พลิกปูม ‘โจ ไบเดน’ กว่าจะถึงทำเนียบขาว

โจเซฟ อาร์. ไบเดน ไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหม่ ไม่ใช่นักพูดตัวยง แต่ยังเคย ‘ติดอ่าง’ ด้วยซ้ำในสมัยเป็นเด็ก แถมยังไม่ใช่นักการเมืองที่เปี่ยมไปด้วยสีสัน แต่เมื่อตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งขันกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีที่เต็มไปด้วยลีลาแพรวพราว มีทักษะการพูดในระดับ ‘เซียน’ ที่รู้จักกันดีในแวดวงบันเทิง และสังคมชนชั้นสูง ไบเดนกลับถูกยกให้เป็น ‘ตัวเก็ง’ ที่จะได้รับชัยชนะ

แต่ชัยชนะของไบเดน ไม่ได้ได้มาโดยง่ายดายเหมือนกับที่หลายฝ่ายกะเก็งกันไว้ ตรงกันข้าม กลับสร้างประวัติศาสตร์การเลือกตั้งที่สุดสูสีคู่คี่และใช้เวลานานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองบางคน ถึงกับยกย่องว่าชัยชนะของไบเดนที่มีเหนือ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของพรรคเดโมแครต เทียบเท่ากับเมื่อครั้ง ‘เอฟดีอาร์’ แฟรงกลิน ดี. รูสเวลท์ ได้รับชัยชนะในยุคต้นของศตวรรษที่ 20

ต่อไปนี้คือเรื่องราวหลายๆ ส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวตนของ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ที่ครองอำนาจสูงสุดในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลกในปัจจุบัน

Advertisement

ชีวิตส่วนตัว

โจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดน จูเนียร์ ที่ถูกเรียกกันสั้นๆ ว่า โจ ไบเดนเกิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1942 และจะอายุครบ 78 ปีเต็มในวันที่ 20 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

ไบเดน เกิดที่เมืองสแครนตัน รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ก่อนที่ครอบครัวจะโยกย้ายมาอยู่ที่เมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา เมื่อไบเดน อายุเพียง 10 ขวบ สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากวิทยาลัยกฎหมายในสังกัดมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ สหรัฐอเมริกา แต่หันมายึดอาชีพนักการเมืองเต็มตัวตั้งแต่อายุ 24 ปี

Advertisement

โจ ไบเดน ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกมลรัฐเดลาแวร์ครั้งแรก เมื่อปี 1972 ท่ามกลางโศกนาฏกรรมของครอบครัว เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถยนต์ของครอบครัว ทำให้ ไบเดน สูญเสีย
‘เนเลีย’ ภรรยาคนแรกและ นาโอมิ ลูกสาววัยแบเบาะ และจำเป็นต้องสาบานตนรับตำแหน่งในห้องพยาบาล ขณะที่ดูแล ‘โบ’ และ ‘ฮันเตอร์’ ลูกชายอีก 2 คนในวัยกำลังซนที่ได้รับบาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนั้น

โจ ไบเดน แต่งงานใหม่อีกครั้งกับ จิล นักการศึกษาระดับดอกเตอร์ ที่เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่นอร์เธิร์น เวอร์จิเนีย คอมมิวนิตี้ คอลเลจ ในเวลานี้ ซึ่งผ่านการหย่าร้างมาแล้วเช่นกัน

ไบเดน ได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกต่อมาอีก 5 สมัย เคยลงสมัครเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรคเพื่อเป็นตัวแทนเดโมแครตลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 1988 และ 2008 ตามลำดับ ก่อนที่บารัค โอบามา ผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2008 จะเลือกไบเดน ให้เป็นรองประธานาธิบดี

นั่นหมายถึงว่า โจ ไบเดน คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมืองอเมริกันมายาวนานถึง 48 ปี มีประสบการณ์หลากหลายทั้งในรัฐสภา และในทำเนียบขาว ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีนี้

‘มิดเดิลคลาส โจ’

สมญานามทางการเมืองที่ไบเดนได้รับในช่วงเวลาที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเมืองมานานเกือบครึ่งศตวรรษ คือ ‘มิดเดิลคลาส โจ’ ที่สะท้อนถึงความเรียบง่ายในการใช้ชีวิตแบบชนชั้นกลางซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่ใช้ชีวิตเป็น ‘บุคคลสาธารณะ’ มาตลอดครึ่งศตวรรษ

ประสบการณ์ทางการเมืองและภายในฝ่ายบริหารของประเทศนี่เอง ที่ทำให้ไบเดนถูกมองว่าเป็นคนที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับสถานการณ์ไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศในเวลานี้

ไบเดน เคยพยายามลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จแม้ในการเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรค

ครั้งแรกในปี 1988 ลงเอยด้วยการประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขันหลังจากไบเดน ยอมรับว่า แอบคัดลอกสุนทรพจน์ของ นีล คินน็อค หัวหน้าพรรคแรงงานอังกฤษในเวลานั้นมาใช้ในการหาเสียง

ครั้งที่สอง ก็เป็นการถอนตัวในระหว่างการเลือกตั้งขั้นต้นเช่นเดียวกัน ก่อนที่จะเข้าร่วมทีมกับประธานาธิบดีโอบามา ในฐานะรองประธานาธิบดี

8 ปีของการทำงานในทำเนียบขาวกับ บารัค โอบามา เป็นช่วงที่ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับไบเดน มากที่สุด ไม่เพียงจากการปรากฏตัวคู่กับ
โอบามาบ่อยครั้งเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะอิทธิพลของไบเดนที่มีต่อแนวนโยบายที่กลายเป็นมรดกตกทอดของโอบามาต่อสังคมอเมริกัน ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘รัฐบัญญัติประกันสุขภาพที่เข้าถึงได้’ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ‘โอบามาแคร์’ ซึ่งได้รับการผลักดัน ‘เป็นการส่วนตัว’ อย่างมหาศาลจากไบเดน จนประสบผลสำเร็จในที่สุด

เชื่อกันว่าความเป็นคนเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเข้าใจในความเดือดร้อนของผู้อื่น ที่เป็นบุคลิกประจำตัวของ โจ ไบเดน นั้นสืบเนื่องมาจากโศกนาฏกรรมในครอบครัว ทั้งครั้งแรกที่สูญเสียภรรยาและลูกสาว และครั้งที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 อันเนื่องจากการเสียชีวิตของโบ ไบเดน ลูกชายคนโต จากมะเร็ง

ประสบการณ์การทำงานร่วมกับโอบามาได้ดี มีความสนิทสนมกับผู้นำผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกันเหมือน ‘พี่น้อง’ ส่งผลดีต่อเนื่องต่อความนิยมของคนผิวสีและชุมชนแอฟริกันอเมริกันในสหรัฐอเมริกาในการเลือกตั้งครั้งนี้

โลกทัศน์ของโจ ไบเดน

ประสบการณ์ยาวนานหลายสิบปีในวุฒิสภา สหรัฐอเมริกา ทำให้ โจ ไบเดน เชื่อมั่นสูงมากต่อการดำเนินการทางการเมืองแบบไม่เห็นแก่พรรค แต่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก

โจ ไบเดน เป็นผู้ยืนกรานให้เดโมแครตหยิบยื่นไมตรีไปยังสมาชิกวุฒิสภารีพับลิกัน แม้ในห้วงเวลาที่คนในเดโมแครตเองมองไม่เห็นแม้แต่คนที่จะเจรจาต่อรองด้วยในพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม

ไบเดน ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ ของวุฒิสภา ได้รับความเชื่อถือในแง่มุมด้านการต่างประเทศอยู่ไม่น้อย ว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้ ยังกล่าวสุนทรพจน์ไว้บ่อยครั้ง ว่าด้วยการแสดงบทบาทและปกป้องการเป็นผู้นำบนเวทีโลกของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศในสหรัฐอเมริกาหลายคนระบุตรงกันว่า โจ ไบเดน ไม่ใช่นักการต่างประเทศที่เชี่ยวกราก และยืนกรานเด็ดเดี่ยวตามความคิดเห็นส่วนตัว หากแต่เป็นคนที่พร้อมที่จะรับฟัง โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ที่ปรึกษาแวดล้อมใกล้ชิด

เจมส์ โทรบ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่าเมื่อไบเดนพูดถึงการฟื้นฟู ‘จิตวิญญาณอเมริกัน’ สร้างสหรัฐอเมริกาให้กลับมา
‘ทรงเกียรติภูมิ’ อีกครั้งในเวทีระหว่างประเทศนั้น

ไบเดนไม่ได้จำกัดเกียรติยศศักดิ์ศรีของประเทศไว้เพียงแค่เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือ สิทธิมนุษยชนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องการฟื้นฟูเกียรติภูมิของอเมริกันขึ้นมา เพราะเชื่อว่าการทำเช่นนั้นคือ การรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาพร้อมกันไปด้วยนั่นเอง

นักวิชาการบางคนเปรียบเทียบโลกทัศน์ของไบเดนว่า จัดอยู่ในระนาบเดียวกันกับประธานาธิบดีอย่าง แฮรี่ เอส. ทรูแมน หรือ ฮิวเบิร์ต ฮัมฟรีย์ ในอดีตที่ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่ม ‘เสรีนิยมสงครามเย็น’

นั่นหมายความว่า ไบเดนไม่ใช่คนที่จะลงมือดำเนินการในด้านการต่างประเทศ เพื่อ ‘โลกและประเทศชาติอื่นๆ’ เพียงอย่างเดียวเด็ดขาด

ในอีกทางหนึ่ง การดำรงสถานะนักการเมืองมาช้านาน ทำให้ เชื่อกันว่าไบเดนอยู่ในโลกของความเป็นจริงที่ต้องมี ‘การประนีประนอม’, การจำกัดความเสียหาย และการต่อรองแลกเปลี่ยน ซึ่งกันและกันไม่น้อย

แดเนียล เบนาอิม อดีตผู้เขียนสุนทรพจน์ให้ไบเดน ที่ปัจจุบันรับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษานโยบายตะวันออกกลางของว่าที่ประธานาธิบดี ชี้ให้เห็นว่า ไบเดนเข้าใจดีถึงความหมายของการต่อรอง เข้าใจถึงความกลัว ความกังวลของชาติอื่นไม่ว่าจะในแง่มุมทางการเมือง หรือทางมนุษยธรรม

‘นั่นทำให้ไบเดนเป็นคนที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการกำหนดยุทธวิธีและนำเอานโยบายด้านการต่างประเทศมาใช้ปฏิบัติ’ เบนาอิม
ระบุ

วิลเลียมส์ เบิร์นส์ นักการทูตอาชีพชาวอเมริกันที่ผันตัวมาเป็นนักวิชาการประจำคาร์เนกี เอนดาวเมนท์ เชื่อว่าความแน่วแน่ มั่นคง แต่เห็นอกเห็นใจและเข้าใจชาติอื่นๆ จะเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างยิ่งของ โจ ไบเดน

ในขณะที่ชาติที่หุ้นส่วนและพันธมิตรกำลังตั้งแง่ สงสัย ไม่ไว้วางใจต่อการยึดมั่นในพันธสัญญาของสหรัฐอเมริกา คุณสมบัติที่ไม่เหมือนใครของ โจ ไบเดน จะช่วยเป็นหลักประกันให้กับหุ้นส่วนเหล่านั้นได้ดียิ่ง

ซึ่งนั่นอาจเป็นสิ่งที่ทุกชาติกำลังต้องการและรอคอยอยู่ในเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image