การเมือง ขยับอีกก้าว หา‘ทางออก’ประเทศ เสนอ‘ทางลง’บิ๊กตู่

การเมือง ขยับอีกก้าว หา‘ทางออก’ประเทศ เสนอ‘ทางลง’บิ๊กตู่

การเมือง ขยับอีกก้าว หา‘ทางออก’ประเทศ เสนอ‘ทางลง’บิ๊กตู่

การเมืองในสภาล่าสุด คือ การอภิปรายไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ที่พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติ นายชวนได้บรรจุญัตติ และพล.อ.ประยุทธ์ ต้องมานั่งฟังสภาพูด

ปรากฏว่านอกจากพรรคฝ่ายค้านจะพูดถึงปัญหาของประเทศแล้ว ยังเสนอทางออกโดยเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์เสียสละ

Advertisement

ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดของการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าจะไปทำงานต่อ

เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ไม่ลาออก

Advertisement

ข้อแนะนำ พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องลาออกจากตำแหน่งนี้มีเรื่องชวนคิดหากสังเกตความเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลังจากที่ นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอลาออกจากตำแหน่งทั้งๆ ที่เพิ่งดำรงตำแหน่งได้เพียง 27 วัน

ผลกระทบจากการตัดสินใจของนายปรีดี สั่นสะเทือนต่อแผนการกู้วิกฤตเศรษฐกิจ หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจปรับ ครม. ทดแทนทีมเศรษฐกิจชุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ 4 กุมาร

ผนวกกับความเคลื่อนไหวของนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่เปิดเกมรุกตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ

หยุดคุกคาม แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา

กระทั่งเกิดกระแสข่าว นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ โพสต์ข้อความเสนอให้ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็น “คนนอก” ที่มานั่งนายกรัฐมนตรีแทน พล.อ.ประยุทธ์

เพียงแต่โพสต์ข้อความดังกล่าวปรากฏขึ้นเพียงไม่นานก็ถูกลบทิ้ง

หากแต่ผลจากการโพสต์ข้อความก็ก่อเป็นกระแสกระเพื่อมในวงการการเมืองขึ้นมาทันที

พร้อมๆ กับความเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาลแห่งชาติจากฝ่ายที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์

จังหวะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวในสภาได้ทยอยยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเดิมพุ่งเป้าไปที่มาตรา 256 คือ ให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ต่อมา มีกระแสแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว. โดยเฉพาะมาตรา 272 เพื่อไม่ให้ ส.ว.เข้ามาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

และสุดท้าย คือ การต้องการให้แก้ไขมาตรา 272 และให้แก้ไขมาตรา 256 ด้วย

ดังนั้น แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ไปเหมือนกับพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติไปรอบแรก แต่พรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้านรวมถึงพรรคก้าวไกลก็ได้ยื่นญัตติเพิ่มเติม

ขอแก้ไขมาตรา 272 และมาตราที่เกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว.เพิ่ม

เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.

สุดท้ายคือกระแสการรัฐประหาร

เป็นกระแสที่ก่อตัวขึ้นมาหลังจากปรากฏความเคลื่อนไหวของฝ่ายทหารที่สับเปลี่ยนกำลัง และมีการข่าวเจ้าหน้าที่ตระเตรียมห้องหับ

กระทั่งกลายเป็นข้อสงสัยและมีการซักถามฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี

คำถามที่สงสัยดังกล่าวทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ อารมณ์เสีย ถึงกับหยุดการให้สัมภาษณ์ และหลุดถ้อยคำ “เลอะเทอะ” ออกมา

อย่างไรก็ตาม จวบจนขณะนี้ กระแสการปฏิวัติรัฐประหารยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่

ยิ่งกลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษามีกำหนดการชุมนุมใหญ่วันที่ 19 กันยายน กระแสรัฐประหารก็ยิ่งมาแรง

แม้จะประเมินจากสถานการณ์หลายอย่างแล้ว ไม่น่าจะเกิดขึ้น

แต่ระยะหลัง เมื่อสถานการณ์ภายในประเทศเผชิญหน้ากับม็อบ การใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์มักกลายเป็นทางออกของฝ่ายความมั่นคง

ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางออกของประเทศจึงไม่ใช่เรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเหมือนดั่งเดิม

หากแต่กลายเป็นการเสนอ “ทางลง” ให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อทำให้ประเทศมีทางออก

ทั้งข้อเสนอที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก แล้วเปิดทางให้ “แคนดิเดต” คนอื่น ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย หรือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาแทน

ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอผลักดันให้ “คนนอก” มาเป็นนายกรัฐมนตรี

ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ หลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

และรวมไปถึงข้อกังวลเรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และควบคุมสถานการณ์

ทุกข้อเสนอที่ปรากฏ คือ การเสนอ “ทางลง” จากตำแหน่งให้ พล.อ.ประยุทธ์

เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์เองก็มองสถานการณ์อันล่อแหลมนี้ออก

พล.อ.ประยุทธ์จึงพยายามแก้ไขปัญหาที่โหมซัดเข้าใส่รัฐบาลอย่างหนักหน่วง

กรณีข้อเรียกร้องจาก ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์โอนอ่อนให้ด้วยการปรับ ครม. และจัดสรรตำแหน่งให้ตามที่ตัวเองคิดว่าจัดสรรให้ได้

กรณีข้อเรียกร้องของนักเรียนนิสิตนักศึกษา พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนแปลงท่าทีจาก “ตอบโต้” มาเป็น “การรับฟัง”

กรณีข้อทักท้วงเรื่องงบประมาณเรือดำน้ำ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็พยายามถอดชนวน

สั่งการให้กองทัพเรือถอย

ขยับการจ่ายเงินค่าซื้อเรือดำน้ำออกไปอีก 1 ปี

ท่าทีที่สัมผัสได้ในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังพร้อมสู้ต่อไป แต่ด้วยสถานการณ์รอบด้าน ไม่เอื้อต่อการต่อสู้มากนัก

โดยเฉพาะผลการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่ปี 2557 จวบจนปัจจุบัน สังคมเริ่มมองว่า “ไปต่อไม่ได้แล้ว”

แม้ว่าช่วงต้นปี พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถจัดการเรื่องการสกัดโรคระบาดโควิด-19 จนได้รับคำชื่นชม

แต่ก็ต้องมาเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเป็นปัญหาเดิมของรัฐบาล

เป็นปัญหามาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จะระบาด

ผนวกกับปัญหาการเมืองในสภา การเมืองนอกสภา และอื่นๆ

ณ เวลานี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะขับเคลื่อนให้ทุกอย่างดำเนินไปข้างหน้าตามที่ตัวเองต้องการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image