ปมร้อนเรือดำน้ำ2หมื่นล้าน จากความมั่นคงลามการเมือง

ปมร้อนเรือดำน้ำ2หมื่นล้าน จากความมั่นคงลามการเมือง

หมายเหตุเป็นความเห็นของนักวิชาการและฝ่ายการเมืองต่อโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ มูลค่า 2.25 หมื่นล้านบาท ของกองทัพ ที่กระแสสังคมและพรรคการเมืองวิพากษ์วิจารณ์คัดค้าน โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณางบประมาณ จะประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้

ศ.จรัส สุวรรณมาลา
นักวิชาการรัฐศาสตร์

Advertisement

การพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ในส่วนจัดซื้อเรือดำน้ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ต้องดูความจำเป็นจากนโยบายด้านความมั่นคง สถานะทางการเงินการคลังในประเทศ ซึ่งจะต้องหารือถกเถียงอย่างรอบคอบตั้งแต่การจัดตั้งงบประมาณ แต่เมื่อมีการจัดซื้อแล้วหากมีการทักท้วงก็จะหาข้อยุติได้ยาก ยกเว้นว่าจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งก็ถือว่าไม่เกินความคาดหมาย และเป็นเรื่องที่จุดติดสังคมให้ความสนใจวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคุ้มค่า ทำให้ ส.ส.จากพรรคการเมืองที่มีหน้าที่พิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณต้องพิจารณาให้รอบคอบ ต้องประเมินสถานการณ์ให้ดี หากไม่ผ่านมติในสภาก็ไม่สามารถจัดซื้อได้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเรื่องนี้แกนนำรัฐบาลคงไม่เครียด เพราะต้องไปโหวตอีกครั้งในการพิจารณาของสภาในวาระ 3 คงมีเวลาทำความเข้าใจอีกระยะ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าตัวเลขงบประมาณในการจัดซื้อค่อนข้างสูง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงถดถอย แต่ในมุมมองจากการจัดซื้อโดยมีเหตุผลความจำเป็นด้านความมั่นคง ซึ่งจะบอกในขณะนี้ไม่ได้ว่าจะไม่มีปัญหา ไม่มีใครทำนายได้ว่าในอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร ดังนั้น จะต้องวิเคราะห์ให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อให้สังคมสาธารณะรับทราบเหตุผล แต่ในการพิจารณางบประมาณหากพรรคการเมืองเสียงส่วนใหญ่มีมติไม่ให้จัดซื้อ รัฐบาลก็ต้องถอดงบนี้ออกไปคงไม่กล้าฝืนให้มีผลกระทบไปถึงเรื่องอื่นที่เป็นประเด็นการเมือง ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ปัญหาแฟลชม็อบ

สำหรับการทักท้วงของบางพรรคการเมืองเพื่อให้ชี้แจงเหตุผล ซึ่งเดิมคณะกรรมาธิการจะพิจารณาในวันที่ 26 สิงหาคม แต่เลื่อนไปเป็นวันที่ 31 สิงหาคม อาจจะมองว่าเป็นยื้อเวลาเพื่อลดความขัดแย้งได้ชั่วคราว แต่อย่าลืมว่ากระแสสังคมและคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้หยุดเสนอมุมมองที่หลากหลาย หรืออาจมองว่าการจัดซื้อไม่ได้ตอบโจทย์การซื้อไว้เพื่อป้องกันประเทศ

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะชี้แจงข้อมูลด้านความมั่นคงหรือปัญหาที่อาจจะเกิดภัยคุกคามทางทะเลระหว่างประเทศไม่ได้ทั้งหมด เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกน้ำมันจากอ่าวไทยไปขายทั่วโลกและทะเลอ่าวไทยถือเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของประเทศ

ชาดา ไทยเศรษฐ์
รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)
รองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564

เรื่องนี้พรรค ภท.ยังไม่มีนโยบายอะไร วันนี้ตอบแทนหัวหน้าพรรคกับเลขาธิการพรรคไม่ได้ แต่ส่วนตัวคิดว่าคงต้องฟังคำชี้แจงของอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน และเหตุผลของกองทัพเรือด้วย เพราะเรื่องการบริหารประเทศมีหลายมิติ จะพูดอยู่มิติเดียวไม่ได้และต้องเข้าใจข้อเท็จจริงด้วยว่าสภาอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำไปเมื่อปีที่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ทำสัญญา พอดีกับเกิดสถานการณ์โควิด-19 กองทัพเรือจึงโอนงบจัดซื้องวดแรก 3,000 กว่าล้านบาทกลับมาเพื่อช่วยโควิดก่อน ทำให้ต้องมาตั้งงบในปี 2564 ดังนั้น การจะบอกว่าไม่เอาก็คงไม่ได้แล้ว

ดังนั้น ต้องเอาความจริงมาพูดกัน คนที่ออกมาพูดต้องไม่เบี่ยงเบนไปจากข้อมูลที่แท้จริง ต้องยืนยันว่างบก้อนนี้เป็นของเก่า ไม่ใช่ของใหม่ เป็นงบผูกพันที่สภาอนุมัติเงินผูกพัน เป็นการซื้อเงินผ่อนให้กองทัพเรือปีละ 3,000 ล้านบาท เพียงแต่ยังไม่ทำสัญญา นี่คือข้อเท็จจริง

วันนี้กระแสสังคมพาไปโดยไม่ทราบว่าเพราะอะไร ที่น่าสงสัยคือทำไมปีที่แล้วไม่โต้แย้งกัน แต่ทำไมปีนี้จึงสำคัญมาก ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เพียงแต่ต้องให้ข้อมูลรอบด้าน อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกของประชาชนเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องสนใจ ต้องฟังประชาชนว่ามีวิธีการทางออกที่ไม่เสียหายทุกฝ่ายได้ประโยชน์กับประเทศ เพียงแต่จะเลือกเดินทางไหนเท่านั้น

ชัยชนะ เดชเดโช
ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
รองประธานคณะ กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564

พรรค ปชป.ยืนยันมีมติให้ชะลอการซื้อเรือดำน้ำออกไปก่อน การไม่สนับสนุนหรือเห็นไม่ตรงกันก็มีกระบวนการทำได้หลายรูปแบบ เช่น อาจจะงดออกเสียง หรืออาจจะวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็เคยมีเกิดขึ้นมาก่อน ในกรณีที่เราไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้ไปโหวตไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ไม่ได้ไปยกมือสนับสนุนฝ่ายค้าน แต่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

การซื้อเรือดำน้ำเป็นปัญหาหลักของประเทศในตอนนี้ ถามว่าเรือดำน้ำมีความสำคัญหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าสำคัญ เพียงแต่ไม่ใช่เวลานี้ เวลานี้ต้องยอมรับว่าสถานะการเงินการคลังของประเทศยังไม่ดี ทั้งยังเจอวิกฤตโควิดอยู่ด้วย การเยียวยาประชาชนยังทำได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ราคาพืชผลทางการเกษตรมีภาวะตกต่ำอยู่ ดังนั้น ควรนำเงินที่จะซื้อเรือดำน้ำมาแก้วิกฤตต่างๆ เหล่านี้ก่อนจะดีหรือไม่ เมื่อประเทศพร้อมค่อยนำเข้ามาทบทวนกันอีกครั้งหนึ่ง

กรณีนายกฯให้สัมภาษณ์โดยมีท่าทีอยากให้ผ่านเรื่องการซื้อเรือดำน้ำ ไม่อยากให้บ้านเมืองมีปัญหาขัดแย้งจนลุกเป็นไฟ นั่นเป็นความเห็นของนายกฯ ต้องเคารพความเห็นของกันและกัน แต่บ้านเมืองจะลุกหรือไม่ลุกเป็นไฟก็อยู่ที่จะไปเติมเชื้อเพลิงหรือไม่ เชื่อว่าเรือดำน้ำจะเป็นเชื้อเพลิงหนึ่งที่เข้าไปเติมความขัดแย้ง จึงมีความเห็นให้ชะลอ โดยต้องดูว่าเมื่อประเทศพร้อม เศรษฐกิจกลับมาดี ค่อยนำกลับมา

รศ.วีระ เลิศสมพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

มองแล้วน่าจะมีโอกาสในการจัดซื้อเรือดำน้ำ เพราะคำว่ามติผ่านนั้น หมายความว่าผู้ที่มีเสียงข้างมากโน้มเอียงไปในทางที่สามารถจะต่อรองกัน หรือโน้มน้าวโหวตให้ผ่านได้

ส่วนปัญหาการจัดซื้อดังกล่าวจะนำไปสู่การเกิดรอยร้าวฟากรัฐบาลหรือไม่ ก็อาจจะเป็นไปได้ ที่วิเคราะห์คือ หากมีการประสานผลประโยชน์ก็อาจจะมีรอยร้าวบ้าง แต่หากมีการพูดคุยเจรจากันจนเกิดความลงตัว จะเป็นเพียงรอยร้าวชั่วคราวแล้วผ่านไปอย่างที่เคยเกิดขึ้นมา ไม่ถึงขั้นลุกลามใหญ่โต ไม่เหมือนประเด็นรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักในการวิเคราะห์ช่วงนี้พอสมควร

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดทำนองท้วงติง “อย่าเล่นการเมือง เดี๋ยวบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ ประเทศจะล่มจม” พล.อ.ประยุทธ์คงตีความการเมืองในมุมมองที่แคบ ความจริงแล้วการเมืองมีความหมายที่กว้างขวางกว่านั้น การเมืองคือเรื่องการดำเนินความสัมพันธ์ของมนุษย์ทุกฝ่ายทุกส่วน นิสิต นักศึกษาเองก็ถือว่ามีส่วนกับการเมือง ดั้งนั้น ผู้นำที่นำคำนี้มาใช้ก็อาจจะไม่เข้าใจการเมืองอย่างลึกซึ้ง แท้จริง

คำว่าการเมืองถือเป็นคำบวก แต่มนุษย์ทำให้มันออกไปในทางลบ การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นมุมแคบ ไม่ใช่มุมกว้าง การเมืองจากการตีความในมุมของ พล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าตีความไปในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก เมื่อตีความไปในเชิงลบ วิธีมอง วิธีที่จะปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็จะเปลี่ยนไป หากมองอีกมุมหนึ่งว่า การเมืองเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายทุกส่วนมีสิทธิด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องความคิดเห็นก็ตามแต่ จะต้องเปิดกว้างทางความคิดเห็น และผู้นำประเทศจะต้องหาวิธีเข้าไปเจรจา พูดคุยกับทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน มากกว่าที่จะใช้วาทกรรมว่าการเมืองจะลุกเป็นไฟ ถ้าเช่นนี้จะเป็นปัญหาจะไม่จบ อยากให้ได้ตีความในเชิงบวกบ้างมากกว่า

สำหรับกรณีจัดซื้อเรือดำน้ำจะถูกนำไปโจมตี และขยายผลจนนำมาสู่การลุกฮือของประชาชน ลงถนนจนมืดฟ้ามัวดิน ก็อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมามีปัจจัยหลายเรื่อง ประเด็นเรือดำน้ำในช่วงนี้ถือเป็นอีกหนึ่งมรสุมของรัฐบาลพอสมควร แต่อาจไม่ส่งผลขนาดนั้น เป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาเพิ่มพลังให้กับฝ่ายที่เคลื่อนไหวอยู่ เพื่อนำมาเป็นฐานในการหาแนวร่วมสร้างพลังในการขับเคลื่อน เนื่องจากประชาชนมองว่าการซื้อเรือดำน้ำไม่เหมาะสมในช่วงนี้ แม้ว่าจะมีเหตุผลจากกองทัพก็ตาม แต่เป็นช่วงจังหวะที่วิเคราะห์ได้ว่าสามารถช่วยกระพือให้เกิดพลังขยายแนวร่วมเพิ่มมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่อาจไม่ถึงขั้นลุกลาม แต่อาจจะมีเรื่องอื่นๆ เกิดขึ้นอีก ต้องติดตามต่อไป

อยากฝากถึงคณะกรรมาธิการงบประมาณ ว่าอย่างน้อยจะต้องมีการพูดคุยกันอย่างโปร่งใสให้ได้มากที่สุด ถือเป็นหลักการสำคัญ เพราะจะเป็นเกราะคุ้มครองพวกท่าน ข้อมูลที่อาจจะมีการไม่เปิดเผยเท่าควร จะนำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจและเคลือบแคลงสงสัย หน้าที่ของฝ่ายตรวจสอบจะต้องทำหน้าที่ซักไซ้ไล่เลียง และหาความเป็นจริงว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร เมื่อถึงเวลาจะยกมือโหวตคณะกรรมาธิการต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และต้องมีความรับผิดชอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image