‘ทางออก’เวทีสมานฉันท์ เมื่อกลุ่ม‘ราษฎร’ไม่ขอร่วม

‘ทางออก’เวทีสมานฉันท์ เมื่อกลุ่ม‘ราษฎร’ไม่ขอร่วม หมายเหตุ - ความเห็น

‘ทางออก’เวทีสมานฉันท์ เมื่อกลุ่ม‘ราษฎร’ไม่ขอร่วม

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ กรณีกลุ่มราษฎรแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่ร่วมสังฆกรรมกับคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงย้ำใน 3 ข้อเรียกร้องสำคัญ

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

Advertisement

การที่สถาบันพระปกเกล้าพยายามมออกแบบโดยเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีทั้ง 4 คน เข้ามาร่วมเวทีพูดคุย มองว่า เป็นทางออกในการส่งแรงกดดันไปยังกลุ่มราษฎร แนวทางนี้ อาจเป็นวิธีการหาทางลงให้กับกลุ่มราษฎร อย่าลืมว่า อดีตนายกรัฐมนตรี เช่น สมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการแก้ไขปัญหาการชุมนุมและความขัดแย้งกับคนเสื้อแดง อภิสิทธิ์ก็เลือกที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการยุบสภาและเลือกตั้ง ส่วนอานันท์ ปันยารชุน ก็เข้ามาในช่วงวิกฤตทางการเมือง เข้ามารับผิดชอบแก้ไขปัญหา ควบคุม และจัดการการเลือกตั้ง ดังนั้น 2 ใน 4 แน่นอนว่า มีแนวทางการแก้ไขปัญหาออกไปในแนวทางที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนมาตัดสินใหม่ ขณะที่สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ดี หรือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิกฤตการเมือง พล.อ.ชวลิตก็เจอวิกฤตเศรษฐกิจ ของสมชายก็วิกฤตการณ์ทางการเมืองเสื้อสีพ้นไปด้วยอำนาจทางการเมือง และแรงกดดันทางสังคมด้วย

ดังนั้น สูตรต่างๆ ที่เอาคนเหล่านี้เข้ามา เห็นอยู่แล้วว่ารัฐบาลมีทางเลือกไม่มาก นอกจากว่าเดินตามเกมบังคับ กลับไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นสารตั้งต้นของความขัดแย้งทั้งหมด เพื่อลดพื้นที่ความชอบธรรมที่กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามจะขยายอำนาจการต่อรองออกไป เพราะเรื่องประยุทธ์ลาออก แน่นอนว่าสาระความสำคัญไม่เท่ากับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลายฝ่าย ผู้ที่มีส่วนได้เสียทางการเมืองอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ดังนั้น แรงกดดันสามารถสร้างน้ำหนักแรงกดดันตรงนี้ได้ ก็คิดว่า กลุ่มผู้ชุมนุมอาจจะต้องประเมินสถานการณ์ใหม่

อย่างไรก็ดี ท่านประธานชวน หลีกภัย ต้องเดินหน้าดีกว่าไม่มีอะไร อย่างน้อยแนวทางออกจากอดีตนายกฯหลายท่าน ไม่ว่าอานันท์หรืออภิสิทธิ์ ล้วนแต่มีมุมมองที่สังคมให้การรับฟัง มีน้ำหนักความน่าเชื่อถืออยู่ และอย่างน้อยทำให้เกิดการรวบรวมรายงาน หรือข้อสรุป ของคู่ความขัดแย้งในช่วงสมัยต่างๆ ตลอดระยะเวลา เกือบ 2 ทศวรรษ ส่วนตัวเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ และจะหาทางออกร่วมกันได้ในที่สุด

Advertisement

จากการให้สัมภาษณ์ของ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม สะท้อนให้เห็นว่า รองฯ วิษณุยังมีมุมมองบริบทการเมืองแบบเก่าว่าการชุมนุมทุกครั้งจะต้องมี Master Mind หรือผู้บงการทั้งหมด อย่าลืมว่ามีพัฒนาการของการชุมนุม เนื้อหาสาระที่รู้สึกว่ามีความซับซ้อนมากขึ้น บางครั้งกลุ่มผู้ชุมนุมอาจจะรู้สึกไม่พอใจรัฐบาลเป็นการส่วนตัว มากกว่าที่จะถูกกล่าวหาว่ารับจ้างชุมนุม จึงคิดว่ามุมมองเช่นนี้จะเป็นการตีกรอบแบบเดิม และเป็นการขยายวงความขัดแย้ง แน่นอนว่าฝ่ายการเมือง แม้กระทั่งรัฐบาลยังประเมินท่าทียุทธศาสตร์การชุมนุม เป็นแบบเก่าอยู่

แน่นอนว่า ฝ่ายตรงข้ามที่ไม่พอใจการรวมตัว หรือท่าทีขอคณะราษฎร เร่งระดมมวลชน มีแนวโน้มว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการเผชิญหน้า หากฝ่ายความมั่นคงไม่จัดการพื้นที่ หรือประสานงานให้ดี โอกาสที่จะเกิดการเมืองที่นำไปสู่วงจรของความขัดแย้งอย่างรุนแรงนั้น มีไม่มากก็น้อย

ส่วนตัวไม่ค่อยให้ราคาค่างวดอะไรนัก กับแนวทางที่ฝ่ายการเมืองนำเสนอ เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คิดว่าแรงกดดันทั้งหมดอยู่ที่อำนาจฝ่ายรัฐสภา ซึ่งเป็นโต้โผใหญ่ แรงกดดันอยู่ที่คุณชวน หลีกภัย ว่าจะนับหนึ่งเดินหน้าอย่างไร เพื่อทำให้ทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุยได้ไวที่สุด

ทั้งนี้ ฝ่ายการเมือง ต่างฝ่ายต่างก็แสดงมุมมองที่สร้างภาพลักษณ์เพื่อหาแนวร่วมให้กับตนเองมากกว่า ข้อเสนอต่างๆ แม้แต่ที่คุณหญิงสุดารัตน์เสนอ ฝ่ายรัฐบาลใช่ว่าไม่รู้ แต่ไม่ยอมจะไปติดกับ หรือเดินตามเกมที่บังคับเงื่อนไขเช่นนั้นมากกว่า

ท้ายที่สุด ถ้าให้อำนาจอดีตประธานรัฐสภาที่มีชีวิตอยู่ หรืออดีตนายกรัฐมนตรีทุกท่านเข้ามาจัดเวทีพูดคุยใหญ่ ก่อนจะนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการชุดเล็ก เพื่อเอาคู่ความขัดแย้งแต่ละฝ่ายมาพบกัน หรือคุยทีละรอบ แล้วจะได้ประมวลบทสรุปถึงเงื่อนไข กล่าวคือ ไม่ได้เจรจา แต่มาในลักษณะพูดคุย หรือเถียงกันให้รู้เรื่องมากกว่าที่จะมารับข้อเสนอแบบยื่นหมูยื่นแมวหรือถอยกันคนละก้าว คงไม่ใช่แบบนั้น

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ควรเดินหน้าต่อไป หากตัวแทนฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ตอบรับจะเข้าร่วม ก็เปิดประตูเอาไว้ มีความพร้อมเมื่อไหร่ก็เข้ามา เพื่อไม่ให้การทำหน้าที่ของกรรมการติดขัด อย่างน้อยก็ยังมีโอกาสได้รับฟังข้อมูลบางส่วน นำไปแก้ไขในประเด็นที่สามารถทำได้ แต่ถ้าทำอะไรไม่ได้เลย ก็น่าเสียดาย และกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะเชิญประธานองคมนตรี ที่เป็นอดีตนายกฯ หากเข้าร่วมได้จริงก็ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการขับเคลื่อนในบางประเด็น หากร่วมไม่ได้ประธานองคมนตรีก็อาจส่งตัวแทนเข้ามาร่วม

ขณะที่แนวทางข้อเสนอที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกก่อนเป็นเรื่องที่ท่านจะตัดสินใจเอง หรือถ้ากรรมการบอกให้ลาออก แต่อาจจะไม่สัมฤทธิผล เพราะบางฝ่ายอาจมองว่าการแนะนำให้ลาออกอาจจะไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการ และการตั้งชื่อคณะกรรมการ ควรใช้คำว่าปรองดองจะเหมาะสมกว่า “สมานฉันท์” เพราะการปรองดองหมายถึงการประนีประนอม

สำหรับการตั้งคณะกรรมการถูกมองว่าใช้เวลานานเกินไปหรือไม่ นายชวน หลีกภัย พยายามติดต่อผู้เกี่ยวข้องหรือดูทีท่า ขณะเดียวกันมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ต้องเปิดใจรับฟังในระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีความตั้งใจทำแล้วก็ควรยืดหยุ่นในแง่ของกรอบการทำงานหรืออำนาจหน้าที่ เช่น ตั้งคณะกรรมการ แล้วอาจตั้งเพิ่มได้ หรือมีคณะทำงานเพิ่ม และหากการทำหน้าที่ของทุกฝ่ายมีเป้าหมายที่หาทางออกก็ต้องรับฟังข้อเสนอจากกลุ่มผู้ชุมนุม และข้อเสนอของผู้ที่ไม่เห็นด้วยเพื่อให้เกิดความสมดุล ทุกเรื่องสามารถอธิบายได้

ต้องยอมรับว่าในระยะสั้นยังมองไม่เห็นทางออกของความขัดแย้ง อะไรที่ทำได้ควรทำก่อน ความขัดแย้งเกิดขึ้น ทุกฝ่ายต้องใช้ความพยายามมากกว่านี้ ถ้าทำใน 3 วัน 7 วันคงยาก ถ้าเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้จริงตามที่นายกฯ ออกมาแสดงเจตนา ก็ขอให้มีสัญญาณจาก ส.ว. 84 คน หรือมากกว่านั้นออกมายืนยันว่าไม่ขัดข้อง

โดย ส.ส.และ ส.ว.โหวตรับหลักการทุกญัตติแล้วไปดำเนินการต่อเนื่องในวาระ 2 จะถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในระยะสั้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ข้อเสนอเพื่อตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ เป็นผลจากแรงกดดันหลังมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ทำให้สภาต้องขยับเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา มองว่าเป็นการตัดสินใจที่ล่าช้ามาก เพราะข้อเรียกร้องของฝ่ายชุมนุมได้แผ่กระจายไปสู่การรับรู้ของคนทั้งประเทศ มีการขับเคลื่อนประเด็น ทำให้มีการใช้เครื่องมือและกลไกอำนาจรัฐในกระบวนการยุติธรรม เป้าหมายเพื่อสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำเข้าคุก

ประเมินว่ากระบวนการเหล่านี้ทำให้ฝ่ายรัฐสภาที่ยื่นข้อเสนอตั้งกรรมการ ล่าช้ากว่าเหตุการณ์ที่ล้ำหน้าไปแล้ว เมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมถูกกระทำจากรัฐอย่างไม่เท่าเทียม ยิ่งทำให้เห็นข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศจะถอยคนละก้าว แต่ในการปฏิบัติการยังมีการรุกปราบ รุกจับแกนนำผู้ชุมนุม ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความจริงใจเพื่อแก้ไขปัญหา

บทบาทของรัฐบาลถูกมองว่าล้มเหลวไปแล้ว จึงผลักให้รัฐสภามีบทบาท แต่การทำหน้าที่ของรัฐสภาในการอภิปรายทั่วไปในประเด็นการชุมนุม ถูกมองว่าเปิดเวทีกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเพื่ออภิปรายโจมตีผู้ชุมนุม ไม่ตอบโจทย์ของปัญหา การเสนอตั้งกรรมการ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝ่ายผู้ชุมนุมจะปฏิเสธไม่เข้าร่วม

การตั้งกรรมการ จึงเป็นเพียงยุทธวิธีโยนประเด็นให้สังคมเห็นว่าฝ่ายสภาพยายามใช้การพูดคุยในแนวทางสันติวิธี แต่จะบรรลุความสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ฝ่ายผู้ชุมนุมยังมองไม่เห็นถึงความจริงใจของรัฐสภา ปัจจุบันเสียงของรัฐสภาจำนวนมาก มีทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ถูกมองว่าเป็นเสียงที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นเสียงที่อาจจะขาดเหตุผล ทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์เสถียรภาพและอำนาจของรัฐบาล แต่ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะอภิปรายในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะการสอบถามว่าใครอยู่เบื้องหลังผู้ชุมนุม จึงไม่เข้าไปสู่ประเด็นในข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้ชุมนุม

ก่อนมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ในทางรัฐสภา ทางออกต้องหาให้เจอว่าอะไรคือเหตุของปัญหา หากระบบกลไกรัฐสภาจะสามารถแก้ปัญหาได้ ต้องเห็นว่าปัญหาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี หลังมีการออกแบบให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ เพื่อสืบทอดอำนาจ

จึงมีคำถามว่ากลไกของรัฐสภาหากจะแก้ปัญหา จะเอานายกฯ ออกก่อนได้หรือไม่ แล้วใช้กลไกของสภาเลือกนายกฯคนใหม่จากผู้ที่ถูกเสนอรายชื่อ เนื่องจากฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่เอาบุคคลที่เหลือ เชื่อว่าหากรัฐสภาพิจารณาเงื่อนไขนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในกลไกการสมานฉันท์ที่ดีที่สุด

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถ้ายังไม่คุย อย่างไรก็ไม่จบ ส่วนตัวพยายามมองในแง่ธรรมชาติของความขัดแย้ง ต่างฝ่ายต่างเพิ่งจะมีประเด็น และเพิ่งจบการประชุมสมัยวิสามัญในการร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออก สังเกตเห็นว่า การประชุมที่ผ่านมานั้น บรรยากาศของการพยายามที่จะเข้าไปแก้ไข เจรจาหาทางออกยังไม่มี เท่าที่ตั้งข้อสังเกต เวลาที่เราจะพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ควรจะต้องลดบรรยากาศของความขัดแย้ง สิ่งที่ภาครัฐทำได้คือควรจะลดอุณหภูมิทางการเมืองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อน ส่วนตัวที่เฝ้าสังเกตยังเห็นว่า ไม่มีการลดบรรยากาศความขัดแย้ง ในเชิงหลักการจะเห็นว่า ภาครัฐควรจะต้องเริ่มก่อนในฐานะผู้ถืออำนาจ

แรกเริ่มเกิดจากการที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นรัฐบาลยังไม่มีทีท่าตอบสนอง ถ้ารัฐบาลจริงใจตอบรับ และคุยตั้งแต่ต้น รีบแก้ไข ก็จะไม่มีประเด็น กระทั่งคนเริ่มออกมาชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเปิดสภา นำเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ภาพที่เห็น คือ ส.ว. และพรรคพลังประชารัฐเสนอให้ตั้ง กมธ. นี่คือจุดเปลี่ยนทำให้มวลชนเริ่มเกิดความไม่พอใจ และตั้งคำถามว่าต้องการเตะถ่วงหรือไม่ ไล่เรียงไปตั้งแต่ทางรัฐสร้างบรรยากาศให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้เกิดความขัดแย้งและอาจพัฒนาไปเป็นความรุนแรงได้ ต่อมาออกมาแรงมากขึ้น การสลายการชุมนุมกลายเป็นปัจจัยเร่ง ให้อุณหภูมิทางการเมืองเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่า กรณีสร้างความไม่ไว้วางใจสะสมตั้งแต่แก้รัฐธรรมนูญว่าไม่มีทีท่าพูดคุย ก็กลับใช้ความรุนแรงอีก ทำให้ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจทวีความรุนแรง และความโกรธเพิ่มมากขึ้น เริ่มเห็นภาพของคนในหน่วยงานรัฐบางส่วนปลุกระดมให้เกิดม็อบชนม็อบ

จะเห็นว่า โดยหลักเมื่อภาครัฐต้องการเจรจาหาทางออก ในฐานะผู้ถืออำนาจรัฐเหนือประชาชนต้องถอยก่อน เมื่อนายกฯพูดว่าถอย แต่ยังไม่มีการถอย มีแต่การเร่งอุณหภูมิให้เกิดความเกลียดชังมากขึ้น นายกฯต้องมีทีท่ายอมรับว่า “ตัวเองเป็นคู่ขัดแย้ง” จะแสดงออกในความรับผิดชอบทางการเมืองแบบใด ยุบสภา ลาออก ก็เป็นอีกส่วน แต่ตอนนี้คุยไม่ได้เพราะบรรยากาศไม่เอื้อ ถ้าจะทำให้คุยกัน ตัวนายกฯ เองต้องยอมรับว่าตัวเองเป็นคู่ขัดแย้ง ก่อนจะเปิดใจพูดคุย และทำให้บรรยากาศไม่รุนแรงแบบนี้ องคาพยพของรัฐต้องสั่งการและทำให้ผ่อนคลายลงกว่านี้ เพราะเต็มไปด้วยความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจจนการขยับเขยื้อนของรัฐบาลทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าจะมีการหมกเม็ดอะไรอีกหรือไม่ คุณจะทำอะไรอีก

อีกปัจจัยสำคัญของความขัดแย้ง คือ การยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้อยู่บนฐานคิดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่กลับสร้างความขัดแย้ง อย่างรัฐธรรมนูญ 60 จึงต้องสร้างกระบวนการให้มีความชัดเจน เพราะความขัดแย้งเกิดขึ้นจริง ต้องย้อนกลับไป เอาคู่ขัดแย้งตั้งแต่ปี 2549 มาคุย จะมองแค่ความขัดแย้งเบื้องต้นคือเยาวชนไม่ได้ จะแก้ไขแบบผักชีโรยหน้าไม่ได้ ผู้ชุมนุมออกมาแบบนี้ ให้แก้รัฐธรรมนญู ก็น่าจะจบ แต่ไม่น่าจะจบ เหมือนตอนเสื้อแดงออกมาเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมูญ แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหา เกิดการรัฐประหารอีก นี่คือปัญหาที่สั่งสม

ถ้ากระบวนการชัด คู่ขัดแย้งครบทุกคน ก็เปิดโต๊ะเจรจา เราจะได้เห็นภาพว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องและเป็นคู่ขัดแย้งตั้งแต่ปี 2549 เขามีปัญหาอะไร จะเกิดการเจรจา แต่ละคนจะบอกปัญหา รัฐรับรู้ และสามารถทำอะไรได้บ้างก็ตกลงกัน สำคัญคือ สิ่งที่ได้จากการเจรจาจะนำไปสู่การใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะกระบวนการสุดท้ายนี้ จะนำไปสู่การกำหนดโมเดล สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ด้วย

นี่คือเรื่องกระบวนการทั้งนั้น 1.กระบวนการต้องชัด 2.ลดเงื่อนไขที่รัฐจะไปเพิ่มความขัดแย้งให้ลดน้อยถอยลง บรรยากาศแบบนี้ไม่มีทางคุยกันได้ การแสดงออก คำพูดคำจา ท่าที ต้องลดน้อยลง ทุกฝ่ายอย่าสุมไฟให้เพิ่มมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image