3ฝ่าย-3ลีลา ถกทางออกแก้วิกฤต

3ฝ่าย-3ลีลา ถกทางออกแก้วิกฤต

หมายเหตุส่วนหนึ่งในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ระหว่างการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอเพื่อขอความเห็นถึงทางออกให้ประเทศจากการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

Advertisement

เนื่องด้วย ครม. มีมติวันที่ 20 ตุลาคม ว่า บัดนี้มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ ครม.จะขอความเห็นสมาชิกรัฐสภา ตามมาตรา 165 ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ รวมถึงในต่างจังหวัด โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมาที่ทุกคนทราบกันดีโดยที่ผมจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ และไม่สมควรจะเกิดขึ้น

การชุมนุมมีพักค้างคืนบ้าง ซึ่งส่อว่าจะยืดเยื้อ และอาจมีผู้ฉวยโอกาสเข้ามาแทรกซึมฉวยโอกาสได้ เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2557 ซึ่งรัฐบาลพยายามดูแลสถานการณ์ให้ดีที่สุด ใช้กฎหมายอะลุ้มอล่วย ผ่อนผันมาโดยตลอด แต่การชุมนุมยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้การชุมนุมจะมีเสรีภาพได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44แต่รัฐต้องใช้อำนาจเข้าควบคุมการชุมนุมที่ผิดกฎหมายที่เป็นข้อยกเว้นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพ ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของผู้ชุมนุมหลายเรื่องอยู่ในขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้ว และเริ่มมีการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวหลายราย

หลายครั้งที่การชุมนุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่บางแห่งมีความรุนแรงเกิดขึ้น ปฏิบัติในสิ่งไม่สมควร ผมก็เป็นห่วงรัฐบาลไม่อยากให้เกิดการปะทะ เกิดจลาจลในบ้านเมือง รัฐบาลมีหน้าที่รักษาสิทธิของคนไทยทุกคน 70 ล้านคน ผมมั่นใจว่าคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะมีมุมมองด้านการเมืองแบบใด แต่ทุกคนรักชาติ รักวัฒนธรรม รักรากเหง้าและคุณค่าความเป็นไทย และรู้ว่าทุกคนต้องการอนาคตที่ดีสำหรับลูกหลานและเยาวชนไทย ซึ่ง 2 เรื่องนี้ ก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ต้องหาหนทางพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น อย่างมีหลักการเหตุผล มีความถูกต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ไม่ทำลายอดีตที่มีคุณค่าของประเทศเราที่มีรากเหง้าที่หยั่งรากลึกเข้าไปในหัวใจของคนไทยทุกคน มีความเจริญก้าวหน้า อย่างยั่งยืนต่อไป

ในนามรัฐบาลรู้ว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทั้งเทคโนโลยี และดิจิทัล แต่ต้องยอมรับคนไทยหลายสิบล้านคน ก็ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย สับสนอลหม่าน ทุกคนก็มีความเชื่อของตัวเอง เขาเห็น เขาเชื่อมาตลอดชีวิตของเขา เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีความสมดุลระหว่างความต้องการของตนเองกับคนอื่นๆ ในสังคมอย่างสร้างสรรค์ ผมหวังว่าทุกคนจะใช้เวลา 2 วัน ในสภาอันทรงเกียรติ เพื่อปรึกษาหารือร่วมกัน ท่ามกลางสภาวการณ์ที่จะมีการหยิบยกเรื่องสำคัญขึ้นมาหารือกันในสภา

เราทุกคนในที่นี้ควรจะต้องรวบรวมสติปัญญาทั้งหมดที่มีความคิด ความสามารถและหัวใจของพวกเราทุกคน รวมทั้งเลือดรักชาติทุกหยดในตัวของพวกเราร่วมกันคิดและทำในสิ่งที่สร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ทำให้ประเทศเดินหน้า แข็งแรงยิ่งขึ้น มั่นคงยั่งยืนไปสู่อนาคตที่ดี ปกป้องอดีตที่มีคุณค่าไว้ด้วย

หากสมาชิกรัฐสภามีข้อเสนอใดที่สามารถปฏิบัติได้ เป็นประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่แทรกซ้อนมา รัฐบาลจะขอขอบคุณและจะรับไปดำเนินการ ส่วนตัวผมเชื่อว่าพื้นฐานสังคมไทย คือความเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันและกัน เมื่อเราทำแบบนั้นได้ การเป็นครอบครัวใหญ่ เป็นครอบครัวเดียวกัน ครอบครัวประเทศไทย แม้จะมีเรื่องไม่เห็นด้วยกันบ้าง แต่เราก็ยังรักกันตลอดไป

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์
ส.ส.เชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)

เมื่อได้อ่านญัตติของรัฐบาลแล้ว มีความรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่ว่าญัตตินี้ เป็นญัตติที่ไม่สร้างสรรค์ เนื้อหาสาระของญัตติ มีแนวโน้มที่จะสร้างความแตกแยกร้าวฉานในสังคมไทย ให้ขยายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ การตั้งญัตติเช่นนี้ รังแต่จะซ้ำเติมสถานการณ์ให้บานปลาย ไม่สามารถเป็นทางออกของสังคมไทยได้

แต่อย่างใดก็ตาม พวกเราก็ยังมีความตั้งใจ ที่จะใช้โอกาสการอภิปรายครั้งนี้ เพื่อเสนอทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ จึงขอร้องให้ที่ประชุมแห่งนี้ ทุกฝ่าย ทุกคนต้องช่วยกันประคับประคอง ให้การอภิปรายในครั้งนี้ เป็นการถกเถียงเพื่อคลี่คลายสถานการณ์วิกฤตของประเทศ

การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ เพราะมีแนวโน้มว่าการบริหารจัดการปัญหาภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จะยิ่งนำพาไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากถ้อยคำ การกระทำ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นการราดน้ำมันลงไปในกองเพลิง ถือเป็นการซ้ำเติมและยั่วยุให้สถานการณ์ต่างๆ ยุ่งยากมากขึ้นไปอีก

สถานการณ์การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนช่วงที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงวันนี้ ประเด็นข้อเรียกร้องล้วนเกิดมาจากเงื่อนปมที่ผูกไว้โดยรัฐบาล ที่ขาดความชอบธรรมตั้งแต่การเข้ามาสู่อำนาจ สร้างรัฐธรรมนูญเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจของตน มากกว่าที่รัฐธรรมนูญควรจะเป็น นั่นคือ สิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรมที่ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ชี้ชัดว่านายกฯเป็นผู้นำที่ล้มเหลว ไร้ความสามารถ บริหารประเทศด้วยนโยบายที่ผิดพลาด เพราะเริ่มต้นการเข้าสู่อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรม จากกฎกติกาที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสืบต่ออำนาจของตน และเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องของตนเป็นหลัก ทำให้ผลงานในการบริหารประเทศ ไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จนต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเกิดเหตุที่ไม่ควรจะเกิด คือ การสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา อีกทั้งมีผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง ตั้งข้อกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม

สถานการณ์นี้ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความวิตกกังวลของประชาชน และประชาคมโลก ซึ่งไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการรุนแรง และเลือกปฏิบัติต่อนักเรียน นักศึกษา ประชาชน อีกหรือไม่ สิ่งที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้คือก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม

การยืนกรานของท่านในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้วยแนวคิดอำนาจนิยม ยึดติดกับอำนาจที่ได้มาอย่างไม่ชอบธรรม ใช้กลไกมาตรการของรัฐคุกคามประชาชน ไม่เปิดโอกาสในการรับฟังเสียงของประชาชน เป็นแนวทางที่ยิ่งขยายความขัดแย้ง ความรุนแรง จนไม่สามารถสร้างโอกาส และทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาของชาติ

หลายปีที่นายกฯปกครองบริหารประเทศ ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ขยายช่องว่างระหว่างประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ปัญหาพื้นฐานด้านเศรษฐกิจก็ยิ่งดิ่งลง ปัญหาการศึกษาที่มุ่งแต่การกดหัว ใช้อำนาจกระทำต่อนักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษา ไม่ได้เปิดโอกาสให้ครู อาจารย์ ผู้บริหารรับฟังปัญหาและความต้องการของเด็กและเยาวชนในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากระบบการศึกษา จนปะทุกลายเป็นกระแสเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลต้องรับฟัง

แม้จะกล่าวอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นการเลือกตั้งที่สมคบกันตอกหลักสร้างฐานอำนาจให้แก่ตนเองและพวกพ้อง ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ออกแบบอย่างซับซ้อน ซ่อนกลไกเพื่อทำลายหลักการประชาธิปไตยที่พึงมี แค่เป้าหมายร่วมกันสืบทอดอำนาจ การที่รัฐบาลอ้างว่าใช้หลักการควบคุมดูแลฝูงชนตามหลักสากล แต่ไม่เคยยอมรับว่ามาตรการที่รัฐบาลใช้กับประชาชน เป็นมาตรการที่รุนแรง และใช้เกินกว่าเหตุ มาตรการรุนแรงเช่นนั้น เกิดจากความกลัว และความเกลียดชังประชาชน มากกว่าจะเอาใจใส่ถึงความปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชน

การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ความคิดเห็นต่างๆ ต่อข้อเสนอและแนวคิดที่ถูกนำเสนอออกสู่สาธารณชนนั้น ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง ถึงความเหมาะสม ความถูกต้อง และร่วมกันหาทางออกให้ประเทศ อย่างเปิดเผย ไม่ใช่เพียงการซื้อเวลา

สภาแห่งนี้ควรใช้เวลาที่มีอยู่ 2 วัน เสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาและหาข้อสรุปในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนี้ 1.ต้องพิจารณาข้อเสนอของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน อย่างจริงจัง เปิดใจรับฟังแต่ละปัญหาที่นำเสนอ อย่างมีวิจารณญาณ 2.ต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว ไม่เตะถ่วงให้ล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์วิกฤตที่กำลังบานปลาย

3.ต้องเร่งปลดเงื่อนไข ที่เป็นมูลเหตุของวิกฤต เร่งปล่อยตัวนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขัง จากการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง โดยพลัน ปลดเงื่อนไขที่จะทำให้สถานการณ์บานปลาย ยุติการปิดกั้นสื่อ เปิดช่องทางการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และยุติการใช้กฎหมายที่ดำเนินคดีกับประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐบาลโดยเร็วที่สุด

4.นายกฯต้องลาออก เพราะท่านคืออุปสรรคสำคัญ ที่เป็นภาระของประเทศ หากท่านลาออก จะถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาด และความล้มเหลวทั้งปวง ที่ได้กระทำลงไป ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ จะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเตะถ่วงเวลา และฟอกความล้มเหลวให้แก่รัฐบาล ผมเชื่อว่าประชาชนทั้งประเทศกำลังรอฟังคำตอบจากพวกเรา

อำพล จินดาวัฒนะ
สมาชิกวุฒิสภา

ทางออกจากวิกฤตครั้งนี้ ต้องหันมาแก้ที่รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ถึงจะมีข้อดี แต่ก็มีจุดด้อยที่ต้องแก้ไข ไม่แปลกถ้าจะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มี ส.ว.ส่วนหนึ่งคุยกันแล้ว เห็นว่าควรโหวตรับหลักการแก้รัฐธรรมนูญวาระ 1 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้สอดคล้องกับโลกความจริง เรื่องนี้ ส.ว.คิดมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคิดวันนี้ รัฐสภาควรเห็นชอบการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย

นอกจากการตั้ง ส.ส.ร.แล้ว ควรตั้งคณะกรรมการคู่ขนานไปกับ ส.ส.ร.เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน นำข้อเสนอดีๆ ไปอยู่ในเนื้อหาการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย เพราะการใช้กลไกรัฐธรรมนูญอย่างเดียวอาจแข็งไป การแก้รัฐธรรมนูญต้องไม่ซื้อเวลา ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน หาสมดุลใหม่ เป็นสังคมที่แก้ปัญหาด้วยสันติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image