นักวิชาการมองต่างมุม 6ญัตติแก้ รธน.ผ่าน-ไม่ผ่าน แนะ‘บิ๊กตู่’ส่งซิกไฟเขียว

นักวิชาการมองต่างมุม 6ญัตติแก้ รธน.ผ่าน-ไม่ผ่าน แนะ‘บิ๊กตู่’ส่งซิกไฟเขียว

หมายเหตุนักวิชาการประเมิน 6 ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาวาระแรกวันที่ 23-24 กันยายนนี้ รวมถึงท่าทีของ ส.ว.และแรงกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีผลต่อการพิจารณามากน้อยแค่ไหน

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

Advertisement

การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 23-24 กันยายน เพื่อพิจารณา 6 ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ยอมรับว่ามีความกดดันเกิดขึ้นกับบางฝ่าย แต่คงไม่ถึงขนาดจะมีแอ๊กชั่นอย่างรุนแรง และการพิจารณาครั้งนี้ อย่างไรก็ต้องผ่านบ้างในบางญัตติ เชื่อว่า ส.ว.คงไม่เสี่ยงกับวาระแรก เพราะยังมีโอกาสในวาระ 3 ที่จะตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ดังนั้นอาจปล่อยให้วาระนี้ผ่านไปก่อน วันนี้สถานการณ์ทางการเมืองเหมือนน้ำที่ไหลเชี่ยว ถ้าเอาเรือไปขวางคงผิดยุทธวิธี

สำหรับประตูด่านแรกเพื่อปลดล็อกมาตรา 256 ส.ว.ไม่ควรบอกปัดแต่ต้น ถ้าปัดก็เหมือนเอาเรือไปขวางน้ำเชี่ยว เชื่อว่า ส.ว.คงปล่อยให้ผ่าน ส่วนกลุ่ม 60 ส.ว.ที่ยังแสดงท่าทีเงียบ คงจะรอฟังสัญญาณบางอย่างว่าจะเอาอย่างไร ที่สำคัญในการพิจารณาวาระแรก อาจยังไม่ต้องออกมาแสดงท่าทีที่เด็ดขาด

แต่ยังไม่เห็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่เชื่อว่าถึงที่สุดนายกฯต้องออกมาพูดอะไรบ้างในโอกาสต่อไป คงไม่ออกมาพูดในช่วงนี้ เพราะต้องรอดูกระแส และรักษาสถานภาพเอาไว้ และใช้ช่วงจังหวะในการพิจารณาวาระแรกซื้อเวลาไปก่อนได้พอสมควร

Advertisement

แต่หากวาระแรก ที่ประชุมร่วมหักดิบไม่ผ่านญัตติ รัฐบาลจะเสียหน้า เพราะฉะนั้นต้องดันให้ผ่านไปก่อน

หากญัตติแก้ไขมาตรา 256 ผ่านวาระแรกจะต้องไปผ่านด่านหินในวาระ 3 คาดว่าจะมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญเดือนพฤศจิกายน 2563 อย่าเพิ่งมั่นใจว่าวาระ 3 จะผ่าน เพราะเจตนาของบางฝ่ายต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา มากกว่าการเปิดโอกาสให้มี ส.ส.ร.เพื่อร่างใหม่ทั้งฉบับ

ประเมินว่าญัตติที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 จะผ่านได้ แต่เรื่องอื่นเช่น การปิดสวิตช์ ส.ว.อาจจะผ่านด้วยก็ได้ แต่การพิจารณาวาระแรกไม่สำคัญเหมือนวาระ 3 และการเปิดทางไฟเขียวให้ผ่านในวาระแรกอย่างน้อย ทำให้การชุมนุมที่แสดงท่าทีกดดันเรื่องนี้ จะทำให้บรรยากาศการเมืองผ่อนคลายมากขึ้น เพราะทำให้เห็นว่าผู้มีอำนาจได้รับฟังตามข้อเสนอ 1 ใน 3 ข้อแล้ว มีปฏิกิริยาสนองตอบอย่างชัดเจน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องทำประชามติ กฎหมายประชามติจะออกมาช้า หรือเร็วไม่เป็นอุปสรรคเหมือนการผ่านวาระ 3 แต่คาดว่าการพิจาณาทุกวาระจะมีมวลชนออกมากดดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าหากมีการกดดัน จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเดินหน้าไปได้

หลังจากนี้ทิศทางการเคลื่อนไหวของมวลชนทุกกลุ่ม จะมีเอกภาพและจุดติดจากประเด็นนี้ได้มากกว่าเรื่องอื่น เพราะสถานการณ์การเมืองเรื่องอื่น ไม่มีอะไรร้อนแรง หรือน่าหนักใจเหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาในทางการเมืองที่ประชาชนมีความเห็นแตกต่างจากแนวคิดของรัฐบาล เพราะฉะนั้นการออกมารวมตัวเรียกร้อง อย่าคิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ หรือจะเป็นวิกฤต

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อประเมินจากเสียงในสภาแล้ว เห็นว่าฝ่ายที่จะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่มีเสียงสนับสนุนมากพอ เมื่อดูจากกระแสฝั่งของพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ไม่เห็นว่ามีประเด็นใดที่จะแก้ มีเพียงประปรายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้แก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่มีประโยชน์ต่อ ส.ส.ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลที่จะแก้ไข เนื่องจากมองว่าสถานะของรัฐบาลตอนนี้ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นความได้เปรียบอีกทาง จะแก้ให้ตัวเองเสียเปรียบ คงเป็นไปได้ยาก

การชุมนุมที่หน้ารัฐสภา มองว่าไม่น่าจะมีแรงกดดันต่อ ส.ว.ให้รับหลักการได้ หากจะมี ก็เชื่อว่าจำนวน ส.ว.ที่ลงมติรับหลักการคงน้อย ส.ว.ที่ออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญนับหัวได้ ไม่ถึงจำนวนที่กำหนด จึงเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก ส.ว.เอง ก็มาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีใครใจถึงพอที่จะเผาบ้านตัวเอง

อีกทั้งการออกมาของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ก็สะท้อนแล้วว่า ฝ่ายรัฐบาลไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นเสียงสะท้อนด้วยว่า ส.ว.เองก็ไม่น่าจะเอา กล่าวคือ รัฐบาลและ ส.ว.ไม่เอา

ภาคประชาชนไม่สามารถกดดันการเมืองในระบบรัฐสภา โดยเฉพาะฟากรัฐบาลกับ ส.ว.ได้เลย ต่อให้ม็อบนักศึกษา ประชาชนมากันจนเต็มพื้นที่ ก็ยังไม่มีเหตุจำเป็นที่รัฐบาลต้องรับฟัง เราจะเห็นว่าฝั่งรัฐบาลและ ส.ว.มักอ้างตลอดว่า คนหลายสิบล้านคนไม่อยากให้แก้ ซึ่งเป็นการอ้างจำนวนลอยๆ ไม่มีการทำสถิติ

ส่วนตัวไม่ค่อยกังวลกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรู้ว่าไม่ได้แก้ไขอยู่แล้ว เนื่องจากที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ธรรมดา ไม่ใช่กระบวนการปกติ ทุกวันนี้วิกฤตการเมืองที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อให้เกิดทางตันไปหมด รัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรจะเปลี่ยนสัดส่วนและร่างใหม่ เพราะเหมือนคนป่วยที่ยื้อชีวิตไม่ได้แล้ว ต้องปล่อยไป แล้วร่างขึ้นมาใหม่

 

อรุณี กาสยานนท์
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ญัตติที่แก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.น่าจะผ่านในวาระแรก เพราะไม่มีใครเสียประโยชน์ ขณะที่ ส.ว.จะลดแรงกดดันได้หลายเรื่อง เชื่อว่าจะมี ส.ว.ร่วมโหวตแก้ไขมาตรา 256 เนื่องจากทุกกลุ่มเห็นพ้อง และสังคมตกผลึกมากที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

สำหรับ 4 ญัตติที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 272 มาตรา 159 รวมทั้งมาตรา 279 พบว่า 2 มาตราแรกเดิมมีแนวโน้มจะผ่านเพราะ ส.ว.บางส่วนออกมาขานรับตัดอำนาจตัวเองในการโหวตเลือกนายกฯ ก่อนมีการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน แต่หลังสิ้นสุดการชุมนุม มี ส.ว.ที่ออกมาพูดเรื่องนี้ก็เงียบลงไป ดังนั้นมาตรา 272 และมาตรา 159 โอกาสจะผ่านมีไม่มาก อาจมี ส.ว.บางส่วนยกมือให้ญัตตินี้แต่ไม่ถึง 84 เสียง ต้องดูว่าการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมบางกลุ่มที่มุ่งปิดสวิตช์ ส.ว.จะออกมากดดันได้มากน้อยแค่ไหน

ท่าทีของ ส.ว.ในการพิจารณาญัตติวาระแรก น่าจะมีการส่งสัญญาณในเชิงบวก เชื่อว่าน่าจะมี ส.ว.เกิน 84 คนโหวตเห็นชอบให้แก้มาตรา 256 จัดตั้ง ส.ส.ร. ส่วนญัตติที่ให้แก้มาตรา 272 เดิมน่าจะเรียกร้อง ส.ว.ได้จากกระแสสังคม แต่วันนี้พบว่ายังมี ส.ว.ในกลุ่มอนุรักษ์นิยม เลือกจะไม่ปิดสวิตช์ตัวเองเพื่อรักษาอำนาจ

หากประเมินว่า ส.ว.จะฟังท่าทีจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลนี้ก่อนหรือไม่ ต้องถามว่าท่าทีเดิมของรัฐบาลฟังเสียงจากประชาชนหรือไม่ ถ้าผู้มีอำนาจไม่ฟังเสียงของประชาชน สัญญาณที่ส่งไปถึง ส.ว.ก็จะไม่เป็นสัญญาณบวก จึงมีคำถามว่านายกฯจะแสดงความจริงใจเรื่องนี้หรือไม่ เพราะท่าทีของนายกฯจะเป็นปมแรกที่คลี่คลายปัญหาได้ด้วยตัวท่านเอง แล้วจะไปปลดล็อกเรื่องอื่นๆ ดีกว่าปล่อยให้ปัจจัยภายนอกเข้ามากดดัน

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

6ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากดูจากตามคณิตศาสตร์การเมือง ความได้เปรียบยังอยู่ที่ซีกรัฐบาล รวมทั้งความใกล้ชิดระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับ ส.ว.ก็ให้น้ำหนักอยู่ที่ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลที่น่าจะผ่าน หรืออีกสูตร ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง กดดันจากกลุ่มผู้ชมุนม นิสิต นักศึกษา การยืดหยุ่นทางการเมืองอาจจะผ่านทั้งหมดก็ได้ เพื่อลดเงื่อนไขและแรงกดดันจากสังคม แต่จะพิจารณาในวาระ 2-3 ซึ่งวาระสุดท้ายอาจจะตกไปในส่วนของฝ่ายค้านทั้งหมด และผ่านของรัฐบาล

หากเป็นเกมแบบนี้ ถ้าทางรัฐสภา ซีกรัฐบาลและ ส.ว.ให้ความสำคัญกับแรงกดดันจากข้างนอก หากผมเป็นรัฐบาลจะส่งสัญญาณให้ผ่านทุกร่างในวาระ 1 เพื่อลดกระแส เนื่องจากการเรียกร้องของผู้ชุมนุม ยังยืนยันใน 3 ข้อเรียกร้อง ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นหนึ่งในนั้น หากผ่านไปก็จะสามารถประวิงเวลา ยื้อไว้ได้ ในทางการเมืองมองว่าน่าจะออกในรูปนี้

การชุมนุมที่รัฐสภา วันที่ 24 กันยายนนี้ จะมีผลกดดันรัฐสภา ซึ่งทางนิสิต นักศึกษารู้ดีว่า ส.ว.ไม่ร่วมด้วย เขาจึงจำเป็นต้องชุมนุมกดดัน เพื่อให้อย่างน้อยร่างทั้งหมดของฝ่ายค้าน เข้าไปในวาระที่ 1 ด้วย ถ้าซีกรัฐบาล หรือ ส.ว.ประเมินจุดนี้ด้วย ก็จะต้องรับหลักการทุกร่างก่อน

ถ้าร่างของฝ่ายค้านตกไปทั้งหมด แรงกดดันของนิสิต นักศึกษาจะหนักขึ้น และการกดดันเที่ยวนี้จะทะลุเพดาน เพราะสัญญาณมีให้เห็นจากการปราศรัยในเวทีชุมนุม จะเป็นภาวะแรงตึงเครียดหนักขึ้น กดดันสูงขึ้น และการเรียกร้องจะไปไกลกว่าการกดดันในระบบรัฐสภา

ถ้าหากว่ารัฐบาล หรือ ส.ว.สร้างเงื่อนไขตั้งแต่วาระที่ 1 กลัวว่าจะเป็นความขัดแย้งอย่างแน่นอน และกลัวว่ารัฐบาล หรือ ส.ว.จะไปเล่นเกมในวาระ 2 หรือ 3 ถ้ารับหมดทุกร่าง แต่ไปลงมติให้ญัตติฝ่ายค้านตกไปก็จะสร้างเงื่อนไข

ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด กล่าวคือ สัญญาณจากท่าน คือ 1.ท่านปล่อยให้แก้ได้เต็มที่ แต่ต้องเตรียมใจว่าท่านอาจจะไม่ได้กลับมาเป็นนายกฯ รอบที่ 2 หรือท่านแสดงสปิริตด้วยการลาออก แล้วเปิดทางให้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบบ แต่การเป็นนายกฯ ที่มาแทน พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องสัญญากับประชาชนว่าภายในเวลาที่เหลือทำภารกิจหนักอย่างเดียว คือการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ ส.ว.อาจคลายกังวลใจ อาจมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนตัวมองว่าท้ายที่สุด ส.ว.จะเห็นแก่ชาติบ้านเมือง มาร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทุกอย่างก็จะไปได้ เพียงแค่ พล.อ.ประยุทธ์ถอดฝักตัวเองออกจากความขัดแย้งครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image