จุดเสี่ยง รบ. ล้มเงื่อนไข‘ม็อบ’ ผิดสัญญา‘พรรคร่วม’

จุดเสี่ยง รบ. ล้มเงื่อนไข‘ม็อบ’ ผิดสัญญา‘พรรคร่วม’ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จุดเสี่ยง รบ. ล้มเงื่อนไข‘ม็อบ’ ผิดสัญญา‘พรรคร่วม’

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะแถลงออกจอโทรทัศน์พาดพิงถึงการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษาว่า “ขอแก้ไขปัญหาโควิดและเศรษฐกิจก่อน ส่วนเรื่องการเมืองค่อยคุยกันทีหลัง”
แต่ดูเหมือนว่า คำกล่าวดังกล่าวนอกจากจะไม่สามารถหยุดยั้งสถานการณ์ได้แล้ว ยังอาจเร่งเร้าสถานการณ์ให้แรงขึ้นด้วย
ทั้งนี้เพราะทุกคนล้วนทราบดีว่า การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมนั้นเชื่อมโยงกัน
หากการเมืองไม่ดี ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ย่อมส่งผลให้การเมืองและสังคมอ่อนเปลี้ย
เช่นเดียวกับสังคม ถ้าอ่อนแอแตกร้าว การเมือง และเศรษฐกิจก็ดิ่งเหว
ดังนั้น ทั้งปัญหาการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจ ต้องมีการแก้ไขไปพร้อมๆ กัน

ปัญหาทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คือ ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษา 3 ประการ
นั่นคือ หยุดคุกคามผู้เห็นต่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา
เมื่อกลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษายื่นข้อเรียกร้องในครั้งแรก มีการตอบรับจากฟากฝั่งรัฐบาลด้วยดี
แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงเวลาปฏิบัติการ กลับไม่เป็นไปตามที่พูด
กลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษายังถูกคุกคามอยู่เนืองๆ แกนนำหลายคนต้องข้อหาเนื่องจากขึ้นอภิปรายบนเวทีปราศรัย
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความคืบหน้าจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่ผลักดันญัตติเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร มีวาระการพิจารณาในวันที่ 23-24 กันยายน
ญัตติที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มีทั้งแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. มีทั้งแก้ไข มาตรา 272 เกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว. โดยเฉพาะการโหวตเลือกนายกฯ
และยังมีข้อเสนอให้แก้ไขไปถึงอำนาจของคำสั่ง คสช.ด้วย
เรื่องดังกล่าวแม้สภาผู้แทนราษฎรจะสนับสนุน แต่ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ต้องอาศัยเสียงจาก ส.ว. มากกว่า 84 เสียง แต่ปรากฏว่า ส.ว. ออกมาคัดค้าน
แม้จะมีข้อเสนอจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้วิป 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา หารือกัน เพื่อหาข้อสรุปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่ล่าสุดปฏิกิริยาจาก ส.ว.คือ ขอเลื่อนการประชุมวิปออกไป
เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีทีท่าว่าจะล่ม ข้อเสนอเรื่องการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่จึงไม่ต้องพูดถึง
สถานการณ์ในขณะนี้ จึงสุ่มเสี่ยงต่อการผชิญหน้า

การเผชิญหน้าดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทั้งนี้เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นจากอานุภาพของรัฐธรรมนูญปี 2560
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถูกออกแบบมาเพื่อผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น จึงอนุญาตให้ ส.ว. ที่ได้รับการคัดเลือกจาก พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. มีส่วนในการโหวตเลือกนายกฯ
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ได้อยู่ในอำนาจทั้ง คสช. และรัฐบาล ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่มาหลายปี
ระบบราชการที่ดำเนินอยู่ จึงมีคนของ คสช. และพล.อ.ประยุทธ์ อยู่มาก
ดังนั้น ทุกๆ การกระทำของฝ่ายราชการ และเสียงโหวตจากวุฒิสภา จึงเชื่อมโยงกับ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง
ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ขอให้ประเทศปรองดอง แต่เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการจับกุมแกนนำกลุ่มคนเห็นต่าง
ยิ่งตอกย้ำ “ความจริง” กับ “คำพูด” ได้เป็นอย่างดี
ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าไม่ขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปฏิกิริยาจาก ส.ว. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. เป็นผู้เฟ้นหากลับมีทีท่าว่าจะ “ทำแท้ง” การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ยิ่งตอกย้ำ “ความจริง” กับ “คำพูด” ให้ปรากฏอีกครั้ง
เป็นความจริง หรือความเชื่อ ก็มิอาจยืนยัน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้กระทบต่อความเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์

Advertisement

นี่คือจุดเสี่ยงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
จุดเสี่ยงที่เกิดจาก “ความเชื่อ” ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถสั่งการเจ้าหน้าที่รัฐ และสามารถประสานวุฒิสภาได้
ดังนั้น การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ต่อกลุ่มผู้เห็นต่าง จึงโยงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
เช่นเดียวกับเสียงของ ส.ว. ที่ต้องมีมากกว่า 84 เสียง จาก 250 เสียง
หาก ส.ว.โหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ถึง 84 เสียง ทั้งๆ ที่มี ส.ว. ถึง 250 เสียง
เสียงโหวตดังกล่าวย่อมเชื่อมโยงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ เช่นกัน
เป็น “ความเชื่อ” ที่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
“ความเชื่อ” ดังกล่าว จะย้อนมาถามถึง “จุดยืน” ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลว่า เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้
52 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์จะยังสนับสนุนรัฐบาลอยู่หรือไม่

เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ต้องยกระดับการชุมนุมเนื่องจากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ไม่ประสบผลสำเร็จ
การชุมนุมวันที่ 19 กันยายน ถือเป็นการทดสอบเสียงสนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ขณะเดียวกันรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ก็ทดสอบระบบการรับมือกับการชุมนุม
การชุมนุมในวันนั้นย่อมสะท้อนให้เห็นสถานการณ์การชุมนุมในวันข้างหน้า
ขณะรัฐบาลเริ่มปรากฏจุดเสี่ยงที่ชัดแจ้งขึ้นเรื่อยๆ
สถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงน่าเป็นห่วง
สถานการณ์ของประเทศก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image