รายงานหน้า2 : เปิดมุมมอง‘อาเบล เติ้ง’ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ดันไทย‘ดิจิทัลฮับอาเซียน’

หมายเหตุเป็นส่วนหนึ่งในมุมมองนาย อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) ที่จะขึ้นเวทีร่วมสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” จัดโดย “มติชน” ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 21 ตุลาคม ณ แกรนด์ฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต)

⦁หัวเว่ยมั่นไทยวางแผนลงทุนยาว
หัวเว่ยเป็นธุรกิจที่ให้บริการในไทย มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในรัฐบาลไทย มองว่าประเทศไทยน่าอยู่ โดยเฉพาะช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไทยมีมาตรการที่สามารถรับมือได้เป็นอย่างดี จึงมองว่าเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยและเชื่อมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในไทย

การดำเนินธุรกิจของหัวเว่ยเป็นการลงทุนระยะยาว มีการลงทุนมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ในการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบเพื่อให้ผู้คนกว่า 1 พันคน ได้เข้ามามีส่วนร่วม ถัดมาในปี 2561 มีการลงทุนด้านระบบคลาวด์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ล่าสุดได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า จัดตั้งศูนย์ไทยแลนด์ 5G อีโคซิสเต็ม อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ (5G อีไอซี) เพื่อเป็นพื้นที่ทดลองการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ในภาคธุรกิจและบริการต่างๆ เช่น บริการทางการแพทย์ด้วย 5G, การเกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G, ระบบท่าเรืออัจฉริยะผ่านระบบ 5G, การศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยี 5G และระบบการรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G เป็นต้น

ศูนย์ไทยแลนด์ 5G อีไอซี ใช้เงินลงทุน 475 ล้านบาท จัดตั้งขึ้นเพื่อผลักดันระบบนิเวศ 5G อย่างครบวงจร และเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจสตาร์ตอัพด้านดิจิทัลของไทย โดยนำเทคโนโลยีอันทันสมัย อย่างคลาวด์
ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) มาประยุกต์ใช้เพื่อตอบสนองยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมุ่งยกระดับทักษะดิจิทัลให้บุคลากรด้านไอซีทีของไทยให้พร้อมต่อยอดในระดับสากล

Advertisement

ศูนย์ไทยแลนด์ 5G อีไอซี เป็นศูนย์แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน การจัดตั้งศูนย์แห่งนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทยไปจนถึงในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ ที่ต้องลงทุนมากในประเทศไทยเพราะมองว่า เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีการลงทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

⦁ยกไทยตลาดสำคัญ บริการครบ4กลุ่มธุรกิจหลัก
สำหรับประเทศไทยถือเป็นตลาดที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับหัวเว่ย และเป็นตลาดเดียวที่บริษัทนำเสนอครบทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ การให้บริการเครือข่าย 4G, การให้บริการหน่วยงานต่างๆ, การมีสินค่ารุกตลาดคอนซูเมอร์ และคลาวด์ เอไอ เพื่อให้สามารถส่งมอบระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ครอบคลุมเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างรอบด้าน และช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะได้รวดเร็วขึ้น

กับความท้าทายในช่วงที่เหลือของปี 2563 นี้ จะพยายามเน้นการขับเคลื่อนธุรกิจเหมือนที่ได้พยายามมาโดยตลอด ซึ่งสิ่งที่จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ คลาวด์ และเอไอ เพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญในโลกอนาคต จึงจะมีการลงทุนในส่วนนี้

Advertisement

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีนโยบายหลายอย่างที่สนับสนุนให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ทั้งผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการดำเนินโครงการต่างๆ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายใต้การนำของ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช. ได้ทำในสิ่งที่ควรเป็นหลายอย่าง เพื่อนำประเทศก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ โดยเฉพาะการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G นำมาซึ่งรากฐานของอะไรหลายอย่างที่จะเกิดขึ้น

รากฐานสำคัญที่ยืนยันได้ว่า กสทช.ประสบความสำเร็จ คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งในย่าน 700 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ รวมถึงคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการจัดสรรคลื่นความถี่จะนำมาซึ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใน 5G ในจำนวนมหาศาลยิ่งขึ้น และเชื่อว่าต่อไป การที่เรามีโครงสร้างพื้นฐานและมีคลื่นความถี่นี้ จะส่งผลให้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่ดีที่สุดเกิดขึ้น นำไปสู่หมุดหมายถัดไป คือ การสร้างระบบนิเวศให้รองรับ เพื่อให้กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถนำ 5G ไปใช้งานได้

⦁แนะรัฐสร้างระบบนิเวศพัฒนาประเทศ
อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ควรมีนโยบายสนับสนุน เพื่อให้ประเทศเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการคลัง และนโยบายด้านภาษี 2.มีการจัดตั้งศูนย์ทดลอง ทดสอบ หรือศูนย์นวัตกรรม 5G ซึ่งได้ดำเนินการแล้วบางส่วน เพื่อผลักดันให้เทคโนโลยี 5G มีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ และนำเทคโนโลยีไปใช้ในด้านอื่นๆ มากขึ้น และ 3.สนับสนุนให้คนไทยมีทักษะในการนำ 5G ไปใช้และต่อยอด เพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะควรมีหลักสูตร 5G อินโนเวทีฟโปรแกรม จนถึงการต่อยอดให้มีการจัดการแข่งขันในระดับชาติ ด้านการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้งานซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีไปใช้ร่วมกับคลาวด์และเอไอด้วย

เชื่อว่าการมีระบบนิเวศที่ดีจะนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศที่ดีกว่า โดยได้รับการพิสูจน์มาแล้วในหลายประเทศว่า การมีระบบนิเวศที่ดีจะนำมาซึ่งการพัฒนาของเศรษฐกิจที่ดีด้วย โดยในอนาคตอาจมีการจัดตั้งสมาคมร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันพัฒนาระบบนิเวศนี้ ซึ่งทักษะที่จำเป็นต้องเรียนรู้คือ คลาวด์และเอไอ ทั้งนี้ ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ระบบนิเวศต่างๆ ปูทางไปสู่การเป็นดิจิทัลฮับ และมีความเติบโตด้านเศรษฐกิจในอนาคต เป็นส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส
โควิด-19 ในปัจจุบัน

แม้ต้องประสบกับสถานการณ์ทางการเมือง หรือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนของการลงทุนหรือการพัฒนาไม่สามารถที่จะหยุดยั้งได้ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำให้เห็นว่า แม้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมีความพยายามที่จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่จะนำ 5G มาใช้งาน ทั้งในรูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) ต่างๆ ซึ่งภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา 5G ในไทย

⦁‘ไอซีที’ตอบโจทย์ผลักดันเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมา 5G ในไทย มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในหลายเซ็กเตอร์ อาทิ การเกษตร ที่มีการนำ 5G ไปใช้ในการเกษตรอัจฉริยะโดย กสทช. ร่วมกับกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และด้านโรงพยาบาลอัจฉริยะ ซึ่ง กสทช.ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการ 5G โดยการนำ 5G ไปใช้ เช่น บิ๊กดาต้า คลาวด์ และเอไอ เป็นต้น เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการของโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในหลายเซ็กเตอร์ อย่างในประเทศจีนอยู่ในโซนติดลบ แต่ช่วงไตรมาส 2/2563 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไอซีทีในจีนปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 13% จึงเชื่อว่าเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมไอซีทีจะเติบโตต่อเนื่อง แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม และเชื่อว่าไอซีทีจะเป็นกลไกหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ถดถอยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มองว่าไอซีทีจะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้อย่าง 1 เหรียญสหรัฐ หากลงทุนในไอซีทีจะทำให้เกิด 20 เหรียญสหรัฐในจีดีพีของเศรษฐกิจดิจิทัลทันที ประกอบกับปัจจุบันมีประชากรทำงานในเซ็กเตอร์ไอซีทีเพียง 2% แต่กลับสร้างผลงานหรือผลทางเศรษฐกิจโลกของจีดีพีได้ถึง 15% จึงมองว่าเซ็กเตอร์ไอซีทีจะเป็นตัวสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์ ซึ่งต้องขอบคุณ กสทช. ที่วันนั้นผลักดันให้ 5G เกิดขึ้น ทำให้ทุกอย่างมีความพร้อม และกลายเป็นพลังของไอซีทีในการเข้ามามีส่วนแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ยอมรับว่าได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บ้าง แต่หัวเว่ยได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด กระทั่งได้รับรางวัลองค์กรที่ดำเนินการตามมาตรการ และได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการป้องกันโควิด-19

ทั้งนี้ ข้อมูลดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขัน (ไอเอ็มดี) ได้จัดอันดับภาพรวมทั่วโลก โดยของไทยอยู่ในอันดับที่ 39 ขณะที่ด้านโมบายบรอดแบนด์ ไทยอยู่ในอันดับที่ 10 จึงเชื่อว่า ประเทศไทยจะสามารถไปสู่เป้าหมายที่จะเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคนี้ได้อย่างแน่นอน ซึ่งกลไกที่จะขับเคลื่อนไอซีทีในไทย มี 5 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 5G, เอไอ, คลาวด์
คอมพิวติ้ง, เอดจ์คอมพิวติ้ง และแอพพลิเคชั่น

⦁ส่งประเทศไทยดิจิทัลฮับของภูมิภาคได้
ปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยสามารถสร้างรายได้คิดเป็น 10% ของจีดีพีของประเทศ แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ประมาณ 50% ของจีดีพี อาทิ อังกฤษ และอเมริกา จึงคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าหรือในปี 2573 จะสามารถสร้างรายได้คิดเป็น 30% ของจีดีพี และจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 30% ต่อเนื่องทุกปี

การที่ประเทศไทยจะเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ตรงกลาง และสิ่งที่จะพาไปสู่จุดนั้นได้คือ โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมแล้ว ทั้งระบบ 3G 4G และ 5G สิ่งที่สำคัญ คือ ความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องเข้ามาทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้นจนกลายเป็นดิจิทัลฮับให้ได้ ซึ่งสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ตามมา คือ เราจะมีอย่างที่สิงคโปร์และมาเลเซีย มี คือ ธุรกิจโอทีที อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิต
เตอร์ รวมถึงแอพพลิเคชั่นที่เป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศในอนาคต ซึ่งหากเราเป็นดิจิทัลฮับจะช่วยดึงดูดให้ธุรกิจโอทีทีมาตั้งบริษัทอยู่ที่บ้านเรา ซึ่งธุรกิจโอทีทีจะมีมากขึ้นในอนาคต ฉะนั้น กลไกสำคัญ คือ การสร้างแรงจูงใจควบคู่ไปกับการผลักดันให้เกิดดิจิทัลฮับด้วย เพื่อทำให้ไทยกลายเป็นดิจิทัลฮับอย่างแท้จริง และสมบูรณ์แบบ

ที่ผ่านมาประเทศไทยทำได้ดี จากปี 2553 ที่มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่เพียง 10% กระทั่งปี 2562 มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มเป็น 120% ซึ่งอีกมุมมองหนึ่งเป็นเพราะ กสทช. มีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงเชื่อมั่นใน กสทช. และคิดว่าจะนำไปสู่เป้าหมายในการเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคของไทยได้ แต่ทั้งนี้ ปฏิเสธที่จะตอบว่าอยากได้ผู้ที่มีคุณสมบัติอย่างไรเข้ามาดำรงตำแหน่ง กรรมการ กสทช. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัคร จำนวน 7 คน จากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ด้านละ 1 คน ประกอบด้วย 1.ด้านกิจการกระจายเสียง 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม 4.ด้านวิศวกรรม 5.ด้านกฎหมาย 6.ด้านเศรษฐศาสตร์ และ 7.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image