เหรียญ 2 ด้านแก้ไข‘รัฐธรรมนูญ’ ‘ผ่าน-ไม่ผ่าน’ข้างหน้ายังโจทย์ยาก

หรียญ 2 ด้านแก้ไข‘รัฐธรรมนูญ’ ‘ผ่าน-ไม่ผ่าน’ข้างหน้ายังโจทย์ยาก

เหรียญ 2 ด้านแก้ไข‘รัฐธรรมนูญ’ ‘ผ่าน-ไม่ผ่าน’ข้างหน้ายังโจทย์ยาก

หมายเหตุ เป็นความเห็นของนักวิชาการประเมินสถานการณ์บน 2 แนวทางกับโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นทางการเมือง กรณีญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลวาระแรก หรือกรณีญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกตีตกไปทุกฉบับ

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Advertisement

การแก้ไขวิธีแก้รัฐธรรมนูญในมาตรา 256 มีโอกาสจะผ่านได้มากกว่าญัตติอื่น เพราะเป็นจุดร่วมระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลเพื่อแก้ไขทั้งฉบับ และนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

แต่จะมีจุดที่ต่างกัน หากมีการแก้ไขมาตรา 256 เมื่อมีการตั้ง ส.ส.ร.จะมีเรื่องของจำนวน ที่มาของ ส.ส.ร.กรอบระยะเวลาการทำงานอาจไม่เท่ากันของรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่เชื่อว่าสามารถหารือกันได้ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญได้

กรณีรัฐสภายกมือให้ผ่านเฉพาะร่างที่รัฐบาลเสนอ แน่นอนว่าวาระที่ 3 จะต้องมีเสียงของฝ่ายค้านเข้ามาสนับสนุนอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 อาจเป็นไปได้ว่าฝ่ายค้านจะไม่ยกให้ ดังนั้นโอกาสที่จะแก้ไขมาตรา 256 โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเฉพาะร่างของตัวเองก็คงเป็นไปได้ยาก

หากการแก้ไขสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ก็ต้องไปดูในวาระ 3 เป็นประเด็นที่ต้องจับ เนื่องจากมีความเข้มข้นมากกว่าวาระที่ 1 และ 2 เพราะมีการใช้เสียงโหวตที่ต่างกัน โดยเฉพาะการใช้เสียงของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในวาระแรก แต่ในวาระที่ 3 ต้องใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง คะแนนเสียงผ่านวาระที่ 3 ต้องมี 376 เสียงขึ้นไป และมีเสียงของฝ่ายค้านอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ดังนั้นหากรัฐบาลจะให้ผ่านเฉพาะญัตติของตัวเอง เป็นไปได้ในวาระ 3 ฝ่ายค้านอาจจะไม่โหวตให้ก็เป็นไป ซึ่งทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีปัญหา

ในกรณีหาก 6 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่านทุกฉบับ การชุมนุมใหญ่ในเดือนตุลาคมมีโอกาสเกิดขึ้นได้ และไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษาเท่านั้น แต่จะมีการขยายตัวแนวร่วมไปยังประชาชนส่วนหนึ่ง ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัญหาและควรได้รับการแก้ไข แม้จะไม่ได้อุดมการณ์ที่สอดคล้องกับผู้ชุมนุมกลุ่มเดิมก็ตาม

ณ จุดนี้อย่าลืมว่าวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม เทคโนโลยี และเกิดความต้องการของประชาชนที่จะมีพื้นที่สาธารณะ ต้องการความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่รวดเร็วแก้ปัญหาได้ แต่โครงสร้างการเมืองที่ผ่านมายังไม่เคยเปลี่ยน ทั้งการมีรัฐราชการแบบรวมศูนย์ ปัญหาทางการเมืองที่ไม่เคยปฏิรูปได้จริง โครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความเหลื่อมล้ำ ปัญหาในเชิงสังคม

สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องแก้ไขในเชิงโครงสร้าง ขณะที่รัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่สำคัญที่สุด ถ้าวันนี้ยังไม่มีการตอบสนอง ท้ายที่สุดก็เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “มวลชนาธิปไตย” โดยมวลชนต้องการเข้าสู่อำนาจรัฐเอง เพื่อกำหนดอนาคตหรือชะตากรรมของตัวเอง ดังโอกาสที่เห็นการเมืองในทิศทางนี้ขยายตัวมากขึ้น เพราะพื้นที่ในสภาไม่สามารถตอบสนองได้ กลไกของรัฐสภาอาจขาดความชอบธรรมและเป็นความเสี่ยงที่ทำให้สังคมไทยเข้าสู่ความรุนแรงได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ จากการติดตามสาระสำคัญในการอภิปรายพบว่า มีบรรยากาศแห่งความขัดแย้ง บดบังเนื้อสาระของการแก้ไขมากพอสมควร จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เห็นในการอภิปรายทั้ง 2 ความคิดต่างขั้วอุดมการณ์ขัดแย้งกัน บรรยากาศดังกล่าวสะท้อนภาพให้เห็นว่าความขัดแย้งจากนอกสภาถูกนำไปสะท้อนในสภา หลังจากนั้นความขัดแย้งในสภาก็จะถ่ายทอดกลับออกมานอกสภา ถ้ายังเป็นแบบนี้โอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นไปได้ยาก ประชาชนที่ติดตามก็ไม่ได้เนื้อหาสาระที่ชัดเจน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเขียนกฎหมาย แต่มีความหมายไปถึงการกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของประชาชนในสังคม การเปิดพื้นที่สาธารณะ การมีส่วนร่วม การรับฟังความเห็น การดึงสถานการณ์มวลชนนอกสภาให้กลับมาสู่ระบบ ไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ “มวลชนาธิปไตย” ที่ทำให้ประชาชนออกมาบนท้องถนน เพราะเมืองในระบบในสามารถตอบสนองและแก้ไขปัญหาได้จริง ทำให้การเมืองไทยวนสู่จดเดิมเป็นวังวนแห่งความขัดแย้งเหมือนสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

เรื่องรัฐธรรมนูญในรัฐสภาต้องมอง 2 แบบ ทั้งแรงกระเพื่อมที่มาจากในและนอกสภาควบคู่กันไปด้วย สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยต้องคิด คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้จุดหมายปลายทางก็เพื่อการใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางด้านการเมือง ฉะนั้นแล้วที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญจึงต้องสร้างความชอบธรรมทางด้านการเมือง ในแง่โครงสร้างอำนาจทั้งหมดภายในประเทศ และการก้าวเข้าสู่อำนาจของผู้นำภายในประเทศ รวมถึงการใช้อำนาจต่อไปในอนาคตด้วย

ฉะนั้นแล้วในรัฐสภาหากผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) สัดส่วนจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม เป้าหมายต่อไปในอนาคต ส.ส.ร.จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นต่อไป ความท้าทายจะอยู่ที่ตอนเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพราะตัวรัฐธรรมนูญเอง สิ่งหนึ่งที่พบจากการอภิปรายคือ ณ ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างมีวาระของตัวเอง หรือวาระซ้อนเร้นอะไรบางอย่างอยู่ แต่เมื่อไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภายนอกสภา ตอนนั้นพลังจากภายนอกในลักษณะการประนีประนอมระหว่างมวลชนแต่ละฝ่ายจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือการรับฟังความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ความไม่ลงรอยอีกแง่หนึ่ง ตรงนั้นคือประเด็นท้าทายที่อาจจะไปไกลมากกว่าการพูดถึงในรัฐสภา

ส่วนตัวมองว่า ประเด็นที่อ่อนไหวคือมาตรา 1 และมาตรา 2 หากสามารถหาวาระร่วมกันว่า จะแก้ไขหรือไม่แก้ไขไปพร้อมๆ กันได้ จำนวนเสียงของ ส.ว.ที่จะค้านหรือไม่ค้าน และนำไปสู่การตีความของรัฐธรรมนูญนั้น ขึ้นอยู่กับการสร้างฉันทามติของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ว่า ต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ ดังนั้น จุดหมายปลายทางของการให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ในท้ายที่สุดก็จะเป็นการโยนเผือกร้อน แก้ปัญหาได้ไม่สุดทางมากกว่า

กรณีที่หากไม่ผ่านแม้เพียงญัตติเดียว แน่นอนว่าแรงกระเพื่อมจากภายนอกรัฐสภาที่จะไปกดดันตัวระบบการเมือง รัฐบาล และรัฐสภาจะมีมากขึ้น ตอนนั้นอาจได้เห็นการเคลื่อนไหวของมวลชนบนท้องถนน หรือแม้กระทั่งการทำให้กลไกของรัฐมีอัมพาตมากขึ้น นำมาสู่จุดสุดท้ายคือ การพยายามใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ก็จะเป็นโอกาสดีที่ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตความขัดแย้งได้ การพูดถึงรัฐธรรมนูญและการมีฉันทามติว่าต้องแก้ เป็นโอกาสที่จะหลุดจากบ่วงความขัดแย้งทางด้านการเมืองที่กำลังเจออยู่ในทศวรรษที่ผ่านมา

เวลาเราจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ การวาดภาพอนาคตร่วมกันมีความจำเป็นอย่างมาก หากต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออกทางด้านการเมือง ส่วนตัวมองว่า ภาพหนึ่งที่อาจจะต้องสร้างร่วมกัน มีความฝันร่วมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันดับแรก คือ 1.ทำอย่างไรให้เกิดการกระจายอำนาจกับประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ไม่กระจุกตัวอยู่ในแง่ของการเมืองภายในกรุงเทพฯ หรือการเมืองภายในรัฐสภา

อันดับต่อมา เวลาที่ร่างรัฐธรรมนูญต้องพูดถึงการปรับโครงสร้างกลไกความสมดุลของภาครัฐ กลไกรัฐธรรมนูญจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งมีหลายหน่วยงาน อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านความมั่นคง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ ฉะนั้น ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องใช้โอกาสนี้ปฏิรูปสังคมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะคุยกันง่ายขึ้น

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อถกเถียงว่า จะใช้เวลาในการร่างของพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลแตกต่างกัน กล่าวคือ หมายถึงการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ แล้วยุบสภา เลือกตั้งด้วยหรือไม่ ดังนั้นเวลาบอกว่า ไม่สามารถหาข้อยุติได้ แล้วให้ประชาชนตัดสิน ก็เหมือนกับว่าสูญเสียเวลาเปล่า เลือกตั้งเสร็จ พรรคการเมืองมาหาเสียงว่าจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ สู้มาคุยกันและแก้กันตอนนี้ สังคมไทยจึงจะไม่เสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์

ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะนักวิชาการด้านนิติศาสตร์

ส่วนตัวเห็นด้วยในหลักการการแก้รัฐธรรมนูญ แต่มองว่าควรจะมีการตกผลึกในเรื่องของกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ จะแก้ไขแบบไหน มีอะไรเป็นองค์ประกอบ บางข้อเสนอกลุ่มนักศึกษาเรียกร้องต้องดูว่ามีความเหมาะสมกับปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งไม่ได้ปฏิเสธต้องให้นักศึกษามีส่วนร่วม แต่ต้องมีพื้นฐานจากความเข้าใจมาก่อน โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประเทศชาติ ประชาชน จะได้อะไร เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้งบประมาณมากพอสมควร ดังนั้นต้องคุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไป เพราะฉะนั้นควรจะตกผลึกในขั้นตอนแรกเสียก่อน

จึงมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเดินต่อไปข้างหน้า หากญัตติแก้ไขผ่านการเห็นชอบ ส.ว.แล้ว ก็อาจจะติดอยู่ในกระบวนการแก้ไข จะแก้กันอย่างไร หลังจากนั้น ส.ว.อาจไม่ผ่านให้ก็ได้ เพราะจริงๆ แล้ว ส.ว.บางคนยังไม่เห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้แล้วจะดีจริงหรือไม่ อย่างไร ใครสามารถตอบได้บ้าง เพราะฉะนั้น อาจจะต้องมีการทำข้อมูลในการแก้ไข ส่วนแก้แล้วประเทศชาติจะดีขึ้นอย่างไรหรือไม่ ยังไม่เห็นภาพชัดเจน เพราะจะต้องถูกยึดโยงกับการใช้งบประมาณ จะเกิดความคุ้มค่าและประเทศชาติได้ประโยชน์อย่างแท้จริงอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image