แฟลชสปีช : นิพนธ์ บุญญามณี ‘ทุจริต’ที่ชวนงงงวย

สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องหนึ่งที่ถือว่าเป็นข่าวใหญ่

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงชี้มูลว่า นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

เรื่องที่เป็นต้นทางของการชี้มูลความผิด ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

เป็นเรื่องสมัยที่ รมต.นิพนธ์ยังเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เมื่อมี 2556

Advertisement

เรื่องมีอยู่ว่าก่อนที่นายนิพนธ์จะมาเป็นนายก อบจ.สงขลา ที่นี่ได้มีการจัดซื้อรถอเนกประสงค์สำหรับซ่อมบำรุงถนน 2 คัน มูลค่า 50 กว่าล้านบาท

การจัดซื้อผ่านขั้นตอนทุกอย่างไปแล้วก่อนที่นายนิพนธ์จะมาเป็นนายก อบจ.

เมื่อนายนิพนธ์ไม่สั่งจ่ายตามมูลค่าที่ผ่านการจัดซื้อ ป.ป.ช.จึงเห็นว่าเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงชี้มูลความผิด ส่งให้อัยการยืนฟ้องต่อศาล

Advertisement

ตีความตามบทบาทของ ป.ป.ช.คือเห็นว่ามีเจตนาทุจริตต่อหน้าที่

ตรงนี้เองที่มาของความน่าสนใจยิ่ง

เพราะหลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูล นายนิพนธ์ได้แถลงถึงข้อเท็จจริงอีกด้านว่า ที่ยังไม่สั่งจ่ายให้บริษัทเอกชนตามการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้น

เพราะมีหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนามแทนให้ระงับการสั่งจ่ายไว้ก่อน

รับรู้กันในวงในว่าที่จังหวัดให้ระงับการสั่งจ่ายเพราะเกิดข้อสงสัยว่าจะมีการฮั้วประมูล

และตรงนี้เองที่เป็นประเด็นที่ชวนปวดเศียรเวียนเกล้า

เนื่องจากความหมายของ “ฮั้วประมูล” ก็คือการทุจริตประเภทหนึ่ง

ในความคิดของนายนิพนธ์ การชะลอการจ่ายไว้ก่อนก็คือ การป้องกันการทุจริตอันทำให้รัฐเสียหาย

ในฐานะผู้บริหารท้องถิ่นมีหน้าที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของราชการ เมื่อทางจังหวัดมีหนังสือมาให้ระงับการจ่าย จำเป็นต้องทำตามที่จังหวัดแนะนำ

แต่กลับกลายเป็นว่า การชะลอการจ่ายตามที่จังหวัดมีข้อสงสัย กลายเป็นความผิดตาม ม.157 ในการตีความของ ป.ป.ช.

เป็นการละเว้นการปฏิบัติ คือ ไม่จ่ายเงินที่จังหวัดสงสัยว่าจะมีความไม่ชอบมาพากล

ไม่มีเรื่องราวอื่นที่ชี้ให้เห็นว่านายนิพนธ์ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นส่วนตัวอะไรกับการสั่งชะลอการจ่ายนี้

เรื่องราวที่นำเสนอกันออกมาเลยให้ความรู้สึกพิลึกกึกกือ

คนที่ไม่สั่งจ่าย เพราะจังหวัดมีหนังสือมาให้ระงับ ด้วยยังสงสัยว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ชอบ กลับกลายเป็นผู้ถูกชี้มูลความผิด

เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สำหรับคนที่คิดตามอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว ย่อมสับสนกับความหมายของการทุจริต ความหมายของการรักษาประโยชน์ให้กับราชการ หรือทำให้ราชการเสียประโยชน์

ว่าอย่างไหนกันแน่ที่ถูก

อย่างที่ ป.ป.ช.เห็น

หรืออย่างที่ “นิพนธ์” ทำ

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image