รายงาน : คำถาม แหลมคม ต่อ 3 พรรค ร่วม‘รัฐบาล’ เบื้องหน้า วิกฤต

สถานการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบในขณะนี้ใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่งกับสถานการณ์ที่
พล.อ.สุจินดา คราประยูร ประสบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

จึงเกิดคำถามตามมามากมาย

คำถามหนึ่งพุ่งตรงไปยังพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 1 พรรคภูมิใจไทย 1 พรรคประชาธิปัตย์ 1 พรรคชาติไทยพัฒนา

ถามด้วยความห่วงหาอาทรอย่างเป็นพิเศษ

Advertisement

เกรงว่าจะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันกับ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทยที่มีส่วนหนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี

กระทั่งเกิดเหตุการณ์อย่างที่เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ”

จากนั้น ไม่ว่าพรรคสามัคคีธรรมไม่ว่าพรรคชาติไทย ไม่ว่าพรรคกิจสังคม ไม่ว่าพรรคประชากรไทย ล้วนถูกเรียกขานว่าเป็น “พรรคมาร”

Advertisement

เพราะว่ามีส่วนร่วมในการปราบปรามและสังหารประชาชน

หากนำเอาเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 มาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์อันทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับในเดือนตุลาคม 2563

มีทั้ง “ความเหมือน” และ “ความต่าง”

เหมือนตรงที่มีการต่อต้าน “นายกรัฐมนตรี” ที่มีฐานมาจากการรัฐประหารและต้องการสืบทอดอำนาจในทางการเมือง

ต่างตรงที่ในปี 2535 เป็นการต่อต้านโดย “พรรคการเมือง”

อาจจุดประกายโดย ร.ต.ฉลาด วรฉัตร แต่ในที่สุด พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จากพรรคพลังธรรมก็กระโจนเข้าเป็นผู้นำ

ต่างตรงที่ในปี 2563 เป็นการต่อต้านโดย “เยาวชน”

พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย ต่อสู้ในกระบวนการทางรัฐสภา ตามเงื่อนไขที่มีอยู่

แต่กองหน้ากลับเป็น เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา

เมื่อเริ่มกระบวนการต่อสู้ รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ตัดสินใจใช้กำลังและความรุนแรงเข้าปราบปรามเพื่อสลายการชุมนุม

ตรงนี้อาจต่างจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่บ้าง

กระนั้น ข้อเรียกร้อง 1 ของเยาวชนก็คือ “หยุดคุกคามประชาชน” และผล 1 อันตามมาก็คือไม่เคยมีการหยุดยั้งการคุกคามประชาชนในหลากหลายรูปแบบ

และลงเอยด้วยการประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ขั้นร้ายแรง

จากนั้นก็นำไปสู่การสลายการชุมนุมด้วยการจัดหน่วยคอมมานโดปราบจลาจลเดินหน้าเข้าสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำผสมสีและสารเคมีเข้าใส่

และออกหมายจับ “เป้าหมาย” ที่ประเมินว่าเป็น “แกนนำ”

การเข้าจับกุมทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับถึงขั้นขับรถขวางและบุกเข้าทุบกระจก ดังในกรณีการจับกุม นายภาณุพงศ์ จาดนอก เป็นต้น

เป็นไปได้ว่าจะยิ่งใช้มาตรการ “รุนแรง” มากขึ้น มากขึ้น

คําถามนี้อาจไม่มีความหมายอะไรเลยต่อ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา เพราะมีความเด่นชัดว่าเห็นด้วยกับมาตรการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เท่ากับเป็นการเลือกข้างอย่างแน่นอน

นั่นก็คือ เลือกที่อยู่ฝ่ายเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นก็คือ เลือกที่จะปฏิเสธบทบาทและความหมายไม่ว่าของ “คณะราษฎร 2563” ไม่ว่าของ “ราษฎร”

ภายใต้ความเชื่อที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นฝ่ายถูกและจะต้องกำชัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image