ม็อบ-รธน.-ศก. ปัญหาเบิ้มๆ รุมเร้า บีบรัด‘บิ๊กตู่’

ม็อบ-รธน.-ศก. ปัญหาเบิ้มๆ รุมเร้า บีบรัด‘บิ๊กตู่’ ยืนยันแล้วว่าวันที่ 14 ตุลาคม

ม็อบ-รธน.-ศก. ปัญหาเบิ้มๆ รุมเร้า บีบรัด‘บิ๊กตู่’

ยืนยันแล้วว่าวันที่ 14 ตุลาคม จะมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้ง
น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ นายอานนท์ นำภา นายกรกช แสงเย็นพันธ์ หรือปอ นายลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก และ นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ด ตัวแทนกลุ่มการชุมนุมในนามคณะราษฎร 2563 ได้ตั้งโต๊ะแถลง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม
วัตถุประสงค์การชุมนุมยังคงเป็นการขับไล่เผด็จการ มีการเชิญชวนให้หยุดเรียน หยุดงาน และไปรวมตัวกันที่ร้านแมคโดนัลด์ ถนนราชดำเนิน เวลา 14.00 น. ก่อนทวงคืนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
กิจกรรมในวันนั้น นายอานนท์บอกว่าจะยกต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคืน กทม.ทั้งหมด จากนั้นปักหลักค้างคืน
ยุทธวิธีการที่ใช้คือ “กินข้าวทีละคำ”
จำนวนคนที่คาดว่าจะมาร่วม คือ ไม่น้อยกว่าวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา

ด้านฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า จำนวนผู้เข้ามาร่วมชุมนุมอาจจะมีมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยพายุฝน แต่เชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านไปอย่างเรียบร้อย
คาดว่าความเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนมีจำนวนแน่นอน และแม้จะมีข่าวระบุว่าการชุมนุมอาจจะยืดเยื้อ แต่ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าไม่น่าเป็นไปได้
เชื่อว่ากลุ่มเยาวชนจะชุมนุมแบบ “กินข้าวทีละคำ” ค่อยๆ เพิ่มจำนวนของผู้ชุมนุม
แม้จะมีกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช.เดิมเข้ามาเสริม แต่ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา เจ้าภาพดำเนินการคือกลุ่มเยาวชนนักเรียนนิสิตนักศึกษา หากไม่มีการจัดตั้งหรือระดมคนเสื้อแดง
คาดว่าเจ้าหน้าที่น่าจะรับสถานการณ์เอาไว้ได้

แม้การชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม น่าจะผ่านพ้นไปด้วยดีเหมือนกับการชุมนุมครั้งที่ผ่านๆ มา แต่ต้องรอฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการศึกษาหลักการญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้น
หลังจากที่คณะกรรมาธิการประชุม และมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการกระทั่งตั้งประเด็นการศึกษา พบว่าทุกประเด็นสามารถเป็นเงื่อนทั้ง “ยืดระยะเวลา” หรือ “ล้มญัตติ” ได้ทั้งสิ้น
ประเด็นที่กรรมาธิการตั้งไว้มี 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 256 ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 หรือไม่
2.การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องออกเสียงประชามติก่อนหรือไม่ ต้องออกเสียงประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง
ต้องมีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่ ใช้กฎหมายปัจจุบันได้หรือไม่
3.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราของฝ่ายค้านขัดกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ให้มีการตั้งส.ส.ร.หรือไม่ 4.ส.ส.สามารถลงรายชื่อในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมากกว่าหนึ่งญัตติได้หรือไม่
และ 5.หากมีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และรัฐสภาไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร.สามารถแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่รัฐสภาไม่รับหลักการได้หรือไม่ อย่างไร
น่าสังเกตว่า ข้อสงสัยดังกล่าวสามารถพิจารณาผ่าน หรือส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
คือเปิดเกมให้สามารถเล่นได้หลายทาง
เห็นด้วยก็ได้ ไม่เห็นด้วยก็ได้ หรือจะถ่วงเวลาก็ทำได้

แม้ว่าผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการจะออกมาในทางสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
หนึ่ง คือ เห็นว่าญัตติดังกล่าว ไม่ขัดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
หนึ่ง คือ เห็นว่าควรจะมีการทำประชามติ
แต่ดูเหมือนว่า ท่าทีของ ส.ว.ยังคงต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรามากกว่าให้เลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ขณะที่ฝ่ายค้านเห็นว่า การเสนอแก้ไขรายมาตรา จะกลายเป็นการแก้ไขเพื่อเสริมอำนาจให้รัฐบาลมากขึ้น เพราะเสียงของรัฐบาลกับเสียงของ ส.ว. ได้เปรียบฝ่ายค้าน
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล แม้จะไม่แสดงเจตนาชัด แต่ทุกฝ่ายเดาว่าถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลก็ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
หรือถ้าแก้ไขก็ขอแก้ไขเป็นรายมาตรา
หรือถ้าต้องยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ขอให้ช้าที่สุด
การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เดิมเหมือนกับว่าจะผ่านฉลุย เมื่อลงมือปฏิบัติ จึงเห็นหนทางอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น
อนาคตของการแก้รัฐธรรมนูญนี้ย่อมผูกโยงกับการเมืองนอกรัฐสภา
และผูกโยงกับเสถียรภาพของรัฐบาล

Advertisement

สําหรับรัฐบาล สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าม็อบและการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ ปัญหาเศรษฐกิจ
ปัญหาเศรษฐกิจเดิมที่กระทบชาวบ้านในหมู่บ้านชุมชนและคนชนชั้นกลาง
ขณะนี้ปัญหาลุกลามกระทบต่อภาคเอกชน
คำให้สัมภาษณ์พิเศษของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นสัญญาณที่รัฐบาลน่าจะรู้สึกได้
นายธนินท์ระบุว่า ปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจประเทศ คือ “รายได้น้อยกว่ารายจ่าย”
นายธนินท์เสนอแนะแนวทางการแก้ไข โดยเพิ่มรายได้จากต่างประเทศเข้ามาด้วยวิถีทางต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การลงทุน เป็นต้น
และเสนอทางออกให้แก่ภาคเอกชนที่กำลังประสบภัยเศรษฐกิจ ด้วยการให้รัฐบาลออกพันธบัตรระยะเวลา 30 ปี จำนวน 10 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ย 0.5% เพื่อให้ธุรกิจที่มีประวัติชำระหนี้ดีมาตลอดอยู่รอด
พร้อมทั้งผลักดันให้รัฐบาลตัดสินใจเร็ว เหมือนกับที่ตัดสินใจระงับการระบาดของโรคโควิด-19
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ตอกย้ำว่าปัญหาเศรษฐกิจนั้นใหญ่มาก

ปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รู้ดีที่สุด
ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ ในระยะหลังสะท้อนให้เห็นว่ามีความห่วงใย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าพบกลุ่มธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขอแรงจากเศรษฐีไทยในการสนับสนุน
รวมทั้งคำให้สัมภาษณ์ที่ต้องการให้ธนาคารช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ให้ประชาชน
ทุกอย่างบ่งบอกถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาเศรษฐกิจนี้ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ โอกาสจะลุกลามใหญ่โตบานปลายย่อมมีอยู่
หากปัญหาลุกลามออกไปจนวิกฤตสุดเยียวยา
ไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้นที่อยู่ไม่ได้ คนทั้งประเทศก็คงยากที่อยู่เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image