ประเมินโมเดล‘สมานฉันท์’ กุญแจดอกไหนไข‘ทางออก’

ประเมินโมเดล‘สมานฉันท์’ กุญแจดอกไหนไข‘ทางออก’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการต่อข้อเสนอสถาบันพระปกเกล้า เกี่ยวกับโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ใน 2 รูปแบบ 1.เป็นข้อเสนอของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีผู้แทน 7 ฝ่าย อาทิ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว. ตัวแทนรัฐบาล และตัวแทนขององค์กรอื่น หรือ 2.มีคนกลางที่มาจากการเสนอของฝ่ายต่างๆ หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้สรรหา หรือแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว

รศ.ดร.วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

เมื่อวิเคราะห์โมเดลแรกที่นายจุรินทร์เสนอ ก็เห็นด้วย จุดเด่นคือ ครอบคลุมผู้ที่เกี่ยวข้องที่น่าจะหาทางออกร่วมกันได้ แต่จุดด้อยคือ ขณะนี้พรรคเพื่อไทยไม่ร่วมด้วย กลายเป็นเงื่อนไขขึ้นมา จึงยังไม่รู้ว่าส่วนอื่นใน 7 ฝ่ายตามโมเดลแรก โดยเฉพาะฝ่ายเยาวชนที่ร่วมชุมนุมจะยินดีส่งตัวแทนเข้าร่วมหรือไม่

Advertisement

พรรคเพื่อไทยคล้ายกับเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ส่วนตัวมองว่าตัวแปรที่สำคัญกว่า และเป็นเงื่อนตายคือ กลุ่มผู้ชุมนุม หากไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วม โมเดลแรกก็ไม่เกิดผล

รูปแบบที่ 2 คนกลางที่ประธานรัฐสภากำลังทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม ก็เป็นอีกโมเดลที่น่าสนใจ กล่าวคือพยายามใช้ประสบการณ์และผู้มีตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศ อาจบรรเทาอารมณ์ของทุกฝ่ายลงได้แต่ส่วนตัวเห็นว่า ต่อให้ผู้ที่มาเป็นคนกลางจะเป็นผู้ที่มีตำแหน่งในอดีตมากเพียงใด หากไม่เข้าใจวิธีการ การนำกระบวนการโอกาสล้มจะมีสูง

ตอนนี้ยังไม่เห็นท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวจะเข้าร่วมเจรจาหรือไม่ แต่จากที่ติดตามข่าวเห็นว่ายังไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่นัก อาจมองว่าเป็นการยื้อเวลา เป็นสัญญาณที่เริ่มไม่ค่อยดีว่ากลุ่มเคลื่อนไหวอาจไม่เห็นพ้องที่จะร่วมด้วย คืออีกเงื่อนที่จะนำมาตอบได้ว่าทั้ง 2 โมเดลจะสำเร็จหรือไม่ หากไม่เข้าร่วมก็จะขาดคีย์หลัก ส่วนคีย์รองคือ พรรคฝ่ายค้านก็ถือว่าสำคัญ

ด้านรัฐบาลก็ได้แสดงความจริงใจอย่างที่เห็นคือ นายกฯปฏิเสธการลาออก ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวยังคงเงื่อนไขชัดเจนว่า ถ้านายกฯไม่ลาออกจะไม่เข้าร่วม ก็จะล้มตั้งแต่ต้น ไม่มีประโยชน์จะเดินหน้าต่อเรื่องคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ เพราะคู่ขัดแย้งสำคัญไม่เข้าร่วม

แต่หากการพูดคุยสามารถเกิดขึ้นได้ คงต้องหาคนที่น่าจะได้รับการยอมรับจากผู้ชุมนุมและพรรคฝ่ายค้าน มีวาทศิลป์ คุยด้วยเหตุและผลที่จะโน้มน้าวให้เข้าร่วม เพื่อแสวงหาทางออก

รศ.สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ขอสนับสนุนรูปแบบที่นำคนกลางเข้าไปทำหน้าที่ หากแบ่งเป็นฝ่ายการเมืองจะมีปัญหาจากการรักษาจุดยืนส่วนตัว จะหาเหตุผลที่ลงตัวได้ยาก แต่ต้องรับว่าทุกวันนี้คนกลางที่ทุกฝ่ายในสังคมยอมรับหายากมาก บางคนไม่อยากเปลืองตัว เพราะหากแสดงความเห็นอะไรออกมา ก็จะถูกมองว่าอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง เพราะฉะนั้นหากจะไปทำหน้าที่ก็ควรลดทิฐิลงบ้าง ส่วนตัวเห็นว่าควรนำนักวิเคราะห์การเมือง รุ่นกลาง รุ่นใหม่ เข้าไปทำหน้าที่ให้เหมาะกับยุคสมัย

หากตั้งแล้วต้องทำงานแข่งกับเวลาอย่าให้ถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลาหรือไม่ ขณะเดียวกันต้องแสวงหาแนวทางใหม่ๆ มานำเสนอบ้าง ต้องยึดหลักการมากกว่าการใช้ความรู้สึก ไม่ทำให้การตั้งกรรมการจะต้องเห็นว่ามีคนแพ้หรือคนชนะ และถ้าหากผลสรุปถ้ามีข้อเสนอที่ดีแล้วบางฝ่ายไม่รับระวังสังคมจะบีบแล้วอาจมองเป็นผู้ร้าย

อย่าลืมว่าในอดีตเคยมีสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการประเภทนี้มาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร สำหรับปัญหาในวันนี้ เมื่อมีฟางเส้นสุดท้ายก็ต้องคว้าไว้ก่อน เข้าใจว่ารัฐบาลมีความพยายามเพื่อหาทางออก อะไรที่ทำได้ก่อนก็หาทำไปเรื่อย เพราะทางอื่นยังมืดมน ขณะเดียวกันก็ไม่ควรหยุดนำเสนอแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าทำให้ดูเหมือนเป็นการยื้อ ทางที่ดีก็ควรบอกให้ชัดว่าวันที่เท่าไหร่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านวาระ 3 ขณะที่การพูดคุยในคณะกรรมการ ถ้ามีใครบอกว่าให้นายกรัฐมนตรีออกไปก่อนก็คงจะยาก เพราะนายกรัฐมนตรีประกาศชัดเจนแล้ว สำหรับหน่วยงานเจ้าภาพอย่างสถาบันพระปกเกล้าเชื่อว่าทุกคนจะยอมรับ แต่พอมองลึกเข้าไปว่าในสถาบันนี้มีใครบ้าง ก็อาจจะมีปัญหาจากความไว้วางใจของบุคคลบางราย

ส่วนปัญหาที่จะต้องนำไปพูดคุยน่าเป็นห่วงกรณีมีการมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลนี้ เพื่อเข้ามากวาดล้างฝ่ายอื่น ส่วนองค์กรอิสระหรือผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นตอความขัดแย้งถ้าหากจะตั้งหลักใหม่ก็สามารถทำได้ เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าจะมี 2 มาตรฐาน หรือมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ต้องคิดว่าจะทำหน้าที่อย่างไรให้คนเคารพนับถือ หากทุกคำวินิจฉัยเป็นไปตามหลักการ ที่สำคัญสิ่งที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าจากสถานการณ์ความขัดแย้งในวันนี้ ควรคิดได้ว่าการใช้หลักนิติศาสตร์นำหน้า มาผิดทางหรือไม่ หรือควรจะใช้หลักรัฐศาสตร์ เพราะผู้กระทำความผิดกฎหมายทางการเมืองไม่ใช่อาชญากร

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

แนวทางตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เป็นความพยายามในการหาทางออกของรัฐสภา แต่อาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะปัญหาความขัดแย้งไม่ได้มาจากปัญหาเดิมๆ ของชนชั้นนำอีกต่อไป ตัวแปรความขัดแย้งในปัจจุบันเป็นคนหนุ่มสาวที่คาดว่าจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปมีบทบาทในคณะกรรมการแต่จะมีอดีตนายกรัฐมนตรีหรือบุคคลที่อาจมีชุดความคิดในการแก้ไขปัญหาแบบเดิมเข้าไปทำหน้าที่ บวกกับข้อเรียกร้องบางประการของคนหนุ่มสาวที่พุ่งเป้าไปที่การปฏิรูปในบางเรื่อง อาจเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้คณะกรรมการชุดนี้ไม่กล้าแตะต้อง เท่ากับว่าการตั้งคณะกรรมการก็ไม่เกิดมรรคผลเท่าที่ควร

ถามว่าหากคณะกรรมการตั้งใจทำจริงๆ จะสามารถแก้ปัญหาได้ตามแนวทางที่มี 3 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคือ นายกรัฐมนตรีจะลาออกได้หรือไม่ จะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร คณะกรรมการชุดนี้ยังพอมีความกล้าหาญที่จะพูด แต่ข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปบางเรื่องกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่คณะกรรมการชุดนี้จะกล้าพูดอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่

ที่สุดเชื่อว่า หากข้อเสนอบางเรื่องกลุ่มอนุรักษ์คงไม่ยินยอม ด้วยเหตุผลบางประการ

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในรูปแบบที่ 1 เชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 7 ส่วน ทั้งพรรคฝ่ายค้าน รัฐบาล และผู้ชุมนุม ข้อดีคือ เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมได้อย่างครบถ้วน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ หาทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้อย่างถูกจุด เพราะผ่านมุมมองของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ ส่วนจุดด้อยคือ ณ ปัจจุบัน ยังไม่เห็นบรรยากาศที่จะทำให้เกิดการสมานฉันท์ได้มากพอ เพียงแต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นความท้าทายของรูปแบบที่ 1 คือจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับและเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ได้อย่างไร

ส่วนรูปแบบที่ 2 เชิญอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา ข้อดีคือความเชื่อมั่นว่า คนที่เป็นกลางจะสามารถประสานงาน ตัดสินใจในบางเรื่องได้ สามารถทำให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกันด้วยความสะดวกใจ มีคนกลางมาช่วยประสาน เป็นกาวใจ ที่สำคัญคือแต่ละคนก็ผ่านประสบการณ์บริหารประเทศ มีวุฒิภาวะ และผ่านขั้นตอนตามกระบวนการของกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้การเสนอแนวทางออกชัดเจน มีความเป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติ

ความท้าทายของโมเดลที่ 2 คือการทำให้ทุกคนยอมรับผู้ที่จะมาเป็นกลาง เพราะคนที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง หรือเคลื่อนไหวทางการเมือง มีระดับการยอมรับแตกต่างกัน ตอนเริ่มต้นอาจจะดีแต่หากดำเนินการไป อาจมีคำถามขึ้นในวงคณะกรรมการว่ากรรมการมีความเป็นกลางจริงหรือไม่ เป็นแรงกระเพื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้

แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้รูปแบบใด จะต้องมีความเชื่อมโยงกับ 3 ประเด็น คือ 1.ความขัดแย้งเชิงการเมือง 2.ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างรัฐธรรมนูญ และ 3.ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง หาก 3 ประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ในการทำงานของคณะกรรมการไม่ว่ารูปแบบใด ก็จะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

ส่วนตัวมองว่า รูปแบบที่เป็นไปได้ในปัจจุบัน คือรูปแบบที่ 1 เพราะไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง การเชิญมาเป็นกรรมการน่าจะทาบทามง่ายกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับบรรยากาศด้วย ซึ่งตอนนี้เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เช่น มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกกล่าวหา

การตั้งโมเดลสมานฉันท์ในแต่ละครั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีคู่ขัดแย้งที่จะพูดความจริงว่า เกิดอะไรขึ้น สิ่งสำคัญคือแต่ละโมเดลต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แต่ละฝ่ายพูดคุยได้อย่างสบายใจ ความจริงแล้วเวลาที่ตั้งธงว่าจะพูดคุยเรื่องปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งเช่นนี้ ไม่สามารถทำได้ครั้งเดียวจบต้องมีการพบปะในแต่ละรอบ รอบแรกอาจพูดถึงความไม่สบายใจของแต่ละฝ่ายก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจ จากนั้นการประชุมครั้งที่ 2 และ 3 ก็ค่อยๆ ทำให้ประเด็นขมวด นำไปสู่ทางออกในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ตอนนี้จะเริ่มต้นอย่างไรก็ได้ แต่ลงท้ายต้องแก้ปัญหาได้

ส่วนแนวทางที่สมาชิกวุฒิสภาเสนอแนะรัฐบาลให้ตั้งกรรมการสมัชชาเด็กและเยาวชนว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ เพื่อเป็นทางออกประเทศ ติดตามการขับเคลื่อนประเด็นที่เยาวชนเรียกร้อง โดยรัฐเอาข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดสู่กระบวนการปฏิรูป ส่วนตัวมองว่าน่าสนใจมาก เพราะประเทศไทยปฏิรูปการศึกษากันมานานมากแล้ว แต่ปฏิรูปกันไปกลับไม่เคยประเมินหรือตั้งคำถามในเชิงคุณภาพ ว่าปฏิรูปไปได้ถึงไหน แต่หากมีกรรมาธิการ หรือหน่วยงานจากรัฐสภาคอยขับเคลื่อน ช่วยตรวจสอบได้ ก็จะมีสมองมาช่วยกันคิด จึงน่าจะเป็นผลดี

ในเรื่องคณะกรรมการสมานฉันท์ ส่วนตัวมีข้อเสนอดังนี้ 1.ต้องสร้างบรรยากาศความเชื่อใจของแต่ละฝ่าย 2.การเริ่มต้นพูดคุยต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย และสร้างพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้ง 3 ประเด็น ได้แก่ ความขัดแย้งทางการเมือง เชิงรัฐธรรมนูญ และเชิงอุดมการณ์ 3.จะสร้างกรรมการชุดใดก็ตาม การทำให้กลไกรัฐสภาสามารถทำงานได้นั้น หมายความว่าเรากำลังสร้างกลไกของระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งด้วย ดังนั้น ต้องช่วยกันผลักดันให้รัฐสภาทำงาน เป็นข้อเสนอที่ทุกฝ่ายอาจจะต้องมาร่วมในกรรมการชุดนี้ 4.กลไกการนำข้อเสนอของคณะกรรมการไปประยุกต์ใช้ให้เห็นผล ไม่ใช่มานั่งคุยกัน แต่ละฝ่ายไม่พูดความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น หรือพูดความจริงแล้วไม่สามารถนำไปสู่การกำหนดขั้นตอนแก้ปัญหาได้ คืออีกหนึ่งความท้าทายด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image