นักวิชาการยกม็อบมิติใหม่ ถอดบทเรียนเดิม-ไร้รุนแรง ผู้ชุมนุม-จนท.ยึด‘สันติวิธี’

นักวิชาการยกม็อบมิติใหม่ ถอดบทเรียนเดิม-ไร้รุนแรง ผู้ชุมนุม-จนท.ยึด‘สันติวิธี’

นักวิชาการยกม็อบมิติใหม่ ถอดบทเรียนเดิม-ไร้รุนแรง ผู้ชุมนุม-จนท.ยึด‘สันติวิธี’

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ

Advertisement

การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนเมื่อวันที่ 19-20 กันยายนนั้น เป็นม็อบรูปแบบใหม่ ที่ไม่มีดาราหรือตัวเอกมากนัก มีแกนนำนักศึกษาเพียง 4-5 คน ถือเป็นยุทธศาสตร์แปลกใหม่ ที่ไม่เร่งปิดเกมเร็ว มีข้อเรียกร้องที่ไม่นำไปสู่การเผชิญหน้า และความรุนแรงใดๆ

ม็อบดังกล่าวมีการจัดกระบวนทัพเชิงรุก และถอยอย่างเป็นระบบ มีแบบแผน ไม่ใช่สู้เพื่อเอาชนะอย่างเดียว ถือว่าการชุมนุมดังกล่าวประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว

ขณะที่ม็อบแบบเก่า มักหวังจะปิดเกมเร็ว ใช้ยุทธวิธีเปิดปราศรัย แบบเอามัน เพื่อเรียกแขกมาชุมนุม โดยไม่เปิดโอกาสให้สังคมได้ถกเถียงมากนัก ขณะที่ม็อบนักศึกษาเคลื่อนไหวเพียง 2 วัน แล้วแยกย้ายเพื่อรอฟังคำตอบ ช่วยลดข้อกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้ามว่ามีท่อน้ำเลี้ยง จึงเป็นการเคลื่อนไหวชุมนุมที่คุ้มค่า ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดเกิดประโยชน์สูงสุด

Advertisement

ส่วนทิศทางข้างหน้านั้น อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตัดสินใจอย่างไร ถ้าฟังเสียงข้อเรียกร้อง ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญลดอำนาจ ส.ว. ก่อนลาออก เพื่อเลือกตั้งใหม่ น่าจะเป็นผลดีต่อประเทศมากกว่า หากไม่ฟังเสียงและยืนยันจะอยู่ต่อ การชุมนุมก็ไม่สิ้นสุดประเทศบอบช้ำมากขึ้น

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ปรากฏการณ์ของนักศึกษาเป็นการส่งข้อความไปยังรัฐบาลว่าประสงค์ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูปในเรื่องราวต่างๆ ที่เขาต้องการ คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จ

ความสำเร็จต่อมา คือการไม่มีความรุนแรงในการเคลื่อนย้ายมวลชน สามารถจัดการ ควบคุม ดำเนินรายการบนเวทีและการประสานงานเป็นไปด้วยดี

นอกจากนี้ ยังเห็นความสำเร็จของฝ่ายรับมือ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ในการรักษาความปลอดภัย เป็นไปด้วยดี กล่าวคือ ทุกฝ่ายถอดบทเรียนการชุมนุมในอดีตมาปรับใช้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดี

ถามว่าการชุมนุมครั้งนี้ ที่มีคนมาชุมนุมจำนวนมากนั้น มีพลังมากพอจะเปลี่ยนโครงสร้างประเทศไทยได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์ชิมลาง เพิ่งเริ่มสตาร์ต เป็นก้าวแรกของการเคลื่อนไหว

ทั้งนี้ เพราะยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ออกมาปรากฏตัวสนับสนุนการชุมนุมครั้งนี้ เนื่องจากมองว่ามีอะไรที่ทับซ้อน เกี่ยวพันกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเสื้อสี อย่างกลุ่ม นปช. หรือพรรคการเมือง อย่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตอบโจทย์แนวคิดของกลุ่มทางการเมืองเหล่านี้ด้วย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่ยืนมองอย่างห่างๆ อาจจะยืนรอภาพจิ๊กซอว์ให้ครบว่า นี่คือพี่เลี้ยง ที่จะเป็นท่อน้ำเลี้ยง เป็นผู้สนับสนุนหลักต่อการเคลื่อนไหวของน้องๆ นักเรียน นักศึกษาชุดนี้ หรือไม่

สำหรับภาพรวมในการจัดม็อบ เมื่อถอดบทเรียนแล้ว แน่นอนว่าฝ่ายผู้ชุมนุมจะต้องระมัดระวังการปราศรัยด้วยเนื้อหาที่ล้ำเส้น หรือกระทบความรู้สึกของผู้คนในสังคม เพราะยังมีผู้คนไม่น้อยที่ไม่อยากให้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวเหล่านี้ในพื้นที่สาธารณะ

ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องราวการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อแสดงว่ารัฐบาลไม่ได้เพิกเฉย มีความพยายามเรียกผู้ชุมนุมมาสู่การพูดคุย หรือเจรจา เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ต้องยอมรับว่าพลังขับเคลื่อนของปรากฏการณ์รอบนี้ พลังของนิสิต นักศึกษามาจากการสะสมเนื้อหา และการยื่นข้อเสนอล้วนเป็นเรื่องที่แหลมคม

ส่วนการชุมนุมครั้งนี้จะมีพลังนำไปสู่การบรรลุ 3 ข้อเรียกร้องได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมมองว่ายังไม่สามารถบรรลุได้ทันท่วงที เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจ รวมทั้ง ส.ว. กำลังเฝ้ารอกระแสทางสังคม หรือรอเสียงสนับสนุนจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา โดยใช้ประเด็นที่นักศึกษาเอาเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ที่ล้ำเส้น มาบดบังประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทน

ดังนั้น อาจต้องใช้เวทีปราศรัยต่อไปเรื่อยๆ โดยนัดชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ การให้ข้อมูล แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นผ่านโลกออนไลน์ และจัดเวทีปราศรัยในจังหวัดต่างๆ กล่าวคือ ขบวนการนักศึกษาต้องสะสม ตกผลึกร่วมกันกับภาคประชาสังคมเสียก่อน

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมามีสัญญาณเชิงบวก เนื่องจากไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นตามที่หลายฝ่ายกังวล ภาพที่ปรากฏในการชุมนุมทั้งรัฐและกลุ่มผู้ชุมนุม ต่างช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ ไม่ให้มีความเสี่ยงกับการเกิดความรุนแรง

หากทุกฝ่ายยึดแนวทางนี้ก็ยังมีทางออกที่จะเดินต่อไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีกระบวนการประชาธิปไตยในรูปแบบการปรึกษาหารือ การมีเวทีพูดคุยหรือแม้กระทั่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผลผลิตจากบทเรียนช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมามีการชุมนุมทั้งกลุ่มพันธมิตร กลุ่ม นปช. และกลุ่ม กปปส. หลายครั้งมีความรุนแรงเกิดขึ้น

จึงสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีต้นทุนทางการเมืองและทางสังคมที่ไม่สูญเปล่า จากการชุมนุมที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะมีการใช้กฎหมาย มีการตระหนักถึงการไม่ใช้ความรุนแรงของรัฐและผู้ชุมนุม ถือเป็นบทเรียนในทางที่ดี เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคต

ดังนั้น การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 กันยายนนี้ จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่จะทำการเมืองหลังจากนี้จะเดินไปในทิศทางไหน ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต้องมองถึงความต้องการของประชาชน เพื่อช่วยกันเอาฟืนออกจากไฟ

เมื่อการชุมนุมที่ผ่านมาจบลงด้วยดีแล้ว หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของสภา สำหรับ 6 ญัตติที่เสนอเข้าไปคิดว่า 2 ญัตติแรกของพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล ที่แก้ไขมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.นั้น มีโอกาสสูงที่จะผ่าน แต่อีก 4 ญัตติซึ่งฝ่ายค้านเสนอเพิ่มเติม เช่น การปิดสวิตช์ ส.ว.ในมาตรา 272 ไม่รับรองคำสั่ง คสช.มาตรา 279 และการเลือกตั้งจากการใช้บัตร 2 ใบ มีโอกาสผ่านหรือไม่ผ่าน 50%

สรุปแล้วการมุ่งเน้นโดยไม่ใช้ความรุนแรงทำให้ทุกอย่างมีทางออก ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงแนวทางการใช้สันติวิธีมากขึ้น

ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมานั้น นับว่าเป็นมิติใหม่ในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน มีการจัดวางยุทธศาสตร์อย่างดี โดยเฉพาะการที่แกนนำไม่ได้เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล แต่เลือกที่จะเสนอข้อเรียกร้องผ่าน ผบช.น. ก่อนจะยุติการชุมนุม เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะและความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องเรียนรู้และให้ความสำคัญมากขึ้นคือการใช้ปริมาณ ศักยภาพและขีดความสามารถของตนอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความชอบธรรมในการชุมนุม เนื่องจากยังพบว่าสาระของการชุมนุมยังจำกัดเฉพาะประเด็น แม้จะมีเป้าหมายหลักเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ด้วยเนื้อหาที่ละเอียดอ่อนอาจลดทอนคุณค่าความตั้งใจของกลุ่มผู้ชุมนุมได้เช่นกัน

ขณะที่สังคมยังคาดหวังที่จะได้ยินข้อเสนอและแนวทางแก้ปัญหาด้านอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรมและครอบคลุมรอบด้านทั้งเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้น จากการระดมความคิดเห็นกลุ่มผู้ชุมนุม หากผู้ชุมนุมทำได้จะเกิดความชอบธรรมและแรงสนับสนุนจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น

การชุมนุมที่เกิดขึ้นนี้สร้างมิติและพลวัตใหม่ของการเมือง กล่าวคือผู้ชุมนุมมีพื้นที่ในการเสนอข้อเรียกร้องอย่างเป็นระบบและมีระเบียบ ขณะที่ฝ่ายรัฐเองก็พยายามควบคุมไม่ให้เกิดการปะทะและความรุนแรง หากเป็นเช่นนี้ย่อมเกิดความหวังและเห็นทิศทางในอนาคตที่ทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือหันมาพูดคุยด้วยดีและเรียนรู้กันมากขึ้น

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต

การชุมนุมที่ผ่านมามีจำนวนคนมาก ได้แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่ไม่พึงพอใจต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล องค์ประกอบการชุมนุมจะมีความหลากหลายทั้งนักศึกษา ประชาชน และมวลชนเสื้อแดงในอดีต รวมทั้งความหลากหลายของกลุ่มอาชีพ ช่วงอายุ ความหลากหลายทางเพศที่เข้าร่วม

สำหรับเนื้อหาในการชุมนุมตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้คน แต่ทำให้ประเด็นหลักที่ต้องนำไปสู่การแก้ไขในปัจจุบันมีความด้อยลง ทั้งที่ประเด็นหลักที่ควรให้ความสำคัญคือการผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและตั้ง ส.ส.ร.แก้ไขทั้งฉบับ

มีบางประเด็นที่นำเสนอ แม้หลายคนมองว่าเป็นความกล้าหาญที่คนในสังคมไม่กล้าพูดถึง แต่เรื่องดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาในการสร้างแนวร่วม เพราะบางฝ่ายอาจมองว่าไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ได้เห็นความสามารถในการกำกับการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบ ปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เรื่องนี้ต้องชื่นชม โดยเฉพาะการปรับเส้นทางโดยไม่ไปทำเนียบรัฐบาล ผู้นำการชุมนุมคงประเมินสถานการณ์แล้วว่าหากยึดแผนเดิมคงไปไม่ถึง และอาจเกิดการปะทะกับตำรวจ

ผู้ชุมนุมต้องคุยกันว่าต้องหยิบยกประเด็นอะไรที่จะจัดการชุมนุมครั้งต่อไป เรื่องใดที่มีความสำคัญและมีมวลชนเข้ามาร่วม ซึ่งประเด็นที่ประชาชนน่าจะให้การสนับสนุน คือการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎกติกาสำคัญของประเทศให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ความไม่พอใจรัฐบาลที่บริหารล้มเหลว ปัญหาเศรษฐกิจ มีคนยากจนเพิ่มขึ้น เรื่องเหล่านี้น่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ และน่าจะได้แนวร่วมจากประชาชนจำนวนมาก

การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นอีก จากนี้ไปมี 2 ช่วงสำคัญ ช่วงแรกจะมีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 23-24 กันยายน จะมีการชุมนุมเพื่อกดดันให้รัฐสภามีมติออกมาในทิศทางใด และช่วงต่อไปกระแสจะขึ้นหรือลงอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐสภาว่าจะลงมติอย่างไร

ถ้ารัฐสภาแข็งกร้าว ไม่เปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ทำให้เห็นว่ามีอะไรที่ดีขึ้นต่อบ้านเมือง เช่น ไม่รับร่างแก้ไขทั้ง 6 ญัตติ ก็จะเป็นเหตุการชุมนุมใหญ่ก่อนวันที่14 ตุลาคม 2563 แต่ถ้ารัฐสภามีท่าทีอ่อนลงยอมถอยอย่างน้อย 2 ประเด็น ยอมแก้รัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.และไม่ให้ ส.ว.ยกมือโหวตเลือกนายกฯ โอกาสที่จะมีการชุมนุมก่อน 14 ตุลาคม จะไม่เกิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image