จุดยืน-ข้อเรียกร้อง จากม็อบปลดแอกฯ ในมุมมอง ‘วิชาการ’

จุดยืน-ข้อเรียกร้อง จากม็อบปลดแอกฯ ในมุมมอง ‘วิชาการ’

ประชาชนปลดแอก – ปรากฏการณ์การชุมนุมของกลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” ที่ยกระดับการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 15.00-23.00 น.

กว่า 8 ชั่วโมงที่กลุ่มคนรุ่นใหม่มาร่วมกันเรียกร้องจนอดีตแกนนำม็อบ รวมทั้งนักวิชาการหลายคน ต่างฟันธงตรงกันว่าการชุมนุมเรียกร้องดังกล่าวถือว่าจุดติดในทางการเมืองไปแล้ว

เพราะหากจะวัดกันที่ปริมาณนับหมื่นคน ต้องถือว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่มีผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดในรอบ 6 ปี

นับตั้งแต่การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยข้อเรียกร้องของกลุ่มประชาชนปลดแอก ยังยืนยันหนักแน่นในข้อเสนอเดิม 3 ข้อ คือ

Advertisement

1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 3.ยุบสภา แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งตามกติกาใหม่

นอกจากนี้ กลุ่มประชาชนปลดแอก ยังเพิ่มหลักการอีก 2 ข้อ คือ 1.ต้องไม่มีการทำรัฐประหาร 2.ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

แม้บทสรุปของการชุมนุมในค่ำคืนวันที่ 16 สิงหาคม นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการคณะประชาชนปลดแอก ได้ออกมาย้ำถึง 3 ข้อเรียกร้อง 2 หลักการ ให้กับผู้ร่วมชุมนุมได้รับทราบร่วมกัน พร้อมกับขีดเส้นตาย ให้กับรัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ คือภายในเดือนกันยายนนี้ หากไม่มีการตอบสนองจากรัฐบาล โดยเฉพาะการทำให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 คนพ้นไป ทางกลุ่มประชาชนปลดแอกจะยกระดับการชุมนุมต่อไป

Advertisement

ส่วนการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก ที่ยังยืนยันใน 3 ข้อเรียกร้อง 2 หลักการ จะเป็นอีกปัจจัยเร่งเร้าให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้หรือไม่นั้น

ในมุมมองของนักวิชาการ อย่าง รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำตอนนี้ ประเด็นแรกคือต้องยึดหลักการที่ว่า ทุกฝ่ายจะไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะจากอำนาจรัฐ ผู้ชุมนุม หรือกลุ่มใดก็ตาม เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญภายใต้ “สันติวิธี” ซึ่งจะนำไปสู่ขั้นต่อไป คือการมี พื้นที่พูดคุย ให้เกิดความเข้าใจ หารือทางออกร่วมกัน

ทั้งนี้ พื้นที่ในการพูดคุยดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้นจากรัฐ แต่ต้องเกิดขึ้นจากบรรดาองค์กร อันเป็นที่เชื่อมั่น เชื่อถือ และไว้วางใจได้ทุกฝ่าย เช่น สถาบันการศึกษา หรือองค์กรภาคประชาสังคม เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีพูดคุย

ประการต่อมา “รัฐสภา” เอง ก็จะต้องเป็นพื้นที่ในการแก้ปัญหาด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคนก็จะไม่เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ว่าไม่สามารถเข้ามาแก้ปัญหา ขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ ได้

ดังนั้น การใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 156 คือ การเปิดประชุม ส.ส. และ ส.ว.เพื่อหารือร่วมกันโดยไม่มีการลงมติ ก็ควรเป็นอีกกลไกหนึ่งที่นำมาใช้ เพื่อให้สภายังคงเป็นพื้นที่แห่งความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนได้ ว่าการเมืองในระบบยังมีพื้นที่สำหรับความคิดเห็นมุมมองต่างๆ ในสังคม

การเปิดประชุมรัฐสภาสามารถทำได้อยู่แล้ว แม้กระทั่งก่อนหน้านี้ สภาผู้แทนราษฎร” ก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการลงไปรับฟังความคิดเห็นในแต่ละการชุมนุมของนักศึกษา เป็นส่วนที่สำคัญมาก

ยุทธพร อิสรชัย


ณ วันนี้จะเห็นได้ว่า เวทีการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ไม่ได้พูดถึงเพียงการเมืองในมิติเดิมๆ เท่านั้น เช่น เรื่องปัญหาของรัฐบาล เรื่องปัญหารัฐธรรมนูญ แต่ยังมีการพูดการเมืองในมิติใหม่ๆ ด้วย เช่น เรื่องของกลุ่มแอลจีบีที เรื่องปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับการใช้อำนาจรัฐต่อประชาชน ซึ่งพรรคการเมืองอาจจะไม่สามารถตอบสนองต่อกลุ่มอัตลักษณ์เหล่านี้ได้ ดังนั้น พื้นที่สภาจะละเลยต่อการมองประเด็นปัญหาไปไม่ได้

ขั้นตอนสุดท้าย จำเป็นอย่างยิ่ง คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มนิสิต นักศึกษา นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่สังคมต้องตกผลึกร่วมกัน เรียกว่าเกือบจะเป็น ฉันทามติ” ในสังคมว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 สมควรแก้ไข และกมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เกือบจะเป็นเอกฉันท์ว่า ควรจะแก้ “มาตรา 256 คือ แก้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“หลังจากนั้นจะแก้โดยการตั้ง ... หรือ แก้รายมาตราก็ว่ากันต่อ แต่ประเด็นหลักคือ ต้องพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่ตรงนี้ เพราะเวทีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นเวทีที่ทำให้ทุกฝ่ายมาตกลงร่วมกันในกติกาของสังคม ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและพูดคุยกันได้ เป็นเวทีใหญ่ในสังคมก็ได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจังด้วย” รศ.ดร.ยุทธพรแนะนำ

เรื่อง การแก้รัฐธรรมนูญ” มีความเป็นไปได้ ณ วันนี้สังคมมีฉันทามติที่ตกผนึกร่วมกัน แม้วิธีการจะยังไม่ชัดเจน ทว่า ก่อนหน้านี้จะได้ยินการประกาศของนายกฯว่า รัฐบาลเอง ก็มีร่างที่จะนำเสนออยู่เหมือนกัน

ดังนั้น ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล หรือแม้กระทั่งก่อนหน้านี้ที่ ส.ว.ไม่ได้เปิดรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อมีกระแสสังคมก็เป็นแรงกดดันให้ ส.ว.จำต้องเปิดรับจำนวนไม่น้อย

หนุนการแก้ไข ดังนั้น การแก้รัฐธรรมนูญคงจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้มากที่สุดในบรรดา 3 ข้อเรียกร้อง

ส่วนการ ยุบสภา” คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะโดยหลักการต้องเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ซึ่งในสภาวะจริงของการเมืองไทย การยุบสภาจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายบริหารมีความได้เปรียบ เมื่อยังไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว ที่สำคัญการยุบสภานั้นไม่มีใครที่จะการันตีได้ว่าสถานการณ์จะ ดีขึ้น” หรือ แย่ลง” เป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง

แง่หนึ่งอาจทำให้การชุมนุมยุติ มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ทุกฝ่ายยอมรับได้ หรือการยุบสภาอาจนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่สำเร็จเหมือนกับกรณี 2 กุมภาพันธ์ 2557

เช่น อาจมีบางพรรคการเมืองบอยคอต ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง อาจมีการชุมนุมระหว่างการเลือกตั้ง เกิดการล้มหน่วยเลือกตั้งเหมือนปี 2557 สถานการณ์อาจะแย่ลงไปกว่าเดิม

จึงเป็นไปได้ยาก สำหรับเรื่อง “การยุบสภา” เพราะหากเลือกตั้งขึ้นใหม่ พล.อ.ประยุทธ์กลับเข้ามา การชุมนุมก็จะยังคงอยู่เช่นเดิม เพราะกติกาใหญ่ในการเลือกตั้งยังไม่เปลี่ยน

ส่วนข้อเรียกร้องให้ “หยุดคุกคามประชาชน” ก็เป็นการตีความที่แตกต่างหลากหลาย ฝ่ายอำนาจรัฐก็บอกไม่ได้คุกคามประชาชน ขณะที่นิสิต นักศึกษาบอกว่า เคยถูกคุกคามในหลายครั้ง


“ดังนั้น
ในบรรดา 3 ข้อเรียกร้อง การแก้รัฐธรรมนูญ มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด” รศ.ดร.ยุทธพรให้ความเห็น

ส่วนจุดยืนเรื่อง ไม่ต้องการรัฐประหาร” และ ไม่ต้องการรัฐบาลแห่งชาติ” เชื่อว่าในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว แม้จะมีกระแส มีข่าวลือว่าอาจมีการรัฐประหาร ก็ตาม

อย่าลืมว่า ณ วันนี้ พี่น้องประชาชนออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจน แม้แต่กลุ่มน้องๆ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ก็ออกมาแสดงจุดยืนเรื่องเหล่านี้อยางชัดเจน จึงไม่ง่ายที่จะเกิดการรัฐประหาร เพื่อยุติการชุมนุม หรือการมีรัฐบาลแห่งชาติ

“ทิศทางที่นักเรียน นิสิต และนักศึกษาเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ต้องยึด สันติวิธี เดินไปในกรอบที่กฎหมาย และรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ รศ.ดร.ยุทธพรสรุป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image