‘นักวิชาการ’ส่องประเด็นร้อน หมายจับสิ้นผล!?

‘นักวิชาการ’ส่องประเด็นร้อน หมายจับสิ้นผล!?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการอายัดตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมืองซึ่งถูกจับแล้ว ย่อมถือว่าหมายจับใช้ไม่ได้ หากเห็นว่าจำเป็นต้องควบคุมตัว ต้องไปยื่นขอหมายจับใหม่อีกครั้ง และการที่ผู้ต้องหาถูกจับและควบคุมตัวในคดีอื่น หากพนักงานสอบสวนในอีกคดีได้แจ้งข้อหา และสอบสวนในสถานที่ถูกคุมขัง ระหว่างการสอบสวนคดีอื่น ย่อมถือเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาถูกจับแล้ว

 

Advertisement

พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล
ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

เหตุในการออกหมายจับนั้น พนักงานสอบสวนไม่สามารถที่จะออกหมายจับเองได้ ปัจจุบันกฎหมายให้อำนาจศาลเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุญาตออกหมายจับบุคคลหรือไม่ โดยพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ทำสำนวนหรือทำเรื่องขึ้นไปให้ศาลเป็นผู้พิจารณา โดยต้องแสดงเหตุว่าจะออกหมายจับบุคคลดังกล่าวนั้นเพราะอะไร เเละมีเหตุมาจากอะไร โดยเมื่อมีการออกหมายจับแล้วหมายจับนั้นจะมีผลจนกว่าจะจับตัวผู้กระทำความผิดตามหมายจับที่ระบุไว้ได้ หรือคดีมีการผ่านไปหลายสิบปีเเละคดีสิ้นอายุความตามหมายจับ หรือกรณีที่ผู้เสียหายมีการยอมความ ซึ่งการสิ้นผลของหมายจับจะแตกต่างตามเหตุและปัจจัยแต่ละประเภทคดี

เหตุที่จะเพิกถอนหมายจับได้มีหลายอย่าง อาทิ คดียักยอกทรัพย์ผู้เสียหายได้รับการชดใช้พอใจและไม่ติดใจเอาความ สามารถให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายจับจากศาลได้ หรือกรณีที่ผู้ต้องหาตามหมายจับมามอบตัวโดยได้ปรากฏต่อหน้าพนักงานสอบสวนหมายจับก็จะสิ้นผลเพราะไม่มีความจำเป็นเเล้ว

Advertisement

เรื่องนี้ต้องดูว่าเหตุของการออกหมายจับเพราะว่าผู้ที่สงสัยว่ากระทำความผิดมีเหตุหรือพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือจงใจไม่ปรากฏตัวเช่นออกหมายเรียกแล้วไม่มาพบพนักงานสอบ จึงเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลได้

ในกรณีที่บุคคลมีหมายจับในหลายพื้นที่เเละปรากฏตัวในพื้นที่หนึ่งโดยที่ยังมีอีกหลายหมายจับในพื้นที่อื่น ปกติตำรวจจะมีฐานข้อมูล ที่จะทราบว่าบุคคลคนนี้มีหมายจับในพื้นที่อื่นหรือด้วยหรือไม่ ก็จะต้องประสานพนักงานสอบสวนของพื้นที่อื่นๆ ที่มีหมายจับ เพื่อแจ้งว่าผู้ต้องหาที่มีหมายจับบุคคลนี้ได้ออกมาปรากฏต่อหน้าพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนในพื้นที่อื่นก็จะสามารถประสานตัวเพื่อขออายัดตัวผู้ต้องหาไปพบหรือแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีได้ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการประสานงานกัน เเต่หมายจับใน สน.อื่นๆ จะยังถือว่าไม่สิ้นสภาพจนกว่าจะได้ตัวผู้ต้องหานั้น

กรณีที่มีการจับกุมนักศึกษาผมไม่เเน่ใจว่าที่เขาโดนออกหมายจับ เขาได้ไปมอบตัวมาแล้วหรือยัง ถ้ามีการมอบตัวเเล้วหมายจับนั้นก็ไม่มีความจำเป็นเเละมีผลใช้ได้เเล้ว ถือว่าสิ้นสภาพเเล้วเพราะอย่างที่เรียนเหตุผลในการออกหมายเพราะยังจับกุมตัวไม่ได้ เรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดว่าเป็นหมายจับฐานใดเเละมีการไปพบพนักงานสอบสวนเเล้วหรือไม่

ดังนั้น การจับกุมตามหมายจับว่าจะต้องคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เพราะไม่ว่าคุณจะยากดีมีจนเเละมีสถานภาพทางสังคมอย่างไร คุณจะต้องมีสิทธิและได้รับการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ดังคำที่ว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญจะต้องมีอันตกไป ในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จะต้องยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก การจับการค้นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของบุคคล จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น

ผมมีข้อสังเกตที่กล่าวไว้เสมอคือ ปัจจุบันนี้ตำรวจยังขึ้นอยู่กับการเมือง นายกรัฐมนตรียังเป็นประธาน ก.ตร. ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 2547 เรียกได้ว่ายังเป็นกลไกของฝ่ายการเมืองอยู่ ฉะนั้น ถ้าพูดในแง่หลักสากลยิ่งต้องพึงระวังในเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

การดำเนินคดีในบางคดี อย่างกรณีนายภาณุพงศ์ หรือไมค์ จาดนอก ยืนชูป้ายตอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไประยอง กล่าวอย่างตรงไปตรงมา เช่นนี้ไม่น่าเป็นคดีได้ด้วยซ้ำ การออกไปแสดงความไม่พอใจ เหตุใดจึงเป็นคดีได้ เรียกว่าเป็นเทคนิคทางกฎหมายอย่างหนึ่ง เหมือนการชกมวยที่มีหมัดแย็บ คดีเล็ก คดีน้อยก็ฟ้องไปก่อน ให้เกิดความวุ่นวาย ขุ่นข้องใจ ไม่สบายตัว ถ้าทำผิดซ้ำก็จะโดนพ่วงนู่น นี่ นั่นไปด้วย นี่เป็นกรณีตัวอย่าง

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเรื่องวิธีพิจารณาความอาญา มีนักกฎหมายหลายคนอธิบายว่า สิ้นผลไปแล้ว เนื่องจากผู้ต้องหาอย่าง ไมค์ นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ ไปรายงานตัวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหมายจับจะออกมาก็ต่อเมื่อ เรียกแล้วผู้ต้องหาไม่มารายงานตัว ซึ่งได้เรียกไปแล้ว และรายงานตัวแล้ว ตามหลัก หมายจับจึงต้องสิ้นผลไป

ที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นการใช้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย เพราะการจับกุม 1.ต้องแสดงบัตรประจำตัว มีระเบียบ ขั้นตอนปฏิบัติ ในการทำคดีอาญา เขียนไว้ค่อนข้างชัดว่าการแสดงตนเพื่อเข้าจับกุม จะต้องมียศไม่น้อยกว่าชั้นสัญญาบัตร และต้องแสดงตน เป็นระเบียบที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ ดังนั้น การที่บอกว่าไม่มีบัตรแสดงตัว จึงเป็นการจับกุมที่ไม่ชอบ ผลที่ตามมาจึงมีโอกาสกระทบต่อคดีสูง

สมมุติว่าวันนี้ไม่ใช่คดีของแกนนำผู้ชุมนุม แต่เป็นคดียาเสพติด การเข้าจับกุมโดยไม่แสดงบัตรประจำตัวนั้น หากขึ้นไปถึงชั้นศาล ทนายความเก่งๆ ของฝ่ายจำเลย บอกว่า การจับกุมนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมไม่แสดงตัว เสร็จเลย การไปสืบสวน และพยายามจับด้วยความยากลำบาก จะถือว่าที่ผ่านมาสูญเปล่าทั้งหมด หากไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า เพราะถือว่ากระบวนการเสียไปตั้งแต่ต้น คือหลักที่คล้ายกับที่พูดกันในอดีต ผลไม้ของต้นไม้ที่เป็นพิษ (Fruit of the poisonous tree) คือหลักที่ไม่ชอบ ศาลรับฟังไม่ได้ จับแกนนำผู้ชุมนุม โดยไม่แจ้งสิทธิอะไรเลย ซึ่งเวลาเราดูหนังต่างประเทศ ตำรวจจะบอกว่า คุณมีสิทธิที่จะไม่พูด เพราะคำพูดของคุณอาจจะนำไปปรักปรำในชั้นศาลได้ ในทางกฎหมายเรียกว่า Miranda Warning ต้องแจ้งสิทธิ เพราะคนที่ถูกจับอาจตระหนก ตกใจ พูดอะไรออกไปโดยไม่รู้ตัว ตำรวจบันทึกเสียงไว้ และอาจนำไปปรักปรำในชั้นศาลได้ เพราะคนเราจะปรักปรำตัวเองไม่ได้

หากการจับกุมไม่มีการแจ้งสิทธิ หรือแสดงบัตร ศาลในต่างประเทศถือเป็นการจับกุมที่ไม่ชอบ ทำให้ผลของคดีจบทันที ต้องปล่อยตัว ส่วนกรณีที่ตามไปจับในโรงพยาบาล ก็ต้องดูว่ามีการแสดงหมายหรือไม่ คืออีกข้อเท็จจริงที่ต้องติดตามต่อไป แต่ปัญหาคือ สิทธิของบุคคล ที่มีสิทธิรักษาตัวในโรงพยาบาล เหมือนที่ทนายความพูดว่า ไม่จำเป็นต้องไปแสดงตัวจับกุม เพราะยังอยู่ในความดูแลของสถานบริการทางด้านสาธารณสุข ดังนั้น ในทางกฎหมาย ถ้าไม่มีทีท่าจะหนี เห็นว่าก็ไม่สมควรที่จะจับดำเนินการใดๆ เพราะตำรวจมีข้อมูลและสถิติอยู่ ออกหมายสารพัด แกนนำเหล่านี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะไม่ไปรายงานตัว เต็มที่คือส่งผู้แทนไปขอเลื่อนนัด จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องทำขนาดนั้นด้วยซ้ำ

ระบบกฎหมายของบ้านเรา พังมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 49 คดีซึ่งเป็นที่ถกเถียงในวงการกฎหมายอย่างมาก คือ คดียึดทรัพย์นายทักษิณ ย้อนหลังราว 3.6 หมื่นล้าน ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีการใช้กฎหมาย เพิ่งมาออกภายหลัง เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังและเป็นโทษ ซึ่งถกเถียงกันว่าต้องใช้กับคดีอาญา แต่นี่ไม่ใช่ความผิดอาญา เป็นคดีทางวินัย กฎหมายย้อนหลังใช้ได้กรณีเดียว คือย้อนหลังและเป็นคุณให้กับบุคคล แต่กรณีนี้เป็นโทษ

มีข้อถกเถียงกันในวงการกฎหมายทั่วโลก ความจริงได้ มีรสนิยมทางการเมืองแบบใดก็ได้ แต่การตัดสินที่บังเอิญไปตรงกับรสนิยมทางการเมือง บางครั้งก็มีหลักเรื่องความเป็นกลาง คือ ต้องไม่เอารสนิยมทางการเมือง เข้าไปจับกับการทำหน้าที่ตรงนั้น ตัวอย่างเช่น ผู้พิพากษาศาลสูงของสหรัฐอเมริกา มีความอิงกับการเมืองสูงมาก เพราะเลือกตัวประธานาธิบดีจะเห็นว่าบางครั้งมีการเมืองสอดแทรกบ้าง บางครั้งไม่มี หากมีรสนิยมทางการเมืองแล้วนำมาแทรกการทำหน้าที่ จะต้องสามารถหาเหตุผลที่หนักแน่นและไม่สามารถโต้แย้งได้ขึ้นมาในการทำหน้าที่

หรือกรณีถือหุ้นสื่อที่คนกังขา กฎหมายบอก ห้ามประกอบกิจการสื่อ ไม่ได้เขียนว่าประกอบกิจการแล้ว มีหรือไม่มีรายได้ นี่คือการตีความเพื่อขยายฐานทางกฎหมายออกไป เมื่อไปเทียบกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจที่มีการจดทะเบียนปิด กลับมองว่า ปิดแล้ว แต่ก็สามารถจะรันกลับมาใหม่ได้ทุกเมื่อ กับอีกกรณี เป็นสื่อจริง แต่ไม่มีผลประกอบการที่ทำให้เกิดรายได้ จึงไม่ผิด ดังนั้น เวลาที่คนพูดว่าระบบกฎหมายมีสองมาตรฐาน พูดแค่ตรงนี้ไม่ได้ เพราะระยะเวลาที่ไม่มีมาตรฐานย้อนไปตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 49 แล้ว

นอกจากนี้ การเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆ่าคนตาย ได้รับการประกันตัวด้วยวงเงินเพียง 350,000 บาท แต่จัดม็อบ ไม่ได้รับการประกันตัว เป็นความผิดร้ายแรง โทษอุกฉกรรจ์ เกรงว่าจะหลบหนี ทำให้ตั้งคำถามว่าดูประหลาดดี

ปัจจุบันในการสอบสวนคดี โดยเฉพาะคดีอาญาของไทย ค่อนข้างอิสระ สำนักงานสอบสวนสามารถขอหมายศาลได้ ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วย เพราะอย่างน้อย ศาลเป็นผู้กลั่นกรองแล้ว 1 รอบ แต่จะมีระบบบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ที่ว่า ตำรวจไม่มีอำนาจในการขอออกหมายจับจากศาล ต้องให้อัยการกลั่นกรอง โดยในทางกฎหมายอ้างว่า อัยการทำหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนอีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะไปร้องขอต่อศาล คือสิ่งที่ต่อสู้กันมาอยู่ตลอด

ปัญหาเท่าที่มองเห็น คือ ณ ปัจจุบัน โครงสร้างทางกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรอาจจะมีปัญหาบ้าง แต่ทำให้โครงสร้างไปต่อได้ ปัญหาคือ การตีความ บังคับใช้กฎหมาย การใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ไม่มีชีวิตกลายเป็นอาวุธที่ใช้ในการโจมตีขั้วอำนาจทางการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับอำนาจรัฐ บางคดี เช่น ไมค์ คือตัวอย่างที่ชัดว่าไม่มีสาระอย่างมาก ที่ไปชูป้ายประท้วง พล.อ.ประยุทธ์

วิธีแก้ปัญหา ส่วนตัวมองว่าภาครัฐต้องใจกว้าง การชุมนุมเป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง ดังนั้น ประชาชนอยากชุมนุมก็ให้ชุมนุมไป ส่วนตัวก็ยังไม่เข้าใจในวันที่สลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันนั้นสลายทำไม มีอะไรให้ฉีดน้ำ ม็อบรุนแรงขนาดไปเผาห้างหรือไม่ เหตุใดจึงต้องสลายการชุมนุม รัฐบาลควรเคารพเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลมีหน้าที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ถ้ารัฐไม่ฟังเสียงประชาชนไม่ว่ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม จะยิ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจในประเทศ

จำได้ว่า ครั้งหนึ่งนายทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ว่าจะดูแลจังหวัดที่เลือกเขาก่อน กลายเป็นไฟลามทุ่งครั้งใหญ่ คนไม่พอใจ กรณีนี้เช่นกัน แปลว่ารัฐบาลไม่ฟังเสียงของคนที่ออกมาประท้วง แต่ฟังเท่าที่อยากฟัง เป็นภาวะ Echo Chamber ฟังแต่พวกกันเอง สุดท้ายไม่มีใครได้ประโยชน์อะไร ข้อเสนอบางข้อของเยาวชนเอง ส่วนตัวมองว่าเป็นข้อเสนอที่สมควรจะต้องรับไปพิจารณา เช่น พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ไม่ให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ซึ่งคนอย่างนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาขานรับ จึงเชื่อว่ามีสัญญะบางอย่างที่ส่งผ่านไปแล้วว่า แม้แต่คนกลุ่มที่ดูเหมือนว่าจะเป็นพวกเดียวกันกับ พล.อ.ประยุทธ์เอง ก็ยังไม่โอเคด้วยแล้ว ถ้ายังไม่รับฟังอีก สถาบันทางการเมืองของเราจะพังทลายในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image