รายงานหน้า2 : ส่องโมเดล‘กก.สมานฉันท์’ ระดมสมองช่วยหาทางออก

หมายเหตุ ความเห็นจากนักวิชาการและนักสันติวิธี เกี่ยวกับคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ และแนวทางการหาทางออกของประเทศในขณะนี้

โคทม อารียา
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะกรรมการปรองดอง สมานฉันท์ หาทางออกให้ประเทศ ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ยังไม่ตั้ง จึงยังไม่รู้โครงสร้าง ส่วนตัวมองว่าต้องมีหลายทางเลือก หลายวิธีการ จะได้ผลหรือไม่อย่างไรขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยนั้นๆ ถือเป็นการขับเคลื่อนในทางที่เป็นบวก
ทั้งนี้ คำว่าคนกลาง ต้องตีความหมายให้ชัด คนกลางเป็นคนที่มีเหตุ มีผล รู้จักสังคมจิตวิทยาการเมืองดีพอสมควร ขณะเดียวกันหากทำหน้าที่เป็นคนกลางหมายความว่าจะต้องไม่ขับเคลื่อนการดำเนินการไปในทางอัตวิสัยของตน ในส่วนของพื้นที่ที่จะดำเนินการของคณะกรรมการสมานฉันท์ก็พ่วงไปทั้งหมด ไม่สามารถจำกัดได้ หรืออาจจะอาศัยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยบ้าง ภาคเอกชนบ้าง กลไกสภาบ้าง ที่ไหนก็ได้ เมื่อประธานสภามอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า ก็ให้สถาบันพระปกเกล้าดำเนินการดูว่าจะเป็นอย่างไร เป็นในลักษณะสำนักเลขานุการได้หรือไม่ หรือจะไปผนวกกำลังทำงานกับภาคประชาสังคม ดีหรือไม่ เพราะไม่อยากให้เป็นหน่วยงานราชการเพียงหน่วยเดียว เนื่องจากมีสายบังคับบัญชา ใช้พื้นที่ที่มีลักษณะเป็นกลาง
สมัยก่อน นปช.คุยกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น อันนั้นรูปแบบใช้ไม่ได้ โมเดลนี้คือโมเดลท่ามกลางความขัดแย้งที่เชิญมาโต้วาทีกัน เป็นการโต้วาทีสาธารณะ เหมือนโดนัลด์ ทรัมป์ โต้วาทีกับ โจ ไบเดน ช่วงชิงความเห็นกัน หรือเร็วๆ นี้ก็มีการโต้วาทีระหว่างคุณปารีณา ไกรคุปต์ (ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ) และ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (ตัวแทนจากกลุ่มผู้ชุมนุม) ถามว่าได้ผลทำให้เกิดความเข้าใจกันหรือไม่ จึงบอกว่าไม่ได้ผลในแง่การทำความเข้าใจรับฟังซึ่งกันและกัน
อยากให้เวทีสมานฉันท์เป็นเวทีแห่งการรับฟังก่อน และเป็นเวทีที่มีเหตุผล มีตรรกะ มีความคิดสร้างสรรค์ ที่ดีมากคือเป็นเวทีกลาง เป็นพื้นที่ปลอดภัย สามารถมาคุยกันได้โดยไม่ต้องกลัวว่าพูดอะไรไปแล้วจะโดนฝ่ายที่มีอำนาจแฝงมาเล่นงานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแม้กระทั่งพูดอะไรไปแล้วถูกเปิดโปง โดยสื่อออนไลน์และสื่ออื่นๆ ก็อาจจะต้องคุยกันแบบเงียบๆ
ส่วนตัวชอบที่คุณหมอประเวศ วะสี ใช้คำว่า เป็นพื้นที่ปัญญาประณีต แล้วอยากเพิ่มเติมในเรื่องปัญญาปฏิบัติด้วย คือการใช้ปัญญาที่จะเสนอแนะในเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่ประณีตอย่างเดียว
คำว่าซ้ำรอยเดิมอาจจะหวาดผวาอดีตมากไป อดีตที่ผ่านมาก็มีประโยชน์ การที่เราพยายามจะลืมสิ่งที่ทำมาในอดีต นั่นไม่ใช่ เพราะอดีตก็เป็นบทเรียนเป็นความรู้ ให้ศึกษาทบทวนดูได้ทั้งสิ้น ถ้ามองในแง่บวก แต่ถ้ามองในแง่ลบจะเห็นว่าไม่มีผลอะไรเลย แล้วเราจะแก้อย่างไรให้มีผล อะไรที่สังคมให้ความสำคัญ คือผลประการแรก ประการที่ 2 คือมีคำอะไรออกไปแล้วคนที่มีอำนาจหน้าที่ เอาไปพิจารณาอย่างจริงจัง ไม่มั่นใจว่าครั้งนี้จะทำได้อย่างนั้นหรือไม่
กลไกใดๆ ก็ตามจะต้องมีการสื่อสารเชิงบวกของสังคม สื่อสารอย่างจริงจัง ไม่ให้มีการสร้างเฟคนิวส์ เรื่องที่เคยไม่สมเหตุสมผล เรื่องที่เอาไปขยายผลในทางลบต่อไป พยายามระมัดระวังเรื่องการสื่อสาร ให้สื่อสารอย่างประณีตด้วย โดยใช้ปัญญา
ประการที่สำคัญคือ พยายามที่จะเป็นพื้นที่
อินคลูซีฟ ในที่นี้หมายถึงไม่ตัดอะไรทิ้งไป หรือตัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออก เป็นพื้นที่ที่มีขอบเขตชัดเจน อย่าให้เกิดความคาดหวังว่าจะทำได้มากกว่านี้บ้าง ทำอย่างนั้นสิอย่างนี้สิ เพราะคนก็จะคาดหวังกันไปต่างๆ นานา ว่าไม่เห็นได้ดั่งใจเลย มีพื้นที่ขอบเขตให้ชัดเจนว่าทำได้แค่นี้นะ ว่ากันไป
ส่วนปัญหาที่ควรจะนำมาพูด ต้องดูพลวัตของสังคมประกอบด้วย หากพูดแล้วมีกรณีอื่นเข้ามาแทรก ถ้าลำดับความสำคัญสูงกว่า ก็สลับได้ ทั้งนี้ ต้องดูพลวัตของสังคม เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็กำลังจะเกิดขึ้น แต่หากไม่เกิด หรือเกิดขึ้นแบบบิดพลิ้ว เวทีนี้ก็มาพูดกันได้ว่า ถ้าบอกว่าแก้ไขสังคม แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างใหม่ เอาเข้าจริงแล้วหมกเม็ดเหลือเกิน รับไม่ได้ ก็ต้องรีบมาพูด ให้ไม่มีหมกเม็ด ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นดี จะมีการทำประชามติ จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เกิดการทำประชามติที่ไม่มีการแทรกแซงกระบวนการด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม เช่นนั้นก็โอเค อาจจะไม่ต้องคุยเรื่องนี้ก็ได้
อย่าไปบอกกระบวนขั้นตอนของการดำเนินการล่วงหน้า คอยดูว่ามีอะไรควรจะคุย ณ เวลานี้เราก็คุยกัน และอะไรหวังผลก็ควรจะคุย อะไรเป็นเพียงแค่จินตนาการ หรือการตั้งประเด็น การพิจารณาจะต้องใช้ระยะเวลานาน ก็คุยได้ แต่ต้องเข้าใจว่าคุยกันเพื่อตั้งประเด็นให้เกิดการทำความเข้าใจกันต่อไป ไม่ใช่ทุกคนต้องหวังผลในลักษณะเป็นรูปธรรมในทันทีก็ได้ แต่ก็ต้องมีบ้าง เพราะการพูดคุยกันเป็นนามธรรม ตามอัตวิสัย คุยไปเรื่อยๆ อาจจะเข้าอีหรอบเดิมก็เป็นได้

 

Advertisement

จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะนักวิชาการด้านนิติศาสตร์

ให้ความเห็นกรณี ครม.มีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการที่ชื่อว่า คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกประเทศ จะมีตัวแทน 7 ฝ่าย ทั้งรัฐบาล ผู้แทน ส.ส.รัฐบาล ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว. ผู้ชุมนุม และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ เพื่อมาทำหน้าที่ในการเสนอแนวทางฝ่าวิกฤตประเทศ ว่าจริงๆต้องตั้งคำถามกลับไปว่า ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร มีกรอบในการทำงาน มีบทบาทหน้าที่อะไร ผลลัพธ์เมื่อสรุปออกมา ทำเพื่ออะไร มีอำนาจในการบังคับรัฐบาลได้หรือไม่ มีกรอบเวลายาวนานแค่ไหน ที่สำคัญจะเป็นที่ยอมของฝ่ายขัดแย้งหรือไม่ ลักษณะการตั้งคณะกรรมการแบบนี้เหมือนกับเป็นการยื้อเวลามากกว่า ควรจะมีกระบวนการ วิธีการที่ดีกว่านี้ มีหรือไม่ น่าจะมี อย่างในบางเรื่อง อาจจะทำมากกว่าการพูดคุยกัน หรือบางเรื่องที่มีการพูดคุยกันแล้วสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมก็ทำได้ทันที ควรมีอะไรทำได้รวดเร็วกว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ปัญหาเกิดขึ้นกว่า 2 เดือน ก็ยังไม่ได้มีแนวทางในการปัญหาแก้ปัญหาที่ชัดเจน ในขณะที่ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอ่อนแอทั้ง 3 ด้าน
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมองว่าจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน ก็ควรจะให้บทบาทของคนนอก อาจจะเป็นภาคประชาสังคม นักวิชาการ และทั่วไป เข้ามาร่วมมากกว่า ส.ส. ส.ว. หรือส่วนราชการ เป็นสัดส่วนที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ดีกว่า ที่สำคัญผลลัพธ์ที่ได้ควรจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติและส่วนรวมมากที่สุด
หากนำไปเทียบกับคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ตั้งขึ้นภายหลังเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 53 ในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องย้อนกลับไปดูว่าคณะกรรมการในขณะนั้นมีความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอย่างไร หรือไม่

 

Advertisement

ไพสิฐ พาณิชย์กุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

คิดไม่ออกและไม่รู้ว่าจะให้ความเห็นอะไรได้ เรียกว่าไม่รู้จะตอบอย่างไรดี เพราะ Hidden (ฮิดเดน) หรือสิ่งที่ซ่อนอยู่ของแต่ละฝ่าย เราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร อาจเริ่มจากคนที่พอจะคุยกันได้ในแต่ละฝ่าย ที่ไม่ใช่คนที่มีความคิดสุดโต่ง มาเป็นจุดเริ่มต้น แต่ก็อย่างที่เราทราบกันดีว่า คนลักษณะนี้ก็จะไม่ใช่คนที่ตัดสินใจเป็นคนสุดท้ายหลังการคุยกันอยู่ดี ก็จะเกิดปัญหาอีก เพราะความขัดแย้งไม่ใช่ระนาบเดียว แต่มีคู่ขัดแย้งกันหลายระนาบ และที่สำคัญในฝ่ายการเมืองเราพอจะทราบได้บ้าง แต่ฝ่ายของคนที่ไปชุมนุม มีคนที่เราไม่รู้จัก กลุ่มที่เคลื่อนไหวในโซเชียลอีก เราไม่รู้อะไรเป็นอะไรเลย จึงบอกว่าครั้งนี้ยาก เพราะมีคนในพื้นที่โลกแห่งความเป็นจริงที่เป็นตัวคนเป็นๆ กับคนในพื้นที่โลกเสมือนจริง จึงบอกว่ายากมาก เพราะมีการกลับไปกลับมาระหว่าง 2 พื้นที่ ที่เราไม่รู้ตัวว่าใครเป็นใคร แล้วเราจะไปเริ่มต้นคุยกับใครได้
แม้ว่ามีความตั้งใจจะแก้ปัญหาจริง แต่ใครเป็นใครกันบ้าง ไม่รู้อะไรเป็นอะไรจริงๆ คนจะพูดคุยกันไม่มีความรู้ในเรื่องจิตวิทยาสังคม เพราะส่วนหนึ่งคือเรารู้น้อยมาก จึงตอบไม่ได้ว่า เมื่อเราโยนลูกเต๋าลงไปแล้วจะออกมาหน้าไหน สำหรับผม จนปัญญาจริงๆ ในการจะเสนอโมเดลแก้ปัญหาในครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image