ็มอีจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้

นอกจากนี้ อยากให้รัฐเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีศักยภาพ สินค้าได้มาตรฐานทัดเทียมต่างชาติสามารถเข้าไปมีส่วนในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่แต่ละปีมีวงเงินไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านล้านบาท เพราะเอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพสู้ต่างชาติได้ แต่อาจมีต้นทุนราคาที่สูงกว่าสินค้าจากต่างชาติอยู่บ้าง แต่อยากให้ภาครัฐมองถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับมากกว่า โดยเฉพาะการสร้างงาน การสร้างเม็ดเงินที่ช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจไทยให้หมุนเวียนได้

Advertisement

กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีผลกระทบที่ชัดเจนมาก ส่วนการชุมนุมเพื่อแสดงออกการเมืองของนักศึกษาและประชาชนที่มีจุดยืนทางการเมืองนั้น ส่วนหนึ่งก็ไม่อยากให้ถูกปิดกั้นในการแสดงออกทางความคิดเห็น ตราบใดที่ดำเนินการด้วยความสงบ ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจนั้น เนื่องจากการชุมนุมยังไม่มีอะไรที่รุนแรง และไม่อยากเห็นภาพความรุนแรงในการแสดงออกทางความคิดเห็นเหมือนต่างประเทศที่มีการแสดงออกทางการเมือง ลุกลามไปจนถึงการก่อเหตุจลาจล อาทิ ฮ่องกง สหรัฐ

ในส่วนของนักศึกษาที่ต้องการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองถือว่าเป็นการกระทำที่ดี แต่อยากให้ทำในขอบเขตที่มีความเหมาะสมและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และอยากให้ผู้ใหญ่ในประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวงการเมือง รับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาบ้าง ต้องไม่ลืมว่าคนรุ่นใหม่ถือเป็นพลเมืองของประเทศต่อไปในอนาคต จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศต่อไป

หากการชุมนุมรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศมากกว่า เชื่อว่าคงไม่มีการปิดเส้นทางที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ทำให้ผลกระทบในภาคการส่งออกคงยังไม่มี แต่เรื่องการบริโภคภายในประเทศน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวไทยก็ถูกผลกระทบจากโควิด-19 จนทรุดตัวลงค่อนข้างลึก ทำให้มีการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งการชุมนุมทางการเมืองอาจกระทบกับการเดินทางในพื้นที่ และกระทบกับการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศบ้าง แต่เท่าที่ประเมินเบื้องต้นยังไม่เห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ในด้านความเชื่อมั่น เนื่องจากรัฐบาลต่างประเทศให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว หากพิจารณาจากกรณีการออกกฎหมายความมั่นคงภายในของฮ่องกงจนเกิดผลกระทบตามมาค่อนข้างบานปลาย ตั้งแต่สหรัฐจะคว่ำบาตรจีน จีนจะคว่ำบาตรสหรัฐคืน มีการปิดสถานกงสุล สถานทูตต่างๆ เราไม่อยากเห็นว่าประเทศไทยถูกคว่ำบาตรจากต่างประเทศ เพราะมีการควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม เพราะการแสดงความคิดเห็นและจุดยืนต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้การปราบปราม ยังไม่ถึงขั้นนั้น หากทุกอย่างเป็นการแสดงด้วยความสงบก็จะไม่มีปัญหา แต่หากมีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่ม
ผู้ชุมนุม ต่างชาติอาจจะคิดว่าหากปล่อยให้นักลงทุนจากเมืองเขาเข้ามาแล้ว เกิดมีปัญหาในเรื่องใดขึ้น ภาครัฐก็จะใช้กำลังและอำนาจในการควบคุมพวกเขาได้เช่นกัน

เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจเข้าใจว่าเป็นงานที่ยาก เพราะส่วนหนึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี 2563 ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้ว จึงต้องอาศัยการบริโภคภายในประเทศแทน แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของปริมาณจำนวนประชากรที่ไม่ได้มีมากนัก ไม่เหมือนประเทศจีนที่มีจำนวนประชากรมาก หากกระตุ้นให้บริโภคภายในประเทศ ไม่ซื้อของจากต่างชาติเลยก็สามารถอยู่ได้ สามารถผลิตได้เอง หาวัตถุดิบได้เองและค้าขายกันเองได้ แต่ประเทศไทยไม่สามารถอยู่ได้หากทำอย่างนั้น เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ปัญหาเฉพาะหน้าในตอนนี้คือ การถดถอยทางเศรษฐกิจ สะท้อนได้จากจีดีพีไตรมาส 2/2563 ที่ออกมาติดลบกว่า 10% และตัวเลขการส่งออกที่ติดลบไปกว่า 23% ทำให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจเริ่มรู้สึกถึงสภาพคล่องที่น้อยลง และการเลิกจ้างที่อาจจะเกิดขึ้นเพิ่มเติม

สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือพยายามกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน อยากเห็นเรื่องการสนับสนุนหรืออัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบ เพราะหากประเมินจากมาตรการแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) ก็ยังไม่ได้ถึงมือผู้ประกอบการมากนักจึง อยากให้พยายามหาเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปให้ได้ ในส่วนของภาครัฐยังอยากเห็นการปรับกฎระเบียบให้สะดวกขึ้น รวมถึงประกาศของกระทรวงต่างๆ ที่มีความล้าสมัย ถือเป็นการสร้างภาระให้กับภาคเอกชน อาทิ การส่งออก ที่จะกำหนดให้รถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงเทพฯเป็นเวลา อยากให้ทบทวนให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากเกินไป

การมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง ขณะนี้ยินดีที่ได้เห็น เพราะคนใหม่ที่เข้ามาเคยทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่ผ่านมาได้มีการประชุมกับภาคเอกชนในส่วนของมาตรการเยียวยาหลายรอบ เชื่อว่ามีความเข้าใจในสถานการณ์และปัญหาของเศรษฐกิจ การที่เข้าใจในพื้นฐานปัญหา ทำให้การร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชนในการฟื้นเศรษฐกิจในช่วงถัดไป น่าจะทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

อัทธ์ พิศาลวานิช
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย

จากกระแสการออกมาชุมนุมของประชาชนและนักศึกษาในขณะนี้นั้น มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับความกังวลของนักลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนไทยที่ยังไม่เชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองของไทย เห็นได้จากการที่สื่อต่างประเทศนำเรื่องการเมืองไทยไปนำเสนอ แต่มองว่าในช่วงนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตัวเลขเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) มากนัก คาดว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบประมาณ -9% และส่งออกจะติดลบอยู่ที่ประมาณ -10% ถึง -12% ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่างประเทศยังอยากมาลงทุนตั้งฐานการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยาง อาทิ ถุงมือยาง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพในประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเฝ้าดูสถานการณ์หากไม่ทวีความรุนแรงไปมากกว่านี้ ช่วงหลังจากสถานการณ์คลี่คลายก็จะได้เห็นการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

แต่หากระดับการชุมนุมรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลไม่สามารถจัดระเบียบได้เชื่อว่าจะกระทบต่อการลงทุนแน่นอน เอกชนอาจจะไม่ได้ยกเลิกการลงทุนในไทย แต่จะทำให้เกิดการชะงักงันในเรื่องของการก่อสร้างแน่นอน รวมถึงจะส่งผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มนักลงทุนรายใหม่ๆ อีกด้วย ดังนั้น มองรัฐบาลควรรีบควบคุมสถานการณ์ตั้งแต่ตอนนี้ ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงเหมือนในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา

ส่วนเรื่องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนขณะนี้ ยังถือว่าอยู่ในระดับปกติถึงแม้จะมีการชุมนุมทั่วประเทศแต่จะเห็นได้ว่าประชาชนยังมีการจับจ่ายใช้สอยตามปกติ การชุมนุมจึงยังไม่มีผลต่อเรื่องการจับจ่ายมากนัก เพราะยังไม่ถึงขั้นร้ายแรง

จากเหตุการณ์การชุมนุม รัฐบาลควรเปิดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้กับคนกลุ่มนี้ อยากให้ทุกฝ่ายไม่เอาทัศนคติของตนเองเป็นที่ตั้ง และรัฐบาลไม่ควรมองคนที่คิดเห็นต่างกัน ควรมานั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแบบจริงจัง เพื่อนำความคิดเห็นต่างๆ มาช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ และลดความขัดแย้งที่มีอยู่ลง เรื่องนี้มองว่าควรรีบดำเนินการเพื่อให้ประเทศได้เดินต่อแบบไม่สะดุด

ส่วนทีมเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังจะเข้ามาดำรงตำแหน่งในรัฐบาลนั้น มองว่าคนที่เข้ามารับตำแหน่งทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลมากขึ้น แต่แม้ว่าคนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งจะเป็นคนที่เป็นที่รู้จักและมีความสามารถ มองว่าโจทย์ที่ต้องเข้ามาแก้ไข อาทิ เรื่องการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน และการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้อง ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ต้องติดตามการทำงานของทีมเศรษฐกิจใหม่นี้ต่อไปว่าจะสามารถเข้ามาแก้หลายปัญหานี้อย่างไร

ตระการ คุณาวุฒิ
รองประธานหอการค้าจังหวัดพิจิตร

กรณีม็อบนิสิต นักศึกษา ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ผมเองเห็นด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิมนั้นเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องของรัฐบาล ม็อบจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่จะต้องดูแล ถ้ามีม็อบมาชนกัน นั่นแหละจะเกิดความรุนแรง โดยธรรมชาติม็อบนิสิตนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในการเรียกร้องประชาธิปไตย ขณะที่ม็อบสนับสนุนฝั่งรัฐบาล ไม่เห็นจะถูกจับหรือมีอะไรเกิดขึ้น จะชุมนุมอย่างไรก็ไม่มีความผิด

ผมมองว่าหากมีม็อบชนม็อบ ประกอบกับการเมืองยังไม่นิ่ง เชื่อว่ามีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว เนื่องจากนักลงทุนคงไม่กล้ามาประเทศไทย การเมืองไม่นิ่งมีปัญหา ทุกวันนี้นักลงทุนไม่อยากมาลงทุนในประเทศไทยแล้ว ทำเอาเศรษฐกิจแย่ลง จนชาวบ้านจะอดตายกันอยู่แล้ว ไม่อยากให้ม็อบที่เห็นต่างไปเข้าใกล้กับม็อบนิสิตนักศึกษา เพราะจะเกิดความวุ่นวายบานปลาย อาจนำไปสู่ความรุนแรงจนนองเลือดไม่อยากให้ประวัติซ้ำรอย

การที่นิสิตนักศึกษาออกมาชุมนุมเรียกร้องอะไร เนื่องจากเป็นห่วงบ้านเมือง เป็นห่วงถึงอนาคต อยากให้รัฐบาลปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงควรรับเงื่อนไขในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง อีกทั้งรัฐบาลเคยประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลควรเสียสละรับเงื่อนไข ไม่อย่างนั้นปัญหาจะบานปลาย

ชยุตม์ ชัยตระกูลทอง
นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระยอง

กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวของจังหวัดระยองได้พูดคุยกันตลอดเกี่ยวกับสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังเคลื่อนไหวในขณะนี้ การชุมนุมเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล และเป็นเรื่องทางการเมืองไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่ระยอง จึงไม่มีผลกระทบที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และในช่วงที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานในวันที่ 24-25 ส.ค.นี้ที่ จ.ระยอง ทางจังหวัดได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบว่าได้กำหนดมาตรการด้านความมั่นคง การรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวดจึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ใดๆ ที่จะมากระทบกับการท่องเที่ยวใน จ.ระยอง ได้

ส่วนม็อบจะยืดยาวนานหรือไม่ เราเห็นว่าการชุมนุมเป็นการมองในมุมเดียวที่กลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ความจริงเรื่องเศรษฐกิจมีผลกระทบไปทั่วโลก และม็อบก็เคลื่อนตัวไปในแทบทุกจังหวัด นักท่องเที่ยวเองก็ไม่ได้กังวลเรื่องม็อบแต่จะกังวลเรื่องโควิดมากกว่า และในวันที่ 13 สิงหาคม กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวเตรียมนัดประชุมเพื่อประมวลผลว่าจะนำเรื่องใดเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระยองนำส่งรายงานให้กับ ครม.ที่จะมาประชุมสัญจรในครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image