จับทิศทางเลือกตั้ง อบจ. ‘ม็อบ-การเมือง’ชี้ผลแพ้ชนะ

จับทิศทางเลือกตั้ง อบจ.‘ม็อบ-การเมือง’ชี้ผลแพ้ชนะ

หมายเหตุมุมมองนักวิชาการกรณีสถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมจะเป็นปัจจัยส่งผลต่อการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 จังหวัดที่จะลงคะแนนพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 20 ธันวาคมหรือไม่

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

Advertisement

การเลือกตั้งท้องถิ่นในสนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แม้ว่าพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครเพื่อเสนอตัวในนามพรรคได้ แต่การหาเสียงเลือกตั้งคงไม่ต่างจากการเมืองระดับชาติ เพราะเลือกตั้งในสนามเดียวกัน ผู้สมัครส่วนใหญ่ก็กลุ่มเดียวกัน แต่การเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้แม้ว่าบริบททางการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็หนีไม่พ้นการใช้เครือข่ายอำนาจและบารมีของพวกบ้านใหญ่หน้าเดิม เป็นเรื่องปกติตราบใดที่วงจรการเมืองกับระบบอุปถัมภ์ ระบบพรรคพวกยังแยกกันไม่ออก

แม้ว่ากติกาในการหาเสียงครั้งนี้มีข้อห้ามในบางเรื่อง เช่น ห้ามข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ไปช่วยหาเสียงทั้งในและนอกเวลาราชการ ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ผู้สมัครบางรายกับผู้ที่เข้าข่ายในข้อห้ามในมาตรา 34 อาจจะอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน เพราะฉะนั้นปัญหาเหล่านี้อาจไปสู่การร้องเรียนและมีการวินิจฉัยตีความในภายหลัง

ไม่เห็นด้วยที่ผู้ควบคุมกติกามีการออกแบบสร้างกลไกกฎหมายให้มีการจับผิดในเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ และสิ่งที่น่ากลัวคือการนำเอาบางเรื่องจากข้อเสนอของคณะราษฎรไปใช้เพื่อโจมตีฝ่ายอื่น หรือทำให้ผู้ใช้สิทธิคิดว่าฝ่ายนั้นมีแนวคิดที่ต่างกัน ซึ่งคงหนีไม่พ้น ไม่ต่างยุคก่อนที่มีการป้ายสีคนเห็นต่างเป็นคอมมิวนิสต์ มาถึงยุคนี้ก็ยังเหมือนเดิมเพราะคิดว่าจะทำอย่างไรก็ได้ให้ชนะคู่แข่งโดยไม่ต้องสนใจวิธีการหรือมีการใช้วิชามาร แต่อย่าลืมว่ายุคนี้ประชาชนในเมืองหรือชนบทสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นพวกที่ชอบเล่นนอกกติการะวังจะถูกมองว่าล้าหลัง

Advertisement

หลังจากสนามเลือกตั้งท้องถิ่นว่างเว้นมานาน 8 ปี การหาเสียงครั้งนี้เชื่อว่าจะมีการหาเสียงในมิติใหม่ เพราะอย่างน้อยมีบางพรรคการเมืองได้ออกมาประกาศนโยบาย วิสัยทัศน์หรือมีวิธีการสร้างกระแสในสิ่งที่ทำแล้วคาดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์ แต่ในหลายจังหวัดก็คงจะมีการหาเสียงในลักษณะเดิมของกลุ่มการเมืองในสังกัดบ้านใหญ่ที่ยังใช้บริการของหัวคะแนน

สำหรับผู้ที่ลงสมัครนายก อบจ.ในนามพรรคการเมือง หากจะมองว่าจะอาศัยทิศทางกระแสการเมืองทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีแนวโน้มอาจจะยื้อออกไปอีกจากการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบางญัตติ หรือปมความขัดแย้งจากการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลหลายฝ่ายเพื่อหวังประโยชน์ในการหาคะแนนนิยม ขณะที่ผู้สมัครจะต้องคำนึงถึงความอ่อนไหวหรือความสนใจของประชาชนในแต่ละพื้นที่อาจจะมีความคิดเห็นที่ต่างกัน แต่เชื่อว่าการใช้สิทธิในการลงคะแนนน่าจะมีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองระดับประเทศ

เมื่อมองย้อนหลังช่วงหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเดือนมีนาคม 2562 ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในบางพื้นที่จากแนวทางการสร้างกระแสผ่านโซเชียลมีเดีย ดังนั้นการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ผลความสำเร็จของทฤษฎีบ้านใหญ่กับแนวทางในการหาเสียงแบบใหม่และบางคณะยังเชื่อมั่นจากผลจากการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่แล้วมีม้ามืด 80 กว่าเสียง จึงขอลองในสนามท้องถิ่นบ้างจากการใช้วิธีเดิม แต่การเลือกตั้งนายก อบจ.ไม่มีคะแนนตกน้ำ ถ้าแพ้คู่แข่งคะแนนก็ทิ้งน้ำ

แต่ถ้าคิดในทางสร้างสรรค์ก็ถือว่าบางคณะยังมีโอกาสได้เรียนรู้ของจริง และส่วนตัวอยากเห็นการแสดงวิสัยทัศน์หรือการเสนอนโยบายมีการเปิดเวทีดีเบตให้ประชาชนรับทราบว่าจะเข้าไปทำหน้าที่อะไรบ้าง เชื่อว่าหลายจังหวัดมีผู้สมัครนายก อบจ.ที่มีวิธีคิดใหม่ๆ เพราะในอนาคตการเลือกตั้งนายก อบจ.อาจปรับเปลี่ยนไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงจากการเสนอร่าง พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ต้องยอมรับว่า 9 ปีที่ คสช.แช่แข็งประเทศ 1.มีการตื่นตัวอย่างมาก พร้อมกับสถานการณ์ทางการเมืองในภาพที่มีความตึงเครียด ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความตื่นตัวสูง 2.เทคโนโลยี ที่แน่นอนว่านักการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่ใช้เครื่องมือในการสื่อสาร นำเสนอนโยบายที่ชัดเจน แต่หากดูในส่วนผู้สมัคร ส่วนใหญ่จะยังคงเป็นตระกูลการเมือง หรือนักการเมืองประจำจังหวัด ให้ความสำคัญต่อพื้นที่สนามการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ยังเป็นกลุ่มตระกูลเดิม อาจจะเป็นตระกูลการเมืองประจำจังหวัด หรือมีความใกล้ชิดกับพรรคการเมือง อาทิ พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย ที่มีการประกาศส่งผู้สมัครลงแข่งขันอย่างเต็มที่

นอกจากนี้อีกตัวแปรที่เกิดขึ้นคือ กลุ่มก้าวหน้า ที่หลายจังหวัดส่งในนามคณะก้าวหน้า และอาจจะมีอื่นๆ ปลีกย่อยไปบ้าง แต่ภาพรวมแล้ว การแก้ไขการปกครองส่วนท้องถิ่นมากว่า 9 ปี ทำให้คนตื่นตัวอย่างมาก ทั้งประชาชน ผู้สมัคร และพรรคการเมือง เพื่อรับใช้ประชาชนในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่น

ส่วนตัวมองว่าภาพรวมสถานการณ์บ้านเมืองมีผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย เพราะด้านหนึ่งมีลักษณะ “รัฐรวมศูนย์” เมื่อมีปัญหาก็ต้องไปกดดันที่ “การเมืองระดับชาติ” ซึ่งตอนนี้รู้สึกว่าไม่มีการตอบรับอะไรกลับมา สัญญาณล่าสุดเยาวชนบอกว่า ถ้ารัฐบาลไม่ยอมทำตามเงื่อนไข ก็จะไปช่วยผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล นั่นหมายความว่า ถ้าแคมเปญนี้ออกมา กลุ่มก้าวหน้าก็จะมีความได้เปรียบ คนอายุ 18-30 ปี หันมาให้การสนับสนุน บรรดากลุ่มผู้สมัครจากพรรคก้าวหน้าก็จะมีความได้เปรียบตรงนี้

ถ้าดูนโยบายต่างๆ ณ ขณะนี้พบว่ายังไม่ค่อยมีอะไรที่หวือหวาและเมื่อดูจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ชลบุรี ระยอง หรือในภาคตะวันออกส่วนใหญ่ก็ยังอิงตัวบุคคลเป็นหลัก อิงเครือข่าย ญาติ พรรคพวกและตัวบุคคลภายใต้ตระกูลการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ในการที่จะประสานเครือข่ายทางการเมืองทั้งหมด มีนโยบาย ใช่ว่าไม่มี แต่ความสนอกสนใจของผู้คนยังให้น้ำหนักส่วนนี้อยู่

แต่อีกด้านจะพบว่า มีกลุ่มก้าวหน้าและผู้สมัครอิสระอีกจำนวนหนึ่งที่พยายามนำเสนอนโยบาย ซึ่งบางครั้งประชาชนก็อาจคิดถึงความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนด้วย จึงต้องรอดูผลการเลือกตั้ง หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองท้องถิ่นและคนสนใจนโยบายอย่างมาก ก็แสดงว่าการเมืองของคนในท้องถิ่นเปลี่ยนไป แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นภาพชัด ยังพบลักษณะคู่ขนานกันไป ด้านหนึ่ง นักการเมืองท้องถิ่นที่เคยลงสมัครมาก่อน พยายามใช้ความสัมพันธ์แบบเดิม ด้านกลุ่มก้าวหน้าก็พยายามนำเสนอนโยบาย ท้ายที่สุดต้องดูว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน หากผลการเลือกตั้งออกมาแล้วกลุ่มตระกูลการเมืองเดิมได้ แสดงว่าประชาชนก็ยังมีวิธีคิดแบบเดิมอยู่ แม้จะเรื่องของนโยบาย แต่ท้ายที่สุดไม่ได้มีผลในการตัดสินใจของประชาชน

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านกฎหมายกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

การออกแบบคำถามในการทำโพล เพื่อสำรวจความเห็นว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะตัดสินใจเลือกนายก อบจ.ที่สังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ ยังไม่สามารถนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงที่สะท้อนความเป็นจริง เนื่องจากพรรคการเมืองบางพรรคส่งคนสมัครแต่ไม่ได้ใช้ชื่อพรรคโดยตรง พรรคการเมืองบางพรรคไม่ได้ส่งผู้สมัครทีมเดียว แต่ผู้สมัครใช้ชื่อทีมต่างกัน นอกจากนั้นยังมีกลุ่มการเมืองส่งผู้สมัครแต่มีบางฝ่ายไปร้องเรียนเพราะเข้าใจว่าทำหน้าที่เลียนแบบการทำงานของพรรคการเมือง

สำหรับการตัดสินใจลงคะแนนเชื่อว่าผู้สมัครนายก อบจ.ในรูปแบบใดก็ตาม จะมีองค์ประกอบจากกลุ่มที่ยังผูกพันกับฐานการเมืองเดิม กลุ่มที่ชอบนักการเมืองแบบเดิม กลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญต้องดูคุณภาพของตัวบุคคลบวกกับนโยบายหาเสียง ซึ่งเชื่อว่าการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้การหาเสียงจะมีความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 แต่ในลักษณะทางธรรมชาติของการเมืองไทย ที่อาจยึดติดกับระบบอุปถัมภ์ก็น่าจะไม่เป็นปัจจัยหลักเหมือนในอดีต ประชาชนเริ่มรู้ว่าการลงคะแนนไม่ใช่เรื่องของบุญคุณต่างตอบแทน และการจ่ายเงินเพื่อจูงใจคงจะมีบ้าง แต่ก็มีบางกลุ่มได้ประกาศว่าจะไม่ใช้ทุนในการซื้อเสียง เพื่อให้ประชาชนใช้วิธีคิดในการลงคะแนนจากนโยบายและวิสัยทัศน์ผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย

การเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้จะมีผลพอสมควรจากสถานการณ์ทางการเมืองระดับชาติ ที่ผ่านมาก็คงได้เห็นว่ามีบางฝ่ายพยายามจุดกระแสในบางเรื่อง จากการลงพื้นที่หาเสียงของบางกลุ่มการเมือง ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากจากการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อหลายปีก่อน และสิ่งที่ทุกคนได้รับรู้อย่างเสมอภาค คือ ข้อมูลจากปลายนิ้วบนโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในสังคมโซเชียลอาจทำให้ปรับเปลี่ยน เชื่อว่าอาจทำให้การเลือกตั้งบางพื้นที่เปลี่ยนแปลงบ้าง แต่คงไม่ใช้ลักษณะเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ยืนยันว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่นอน จะได้เห็นผู้บริหารท้องถิ่นในรูปแบบใหม่ๆ

สำหรับสิ่งที่น่ากังวลมาจากการกำหนดกติกาของ กกต.ที่ไม่เอื้อกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ส่วนเอกสารเผยแพร่ของ กกต.บางชิ้นก็แสดงให้เห็นว่า กกต.ไม่ได้เข้าใจการปกครองท้องถิ่น เช่น ระบุว่าสภาท้องถิ่นเป็นฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งคลาดเคลื่อนในหลักวิชาการ รวมทั้งการทำหน้าที่ของนายก อบจ.ในอนาคตที่ถูกควบคุมกำกับจากระบบราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แม้ว่าผู้สมัครนายก อบจ.ในบางพื้นที่แสดงวิสัยทัศน์ที่แหลมคมมาก เนื่องจากผู้สมัครพูดถึงการเลือกตั้งนายก อบจ.เหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งผู้บริหารจังหวัดโดยตรงใน พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง

สมชัย ศรีสุทธิยากร
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งนายก อบจ.มีผลเชื่อมโยงกับบรรยากาศการเมืองระดับชาติ เนื่องจากพื้นที่เลือกตั้งในแต่ละจังหวัด มีประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้รับรู้สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันที่หลากหลายและอาจมีความเห็นแตกต่างกัน สำหรับความเห็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลอาจจะถูกใช้เพื่อตัดสินใจเลือกบุคคลที่จะเข้าไปบริหารท้องถิ่นในจังหวัดนั้นๆ แม้ว่าโดยหลักการควรจะเลือกจากพื้นฐานของบุคคลนั้นเสนอแนวนโยบายที่มุ่งประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก หรือในหลักการที่บุคคลใดเป็นที่รู้จัก รู้ปัญหาในท้องถิ่นหรือสามารถเชื่อมโยงกลไกเครือข่ายในท้องถิ่นที่ทำประโยชน์ได้มากกว่า น่าจะถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกตั้ง

แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าวิธีคิดของประชาชนอาจจะเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มองแค่เรื่องของการทำประโยชน์ แต่อาจมองไกลไปถึงแนวคิด อุดมการณ์ทางการเมืองหรืออาจเป็นแนวคิดสมัยใหม่ที่ถูกนำเสนอในระดับประเทศ ก็ต้องรอดูผลว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าประเมินพื้นที่ที่เป็นเขตชุมนุมเมืองสูง น่าจะมีผลการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสำหรับพื้นที่กึ่งชนบทก็เป็นไปได้ว่าวิธีการตัดสินของผู้ใช้สิทธิลงคะแนนน่าจะเป็นแบบเดิม

สำหรับกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นปัญหาในการตีความกฎหมาย หรือการออกระเบียบของ กกต.ที่จำกัดรูปแบบของการหาเสียงรูปแบบต่างๆ มากเกินไปทั้งที่การเลือกตั้งที่ดี ควรทำให้ประชาชนได้เห็นทุกแง่มุมที่เป็นจริงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ถ้าผู้สมัครรายใดใครสนับสนุน แนวคิด อุดมการณ์อย่างไรหรือมีพรรคการเมืองหรือผู้สมัครจากพรรคใดสนับสนุน ก็ต้องเปิดเผยให้ประชาชนเห็นอย่างชัดเจน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจในการเลือกมากกว่าการตั้งกติกาที่จำกัดบทบาทของทุกฝ่ายไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องในทางเปิดเผย แต่ถึงที่สุดก็ยังมีการสนับสนุนในทางลับและไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชน ทำให้ผู้สมัครเกรงกลัวว่าการกระทำบางอย่างจะมีความผิดหรือไม่

ต้องยอมรับว่าการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. จะมีการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและทำให้ทุกคน ทุกพื้นที่มีโอกาสเท่าเทียมกันจากการใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งจะเป็นบทบาทสำคัญ ที่จะมีการนำข้อมูลที่หลากหลายไปประกอบการตัดสินใจ เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ทุกฝ่ายจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเต็มที่

แต่การควบคุมของ กกต.จะต้องดูว่ามีความเท่าทันหรือไม่ แต่เชื่อว่าคงมีปัญหา เพราะแม้แต่การติดตามปัญหาข้อร้องเรียนการซื้อเสียงหรือการทุจริต ในการเลือกตั้งหลายสนามที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าเป็นกลไกที่ไม่สามารถเข้าไปจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีคุณภาพเท่าที่ควร จากปรากฏการณ์ในรูปแบบเดิมๆ โดยเฉพาะผู้ตรวจการเลือกตั้ง ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังจากการแต่งตั้งบุคคลภายนอกพื้นที่ไปทำงานในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยและไปทำงานในระยะสั้น สิ่งที่ทำได้ก็ตรวจสอบแบบผิวเผิน มีการรายงานสถานการณ์ แต่ไม่สามารถลงไปเจาะหาข่าวในทางลับเพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

สำหรับผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ต้องการเห็นแนวทางการต่อสู้โดยนโยบายและเสนอแนวคิดจากการทำหน้าที่ที่เป็นรูปธรรมที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ ขอให้ก้าวพ้นจากการใช้อิทธิพลของผู้มีอำนาจทางการเงินในพื้นที่ โดยหวังว่าผลการเลือกตั้งนายก อบจ.จะมีผู้สมัครที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นผู้สมัครอิสระที่ไม่ยึดโยงกับเครือข่ายการเมืองแบบเดิมๆ ในจังหวัดหรือสังกัดพรรคการเมืองใหญ่ และหากประชาชนตัดสินใจเลือกบุคคลที่มีคุณภาพจากการเสนอนโยบายก็จะเป็นโมเดลในการเลือกตั้งท้องถิ่นในรูปแบบอื่นต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image