รายงานหน้า2 : ถอดรหัสสภาซื้อเวลา‘แก้รธน.’ จับตาการชุมนุมเดือนตุลาฯ

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีรัฐสภามีมติเสียงส่วนใหญ่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคฝ่ายค้านมองว่าเป็นการซื้อเวลา และอาจเป็นเงื่อนไขให้การชุมนุมในเดือนตุลาคมยกระดับรุนแรงขึ้นหรือไม่

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านกฎหมายการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

การตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังการประชุมร่วมรัฐสภาก่อนปิดสมัยประชุม ยังไม่สามารถประเมินอนาคตได้ว่ามีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางใด และเชื่อว่าหากมี กมธ.ข้อเสนอและเหตุผลที่ดีก็ควรจะรับร่างตามญัตติที่เสนอ แต่การตั้ง กมธ.อาจจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับ การประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 เพราะเป็นการตั้งจากการใช้เทคนิคของกฎหมายเพื่อถ่วงเวลา แต่ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะเข้าข่ายปลาหมอตายน้ำตื้น เนื่องจากข้อบังคับ ข้อ 121 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ 1 ให้รัฐสภาพิจารณาและลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการ
สำหรับข้อบังคับ ข้อ 121 วรรคสาม บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัยดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ที่ประชุมรัฐสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการก็ได้ ดังนั้น สภาจึงมีแนวโน้มจะต้องรับ เพราะถ้อยคำในวรรคหนึ่งและวรรคสามมีความแตกต่างกัน โดยวรรคหนึ่งใช้ว่า จะรับหลักการหรือไม่รับหลักการ ส่วนวรรคสามใช้ว่า ก่อนรับหลักการ ฉะนั้น การที่รัฐสภาได้ตั้ง กมธ.ขึ้นมาตามวรรคสาม จึงต้องมีมติรับหลักการเท่านั้น ไม่สามารถมีมติเป็นอย่างอื่นได้ หรือหากมีปัญหาก็อาจจะมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
หากร่างญัตติที่เสนอเข้าไปไม่ได้โหวตรับหลักการในสมัยประชุมหน้า ก็จะโหวตรับหลักการในเรื่องเดิมไม่ได้ ต้องรอในสมัยประชุมต่อไปอีกประมาณ 8 เดือน จะก่อปัญหาให้เกิดชนวนความขัดแย้ง เพราะร่างที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชนแสนกว่าชื่อโดยกลุ่มไอลอว์ ก็จะเสนอไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่มีข้อยกเว้น
การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กลไกของสภาถือว่ามีความหวังและเป็นที่พึ่งของประชาชน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่เมื่อสภาไม่ได้เป็นทางออกอย่างแท้จริง ประชาชนก็ต้องไปลงถนน ก่อนหน้านี้ได้เสนอให้ ส.ส.ฝ่ายค้านกว่า 200 คน ตัดสินใจลาออก เพื่อทำให้สภาไม่มีฝ่ายค้าน ความชอบธรรมของรัฐบาลก็ไม่เกิดขึ้น ความมั่นใจของนักลงทุนก็คงหมดไป แต่ผลจากรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ทำให้นักลงทุนขนาดใหญ่หลายรายได้ย้ายฐานไปประเทศอื่นนานแล้ว
สำหรับการชุมนุมที่จะเกิดขึ้น จะมีมวลชนเข้าร่วมที่เป็นธรรมชาติ แตกต่างกับจากม็อบในอดีต เพราะไม่มีแกนนำชัดเจน และมีมวลชนที่มีความหลากหลาย มีผู้ปราศรัยบางรายเคยประกาศว่าจะปักหลัก 7 วัน 7 คืน ก็ทำให้มีความเห็นต่างทั้งกลุ่มสนับสนุนและคัดค้าน แต่ในสถานการณ์การเมืองไทย การมีม็อบยืดเยื้อยาวนานหรือมีคนมาร่วมเป็นแสนคนก็ไม่ทำให้รัฐบาลล้ม แต่รัฐบาลในอดีตมีปัญหาจากศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนเงื่อนไขสำคัญหากมีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ถือเป็นสัญญาณอันตราย ขณะที่มวลชนที่เห็นต่างทางการเมืองไม่เคยปะทะกันเอง
ในสถานการณ์ล่าสุดมีการประเมินว่าการยอมรับในตัวนายกรัฐมนตรีเหลือน้อยลง เหมือนเป็นมะม่วงเน่าหลุดจากขั้ว แต่ยังค้างอยู่บนกิ่งไม้ ทางออกที่ดีสุด เพื่อไม่ให้บานปลายก็ต้องยุบสภาหรือลาออก ทั้งที่การรับหลักการวาระแรกเพื่อตั้ง ส.ส.ร.สามารถทำได้ แต่ไม่เลือกแนวทางนี้ เพราะยังมีเวลาในการพิจารณาร่างใหม่ตามขั้นตอนอีกนานพอสมควร เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ แต่การตั้ง กมธ.ศึกษาอีก 30 วัน ถือเป็นการท้าทาย เพราะอาจจะมีข้อมูลจากคนรอบข้างประเมินผิดพลาด มักจะมองว่าการชุมนุมมีเบื้องหลังไม่ต่างจากในอดีต แต่ไม่ได้มองว่าประชาชนไม่พอใจ จากการออกแบบโครงสร้างของกฎหมายหลัก เพื่อการสืบทอดอำนาจ

 

Advertisement

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

ความขัดแย้งในสถานการณ์การเมืองยังมีทางออกเสมอ รัฐบาลควรปรึกษากับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. จากนั้นขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเสนอญัตติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา เพื่อช่วยผ่อนคลาย เพราะเชื่อได้ว่าญัตตินี้จะผ่านความเห็นชอบ จากนั้นนักกฎหมายควรออกมาแสดงจุดยืนทำให้เกิดความชัดเจน กรณีมีข้อมูลว่าร่างที่เสนอโดยประชาชนเข้าชื่อได้ตกไปแล้ว แต่บอกให้ชัดว่ายังมีช่องทางนี้เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาได้
ขอเรียกร้องให้บุคคลใดก็ตามที่พูดจาหยาบคายหรือจาบจ้วงในขณะที่มีอารมณ์โกรธ เมื่อมีสติแล้วพบว่าการใช้วาทกรรมที่เหมาะสมก็น่าจะโพสต์ข้อความในเชิงขอโทษ สังคมก็เข้าใจลดความขัดแย้งลงได้บ้าง สำหรับฝ่ายผู้นัดชุมนุมที่มีแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กับสายที่ชื่อว่าประชาชนหรือนักศึกษาปลดแอก ต้องถามว่าหากมีการจัดชุมนุมใหญ่แกนนำมวลชนทั้ง 2 สายมีอะไรเป็นข้อเรียกร้องหลัก สามารถประนอมข้อเรียกร้องเฉพาะเรื่องการไขรัฐธรรมนูญให้ตรงกันได้หรือไม่ หรือมีพ่วงข้อเรียกร้องให้ยุบสภา หรือการหยุดคุกคามประชาชน
เพื่อให้ประชาชนที่จะเข้าร่วมมีโอกาสตัดสินใจจากข้อเรียกร้องหลักที่มีเอกภาพ เพราะการชุมนุมต้องเกิดขึ้นแน่นอน ยกเว้นว่าอาจมีเรื่องไม่คาดฝัน ที่สำคัญการชุมนุมจะต้องสงบและปราศจากอาวุธ หากบุคคลใดทำผิดกฎหมายก็ดำเนินการไปตามหลักฐาน เพราะก่อนการนัดชุมนุมใหญ่ก็จะมีแฟลชม็อบกระจายไปทั่วประเทศ
สำหรับข้อเสนอที่น่าจะเป็นประโยชน์หลังมีการตั้ง กมธ.ไปศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้ กมธ.ทำความกระจ่างให้เหตุผลว่ากลัวอะไรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอเหตุผลที่ชัดเจน เพื่อให้ฝ่ายที่ขอแก้ไขให้หลักประกันว่า สิ่งที่กลัวจะไม่เกิดขึ้น เพราะผู้ที่กลัวส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอำนาจในมือ ทั้งที่บุคคลกลุ่มนี้น่าจะเป็นฝ่ายที่กลุ่มบุคคลอื่นจะต้องเกรงกลัวมากกว่า แต่เชื่อว่าผู้มีอำนาจคงกลัวอะไรบางอย่าง และเมื่อจับประเด็นความกลัวของ ส.ว.จำนวนมาก หรือความกลัวของรัฐบาลได้แล้วอย่างเปิดเผย โดยมีเหตุผลที่ชัดเจน โจทย์ก็จะย้ายข้างมาที่ ส.ส.หรือประชาชนที่ต้องการแก้ไข จากนั้นควรเปิดเวทีหารือ เพื่อเปิดใจกันอย่างสุภาพชน ใช้เหตุผลและหลักการพูดคุย เพื่อหาทางออกอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้มีเป้าหมายพาประเทศเดินหน้าไปได้

 

Advertisement

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง

การตั้ง กมธ.เพื่อศึกษาอีก 30 วัน ถือเป็นการท้าทาย ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แม้แต่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยังยอมรับว่าถูกหลอก ขณะที่เดิมประเมินว่าสภาจะซื้อเวลารับหลักการไว้ก่อนในวาระแรก จากนั้นนำไปพิจารณาถึงวาระ 3 แล้วจึงตัดสินใจเด็ดขาดเพื่อคว่ำร่าง หรืออาจจะรับหลักการแล้วนำไปอภิปรายในสมัยประชุมหน้า แต่ทำไม่ได้ จึงกล้าที่จะหักดิบ ผู้ที่คิดหลักการใช้ข้อบังคับตั้ง กมธ.ได้วางหมากไว้หลายชั้น อย่างน้อยก็ขัดขวางร่างของกลุ่ม
ไอลอว์ ไม่ให้เสนอเข้าสู่สภาในการประชุมสมัยหน้า
เพราะฉะนั้นแนวทางนี้จึงไม่ได้มีเจตนาดึงฟืนออกจากกองไฟ แต่ยังมีน้ำมันราดลงไปเพิ่มให้เป็นของแถม เพราะที่ผ่านมารัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าการชุมนุมที่ผ่านมา มีการนำเสนอบางประเด็นที่พาดพิง อาจทำให้การชุมนุมมีมวลชนเข้าร่วมน้อยลง และหากมีการชุมนุม จะไม่มีการใช้กำลังจึงไม่ห่วงปัญหาบานปลาย แต่ในความเป็นจริงอาจจะเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมาย
เนื่องจากประชาชนไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ศึกษาซ้ำซ้อน ใครก็มองออกว่าเป็นการยื้อและมีผลกระทบกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลโดยตรง ทำให้ถูกมองว่าขาดความชอบธรรม เพราะเดิมสภาได้ตั้ง กมธ.โดยใช้เวลาหลายเดือนศึกษาแนวทางไว้แล้ว แต่ยังมีข้ออ้างว่าครั้งก่อนไม่มี ส.ว.เข้าร่วม
ทั้งที่รายงานของ กมธ.ฉบับที่เสนอต่อสภามีความเห็นของ ส.ว.บางราย และเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีคงยากที่จะทำตัวเหมือนลอยอยู่เหนือปัญหา แม้ว่าวันที่มีการอภิปรายของรัฐสภานายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปราชการที่ จ.เชียงราย แล้วทำเหมือนไม่รู้เห็นอะไร แต่ประชาชนอาจจะมองว่าท่านเป็นหัวหน้าของ ส.ว.และเชื่อว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ จะต้องเอียงหูฟังท่าทีของนายกรัฐมนตรีว่าจะกดรีโมตในทิศทางใด ส่วนปลายทางของการแก้ไขมองไม่ยาก เพราะรัฐบาลยังได้เปรียบจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และไม่ต้องห่วงว่าพรรคภูมิใจไทยหรือประชาธิปัตย์จะชิงถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล
ดังนั้น ท้ายที่สุด ส.ว.จึงมีความเชื่อว่าจะต้องมีการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างมาก่อน ถ้าไม่ส่งสัญญาณการแก้ไขก็ไม่เกิดขึ้น ความขัดแย้งก็ไม่จบ หรือแม้กระทั่งระหว่างแก้ไข ก็ยังสกัดกั้นการชุมนุมของมวลชนที่มีเป้าหมายในการกดดันให้ไปในทิศทางที่ต้องการไม่ได้ และหากยังยื้อให้การแก้ไขยาวนานออกไป มวลชนจะแข็งแกร่งและมีกำลังมากขึ้น โดยเฉพาะวันที่ 14 ตุลาคม จะเป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ของบุคคลในอดีตหลายกลุ่มจะมาร่วมชุมนุมนอกเหนือจากแฟลชม็อบกลุ่มเดิม
แต่รัฐบาลก็ยังจะดูแค่ท่อน้ำเลี้ยงของผู้ชุมนุม หรือจะมีใครแอบอยู่เบื้องหลัง เพราะประเมินว่ากลุ่มนักศึกษาแกนนำหลัก คงไม่มีทุนหรือศักยภาพเพียงพอในการทำมวลชนที่ยืดเยื้อ ถ้าไม่มีแรงหนุน หรืออาจจะมองว่าเป็นแค่ม็อบรับจ้าง และต้องยอมรับว่าการทำมวลชนที่ไม่มีแกนนำ อาจมีปัญหาในการขับเคลื่อนและข้อเรียกร้องที่มีเอกภาพ แต่การชุมนุมครั้งก่อนมีการทดสอบพักหลักปักค้าง 1 คืน แต่ครั้งต่อไปก็อาจอยู่ยาว 3 วันหรือไม่ และน่าสนใจการวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนมวลชน อาจทำให้หน่วยงานภาครัฐประเมินผิดพลาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image