มองเกม72‘สส.-สว.’ ยื่นตีความญัตติแก้ รธน.

มองเกม72‘สส.-สว.’ ยื่นตีความญัตติแก้ รธน.

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการกรณี ส.ว.47 คนผนึก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 25 คน ร่วมลงชื่อยื่นเรื่องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ว่าด้วยการแก้ไข ม.256

จรัส สุวรรณมาลา
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

Advertisement

การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจะต้องมีประเด็นจากร่างที่แก้ไขว่ามีอะไรที่ขัดแย้งกับเจตนารมณ์บางอย่าง ถ้ามีประเด็นชัดเจนก็ถือว่ามีเหตุผล แต่ที่ผ่านมาเคยมีการตั้งกรรมาธิการศึกษาแก้ไขใช้เวลานาน 6 เดือน ซึ่งเชื่อว่าจะมีรายละเอียดมากพอสมควร หรือถ้ามีร่างญัตติใดมีแนวโน้มจะมีปัญหาก็ต้องนำไปถกก่อนมีการรับหลักการวาระแรกก่อนปิดประชุมสภาสมัยสามัญหรือไม่ รวมทั้งกรณีที่มีการตั้งกรรมาธิการศึกษา โดยมี ส.ว.เข้าร่วม ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมสภาเพื่อรับหลักการวาระแรกในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้เพราะฉะนั้นอย่าพยายามทำให้เห็นว่าจะต้องเสนอไปโดยไม่มีประเด็นอะไร และในที่สุดศาลก็อาจจะไม่รับพิจารณา แต่ถ้ามีประเด็นต้องดูว่าเป็นเรื่องอะไร แต่ส่วนตัวไม่คิดว่าจะมี

ในฐานะที่เคยร่างรัฐธรรมนูญมาก่อนทุกเรื่องที่อาจเป็นข้อสงสัยที่จะเป็นประเด็นในสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญ หรือจะเป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารประเทศหรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง ก็จะต้องมีคำอธิบายด้วยหลักการและเหตุผล ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องอยู่บนหลักการพื้นฐาน ตามระเบียบ ประเพณี วัฒนธรรม การปกครองประเทศ เพราะฉะนั้นอย่าไปยื่นเพื่อให้ชาวบ้านมองว่าเป็นการหาเรื่องหรือจะให้ทำกระบวนการล่าช้าออกไปอีก แต่ในข้อเท็จจริงใครก็บอกได้ว่าจะต้องยื่นไปให้ศาลวินิจฉัย แต่ในที่สุดก่อนยื่นก็ต้องไปขอมติจากรัฐสภา จากนั้นจะต้องคุยกันว่าประเด็นหรือสาระสำคัญที่จะนำไปยื่นเป็นไปตามหลักการและเหตุผลหรือไม่

ถ้าถามว่าจะทำเพื่อความรอบคอบหรือไม่ ถ้ามองในแง่ดีก็มีความเป็นไปได้ แต่ต้องดูข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการชุดแรกที่ทำหน้าที่ศึกษาแก้ไขได้สรุปเสนอรัฐสภาไว้มีแนวทางอย่างไร แต่ท้ายที่สุดใครจะเสนอแนวทางหรือความเห็นอะไร ก็ต้องจะพูดคุยด้วยเหตุผลในเวทีของสภา ก่อนจะรับหลักการวาระแรก ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ใครก็ตาม ที่ต้องการตีรวนสามารถพูดอะไรก็ได้ เพราะความเห็นส่วนตัวอาจจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น

แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐบาลดูเหมือนมีท่าทีตอบรับที่ดี มองด้วยความเป็นธรรม รัฐบาลรู้ว่าประชาชนไม่พอใจ จากกฎกติกาที่ใช้กันมา 2 ปี เรื่องที่เห็นชัดมากที่สุดก็คือเรื่อง ส.ว. ไม่ว่าจะเป็นผู้ยกร่างบางคนก็ออกมายอมรับว่าเป็นการเขียนเพื่อประคับประคองสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองไม่ให้มีปัญหาทะลุขึ้นมาอีกรอบ เพื่อให้รัฐบาลหายใจออกอีกระยะในช่วงเปลี่ยนผ่าน

สำหรับการชุมนุมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แต่ล่าสุดประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบจะไม่ถูกพูดถึง เพราะมวลชนทราบว่าได้เดินหน้าไปแล้ว แต่ถ้ามีการตั้งกำแพงขวางกั้นก็อาจจะถูกหยิกยกขึ้นมาอีก ขณะที่การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ดังนั้นจึงเห็นว่าถึงเวลา จะต้องพิจารณา เพราะใช้มานานกว่า 2 ปี และต้องการเห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม แม้ว่าประชาชนอาจจะไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ชุมนุมในบางเรื่อง ขณะที่การแก้ไข ส.ว.ควรทำใจให้กว้างเพื่อให้กระบวนการเดินหน้าไปได้ เพราะการแก้ไขไม่ได้ทำเสร็จในวันเดียว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้แก้ไขง่ายๆ เพราะต้องมีการทำประชามติ หรือมีการตั้ง ส.ส.ร. ดังนั้น อย่าพยายามยื้อ เพื่อทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งดูเหมือนจะไร้ทางออกมากกว่าที่ผ่านมา

เศวต เวียนทอง
อาจารย์พิเศษด้านกฎหมายคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) วิทยาเขตล้านนา

ไม่สมควรทำ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.256 ที่กำหนดให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภา 3 วาระรวด เพราะรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดประเทศ หากนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เชื่อว่าเป็นการยื้อหรือซื้อเวลาให้รัฐบาลเพื่อสืบทอดอำนาจ หลังนักศึกษา ประชาชนเรียกร้องให้แก้หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นส่งผลต่อกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยให้ชุมนุมยืดเยื้อออกไปอีก กระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจประเทศ

หาก ส.ส. และ ส.ว. ต้องการหาทางออก และไม่เกิดปัญหาบานปลาย ควรนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาทันที พร้อมตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. จากทุกภาคส่วนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จากนั้นค่อยไปทำประชามติว่าควรรับร่างดังกล่าวหรือไม่ ถ้าให้ทำประชามติก่อนให้รัฐสภาโหวต รับหลักการถือว่าทำผิดขั้นตอน เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นโมฆะทันที ทำให้เสียเวลาและงบประมาณ และไม่เกิดประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างใด

กระบวนการดังกล่าว ถือเป็นการนำไปสู่การชุมนุมของผู้สนับสนุน และคัดค้านรัฐบาลให้เกิดการบานปลาย อาจนำไปสู่การปะทะนองเลือดที่รุนแรงได้ เพราะเคยมีประวัติศาสตร์ให้เห็นและจารึกมาแล้ว โดยเริ่มจากสถานการณ์สร้างความขัดแย้งและความรุนแรงตามมา เพื่อนำไปสู่รัฐประหารยึดอำนาจฝ่ายที่ต้องการสืบทอดอำนาจ โดยอ้างความมั่นคง สงบสุขปรองดอง เพื่อเป็นเกราะกำบังความชอบธรรมดังกล่าว ตามที่มีผู้เรียกร้องให้ทหารออกมาปฏิวัติยึดอำนาจอีกครั้ง

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ

สามารถทำได้แต่ศาลจะรับวินิจฉัยหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากต้องการทำประชามติ ก่อนให้รัฐสภาโหวตก็ทำได้ เพราะ ส.ว.บางราย อ้างรัฐธรรมนูญปี 2560 มาจากการทำประชามติ ดังนั้นการแก้หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องผ่านประชามติเช่นกัน หากรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา มีความจริงใจเพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาดังกล่าว ควรดำเนินการเป็นรูปธรรม โดยกำหนดกรอบเวลาแก้รัฐธรรมนูญภายใน 1 ปี
อย่างไรก็ตาม รัฐสภาสามารถใช้ ม.256 แก้รัฐธรรมนูญได้เลย เพราะสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแก้หรือร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าว สามารถเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อสภาได้ทันที

เชื่อว่าเป็นทางออกหนึ่ง เพื่อคลี่คลายปัญหาการชุมนุมเรียกร้องของฝ่ายประชาธิปไตย และเครือข่ายที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการ ไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า อาจนำไปสู่ความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจประเทศมากขึ้นอีก

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้สถานการณ์การเมืองมีเงื่อนปมที่เพิ่มมากขึ้น เพราะว่ากระบวนการในการแก้ไขถือว่าเป็นเงื่อนไขที่จะช่วยทำให้ลดอุณหภูมิทางการเมืองในปัจจุบัน แต่ถ้ามีการยื่นก็จะทำให้เกิดสถานการณ์ซ้ำเติมจากสภาวะที่เรียกว่าการเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลังและหากมีการยื้อในการแก้ไขก็จะเหมือนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 หลังจากรัฐสภาไม่ได้รับร่างหลักการวาระแรกในการแก้ไขแต่มีการตั้งกรรมาธิการเข้าไปศึกษาเพิ่มเติม ช่วงนั้นทำให้กลุ่มผุ้ชุมนุมเกิดความไม่ไว้วางใจต่อภาครัฐ และหากยังมีการทำในลักษณะเดิมอีกก็มีโอกาสทำให้เกิดประเด็นปัญหาเกิดขึ้น

ขณะที่ร่างแก้ไขในบางญัตติที่ถูกมองว่ามีประเด็นที่น่าสงสัยเพื่อยื่นให้ศาลวินิจฉัย ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีประเด็นอะไรที่ศาลจะรับไว้เพื่อพิจารณา และโดยกลไกของมาตรา 256 เขียนไว้ว่าขั้นตอนที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภาก็จะต้องผ่านการพิจารณาแล้วทั้ง 3 วาระ จึงสามารถยื่นได้ แต่ถ้าไปยื่นก่อน ก็ยังไม่มีช่องทางใดที่ให้อำนาจเพื่อนำประเด็นไปยื่นตีความ

สำหรับกลไกในมาตรา 256 ที่ว่าด้วยวิธีการแก้ไข กรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดแรกที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ทำหน้าที่ประธานได้เขียนไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีกระบวนการในการแก้ไขอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปยื่นให้ศาลวินิจฉัยตีความแนวทางการแก้ไข และเรื่องนี้จะไปเทียบเคียงกับกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ เพราะไม่ได้บอกขั้นตอนในการแก้ไขจะต้องทำอย่างไร มีบทบัญญัติมาตราใดที่ต้องทำประชามติ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เขียนไว้ชัดเจนแล้ว ดังนั้นหากนำมาเทียบเคียงก็จะถือว่าผิดฝาผิดตัว ไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน

เป็นที่คาดหมายไว้แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จะต้องมีการใช้เทคนิคกฎหมาย มิติทางการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องพอสมควร ทั้งที่ความเป็นจริงหากทุกฝ่ายมีความจริงจังตั้งใจเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง ก็ไม่ควรหยิบยกบางเรื่องที่ไม่มีในหลักการและเหตุผลมาเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เติมเชื้อไฟในสถานการณ์ความขัดแย้ง และล่าสุดยังไม่เห็น ส.ว.กลุ่มหัวก้าวหน้าที่มีแนวโน้มเห็นด้วยกับการยกมือแก้ไขออกมาท้วงติงเรื่องนี้ เพราะทุกคนจะมีที่มาเหมือนกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คาดหวังอะไรได้ยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image