เปิดผลสอบ ‘คดีบอส’ ชุด ‘วิชา’ เอาผิดยกชุด ‘บิ๊ก ตร.-อัยการ’

เปิดผลสอบ‘คดีบอส’ชุด‘วิชา’ เอาผิดยกชุด‘บิ๊กตร.-อัยการ’

เปิดผลสอบ ‘คดีบอส’ ชุด ‘วิชา’ เอาผิดยกชุด ‘บิ๊ก ตร.-อัยการ’

หมายเหตุส่วนหนึ่งของบทสรุป รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน คณะของนายวิชา มหาคุณ

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน (ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “คณะกรรมการ”) ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญากับ นายวรยุทธ อยู่วิทยา (ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “ผู้ต้องหา”) แล้ว พบว่ามีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป ในการเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการดำเนินคดีจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อิทธิพลบังคับ และการสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

การร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไปในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่ามีบุคคลจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันจัดให้รองศาสตราจารย์ ส. ได้พบกับพันตำรวจโท ธ. เพื่อนำเสนอวิธีการคำนวณความเร็วใหม่และมีการสอบปากคำพันตำรวจโท ธ. ภายใต้การกำกับของพนักงานอัยการไม่ทราบชื่อเพื่อจัดทำพยานหลักฐานเท็จ โดยแก้ไขวันที่สอบปากคำให้เป็นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 2 มีนาคม 2559 สำหรับใช้ในการร้องขอความเป็นธรรม ต่อพนักงานอัยการและต่อคณะกรรมาธิการในเวลาต่อมา โดยการกดดันหรือใช้อิทธิพลบังคับ ให้พันตำรวจโท ธ. ให้การเปลี่ยนความเห็นในเรื่องความเร็วของรถผู้ต้องหาในขณะที่ชนผู้ตาย จาก 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามที่ปรากฏในรายงานการพิสูจน์หลักฐานครั้งแรกเป็นความเร็วที่ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับผลการคำนวณความเร็วรถของรองศาสตราจารย์ ส. ได้มีการตระเตรียมกันไว้ล่วงหน้า โดยไม่ให้โอกาสพันตำรวจโท ธ. ตรวจสอบวิธีการคำนวณความเร็วรถของรองศาสตราจารย์ ส. อย่างรอบคอบ แม้ว่าในเวลาต่อมาพันตำรวจโท ธ. จะพยายามขอยกเลิกคำให้การภายหลังจากตรวจสอบอย่างรอบคอบ จนพบความผิดพลาดของวิธีการคำนวณความเร็วรถของ รองศาสตราจารย์ ส. แต่ได้รับการปฏิเสธจากพันตำรวจโท ว. โดยอ้างว่าพนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการพิจารณาแล้ว

Advertisement

อนึ่ง การลงวันที่อันเป็นเท็จดังกล่าวน่าเชื่อว่าเป็นไปเพื่อกันบุคคลบางคนให้ออกจากเรื่องนี้ และเพื่อให้การคำนวณความเร็วรถใหม่ใช้เวลาตามควรเพื่อให้น่าเชื่อถือ การร่วมมือระหว่างทนายความ ผู้ต้องหา ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการดังกล่าว ย่อมทำให้การสอบสวนเป็นการสอบสวนไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง

คณะกรรมการเห็นว่า การใช้อำนาจในการสั่งคดีร้องขอความเป็นธรรม และต่อมาการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีอาญาของนาย น. ในฐานะรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด เป็นการใช้อำนาจและดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และน่าเชื่อว่ามีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องรับโทษ เพราะเหตุของการเจาะจงให้มีการสอบเพิ่มเติมและรับฟังเฉพาะพลอากาศโท จ. และนาย จ. เป็นพยานเคยถูกสอบไปแล้วในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งก่อนหน้า มิใช่พยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด

คณะกรรมการเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการสั่งไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการมีความบกพร่อง เนื่องจากไม่พิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของนาย น. ด้วยความรอบคอบ การอ้างว่าการออกคำสั่งเกิดจากการพิจารณาสั่งการตามความเห็นของเจ้าพนักงานตำรวจตามลำดับชั้นและเข้าใจว่าเป็นการสั่งคดีความผิดเกี่ยวกับจราจรธรรมดาทั่วไปนั้น เป็นข้ออ้างที่คณะกรรมการเห็นว่าฟังไม่ขึ้น ในขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะผู้มอบอำนาจ มีหน้าที่ต้องกำกับ ติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจและให้มีอำนาจแนะนำและแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ ตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 การมอบอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยมิได้มีการกำกับดูแลติดตามผลการปฏิบัติราชการในคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเช่นนี้ เป็นความบกพร่องที่ทำให้เกิดผลเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดิน และกระทบต่อความศรัทธาขององค์กร

อนึ่ง เมื่อมีการออกหมายจับผู้ต้องหา ผู้บังคับการกองการต่างประเทศได้แจ้งให้ตำรวจสากลทราบถึงหมายจับผู้ต้องหาเพื่อนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี แต่ปรากฏว่าหลังจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้น บุคคลดังกล่าวได้ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการ ประจำกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 น่าเชื่อว่าเป็นการโยกย้ายที่มีความไม่ปกติอันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้อง

ในคดีนี้ คณะกรรมการพบว่า ทนายความของผู้ต้องหามีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดผลของการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา โดยได้ไปพบกับรองศาสตราจารย์ ส. พร้อมกับนาย ช. เพื่อขอให้คำนวณความเร็วรถของผู้ต้องหาใหม่ และยังได้อยู่ร่วมในการสอบปากคำพันตำรวจโท ธ. เพื่อเปลี่ยนคำให้การเรื่องความเร็วรถด้วย หลังจากนั้นทนายความของผู้ต้องหาได้รับมอบอำนาจเพื่อร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการและคณะกรรมาธิการเรื่อยมา จนกระทั่งนาย น. มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาในการร้องขอความเป็นธรรมครั้งสุดท้าย

สำหรับนาย จ. พยานปากสำคัญให้การว่า ผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วโดยประมาณ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น คณะกรรมการพบว่า ได้รับการอุปการะจากนาย ช. นอกจากนี้ หลังจากนาย จ. ถึงแก่ความตายอย่างกะทันหัน ภายหลังมีชื่อปรากฏในข่าว พบว่าโทรศัพท์มือถือของนาย จ. ถูกทำลาย

จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งปวง คณะกรรมการเห็นว่า การตั้งข้อหา การสอบสวน การร้องขอความเป็นธรรม การกลับคำสั่งฟ้องเป็นสั่งไม่ฟ้อง การไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ เป็นขบวนการดำเนินคดีที่เชื่อได้ว่ามีการร่วมมือสมคบคิดกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป รวมทั้งมีการสมยอมกันโดยไม่สุจริต เพื่อหวังผลเพียงให้ผู้ต้องหาหลุดพ้นจากความรับผิดในทางอาญา ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและในชั้นพนักงานอัยการ กระบวนการทั้งสิ้นนี้จึงมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 646-641/2510 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 6446/2557 และคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 9334/2538 ที่ได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานแล้ว คณะกรรมการจึงมีข้อเสนอ ดังต่อไปนี้

1.ต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ให้ถูกต้องในข้อหาที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษ ข้อหาขับขี่รถในขณะเมาสุราและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

2.จะต้องมีการดำเนินการทางวินัยและทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่ร่วมในขบวนการนี้ กล่าวคือ
2.1 พนักงานสอบสวนซึ่งเกี่ยวข้องกับสำนวน
2.2 พนักงานอัยการซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
2.3 ผู้บังคับบัญชาซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
2.4 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
2.5 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
2.6 ทนายความซึ่งกระทำผิดกฎหมาย
2.7 พยานซึ่งให้การเป็นเท็จ
2.8 ตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนในการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่า พันตำรวจเอก ธ. และรองศาสตราจารย์ ส. ได้สมัครใจให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงสมควรกันไว้เป็นพยานและให้ความคุ้มครองพยานในการดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลตามข้อ 2.1 ถึง 2.8

3.จะต้องมีการดำเนินการทางจริยธรรม จรรยาบรรณ มรรยาท โดยหน่วยงานหรือองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต่อบุคคลดังกล่าวตามข้อ 2.1-2.8 อย่างจริงจังและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ เป็นการทั่วไป เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง

4.สมควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มอบอำนาจต้องกำกับ ดูแล แก้ไขเปลี่ยนแปลง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้รับมอบอำนาจให้ถูกต้องตามกฎหมายและจริยธรรม หากผู้บังคับบัญชาละเลยให้ถือว่าเป็นผู้บกพร่องต่อหน้าที่

5.เนื่องจากคณะกรรมการจะพิจารณาเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยละเอียดต่อไป ในชั้นนี้ คณะกรรมการเห็นว่าสมควรเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย และระเบียบในประเด็นต่อไปนี้อย่างเร่งด่วน
5.1 แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา ของพนักงานอัยการฯ ในเรื่องการร้องขอความเป็นธรรม โดยกำหนดให้การร้องขอความเป็นธรรม ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาต้องมาร้องด้วยตนเอง การร้องขอความเป็นธรรมจะต้องระบุเหตุและพยานหลักฐานให้ครบถ้วน การร้องขอความเป็นธรรมเกินกว่าหนึ่งครั้งจะกระทำได้ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่เคยนำเสนอมาก่อน
5.2 แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการอัยการ ว่าด้วยการมอบอำนาจ โดยกำหนดให้การมอบอำนาจให้รองอัยการสูงสุดพิจารณาเรื่องขอความเป็นธรรมและการมอบอำนาจในการสั่งไม่ฟ้องต้องเป็นการมอบให้แก่รองอัยการสูงสุดต่างคนกัน และไม่ว่าจะสั่งยุติเรื่องหรือสั่งให้ความเป็นธรรมตามการร้องขอ อธิบดีอัยการหรือรองอัยการสูงสุดผู้มีอำนาจต้องรายงานให้อัยการสูงสุดทราบทุกกรณี
5.3 วางระเบียบในการมอบอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นไปตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ และในกรณีที่สั่งไม่ฟ้องตามความเห็นของพนักงานอัยการ ให้รายงานต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทราบทุกครั้ง
5.4 แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องอายุความ ในทำนองเดียว กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 กล่าวคือ ถ้าผู้ต้องหาหลบหนีในระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา และให้ฟ้องคดีโดยไม่ต้อง มีตัวผู้ต้องหาได้และมิให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ

อนึ่ง เนื่องจากการดำเนินการของคณะกรรมการมีระยะเวลาที่จำกัด ประกอบกับมีพยานหลักฐานซึ่งเป็นพยานบุคคลและพยานเอกสารเป็นจำนวนมาก จึงเห็นควรที่จะเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้ส่งเรื่องนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ท. คณะกรรมการ ปปง. คณะกรรมการอัยการ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ สภาทนายความ เพื่อให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป กับเห็นสมควรดำเนินการให้คดีอาญาในเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image