ฟังเสียงสะท้อน ปมร้อน‘เรือดำน้ำ’

ฟังเสียงสะท้อน ปมร้อน‘เรือดำน้ำ’ หมายเหตุ - ความเห็นนักวิชาการ นักธุรกิจ

ฟังเสียงสะท้อน ปมร้อน‘เรือดำน้ำ’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ นักธุรกิจ และกลุ่มประมง ต่อกรณีกองทัพเรือแถลงข่าวถึงความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำจีนเพิ่มอีก 2 ลำ รวมมูลค่า 22,500 ล้านบาท ทำสัญญาซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ เป็นการทยอยจ่ายทั้งหมด 7 ปี

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

Advertisement

ถ้าฟังจากเหตุผลกองบัญชาการกองทัพเรือ (บก.ทร.)แถลง คิดว่าพยายามอ้างเหตุผลการจัดซื้อเรือดำน้ำเพื่อความมั่นคงของประเทศ ส่วนตัวมองว่าเราต้องคำนึงถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ สภาพความเป็นจริงในการใช้จ่ายงบประมาณ สภาพความเป็นจริงของประชาชนที่ทุกข์ยากลำบากมาก อันเป็นผลมาจากโควิด-19 จากปัญหาการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถประเมินภาวะความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณ แม้จะมีเหตุผลทางความมั่นคงก็ตาม แต่ปัญหาที่หนักกว่าคือปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องและชีวิตประชาชน โดยรัฐบาลไม่สามารถให้น้ำหนักกับเรื่องดังกล่าวได้เลย

เมื่อไม่สามารถให้น้ำหนักกับเรื่องดังกล่าวได้ เป็นผลประโยชน์ของประชาชน เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ จึงมีคำถามต่อรัฐบาลตามมาว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำนี้มีนัยใดหรือไม่ มีผลประโยชน์ มีเงินทอน หรือการคอร์รัปชั่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ การแถลงข่าววันนั้นสะท้อนว่ารัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามในประเด็นเหล่านี้ได้เลย ที่สำคัญคือยังเอาสื่อสารมวลชนที่ตกเป็นจำเลยสังคมมาอ้างข้อมูลว่ารับฟังความเห็น ยิ่งทำให้การแถลงข่าวไม่มีความชอบธรรมและไร้น้ำหนักมากยิ่งขึ้น ประเด็นนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลย่ำแย่และตกต่ำตามไปด้วย หลังจากที่ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การแก้ไขปัญหาโควิด-19 เป็นต้นมา

หากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบปี 2564 มีมติไม่เห็นชอบการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2-3 แล้ว ทร.ระบุเรื่องปัญหาราคาสูงขึ้นนั้นเป็นเรื่องตลกมาก แสดงว่า ทร.เองก็ไม่ทำการบ้าน เพราะเหตุผลนี้ตลกที่สุด เรื่องราคาแพงขึ้นไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลได้ ความจริงแล้วในสถานการณ์แบบนี้เราต้องดูปัญหาที่เป็นปัญหาหลักและรอง ปัญหาหลักคือภาวะทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีมาตรการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้เศรษฐกิจไปต่อได้ ให้คนมีงานทำ มีความเป็นอยู่ดีขึ้น นี่ต่างหากคือความมั่นคงที่แท้จริง ถ้าประเทศเราเป็นประชาธิปไตย มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาคและความเป็นธรรม นี่คือการเป็นประเทศมหาอำนาจที่คนจะเกรงใจเราไม่ใช่เรื่องอาวุธ และการให้เหตุผลแบบนี้เป็นการให้เหตุผลที่คิดว่าไม่อยู่ในร่องรอยของตรรกะว่าถ้าไม่ซื้อปีนี้ปีหน้าราคาจะสูงขึ้น วิธีคิดนี้ทำให้มองว่าทหารไม่ได้มีความรู้ ความสามารถ โดยเขามีความรู้เฉพาะเรื่องเท่านั้น

Advertisement

คิดว่าในโลกสมัยใหม่ ในศตวรรษที่ 21 ภัยความมั่นคงจะไม่เป็นในลักษณะเดิมแล้ว จะไม่เกิดสงครามกันง่ายๆ เพราะจะมีเวทีเจรจา มีการพูดคุย มีการสร้างสัมพันธภาพมากขึ้น นั่นคือเวทีทางการค้า การเดินทาง การทำการค้ากัน คิดว่านี่คือความมั่นคงระยะยาวในศตวรรษที่ 21 และการมองความมั่นคงของชาติน่าจะปรับเปลี่ยน ถามว่าจะซื้อยุทโธปกรณ์ได้ไหม ได้ ซื้อในสิ่งที่จำเป็น เช่น เทคโนโลยีอวกาศที่จะมาช่วยด้านความมั่นคง พร้อมๆ กับช่วยเรื่องการเดินทาง หรือความมั่นคงในแง่มนุษย์ ความมั่นคงทางการศึกษา ความมั่นคงทางระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่กองทัพไทยมองไม่เห็น เมื่อมองไม่เห็นแล้วก็กลับไปซื้ออาวุธ เพราะอาวุธคือความมั่นคงแบบเก่า

การจัดซื้อเรือดำน้ำอาจไม่ใช่วิกฤตการณ์ แต่มองเป็นเรื่องสัญญาที่ไม่ชัดเจน มีข้อท้วงติงอยู่เยอะ ไม่ได้มีพันธสัญญาที่ผูกพัน เราไม่พร้อม ยังไม่ต้องซื้อก็ได้ ในเรื่องการเจรจานั้น ถ้ามีความจำเป็นต้องเจรจา เราสามารถเจรจากับรัฐบาลจีนให้ชัดได้ เช่น เรามีปัญหาเรื่องการเงินอย่างไร ไม่พร้อมในด้านไหนบ้างก็ต้องอธิบาย หรือเรามีเงื่อนไขในการทำมาค้าขายร่วมกันได้ไหม มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทเราไม่มีเงินไปซื้อ สามารถเปิดพื้นที่ให้นำสินค้าไทยไปขายในจีนได้ไหม เช่น สินค้าทางการเกษตร ผลไม้ต่างๆ เราสามารถเปลี่ยนเงื่อนไขอื่นได้ ถ้าเราต้องทำกิจกรรมอะไรบางอย่างกับจีนภายใต้มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้าน เมื่อสถานการณ์ประเทศเป็นแบบนี้ก็ต้องเอาสถานการณ์ความเป็นจริงมาพูดคุยกันระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ถ้ากรณีเป็นพันธสัญญาจริงๆ

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

ในเรื่องของการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่สามารถพูดได้ว่าควรจะซื้อหรือไม่ซื้อ เนื่องจากเป็นข้อถกเถียงกันในวงกว้าง หากหยิบยกมาพูดกันก็คงไม่มีวันจบ เพราะมุมมองในเชิงพาณิชย์กับมุมมองเชิงการทหารอาจมองไม่เหมือนกัน แต่สำหรับส่วนตัวแล้วมองว่าถ้าชะลอได้ก็ควรจะชะลอการจัดซื้อออกไปก่อน แต่ถ้ามองว่าไม่ติดปัญหาในเรื่องของแหล่งเงินที่จะนำไปซื้อก็คงต้องเป็นไปตามที่ได้มีการจัดเตรียมไว้แล้ว

ในกรณีนี้มองว่าถ้าติดปัญหาในเรื่องเงินคงคลัง ควรมองประเด็นการช่วยธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ประคองการจ้างงาน เข้ามาประเมินภาพรวมก่อนจะมีการจัดซื้อด้วย แต่คงไม่สามารถก้าวล่วงวิธีการคิดหรือวิธีการดำเนินการได้ เพราะเราไม่ได้อยู่ในแวดวงทหารและไม่รู้ว่าแนวทางการป้องกันประเทศแบบทหารของไทยและต่างประเทศเป็นแบบไหน

อย่างไรก็ตาม หากเงินคงคลังที่จะนำไปซื้อไม่พอ อาจจะต้องกลับมาดูเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนว่าเป็นความสำคัญอันดับแรกหรือไม่ แต่เบื้องต้นไม่ทราบรายละเอียดมากว่าขั้นตอนในตอนนี้ ยังไม่รู้ว่ามีการลงนามในสัญญาไปแล้วหรือยัง หรือยังอยู่ในขอบข่ายที่สามารถขยับเวลาได้ วิธีนี้ก็จะถือเป็นวิธีที่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้นุ่มนวลที่สุดแล้ว

พิศาล ศันติวิชยะ
นายกสมาคมประมงปากน้ำชุมพร

อยากให้รัฐบาลทบทวนและชั่งน้ำหนักดูว่า จำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำในช่วงนี้หรือไม่ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังมีปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิด-19 อีก ทำให้ทุกๆ ภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบกันโดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะในด้านการประมงกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส หากรัฐบาลชะลอการซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำเอาไว้ก่อน แล้วนำงบประมาณกว่า 20,000 ล้าน มาเยียวยาประชาชนที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 จะดีกว่าหรือไม่ จำได้ว่าสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เคยไปเจรจาซื้อเครื่องบินกับต่างประเทศ แต่เมื่อประเทศชาติมีวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ยังยกเลิกการซื้อเครื่องบิน แถมยังได้เงินมัดจำคืนทั้งหมดด้วย

งบประมาณ 20,000 กว่าล้านที่จะนำไปซื้อเรือดำน้ำหากเอามาซื้อเรือประมงคิดว่าคงใช้งบประมาณไม่ถึง 10,000 ล้านบาท ชาวประมงจะได้นำเงินที่ได้จากการขายเรือไปประกอบอาชีพด้านอื่น ในจังหวัดชุมพรมีสมาคมประมงอยู่ 6 สมาคมคือ อ.เมืองชุมพร 3 สมาคม อ.หลังสวน อ.ทุ่งตะโก อ.ปะทิว อำเภอละ 1 สมาคม ทั้ง 6 สมาคมจะส่งตัวแทนเดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ด้วย

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

รัฐบาลต้องพิจารณาถึงความจำเป็นด้วย เพราะ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนจับตามองทุกการตัดสินใจของรัฐบาลอยู่แล้ว เท่ากับว่าวิกฤตศรัทธาต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้น กรณีที่มีการอนุมัติงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ทำให้เกิดความรู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจผู้คน ที่รู้สึกว่าเศรษฐกิจประเทศตอนนี้อยู่ในภาวะระส่ำระสายอย่างถึงที่สุด และการออกมาตั้งโต๊ะแถลง ชี้แจง ของคณะนายทหาร โดยเฉพาะโฆษกกองทัพเรือนั้น เท่ากับว่า เป็นการเติมเชื้อขยายพรมแดนความขัดแย้งออกไปอีก เพราะเป็นการไปโต้ตอบกับฝ่ายการเมืองโดยไม่จัดการให้อยู่ในกรอบประเด็นของการอธิบายความชอบธรรม หรือความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งอยู่ในเหตุผลที่ต้องอธิบาย แต่ไปเพิ่มเนื้อหาเรื่องการต่อปากต่อคำจึงเลยเป็นการขยายความขัดแย้งให้บานปลายออกไป

ในเรื่องการดูแลทรัพยากรทางทะเล แน่นอนว่า สังคมจะตั้งคำถามกลับไปถึง มูลค่า 24.4 ล้านล้านบาท ให้แจกแจงมาว่า ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากตรงไหน ทรัพยากรอะไรที่กองทัพเรือของไทยจะต้องใช้เรือดำน้ำเข้าไปดูแล นั่นคือประเด็นหนึ่ง เพราะในความรู้สึกของผู้คนในสังคม เหมือนว่าเราอยู่ในภาวะที่ต้องมัธยัสถ์ เราอยากใส่เสื้อผ้าที่ตัวใหญ่เกินตัว แต่เมื่อใส่แล้วไม่พอดีกับร่างกาย เพียงแต่สมฐานะรูป ประโยชน์ใช้สอยปกติก็ดีแล้ว

เรือดำน้ำที่ประเทศเพื่อนบ้านมี เขาใช้เพราะมีปัญหาพาดพิง หรือปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ด้านน่านน้ำ ทางทะเล ไม่ว่าเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ก็ดี

อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะ ซึ่งควบคุม ดูแลยากในการปกครอง มิติความมั่นคงจึงสำคัญ เช่นเดียวกับเวียดนามที่มีประเด็นพิพาทเรื่องหมู่เกาะทะเลจีนใต้ สำหรับประเทศในอาเซียนที่มีปัญหาพิพาททะเลจีนใต้ แน่นอนว่าการมีเรือดำน้ำจะใช้ในการเฝ้าระวัง ป้องกันการบุกรุกน่านน้ำของเรือข้าศึก ในขณะที่ไทยอยู่ห่างไกลจากประเด็นความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าว

ดังนั้น การที่เราซื้อเรือดำน้ำของจีนเท่ากับเป็นการประทับตรา เพราะว่า จีนคือตัวการสำคัญในการสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ทะเลจีนใต้ แต่เราซื้อเรือดำน้ำของจีน ทำให้เพื่อนบ้านเฝ้ามองด้วยการตั้งคำถามว่า “กองทัพเรือไทยทำอะไรอยู่”

แม้ว่าเรือดำน้ำจะเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด แนบแน่น ระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือจีนก็ตาม แต่ในแง่ประโยชน์ โทษ ผล แน่นอนว่าจะถูกสังคมไทยตั้งคำถามมากกว่าอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ที่คนไทยรู้จัก เพราะเรือดำน้ำคนไทยรู้จักแบบผิวเผิน ห่างไกลที่สุด

กองทัพเรือต้องอภิปรายในกรอบและความจำเป็น รวมถึงมิติด้านความมั่นคงแบบสมัยใหม่ เพราะการป้องกันภัยด้านความมั่นคงแบบ 4 มิติ ทั้ง น่านฟ้า บนบกบนน้ำ และใต้น้ำ นั้น เข้าใจว่ากองทัพเรือไม่อยากจะตกขบวนในการที่จะสร้างการป้องกันให้ครบวงจรทั้ง 4 มิติจึงมีความปรารถนาที่จะได้เรือดำน้ำมาเติมเต็ม พูดง่ายๆ ว่า เรือดำน้ำเป็นการขยายการรักษามาตรการความปลอดภัยของประเทศให้ครบวงจร

ทั้งนี้ เข้าใจว่ากองทัพเรือคงจะเดินหน้าต่อ เมื่อมาถึงขนาดนี้ก็ต้องการที่จะเดินให้สุดซอยอยู่แล้ว แต่คนที่จะค้านหรือยับยั้งสถานการณ์ตามใจการร้องขอของกองทัพเรือจะต้องเป็นรัฐบาล เป็นมิติในที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี หรืออำนาจสูงสุดอย่างนายกรัฐมนตรี อาจจะส่งข้อความให้ไปถึงผู้นำกองทัพเรือ ว่า ให้เห็นความจำเป็นของสถานการณ์ที่ยากลำบากในขณะนี้ เพราะต่อให้อธิบาย ผลักดันจนถึงสุดซอย ประชาชนก็จะไม่เข้าใจด้วยภาวะที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง

ที่สำคัญประเด็นเปราะบางนี้เป็นเผือกร้อน แต่เป็นเผือกร้อนในสถานการณ์ที่คนเห็นต่างมองว่า นี่คือชิ้นปลาอันโอชะ ที่จะหยิบไปขยาย กระเพื่อม เพื่อตีแผ่ ในแง่ของการระดมมวลชนเพื่อมาชุมนุม โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษาที่ตั้งประเด็น พร้อมชงเรื่องเรือดำน้ำอยู่แล้ว จะเอาไปขยายต่อในการปราศรัยบนเวที ซึ่งส่วนตัวมองว่า รัฐบาลเฝ้ามอง และคิดว่าคงจะทายไม่ผิดจากสิ่งที่เห็น ภาพจิ๊กซอว์ในอนาคตข้างหน้า ว่าประเด็นเรือดำน้ำจะถูกเอามาอ้าง เชื่อมโยง จนกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายเส้นหนึ่ง ที่ประชาชนจะไม่พอใจรัฐบาลคุณประยุทธ์

เราต้องมาคลี่ดูว่า การมีเรือดำน้ำในชุดความคิดเรื่องยุทธศาสตร์ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ การมีนิยามความคิดของตนเองว่า การสะสมอาวุธไว้เยอะๆ เพื่อป้องกันการคุกคาม และเป็นการสร้างดุลยภาพในภูมิภาค ให้มิตรประเทศเกิดความตระหนักและเกิดความเกรงใจนั้น เป็นความคิดที่เริ่มล้าสมัยไปแล้ว การสะสมอาวุธแบบนี้กลับเป็นการเพิ่มความรู้สึกคุกคาม สร้างความหวาดระแวงมากกว่า ในยุคสมัยที่มองเรื่องสงครามเศรษฐกิจเป็นพรมแดนที่จะต้องมาพูดคุย-สู้รบกันอย่างจริงจัง

นี่ต่างหากที่เราหวังว่ากองทัพจะปรับเปลี่ยนวิธีคิด ว่าการจะได้อาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อคานอำนาจในภูมิภาค ใช่ความคิดที่ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ใช่ความคิดที่เพื่อนบ้านเขาจะมองเราด้วยความหวาดระแวงต่อไปหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image