กระแสเรียกร้อง‘บิ๊กตู่’ไขก๊อก ชั่งน้ำหนักปลดชนวนขัดแย้ง

กระแสเรียกร้อง‘บิ๊กตู่’ไขก๊อก ชั่งน้ำหนักปลดชนวนขัดแย้ง

หมายเหตุเป็นความเห็นของนักวิชาการต่อกระแสเรียกร้องของบางฝ่ายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเปิดทางให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอก เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง และให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความราบรื่น

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

Advertisement

การนำนายกรัฐมนตรีคนนอกเข้ามาทำหน้าที่คงไม่ช่วยแก้ปัญหาที่รุมเร้าในขณะนี้ หรือหากมีจริงก็คงจะใช้บริการคนนอกที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มอำนาจเดิม เนื่องจากนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอาจจะต้องการลงจากเก้าอี้ แต่กลัวถูกเช็กบิลจากปัญหาหลายด้าน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่จะออกมากดดัน เพราะประเมินว่ามีปัญหาจากการทำหน้าที่

ส่วนตัวเชื่อว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯก็ขอให้ใช้ ส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อมาดำรงตำแหน่ง หรือหากจะดีกว่านั้นก็ขอให้รีบแต่งตั้ง ส.ส.ร.เข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หลังจาก ส.ว.บางส่วนแสดงสปิริตจะไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่การยุบสภาก็จะติดขัดจากปัญหาในการส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตของทุกพรรคการเมืองจากเงื่อนไขในกฎหมายเลือกตั้ง

สำหรับการชุมนุมของนักศึกษาในวันที่ 19 กันยายน คงมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาอย่าลืมว่า แม้มีคนมาชุมนุมมากมาย รัฐบาลก็ไม่ได้มีอันเป็นไปจากผลของการชุมนุม ซึ่งเรื่องที่น่าเป็นห่วงระหว่างการชุมนุมใหญ่ไม่ได้กลัวมือที่สาม แต่กลัวมือที่หนึ่งที่อาจจะทำให้มีความวุ่นวายเกิดขึ้น ส่งผลให้มีปัญหาบานปลาย เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะมีบางฝ่ายรอให้เกิดความรุนแรงแล้วยึดอำนาจ ขณะที่อีกฝ่ายรอว่าหากยึดอำนาจก็จะออกมาต่อต้าน ดังนั้น หากจะมีข้อยุติไม่ไห้มีปัญหาก็ต้องมีการเจรจา แต่ปัญหาคือขบวนการศึกษาไม่ได้มีกลุ่มเดียวและไม่มีกลุ่มไหนมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจที่เด็ดขาด

Advertisement

ในความเห็นส่วนตัวแม้ว่าจะมองโลกในแง่บวก แต่เหตุการณ์ปัจจุบันคงหลีกเลี่ยงการปะทะกันได้ยาก เพราะสถานการณ์สุกงอมเกินเยียวยาทั้งปัญหาจากรัฐธรรมนูญ โครงสร้างอำนาจ การทำรัฐประหารบ่อยครั้ง ทำให้บ้านเมืองมาถึงทางตันรวมทั้งปัญหาบานปลายภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่แย่มาก จะเจอวิกฤตมากขึ้น อาจกลายเป็นรัฐล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ซึ่งนับจากนี้ไปอีก 10 ปี จะฟื้นตัวหรือไม่ ยังไม่มีใครกล้าทำนาย ขณะที่เศรษฐกิจกับการเมืองเป็นเหรียญ 2 ด้าน จำเป็นต้องแก้ไขควบคู่กันไป

การพลิกฟื้นของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระยะสั้นคงเกิดขึ้นยาก เพราะปล่อยปัญหาเรื้อรังนานเกินไป เหมือนผลไม้ที่สุกงอมจนหลุดจากขั้ว แม้แต่รัฐมนตรีคลังคนกันเอง เอามาทำงานไม่กี่วันต้องยื่นใบลาออกเพราะเห็นปัญหาหลายด้าน ขณะที่นายกรัฐมนตรีเองเชื่อว่าไม่เคยคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เคยคิดถึงเรื่องการกระจายอำนาจให้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย และการกระจายอำนาจยังป้องกันการแย่งชิงผลประโยชน์ในส่วนกลาง ล่าสุด ยังไม่มีการประกาศเลือกตั้งท้องถิ่นหากมติ ครม.ไม่ชี้ชัดภายในเดือนกันยายนนี้ ปีนี้ก็คงไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากผู้บริหารท้องถิ่นต้องหยุดทำหน้าที่ก่อนการเลือกตั้ง 60 วัน

ถ้ามองอนาคตของรัฐบาลชุดนี้เชื่อว่าคงอยู่ไม่ไหว แต่อาจจะยื้อไปเรื่อยๆ โดยผ่อนคลายด้วยการปล่อยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังไปไม่สุดทาง มีการอภิปรายในสภาโดยไม่ลงมติก็อาจจะผ่อนปรนบรรยากาศทางการเมือง เป็นโอกาสที่ฝ่ายค้านได้สอบถามปัญหา รัฐบาลจะชี้แจงผลงาน เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้ยังมีกองเชียร์จากประชาชนบางกลุ่มที่ชื่นชอบ

ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ประเด็นดังกล่าวต้องมองในภาพรวมว่า ถ้านายกรัฐมนตรีลาออกบ้านเมืองจะดีขึ้นหรือไม่ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม จะดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งมองว่าแม้นายกรัฐมนตรีลาออกก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาต่างๆ ดีขึ้นเพราะฉะนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี แต่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องสร้างความเชื่อ คือสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ให้มั่นใจว่าประเทศชาติโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถเดินหน้าไปได้ ภายใต้แนวทางของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่นายกรัฐมนตรีจะลาออกหรือไม่

หรือแม้แต่ข้อเสนอให้นายกฯลาออก และให้มีนายกรัฐมนตรีจากคนนอกเพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง และทำให้การแก้รัฐธรรมนูญมีความราบรื่น มองว่าไม่ใช่แนวทางในการแก้ปัญหาที่ตรงกับยุคสมัยนี้

อย่างไรก็ตาม เห็นว่านายกรัฐมนตรีจะต้องรับฟังมากขึ้นแม้ในขณะนี้ก็ถือว่านายกรัฐมนตรีได้รับฟังปัญหาจากหลายภาคส่วนอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องมีการตีประเด็นในหลายๆ เรื่องให้แตกก่อน โดยเฉพาะการเอาการเมืองออกไปแล้วหันมามองปัญหาเพื่อแก้ไขไปทีละเรื่อง

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าขณะนี้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรคแต่อย่างใด สิ่งที่เป็นปัญหาคือความที่ประชาชนยังไม่เชื่อแนวทางที่นายกรัฐมนตรีใช้ในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นให้ได้ โดยในการทำงานควรจะทำในรูปแบบพันธภาคี ทั้งนายกรัฐมนตรี หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน จะต้องร่วมกันทำงานภายใต้การตระหนักถึงหน้าที่ของแต่ละคนแต่ละหน่วยงาน

สำหรับปัญหาการชุมนุมหรือความขัดแย้งภายในประเทศ เชื่อว่าตราบใดที่คนในบ้านทะเลาะกัน ย่อมจะสามารถแก้ปัญหาได้ ตราบใดที่ไม่มีคนนอกบ้านเข้ามายุยง

ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ
ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายสื่อสารองค์กรและพันธกิจสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จากกระแสเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้มีนายกฯคนนอก มองว่าแนวทางดังกล่าวยังไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาในปัจจุบัน และยังมีทางเลือกอีกหลายทางที่เป็นไปได้และไม่ทำลายหลักการประชาธิปไตย

การได้มาซึ่งนายกฯคนนอก คำถามสำคัญที่ต้องตอบทุกฝ่ายให้ได้คือ นายกฯดังกล่าวมีความชอบธรรมเพียงพอหรือไม่ในการเข้าสู่ตำแหน่ง กระบวนการได้มานั้นเป็นอย่างไร วิธีการสรรหาได้ตอบสนองต่อหลักการประชาธิปไตยซึ่งให้ความสำคัญกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนหรือไม่ หากประเด็นเหล่านี้ยังมีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน ย่อมจะทำให้การขึ้นสู่ตำแหน่งของนายกฯคนนอกไม่สง่างาม อีกทั้งอาจเป็นเหตุให้การชุมนุมประท้วงขยายวงกว้างและลุกลามบานปลาย

โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่สุกงอมถึงจุดที่ต้องนำเอาคนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะประเทศไทยยังมีกลไกของรัฐสภาในการตรวจสอบงบประมาณ อภิปรายการดำเนินงาน และยังมีกรรมาธิการหลายชุดในการรับฟังเสียงของประชาชน นอกจากนี้ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมไปถึงภาคประชาชน ต่างก็มีแนวความคิดเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะมีประเด็นปลีกย่อยในเรื่องกระบวนการและสาระสำคัญ

แต่อย่างน้อยกลไกของรัฐสภาก็ยังเป็นพื้นที่ของผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ซึ่งก็ควรจะเป็นเวทีที่ใช้สำหรับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

หากนายกรัฐมนตรีลาออกตามข้อเรียกร้องคงไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน ถือเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว ขณะที่ยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น กลไกในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาทดแทน หรือหากไปไกลถึงการยุบสภาก็จะต้องมีการเลือกตั้ง เชื่อว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยน

ขณะที่แคนดิเดตผู้ที่เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเป็น 6 คนเดิมที่ถูกเสนอชื่อไว้ก่อนเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 หรือหากจะใช้กลไกนายกฯคนนอกก็ต้องใช้มติจากการประชุมร่วมของรัฐสภาในการปลดล็อก ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำได้ยาก และที่สำคัญคนนอกใครจะกล้าเข้ามาในสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะเดิมก็มีปัญหาจากการเฟ้นหาตัวทีมเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องที่ยากมากกว่าจะได้ทีมงานมาทำหน้าที่ แต่ต่อมารัฐมนตรีคลังก็ลาออก เพราะฉะนั้น การสรรหานายกฯใหม่ก็คงไม่ได้ส่งผลดีกับสถานการณ์ในภาพรวม

สำหรับการชุมนุมใหญ่ที่กำหนดในวันที่ 19 กันยายน ก่อนที่จะถึงวันดังกล่าว รัฐบาลควรแสดงความตั้งใจจริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเปิดพื้นที่สาธารณะในการพูดคุยให้มากกว่านี้เพื่อลดอุณหภูมิทางการเมือง รวมทั้งการกำหนดนโยบายใหม่ที่ตอบรับกับปัญหาในยุคปัจจุบัน แต่ถ้าหากไม่มีกลไกที่ชัดเจนอาจจะมีปัญหาพอสมควร ขณะเดียวกันถ้าการเมืองในสภาไม่ตอบโจทย์ เพื่อแก้ปัญหาที่หลากหลายให้ประชาชนได้แน่นอนว่าประชาชนก็จะต้องไปลงถนน เพื่อขับเคลื่อนการเมืองนอกสภา

น่าเป็นห่วงว่าสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนมาจากโครงสร้างของรัฐราชการ หรือการเมืองในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก พรรคการเมืองก็ไม่สามารถตอบสนองต่อการเมืองในเชิงอัตลักษณ์ได้ การเลือกตั้งปี 2562 ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย รวมทั้งโครงสร้างด้านเศรษฐกิจยังมีความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม

สำหรับการมีรัฐบาลแห่งชาติ ส่วนตัวไม่เชื่อว่าแนวคิดนี้จะเกิดขึ้นได้จริง คำว่ารัฐบาลแห่งชาติ หรือนายกฯคนนอก นายกฯโซ่ข้อกลาง หรือนายกฯคนกลาง เป็นคำที่ได้ยินเสมอทุกครั้งที่มีวิกฤตการเมือง แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลแห่งชาติยังไม่เคยเกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว ขณะที่นายกฯคนนอก คนกลาง อาจเคยเห็นบ้าง แต่ไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ดังนั้น การมีนายกฯคนนอก คนกลาง หรือรัฐบาลแห่งชาติ คงไม่ใช่ทางออกที่ดี

ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมนี้ รัฐบาลอาจจะผ่านไปได้ เว้นแต่จะมีอุบัติเหตุทางการเมืองจากการชุมนุมที่บานปลาย เกิดความรุนแรง หรือนำไปสู่การทำรัฐประหาร ถ้าไม่มีอุบัติเหตุอะไรจากการชุมนุมที่ไม่ได้ปักหลักพักค้าง แต่ยุทธศาสตร์เน้นการชุมนุมต่อเนื่อง มีการกระจายไปหลายจุดก็ทำให้รัฐบาลมีโอกาสได้ทำงานถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้ แต่ในช่วงนั้นก็จะมีภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้า มีประชาชนจำนวนมากต้องตกงาน ว่างงาน ราคาผลผลิต รายได้ของเกษตรกรจะมีผลกระทบอย่างไร และนโยบายของรัฐบาลที่มี ครม.ใหม่ซึ่งในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็จะมีบทพิสูจน์ที่ชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image