ส่องศึกเลือกตั้ง‘อบจ.’ การเมือง‘เก่าปะทะใหม่’

ส่องศึกเลือกตั้ง‘อบจ.’ การเมือง‘เก่าปะทะใหม่’ หมายเหตุ - ความเห็นนักวิชาการ

ส่องศึกเลือกตั้ง‘อบจ.’ การเมือง‘เก่าปะทะใหม่’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการวิเคราะห์ศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 จังหวัด ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศกำหนดเปิดรับสมัครวันที่ 2-6 พฤศจิกายน และเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม

วิโรจน์ อาลี
นักวิชาการรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

Advertisement

การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐน่าจะมีโอกาสที่ดีกว่าพรรคการเมืองอื่น หลังจาก คสช.แช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นมานานมาก จากนั้นมีรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจโดยใช้นโยบายต่างๆ ผ่านกระทรวงมหาดไทย เพื่ออัดฉีดเงินงบประมาณลงไปในระดับจังหวัดและบางส่วนทำให้นักการเมืองท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับพรรคสามารถรับประโยชน์จากโครงการต่างๆ มากพอสมควร ไม่นับรวมการใช้พลังดูด ด้วยการดึง ส.ส.นามสกุลดังจากพรรคการเมืองอื่นเข้าไปร่วมงาน นอกจากนั้น การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้พรรคพยายามเฟ้นหาตัวบุคคลที่เป็น ส.ส.สอบตกเข้าไปแข่งขัน เพราะฉะนั้นรอยต่อของพรรคที่เชื่อมโยงกับการใช้อำนาจรัฐ อาจจะมีการเกื้อกูลในทางการเมืองพอสมควร เพราะพรรคเชื่อว่ากลไกการขับเคลื่อนผ่านระบบหัวคะแนนจะทำให้ผู้สมัครของพรรคมีโอกาสในการแข่งขัน

แต่ต้องดูว่าในภาวะที่รัฐบาลประสบปัญหาหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การชุมนุมใหญ่ อาจทำให้ผู้ลงคะแนนบางส่วนมองในมิตินี้ แต่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มองในจุดนี้ เพราะการเลือก ส.ส.เป็นการเมืองระดับชาติ ขณะที่การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องเครือข่ายความสัมพันธ์ของบ้านใหญ่ หัวคะแนนและปัจจัยอื่น เพราะการเมืองท้องถิ่นมีผลประโยชน์เชื่อมโยงในหลายระดับ

สำหรับนายก อบจ.จะต้องทำงานภายใต้การกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัดในกลไกของระบบราชการส่วนภูมิภาคของกระทรวงมหาดไทยและเป็นกลไกของรัฐบาล ดังนั้นการใช้อิทธิพลของนักการเมืองประเภทบ้านใหญ่หรือเครือข่ายดั้งเดิมในแต่ละจังหวัด หากเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐ หรือผู้มีอำนาจในระบบราชการส่วนภูมิภาคได้ก็อาจทำให้ผู้ที่เสนอตัวภายใต้เงื่อนไขนี้ได้เปรียบค่อนข้างมากจากการใช้ระบบอุปถัมภ์

ต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ใช้สิทธิในเขตเมืองพื้นที่ต่างจังหวัด หรือกระแสคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวทางการเมืองสูง อาจไม่ต้องการการเมืองระบบเก่าแล้ว แต่ต้องดูว่าเสียงเหล่านี้จะมีมากพอหรือไม่ที่จะเอาชนะในระบบการเมืองแบบเก่า โดยเฉพาะคณะก้าวหน้าจากพรรคอนาคตใหม่เดิมที่ประกาศตัวส่งผู้สมัครนายก อบจ.หลายจังหวัด ต้องติดตามว่าสามารถจะปลุกกระแสให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิเห็นความสำคัญของท้องถิ่นว่าจะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน หากดึงดูดให้ประชาชนเปลี่ยนมุมมองจากเครือข่ายการเมืองบ้านใหญ่หรือเครือข่ายของผู้มีอำนาจรัฐ ถ้าขับเคลื่อนได้ก็มีโอกาส

หากชุดวิธีคิดการเมืองรูปแบบใหม่ประสบความสำเร็จประมาณ 10 จังหวัดและชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงได้จริงก็อาจจะทำให้ประชาชนหันไปให้ความสนใจเรื่องของท้องถิ่นที่ให้จังหวัดมีศักยภาพในการแข่งขันได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ระบบการเมืองค่อยๆ ปรับเปลี่ยนแต่ต้องใช้เวลา ซึ่งจะต้องดูความตื่นตัวและการเชื่อมโยงของการเมืองระดับประเทศ แต่ปัญหาของผู้สมัครจากคณะก้าวหน้าในบางพื้นที่อาจจะต้องเจอกับการหลีกทางของผู้สมัครในพรรคร่วมรัฐบาล แต่อีกมุมมองก็ถือว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้คณะก้าวหน้าจะต้องทำงานหนักเพื่อแสดงให้เห็นว่าการเสนอตัวผู้สมัครจะขับเคลื่อนในฐานะที่เป็นตัวแทนของภาคประชาชนอย่างแท้จริงได้อย่างไร หรือใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์สูงสุดในฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อดึงอำนาจกลับไปให้ประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ อีกประการต้องดูด้วยว่าตัวแทนของพรรคฝ่ายค้านจะส่งแข่งขันกันเองอีกหรือไม่เหมือนการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.หลายสนามแล้วแพ้ ในขณะที่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลจะมีเอกภาพในเรื่องนี้ค่อนข้างสูงในหลายพื้นที่

การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้อาจจะได้เห็นผู้สมัคร นายก อบจ.บางจังหวัดแสดงวิสัยทัศน์ที่มีความก้าวหน้า โดดเด่น มากกว่าการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง อาจเป็นจุดเริ่มต้นจุดประกายให้เห็นถึงโอกาสที่จะมีการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเองในอนาคต โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากเลือกตั้งเหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดังนั้นหากมีผู้สมัครในบางจังหวัดที่เสนอตัวในเชิงนโยบายที่โดดเด่นแล้วประสบชัยชนะ เชื่อว่าภายใน 4-5 ปีข้างหน้าก็จะเห็นกระแสในการกระจายอำนาจมากขึ้น ด้วยการถ่ายโอนภารกิจ บุคลากรและงบประมาณลงไปในระบบเทศบาลและ อบต.จะทำได้ดีกว่าอดีตที่ผ่านมาหลังจากผู้มีอำนาจพยายามออกแบบกลไกกระจายอำนาจกลับไปเป็นรัฐรวมศูนย์

จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
รองอธิการบดี ม.สงขลานครินทร์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์

การเลือกตั้ง อบจ.นั้น อาจจะต้องดูพลังความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลก่อน โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่ยังคงมีกลุ่ม ก๊วน ภายในพรรค ออกเป็นหลายกลุ่ม เพราะฉะนั้นการช่วงชิงพื้นที่ในการส่งผู้สมัคร น่าจะเป็นศึกภายในของแต่ละพรรค ซึ่งพรรคพลังประชารัฐเองน่าจะเป็นพรรคที่ต้องใช้การพูดคุยมากกว่าพรรคอื่นๆ โดยพรรคนี้อาจจะมีการเปิดศึกภายในอยู่บ้าง ในบางจังหวัด จึงอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการคัดสรรตัวผู้สมัคร ในขณะนี้ ในบางจังหวัดแม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่โมเดลการหลีกทางให้กัน เพื่อเอื้อให้อีกพรรคนั้นได้ตำแหน่งคงเป็นไปได้ยาก แม้ในบางจังหวัดพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะหลีกทางให้กัน แต่คิดว่าไม่น่าจะเป็นเหมือนกันทุกจังหวัด

ทั้งนี้ กลุ่มคะแนนที่เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยังเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่แต่ละจังหวัด เป็นกลุ่มตัวแปรสำคัญในการชี้ชัดว่าพรรคใดจะได้รับการเลือกตั้ง แม้บางคนที่ลงสังกัดพรรค จะมีฐานเสียงอยู่ในบางพื้นที่ก็ตาม แต่ตัวแปรสำคัญน่าจะเป็นกลุ่มอายุ 18-35 ปี ซึ่งในการเมืองใหญ่ มอ.ได้ทำโพล 2 ปีที่แล้ว ก็เป็นตัวแปรสำคัญในการทำให้คะแนนพลิกไปพลิกมา ถ้านโยบายของผู้สมัครที่อาจจะมีคะแนนนำไม่โดนใจคนกลุ่มนี้ คะแนนก็อาจจะพลิกมาเลือกคณะก้าวหน้าก็ได้ ดังนั้น ผู้สมัครไม่ควรจะประมาท คนหน้าใหม่หรือกลุ่มพลังฮึด พลังที่แฝงมาในกลุ่มนี้

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า คะแนนที่จะได้มาขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นว่าเป็นคนรุ่นไหนมากกว่ากัน การเลือกตั้งที่ดีก็คงจะต้องมีผู้ออกไปใช้สิทธิให้มากที่สุด อาจจะต้องดูหน่วยงานรัฐในการเชิญชวนให้ประชาชนไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้มากที่สุด แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้เลือกตั้งท้องถิ่นมานานจนประชาชนอาจจะลือไปแล้วว่ามีการเลือกตั้งในระดับนี้อยู่จึงจำเป็นต้องระดมสรรพกำลังให้คนไปเลือกตั้งให้มากที่สุด

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้มีลักษณะที่น่าสนใจ เนื่องจากจัดให้มีการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ จึงไม่ต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกนายก อบจ.และ ส.อบจ.รัฐบาลอาจต้องการเช็คเรทติ้งหรือฐานคะแนนทางการเมืองหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดใหญ่ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งจึงสะท้อนไปถึงคะแนนเสียงของนักการเมืองระดับชาติในพื้นที่นั้น ขณะเดียวกันในหลักการที่แท้จริงรัฐบาลควรเริ่มต้นการเลือกตั้งใน อบต.และเทศบาล แต่เมื่อมีการเลือก อบจ.ก่อน จึงเป็นการส่งสัญญาณไปถึงการเลือกตั้งในระดับอื่นอีกในอนาคต

สำหรับบริบทของการเลือกตั้งนายก อบจ.จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนัยยะสำคัญมีลักษณะที่ต่างจากการเมืองระดับชาติ เพราะมีความสัมพันธ์ในเชิงตัวบุคคล ตระกูลการเมือง การมีสายสัมพันธ์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกันในเชิงผลประโยชน์ นอกจากนั้น ยังมีบุคคลที่อุปถัมภ์ชุมชนหรือให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลหลายด้าน ก็จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากสิ่งที่ประชาชนสนใจการเมืองท้องถิ่นมาจากผลงานที่เป็นรูปธรรม เช่น น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี ไม่ได้เป็นลักษณะนามธรรมเหมือนการเมืองในระดับชาติ เช่น เรื่องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชนหรือความเสมอภาค ดังนั้นหลักการของผู้ใช้สิทธิอาจมองต่างมุมกับการเมืองระดับชาติ แต่ถ้าถามว่าอาจมีเห็นต่างจากนี้หรือไม่ก็อาจมีบางพื้นที่ที่มีโอกาส แต่การพลิกเปลี่ยนการเมืองท้องถิ่นของประเทศคงไม่เกิดขึ้นได้ง่ายในระยะสั้น

เพราะหลักการของการเมืองท้องถิ่นไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง แต่ต้องอยู่กับความเป็นอิสระหรือที่เรียกว่า “อิสระภาวะ” ของท้องถิ่นที่จะดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้จากการตัดสินใจที่อิสระ หรือการกำหนดอนาคตด้วยคนในท้องถิ่นตามหลักการพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง แต่วันนี้ท้องถิ่นไทยยังมีโครงการของการรวมศูนย์อำนาจ โดยอาจกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญที่แท้จริงในสังคมไทยก็คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ที่กำหนดโครงสร้างของระบบราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น แม้ว่าจะมีการปฏิรูปการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 แต่โครงสร้างรัฐที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือในบางพื้นที่ที่มีบุคคลหน้าใหม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาก็คงไม่ทำให้ท้องถิ่นมีความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ.เพราะว่าไม่มีข้อห้ามพรรคการเมืองเข้าเกี่ยวข้องทั้งทางตรงโดยส่งผู้สมัครหรือทางอ้อมด้วยการสนับสนุนทางการเมือง ล่าสุดจึงได้เห็นการขับเคลื่อนของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้อย่างกว้างขวาง ขณะที่พรรครัฐบาลมีความได้เปรียบในฐานะที่มีอำนาจรัฐ ส่วนฝ่ายค้านก็อาจจะได้เปรียบเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงสำคัญเท่านั้น และหากพรรคการเมืองจะสนับสนุนตัวบุคคลหรือกลุ่มการเมืองก็ต้องเข้าไปช่วงชิงพื้นที่หรือตัวบุคคลให้ได้ และอย่าลืมการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้เกิดขึ้นมานาน 7 ปี ทำให้ฐานการเมืองในท้องถิ่นมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ทุกอย่างจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ก็จะต้องมีการช่วงชิงฐานการเมืองในท้องถิ่นเพื่อชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้งให้มากที่สุด

สำหรับทิศทางของคณะก้าวหน้าได้ประกาศไว้ตั้งสมัยยุคพรรคอนาคตใหม่จะเข้ามาเขย่าการเมืองท้องถิ่น เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของท้องถิ่นไทยถือว่าน่าสนใจ แต่ว่าในสภาพความเป็นจริงโอกาสที่จะประสบความสำเร็จทั้งประเทศคงไม่เกิดขึ้น เพราะการเมืองท้องถิ่นผูกโยงกับสังคมวิทยาหลากหลายมิติ และประเด็นที่คณะก้าวหน้านำเสนอส่วนใหญ่จะเป็นการเมืองระดับชาติทั้งการเรียกร้องประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การต่อสู้กับ คสช.แต่ในท้องถิ่นภาพเหล่านี้อาจมีอยู่บ้างแต่ไม่โดดเด่นมากนัก แต่เชื่อว่าอาจเห็นความสำเร็จของคณะก้าวหน้าในหลายพื้นที่ แต่ไม่ถึงขั้นพลิกเปลี่ยนการเมืองท้องถิ่นได้ทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image