เปิดเวทีสัมมนา‘รับมือหนี้’ ฝ่าความกลัวสู้วิกฤต ศก.

เปิดเวทีสัมมนา‘รับมือหนี้’ ฝ่าความกลัวสู้วิกฤต ศก. หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 25

เปิดเวทีสัมมนา‘รับมือหนี้’ ฝ่าความกลัวสู้วิกฤต ศก.

หมายเหตุ เมื่อวันที่ 25 กันยายน หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจจัดสัมมนา หนี้ โจทย์ใหญ่ประเทศไทยเราจะฝ่าวิกฤตครั้งนี้อย่างไร ในหัวข้อ ทางเลือก ทางรอด ฝ่าวิกฤต “หนี้” โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทางเลือก ทางรอด ประเทศไทย” และนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ปิดเพดานหนี้ฐานราก ปรับโครงสร้างหนี้ประเทศ” ที่ห้องแกรนด์ฮอลล์ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต)

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ขณะนี้คาดว่ากระทรวงการคลังจะมีรัฐมนตรีกระทรวงคนใหม่ภายในเดือนตุลาคมนี้ แต่ยังไม่ทราบชื่อว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ว่าจะเป็นใคร โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้ ในแบบที่มีแนวคิดไปในทางเดียวกันคือ มีแนวทางในการแก้ปัญหาให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้

Advertisement

สำหรับการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ขึ้นส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีความจำเป็นต้องดูแลประชาชนและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การควบคุมเป็นไปได้อย่างดี ซึ่งความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน รัฐบาลได้ใช้ทุกมาตรการที่มี เพื่อเยียวยาสภาพคล่องเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อเยียวยาทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ รวมเป็นเม็ดเงินกว่า 8 แสนล้านบาท อาทิ มาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำและเกษตรกร จำนวน 33 ล้านคน ในวงเงิน 4 แสนล้านบาท รวมถึงเสริมสภาพคล่องจาก พ.ร.ก.สินเชื่อแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 5 แสนล้านบาท โดยได้ปล่อยสินเชื่อออกไปแล้ว 1 แสนกว่าล้านบาท และสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ประมาณ 1 แสนล้านบาท รวมทั้งสิ้น 2 แสนกว่าล้านบาท ขณะเดียวกัน ก็มีการออกมาตรการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าน้ำค่าไฟฟรี จำนวน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการล็อกดาวน์ และเตรียมพร้อมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง

ขณะนี้มียอดหนี้ทั้งหมด 7 ล้านล้านบาท แต่มีผู้เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือหนี้เหล่านี้กว่า 12.8 ล้านคน จำนวนคนที่เหลือจะต้องมาหาทางรอดร่วมกันต่อไป เพราะแม้หากเฉลี่ยแล้วภาระหนี้ต่อหัวของประชากรในประเทศจะไม่ได้มีจำนวนมาก แต่หากประเมินจากจำนวนผู้เกี่ยวข้องถือว่ามีจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ประกอบการจนถึงลูกหนี้ ขณะนี้มีมาตรการช่วยเหลือในการพักหนี้จำนวนมาก แต่ในระยะถัดไปเมื่อหมดการช่วยเหลือแล้ว เป็นห่วงการแก้ปัญหาหนี้จำนวนมากจะน้อยลง แต่เชื่อว่าพอรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จนครบ 6 ระดับแล้ว มองว่าประเทศไทยจะกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง การบริโภคการใช้จ่ายจะดีขึ้น รวมถึงสถานะทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐยังแข็งแกร่ง

Advertisement

วิกฤตเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ไม่เหมือนกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในช่วงปี 2540 และมีความยากในการรับมือที่แตกต่างกัน เนื่องจากในปี 2540 เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศ แต่วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจโลก มองว่าปลายปี 2563 สถานการณ์การระบาดโควิด-19 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยลง รวมถึงมีการค้นพบวัคซีนต้านไวรัสและยารักษา ที่มีการพัฒนามากขึ้น โดยเชื่อว่าในปี 2564 สถานการณ์เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น

แม้จะดูมีทิศทางดีขึ้น แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ จึงต้องสะสมความหวังและความเชื่อ เพราะหากอยู่กับความกลัว ประเทศจะอยู่กับที่ ปัญหาหนี้ก็จะไม่มีวันจบ ทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารพาณิชย์และ ธปท. ต้องสร้างความเชื่อและความหวังให้มีอยู่ โดยในช่วงปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง ใช้เวลากว่า 5 ปี ก่อนเศรษฐกิจจะกลับมาสู่ภาวะปกติ แต่ในวิกฤตโควิด-19 เชื่อว่าจะใช้เวลา 1-2 ปี ประเทศไทยจะกลับสู่ปกติได้ เพราะขณะนี้ ประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ในส่วนของหนี้เอสเอ็มอี ได้พยายามหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศ ให้ช่วยส่งสัญญาณให้สถาบันการเงินเห็น โดยการจ่ายเงินเร็วขึ้น สร้างสภาพคล่องให้กับคนตัวเล็ก เพราะธุรกิจขนาดใหญ่ยังประคับประคองตัวเองไปได้ แต่ธุรกิจขนาดเล็กค่อนข้างทุลักทุเล ต้องเข้าไปช่วยพยุงกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อให้รักษาการจ้างงานได้ โดยอยากให้สถาบันการเงินประเมินว่า ใครควรได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริงก่อน จะต้องปรับโครงสร้างหนี้สีเทาคือ หนี้ของผู้ที่หยุดประกอบการ หรือกระแสเงินสดต่ำกว่ารายจ่าย

ดนุชา พิชยนันท์
รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เรื่องหนี้ เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวของทุกคน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงประเทศไทยเองก็ต้องเดินหน้าผ่านการจัดหาเงินทุน หรือไฟแนนซิ่ง (financing) เช่นกัน โดยจะแบ่งเป็นการพูดถึงหนี้ 3 ด้าน ได้แก่ 1.หนี้สาธารณะคงค้างของประเทศไทย ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ข้อมูลล่าสุดพบว่าหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 47% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 2563 อยู่ที่ 41% ทำให้หลายคนมองว่าหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นมาเยอะมาก แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศที่ไม่ปกติ มองว่าแม้จะเป็นอัตราพุ่งขึ้นมามาก แต่ยังอยู่ในกรอบสามารถบริหารจัดการได้ ตามกรอบอยู่ที่ 60% ของจีดีพี แม้ว่าจะกู้ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แต่สุดท้ายหนี้สาธารณะก็ยังอยู่ที่ 57%

หากเทียบกับต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 109% มาเป็น 131% ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นจาก 237% มาเป็น 252% หรือสหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นจาก 85% มาเป็น 91% จึงถือว่าหนี้สาธารณะไทยยังไม่ได้พุ่งสูงเกินไป ของไทยอยู่ในระดับที่การพุ่งขึ้นไม่สูงมากนัก แต่ประเทศไทยจะต้องพยายามที่ทำงบประมาณเข้าสู่สมดุลให้ได้ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า เนื่องจากไม่สามารถจะจัดงบประมาณแบบขาดดุลเหมือนในปัจจุบัน หรือในช่วงที่ผ่านมาได้

หนี้สาธารณะของประเทศแบ่งมาจาก 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นหนี้กู้มาเพื่อขาดดุลงบประมาณ เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะสังเกตได้ว่าไทยจัดงบประมาณแบบขาดดุลมาโดยตลอด รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ส่วนที่เกินต้องกู้เข้ามาสมทบ ทำให้ในช่วง 10 ปี ประเทศไทยจัดงบประมาณขาดดุลตั้งแต่ 2.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านบาท และขณะนี้ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 5-6 แสนล้าน เป็นการขยายตัวขึ้น ตามขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น

ส่วนที่สอง เป็นหนี้ที่กู้มาลงทุนในโครงการต่างๆ อาทิ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ขนส่งมวลชน ระบบประปา ระบบน้ำ โครงการเหล่านี้แต่ละปีจะใช้เงินอยู่ที่ 3-5 แสนล้านต่อปี ขึ้นอยู่กับโครงการที่อนุมัติ มีมุมมองกับการเป็นหนี้ในลักษณะนี้คือ ไม่ได้มีความกังวลมากนัก เพราะเป็นเงินที่ใช้ลงในโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปในอนาคตได้ ประกอบกับเมื่อผ่านเวลาไปสักพัก เม็ดเงินที่ลงทุนไป จะหมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เพราะต้องการให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกเร็วขึ้น อาทิ รถไฟฟ้าบางสาย โครงการเหล่านี้ทำได้ในบางช่วงเวลา ไม่สามารถทำจำนวนมาก หรือทำได้ตลอดเวลา เพราะจะไปเบียดเบียนฐานะทางการคลังของไทย

ส่วนที่สามคือ หนี้ที่เกิดจากการทำนโยบายแบบกึ่งการคลัง รัฐต้องการทำนโยบาย เพื่อช่วยเหลือประชาชน ต้องให้กลไกธนาคารของรัฐให้ความช่วยเหลือไปก่อน แล้วตั้งงบประมาณให้ภายหลัง หรือการทำโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ในลักษณะการชำระเงินระยะยาว ต้องชำระเงินในอีก 10-20 ปีข้างหน้า

สิ่งที่จะเกิดจากการปรับโครงสร้าง หากต้องการลดการขาดดุลของประเทศ ส่วนหนึ่งที่ต้องเริ่มทำวันนี้คือ การปรับโครงสร้างระบบราชการ ที่มีขนาดใหญ่มาก ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นงบประจำกว่า 80% ขึ้นไป ทั้งที่วันนี้มีเทคโนโลยี และมีเครื่องมือในรูปแบบดิจิทัลเข้ามาดำเนินการได้ ทำให้ในอนาคตจะต้องปรับโครงสร้างภาครัฐให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้มีช่องว่างสำหรับการทำงบประมาณที่จะใช้ในการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยจะลดเรื่องการขาดดุลงบประมาณลงได้ ขณะเดียวกันก็จะจัดเก็บรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

ในช่วงระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ภาครัฐต้องเป็นกลไกที่จะดำเนินการลงทุนในโครงการต่างๆ ไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ ไทยได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามการค้า รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ขับเคลื่อนได้ลำบาก จึงเหลือแต่การลงทุนของภาครัฐเครื่องมือเดียวเท่านั้น การดำเนินการในระยะถัดไป จึงต้องปรับโครงสร้างภาครัฐ เพื่อปรับลดงบดำเนินการ และโครงสร้างหนี้ของประเทศไปในตัว โดยการจัดการหนี้สาธารณะของประเทศไทย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ มีประสิทธิภาพ จึงไม่ได้มีความน่าเป็นกังวลมากนัก เพราะยังบริหารจัดการได้ และจะกู้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

สำหรับหนี้ภาคธุรกิจ พบว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่พุ่งขึ้นมาสูงมาก ขยายตัวเพิ่มเป็น 36.5% เทียบกับช่วงปี 2562 สาเหตุมาจากการผ่อนคลายดอกเบี้ยของมาตรการต่างๆ หากดูเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) พบว่าการขยายตัวลดลงค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าถึงแหล่งเงินลงทุน และศักยภาพของเอสเอ็มอีเอง ที่ยังมีปัญหาต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอยู่บ้าง จึงต้องมีการปรับแก้เงื่อนไขร่วมกันต่อไป

ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 ภาครัฐได้ออกมาตรการไปค่อนข้างมาก อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อผู้มีรายได้ประจำ สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราว วงเงิน 2.5 แสนล้าน นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในวงเงินไม่เกิน5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ขณะนี้ใช้ไปเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น จะต้องมาพิจารณากันต่อว่าควรปรับเงื่อนไขการเงินการคลังอย่างไร

ขณะนี้สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหารือร่วมกันในการปรับปรุงเงื่อนไขให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐเพิ่มขึ้น ต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาในการผ่อนชำระต่างๆ เนื่องจากในช่วงที่มีนโยบายออกมา สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงมากนัก มาตรการช่วยเหลือจึงออกมาในรูปแบบระยะสั้นๆ จึงต้องมาปรับเงื่อนไขกันอีกครั้ง”

ในส่วนของหนี้ครัวเรือน ขณะนี้อยู่ในสัดส่วน 80% ของจีดีพี แบ่งเป็นโครงสร้างหนี้ระยะยาว ประเภทที่อยู่อาศัย ประมาณ 33-34% และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอยู่ที่ 27% ส่วนนี้จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ รัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหามาตรการช่วยเหลือหนี้ส่วนบุคคล ให้อยู่รอดต่อไปได้และลดระดับหนี้ลงมาพร้อมกัน โดยหนี้ครัวเรือน มีอัตราการขยายตัวลดลงตั้งแต่กลางปี 2562 เนื่องจากมีความเข้มข้นขึ้นในการคัดกรอง และมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นหนี้ครัวเรือนขยายตัวลดลงมาเรื่อยๆ แต่น่าสนใจว่าหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้น เริ่มเห็นผู้ที่จบปริญญาตรี อายุ 22-40 ปี ก็เป็นหนี้แล้ว จึงต้องช่วยกันดูว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้สร้างหนี้ที่มีคุณภาพมากขึ้นได้ เพื่อให้มีสภาพคล่องเหลืออยู่ในการดำรงชีวิต หรือไปลงทุนที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนผลกระทบจากหนี้ต่างๆ ไล่ตั้งแต่หนี้ภาครัฐ เมื่อปัญหาหนี้ของประเทศสูงขึ้น อัตราขยายตัวลดลงในภาพร่วม แม้มีเศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อยๆ แต่หากหนี้เกินความสามารถของประเทศจะจัดการได้ ก็จะส่งผลกระทบกับอัตราการเจริญเติบโตของประเทศชะลอตัวหรือลดลง แต่โชคดีของประเทศไทยที่ยังสามารถจัดการได้ ขณะนี้เหลือเพียงให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และทำให้คนสามารถหารายเพิ่มขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญ ต้องช่วยนำพาประเทศที่พ้นวิกฤตไปได้ สิ่งหนึ่งที่ช่วยในการทำให้เรื่องหนี้ของเราไม่ขยายตัวมากขึ้นในอนาคต คงต้องใช้หลักที่เคยได้ยิน และสามารถประยุกต์ใช้ในระบบบุคคลและองค์กรคือ หลักเศรษฐกิจพอเพียง พอประมาณ ไม่มีความต้องการเกินตัวเกินไปมีเหตุผลเพียงพอที่จะใช้จ่ายภาระหนี้ต่างๆ จะดีขึ้น รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย เพราะภาครัฐคงไม่สามารถนำพาทุกภาคส่วนให้พ้นวิกฤตได้ จึงต้องช่วยกันนำพาประเทศพ้นวิกฤตให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image