นานาทรรศนะ แก้‘รธน.-ม็อบ’ รบ.จริงใจ-รัฐสภาคือทางออก

นานาทรรศนะ แก้‘รธน.-ม็อบ’ รบ.จริงใจ-รัฐสภาคือทางออก

หมายเหตุมุมมองและข้อเสนอแนะนักวิชาการถึงทางออกของประเทศเพื่อลดความขัดแย้งจากปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

Advertisement

แนวโน้มการขยายตัวชุมนุมทางการเมืองช่วงเดือนตุลาคมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และนักประชาธิปไตยจะเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ แต่กระจายไปทั่วประเทศ ดังนั้น ผู้มีอำนาจต้องมีสติ ปัญญา พร้อมรับฟังเสียงและข้อเรียกร้องดังกล่าว เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่นักศึกษาและนักเรียนมีบทบาทมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารของรัฐบาลภายใต้การควบคุมของ คสช.ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ ถือเป็นปรากฏการณ์ในรอบหลายสิบปี ที่ไม่เคยมีการเคลื่อนไหวดังกล่าวนานมากแล้ว

ส่วนตัวมองว่าเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่ขยายวงกว้างไปสู่สังคมอย่างกว้างขวาง ดังนั้น ข้อกล่าวหาของฝ่ายตรงข้ามที่ว่ามีเบื้องหลัง มีคนว่าจ้าง หรือมีท่อน้ำเลี้ยง จึงไม่มีน้ำหนักมากนัก หากมีผู้สนับสนุนถือเป็นสิทธิส่วนตัว ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งที่มีบทบาทชี้นำ ซึ่งแนวโน้มการชุมนุมขยายตัวไปสู่ภาคธุรกิจเอกชน ภาคสังคมมากขึ้น

โดยเฉพาะภาคแรงงานอาจนำไปสู่การประท้วงหยุดงานได้เนื่องจากไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหาและเยียวยาได้อย่างทั่วถึง ส่งผลกระทบต่อภาครัฐ ทำให้รัฐบาลเป็นง่อยและการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้ายากขึ้น

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน และเครือข่ายที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการต้องตระหนักถึงสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ ไม่ใช่บอกว่าขออยู่ต่อเพื่อรักษาอำนาจตนเองและพวกพ้อง หรือใช้กฎหมาย และองค์กรอิสระเป็นเครื่องมือเล่นงานผู้เห็นต่างเพื่อสกัดการเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่วนตัวมองว่าวิธีการดังกล่าวใช้ไม่ได้ผล เพราะคนในสังคมส่วนใหญ่รับรู้ความจริง หากกลุ่มคนดังกล่าวไม่ปรับตัว หรือเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยอาจทำให้สังคมไทยก้าวไปสู่หายนะได้

หากชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจ และเครือข่ายยังยึดติดแบบอำนาจนิยม หรือเผด็จการ ที่ไม่ตอบสนองประชาชนส่วนใหญ่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้เพราะประชาชนไม่ทนอีกแล้ว ซึ่งเลยจุดเปิดรับฟังความคิดเห็นนักศึกษาและประชาชนแล้ว เพราะเป็นเวทีกำมะลอ ไม่มีผลในทางปฏิบัติใดๆ ดังนั้น การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกจึงไม่ใช่คำตอบ

แต่คำตอบสุดท้ายคือ การยอมรับความเห็นต่างเพื่อนำไปสู่การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของกลุ่มดังกล่าวอย่างสงบและสันติวิธี ไม่นำไปสู่ความรุนแรงใดๆ ถือเป็นทางออกประเทศที่ดีที่สุด

ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ท่ามกลางความร้อนแรงของสถานการณ์การชุมนุมและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ ทำให้เดือนตุลาคมเป็นเดือนที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากนัยหนึ่งห้วงเวลาดังกล่าวมีความสำคัญในหมุดหมายทางประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ที่รำลึกถึงกระบวนการประชาธิปไตย

อีกนัยหนึ่งนับแต่ปลายเดือนกันยายนยังเป็นห้วงเวลาที่พรรคการเมืองหลายพรรคทยอยส่งสัญญาณและทิศทางใหม่เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเชื่อว่าความชัดเจนหลายประการจะยิ่งเด่นชัดในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป

จากสถานการณ์ดังกล่าวส่วนตัวมองว่า การเมืองไทยจะเข้าสู่วงเวียนที่ซับซ้อนขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากคู่ขัดแย้งอาจไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุมกับรัฐบาลเป็นหลักอีกต่อไป แต่จะเข้าสู่สถานการณ์ของการเมืองหลายขั้วที่แม้แต่กระทั่งในกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเองอาจมีข้อเห็นต่างตามแนวทางของพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุน ด้วยเหตุนี้อาจทำให้ประเด็นในการเรียกร้องขาดเสถียรภาพและแนวทางของกลุ่มผู้ชุมนุมอาจไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐเข้ามาแทรกแซงและสร้างความชอบธรรมในการรักษาความสงบโดยง่าย แต่หากกลุ่มผู้ชุมนุมผสานความแตกต่างทางความคิด หรือชูความแตกต่างหลากหลายให้เป็นอัตลักษณ์ร่วมของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

โดยกำหนดประเด็นร่วมให้หนักแน่นและมีพลังเพียงพอที่จะทำให้ข้อเรียกร้องปลีกย่อยไม่ทำลายกระบวนหลัก ก็อาจจะทำให้ทั้งรัฐบาลหรือแม้แต่พรรคการเมืองที่พยายามสร้างเงื่อนไขที่ขัดกับความรู้สึกของประชาชนต้องกลับมาทบทวนท่าทีของตนอีกครั้ง

ส่วนตัวยังเชื่อว่า ความรุนแรงของการชุมนุมในเดือนตุลาคมจะยังเป็นในแง่ของประเด็นทางการเมืองที่เข้มข้นเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นการรวบรวมและสะสมข้อเรียกร้องจากตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยุทธศาสตร์ของกลุ่มผู้ชุมนุมเองคงจะได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ในอดีต จึงไม่เน้นให้เกิดการปะทะ หรือการนำมวลชนไปสู่อันตราย

ในขณะที่รัฐบาลเองก็เลือกที่จะตั้งรับโดยควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายมากกว่าจะใช้กำลังตอบโต้ เนื่องจากประเมินผลกระทบแล้วว่าความเสียหายจะไม่ใช่เกิดแต่ภาคการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

หากมองถึงท่าทีและทางออกของรัฐบาล ส่วนตัวอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างกฎหมายสูงสุดที่เป็นธรรมและเท่าเทียมสำหรับทุกคนในประเทศอย่างจริงใจ หรือถ้ารัฐบาลไม่คิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรที่จะสร้างความชอบธรรมทางการเมืองเพื่อการอยู่ต่อในตำแหน่งของตนเองให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดการยอมรับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ความเดือดร้อนของภาคประชาชน และการจัดการกับการทุจริต หากทำได้จะเป็นการเพิ่มแรงสนับสนุนให้กับฝั่งรัฐบาลมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ทวิสันต์ โลณานุรักษ์
นักวิชาการอิสระ จังหวัดนครราชสีมา

ภายหลังจากที่ม็อบเยาวชนปลดแอกประกาศรวมตัวชุมนุมใหญ่อีกครั้งในเดือนตุลาคม 2563 โดยระบุว่าจะเป็นการชุมนุมยืดเยื้อม้วนเดียวจบ ผมมองว่าทางออกของปัญหาขณะนี้อยู่ที่ว่าใครเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร

ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่รู้ชัดเจนเลยว่าใครคือคู่ขัดแย้ง เพราะมีหลายกลุ่มมาก แต่ที่แน่ๆ การที่รัฐบาลดึงเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปอีก 1 เดือนนั้น ย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจของม็อบเป็นอย่างมาก

ถึงอย่างไรก็ตาม ผมก็เชื่อว่าการชุมนุมใหญ่ในเดือนตุลาคมนี้จะไม่ยืดเยื้อนัก เพราะขณะนี้มีกระแสการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองหลายคนเชื่อว่าจะมีการพูดคุยกันของคนที่มีอำนาจอย่างแท้จริง 2 ฝ่ายบ้างแล้ว

จึงทำให้พรรคเพื่อไทยมีการเคลื่อนไหวด้วยการปรับโครงสร้างใหม่ภายในพรรคครั้งใหญ่ เราอาจจะได้เห็นพรรคใหญ่ฝ่ายค้านกับพรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาลรวมตัวจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาก็เป็นได้

ซึ่งม็อบทุกม็อบล้วนแต่ยึดโยงกับผู้มีอำนาจทางการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อผู้มีอำนาจในความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันได้ ย่อมมีทางออกให้ม็อบพอใจได้ในที่สุด หากเป็นเช่นนี้ก็เชื่อว่าม็อบจะไม่ยืดเยื้อแน่นอน

เมธา มาสขาว
เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

รัฐสภาเป็นคำตอบเดียวที่เป็นเงื่อนไขในการแก้รัฐธรรมนูญและหาทางออกจากทางตันได้ การเมืองไทยจะได้ไปต่อ ไม่จมปลักกับความขัดแย้งและการรัฐประหารที่เป็นวงจรอุบาทว์อีกต่อไป
ส.ว.ย่อมรู้ดีและต้องตระหนักว่า ผลพวงจากความขัดแย้งที่สะสมมาจากการที่ ส.ว.ยกมือเลือกนายกรัฐมนตรี

แม้ว่าจะไม่ได้มีที่มาจากประชาชนในวันนั้น และสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากในขณะนั้นสามารถมีสมการอื่นได้ ถ้าไม่มี ส.ว.เป็นตัวแปรเปลี่ยนเจตนารมณ์ประชาชนในระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เราคงได้นายกรัฐมนตรีที่ดีจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง

ส่วนตัวผิดหวังกับการทำหน้าที่ของระบบรัฐสภาไทยที่ไม่สามารถหาทางออกให้ชาติบ้านเมืองได้ ผ่านการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การเตะถ่วงเวลาออกไปอีก 1 เดือน เพื่อตั้งกรรมาธิการศึกษาเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะรัฐบาลเคยตั้งกรรมาธิการศึกษามาแล้ว โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน และผิดธรรมเนียมปฏิบัติของสภาที่ควรต้องรับหลักการในวาระที่ 1 ไปก่อน การอ้าง ส.ว.ไม่เห็นด้วยจึงเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ และหลอกลวงพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

เกรงว่าเดือนตุลาคมนี้จะนำไปสู่การลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชนที่ทนไม่ไหวกับการกระทำของรัฐบาลที่ไร้ความจริงใจ แม้แต่ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลเองยังถูกแช่แข็ง และวุฒิสภายังไม่ทราบว่าตนเองเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง แต่หลงในอำนาจที่ได้มาโดยมิชอบจนยึดติด โดยไม่กลัวลูกหลานประณามในอนาคตบ้างเลย

ทางออกจากความขัดแย้งทางการเมือง คือพรรคพลังประชารัฐจะต้องไม่ยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ส.ว.ต้องพิจารณาตัวเอง เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองเลยนอกจากโหวตรับใช้ผู้มีอำนาจจนกลายเป็นเผด็จการรัฐสภา

อยากเรียกร้ององคาพยพที่สนับสนุนรัฐบาลอยู่รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล ได้ถอยห่างออกจากนาวาที่กำลังจม ได้เวลาสละเรือแล้วมาร่วมกันแก้สร้างประชาธิปไตยทางการเมืองและเศรษฐกิจร่วมกันใหม่

ซึ่งกำลังจะล่มสลายเช่นกันจากการผูกขาดของกลุ่มทุนที่แอบอิงอำนาจฉวยโอกาสตักตวงผลประโยชน์จากโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ

รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ทางออกของปัญหาของประเทศต้องมาดูว่าคือปัญหาเศรษฐกิจ หรือการเมือง สำหรับปัญหาเศรษฐกิจในที่นี้คือเรื่องของปากท้อง จะต้องจัดการให้ได้ การที่ประเทศไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมา 2-3 สัปดาห์แล้ว นี่คือปัญหา แล้วจะไปอย่างไรต่อ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือทิศทางของการแก้ไขเศรษฐกิจ นี่คือเรื่องแรก อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร คือเรื่องของรัฐบาล

ในอีกมุมหนึ่งคือปัญหาทางด้านการเมืองที่เราเห็น ต้องย้อนกลับไปว่า ทุกคนต้องยอมรับว่าปัญหาของมันคือกติกาที่มีอยู่ ซึ่งในที่นี้คือรัฐธรรมนูญ มีคนมองว่ากติกานี้ไม่ได้นำไปสู่เกมการเมืองที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน หรือมีหนทางทางการเมืองที่เป็นบวกกับประเทศ

ดังนั้น ทางออกของประเทศคืออาจต้องกลับมามองว่าโจทย์ของการแก้ปัญหาทางการเมืองคืออะไร ก่อนที่จะไปดูว่ากติกาควรจะเป็นอย่างไร

รัฐธรรมนูญคือการที่บอกว่ามีปัญหาอะไร และเราอยากแก้อะไร ดังนั้น ต้องให้ทุกคนมามองในจุดเดียวกันก่อนว่าปัญหาที่เกิดกับประเทศเป็นเรื่องเดียวกัน การแก้ปัญหาจะได้ออกมาในจุดที่ทุกคนเห็นด้วย

ถ้าคนไม่ได้มองเห็นในจุดเดียวกัน เหมือนเราไม่ตกลงกันว่า บ้านควรมีกี่ชั้น คนกลุ่มที่อยากให้บ้านมีชั้นเดียวไม่ได้มามีส่วนร่วมกับกลุ่มที่อยากให้บ้านมี 2 ชั้น ถึงจะสร้างบ้านเสร็จ ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้อยู่ดี

กับคำถามที่ว่า ท่าทีของรัฐซึ่งถูกวิจารณ์ว่าไม่แยแสข้อเรียกร้องของประชาชนหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่า โดยพื้นฐานแล้วรัฐจะอยู่ได้ด้วยแรงสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งรัฐจะต้องรับสัญญาณจากประชาชนว่าจะยังสนับสนุนอยู่หรือไม่

การที่ผู้ชุมนุมออกมาแล้วรัฐยังไม่ตอบสนอง อาจมองว่าผู้มาชุมนุมอาจไม่ใช่กลุ่มก้อนมากพอที่จะเป็นตัวแทนของคนของประเทศที่บอกว่าถึงจุดที่รัฐจะต้องมีปฏิกิริยาแล้ว

ส่วนเดือนตุลาคมที่มีผู้มองว่าอาจเกิดชุมนุมใหญ่ที่มีความเข้มข้นนั้น การชุมนุมหรือการประท้วงก็คือการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบหนึ่ง

การที่คนบอกว่าการมีผู้ชุมนุมออกมาแล้วจะนำไปสู่อะไร บางคนบอกว่า จะนำไปสู่ความรุนแรงหรือเปล่า ส่วนตัวคิดว่า ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่ายคือ ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายรัฐ การตอบสนองของรัฐกับผู้ชุมนุมไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเสมอ ผู้ชุมนุมก็สามารถทำแบบสันติวิธีได้ การออกมารวมตัวกันเพื่อแสดงความคิดเห็นในขณะนั้นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อการทำงานของรัฐบาล คือสิ่งที่ทำได้

เพียงแต่ทางรัฐและผู้ชุมนุมเองต้องรู้ว่าขอบเขตของสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุมและการดูแลความสงบเรียบร้อยของรัฐอยู่ที่ไหน

ดังนั้น การมองว่าความรุนแรงต้องเกิดขึ้น หรือมองในแง่ลบ อาจเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image