นักวิชาการมองเหตุปัจจัย ‘รัฐประหาร’ลือ-ลวง-พราง

นักวิชาการมองเหตุปัจจัย‘รัฐประหาร’ลือ-ลวง-พราง

หมายเหตุนักวิชาการให้ความเห็นกรณีมีกระแสข่าวเรื่องปฏิวัติรัฐประหารบ่อยครั้ง แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.จะปฏิเสธว่าไม่มี พร้อมทั้งวิเคราะห์เหตุปัจจัยที่อาจเกิดการยึดอำนาจในสถานการณ์ขณะนี้

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Advertisement

โอกาสในการทำรัฐประหารยังคงมีอยู่ เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยในการเมืองยังไม่ตั้งมั่น ไม่มีความเข้มแข็ง ในทางกลับกันการจัดโครงสร้างของกองทัพ รวมทั้งองค์กรของกองทัพยังไม่มีการปรับเปลี่ยนโดยมีนัยยะสำคัญ ปัจจัยเหล่านี้ยังเอื้ออำนวยในการทำรัฐประหารได้ตลอดเวลา

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการเมืองในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการตั้งคำถามเรื่องการทำรัฐประหารเกิดขึ้นทุกครั้ง แม้ว่าหลายครั้งจะมีการยืนยันจากผู้มีอำนาจว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่สุดท้ายก็ยังมีการทำรัฐประหาร สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะการใช้อำนาจแบบลับ ลวง พราง ดังนั้นสถานการณ์ปัจจุบันคงหนีไม่พ้นที่จะต้องมีกระแสเรื่องนี้เกิดขึ้น

ปัจจัยที่จะเอื้อให้มีการยึดอำนาจ เป็นเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ จะมีข้อยุติ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมก็ยังไม่ชัดเจน และถูกสังคมมองว่ายื้อเวลา ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ที่เสนอโดยภาคประชาชนที่กลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนก็ไม่ผ่านการโหวต ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้ ยังเอื้อที่จะทำให้มีการรัฐประหาร และเป็นกระแสข่าวที่เกิดขึ้นได้

Advertisement

ส่วนสถานการณ์ที่สุกงอม หรืออาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ผู้มีอำนาจจะตัดสินใจทำรัฐประหาร จะมาจากปัญหาการเมืองแบบมวลชน หรือมวลชนาธิปไตย หากมีการปะทะระหว่างมวลชน 2 ฝ่าย ทำให้กฎหมายที่ใช้กำกับดูแลการชุมนุมไม่สามารถใช้ได้ รัฐบาลไม่สามารถกำกับได้ สุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยการยึดอำนาจ

การที่กลุ่มราษฎรประกาศไปชุมนุมสถานที่บางแห่งที่ล่อแหลมต่อความรู้สึก ก็มีโอกาสความเป็นไปได้ที่อาจทำให้เกิดการทำรัฐประหาร มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการปะทะกับกลุ่มมวลชนที่เห็นต่าง ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการยึดอำนาจ

หากมีการทำรัฐประหารเกิดขึ้นคงจบยาก เพราะไม่ใช่ทางออกที่จะแก้ปัญหาระยะยาว และจะสร้างเงื่อนปมทางการเมืองเพิ่มขึ้นอีก ส่วนทางออกที่จะยุติปัญหาความขัดแย้ง ยังมีอีกหลายวิธี โดยเฉพาะการกำหนดกติกาการเมืองร่วมกันอย่างเป็นธรรมในเวทีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจต้องเอาพื้นที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปใช้ประโยชน์เพื่อนำไปสู่ข้อยุติในความขัดแย้งอย่างแท้จริง

จรัส สุวรรณมาลา
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

เรื่องรัฐประหาร ถ้ามองจากสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ การทำรัฐประหารในอดีตจะส่อเค้าเมื่อผู้มีอำนาจขัดแย้งกันเอง และฝ่ายที่อยู่ในอำนาจอ่อนกำลัง จึงเข้าไปยึดอำนาจ แต่วันนี้ยังไม่มี

ขณะที่การรัฐประหารตัวเองเคยมีในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพล ถนอม กิตติขจร เพราะเบื่อหน่ายที่จะแก้ไขปัญหาผ่านระบบรัฐสภา ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันยังไม่มีอาการ เพราะรัฐสภาทำหน้าที่คลี่คลายปัญหาความขัดแย้งได้ดี

การออกมาประท้วงของกลุ่มนักศึกษาก็ยังไม่ใช่เหตุผล เนื่องจากยังไม่สามารถกดดันรัฐบาลได้มากนัก จึงไม่มีเหตุผลที่จะมีการทำรัฐประหาร แต่ถ้ามีจริงก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ หรือซุปเปอร์เซอร์ไพรส์อย่างมาก

ส่วนข้อเรียกร้องบางเรื่องของกลุ่มราษฎรที่อาจเป็นเงื่อนไขนั้น ถามว่ารัฐประหารแล้วเรื่องนั้นจะจบจริงหรือไม่ ซึ่งข้อเรียกร้องบางเรื่องไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย ยังเป็นไปได้ยากในขณะนี้แม้ว่าจะยกระดับการชุมนุมข้ามเดือนข้ามปีก็ตาม และรัฐบาลประเมินได้ว่าประเด็นนี้จุดไม่ติด เนื่องจากท่าทีที่แสดงออกไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับในสังคมที่ยังชื่นชอบแนวอนุรักษนิยม

สำหรับข้อกังวลม็อบชนม็อบ อาจเป็นสาเหตุการรัฐประหารได้ ไม่ต่างจากเหตุการณ์การชุมนุมปี 2549 และปี 2557 ดังนั้นหากรัฐบาลไม่ตั้งใจให้มีการทำรัฐประหารก็ไม่ควรปล่อยให้มีการเผชิญหน้า เพราะการบริหารประเทศในปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้อยู่ในภาวะเสียเปรียบ

เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยให้เกิดการยึดอำนาจ เพื่อทำให้สถานะสั่นคลอน และมีผลกระทบกับการฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลยังมีกระแสตอบรับที่ดีจากโครงการประชานิยม ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรยุติปัญหาความขัดแย้งด้วยการปล่อยให้มีการทำรัฐประหาร

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ข่าวเรื่องรัฐประหารเป็นการช่วงชิงพื้นที่ความหวาดระแวง เสมือนการสร้างกับดักให้อีกฝ่ายเคลื่อนไปตามทางที่ตนเองปรารถนา ไม่ว่าฝ่ายใด ไม่มีใครอยากให้เกิดการรัฐประหารอยู่แล้ว แต่เป็นการประโคม โหมโรงว่าเดี๋ยวจะมีการแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหาร เป็นการปิดทางเลือกไม่ให้แก้ปัญหาต้องจบด้วยการทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นปฏิบัติการข่าวสารอย่างหนึ่ง

เรื่องเงื่อนไขการรัฐประหาร หากเปรียบเทียบกับอดีต รัฐประหารรอบนี้ไม่ง่าย และมีท่าทีว่ามวลชนกลุ่มราษฎรไม่ได้หวั่นเกรงต่อวิธีการแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหารอีกต่อไปแล้ว

เงื่อนไขการทำรัฐประหารในอดีต ไม่ว่าปี 2549 หรือปี 2557 จะสังเกตเห็นว่าการตัดสินใจรัฐประหาร ของ ผบ.ทบ.ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้น จะเกิดในภาวะที่อำนาจกองทัพอยู่ในขั้นพีค ที่ตัวเองมีอำนาจกระชับในมือได้เต็มที่ สามารถจัดการ โยกย้ายขุมกำลังด้วยอำนาจของตัวเองได้

แต่ ผบ.ทบ.คนใหม่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ 2 เดือนเศษ หน่วยขุมกำลังทหารต่างๆ อาจจะไม่ได้เป็นคนที่ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันเลือกมาเองทั้งหมด กองกำลังส่วนใหญ่จึงมาจาก ผบ.ทบ.คนที่แล้วทิ้งทวนไว้ ต้องรอ ผบ.ทบ.คนนี้มีวาระอีก 3 ปีจนถึงปี 2566 คงจะมีบารมีเบ่งบานมากกว่านี้ แต่เวลานี้มองว่าท่านยังไม่พร้อม

ส่วนปัจจัยที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร คือ ประเด็นที่นำไปสู่ความรู้สึกของผู้คนส่วนหนึ่งจากการที่สถาบันได้รับความบอบช้ำ ถูกโจมตี ซึ่งกองทัพผูกโยงเรื่องความสัมพันธ์กับสถาบันอย่างไม่สามารถแบ่งแยกได้ คือ ความชอบธรรมหนึ่งของกองทัพที่สามารถดำเนินการได้ หากการเมืองไม่สามารถหาทางออก ก็เชื่อว่ากองทัพจะใช้ไม้ตายนี้ กระทำการเองด้วยอำนาจที่มี

หากมีการทำรัฐประหาร คงไม่ใช่รัฐประหารรัฐบาลตนเองแน่นอน เพราะผู้คนอาจจะออกมาบนถนนมากขึ้น ดังนั้น นอกจากการรัฐประหารเพื่อปกป้องสถาบันไม่ให้ได้รับความบอบช้ำไปมากกว่านี้ ในทางหนึ่งก็จะต้องเปลี่ยนผู้นำทางการเมือง

แต่ท้ายที่สุด เชื่อว่ากองทัพไม่อยากทำรัฐประหาร เพราะไม่ได้เตรียมตัวนายกฯ คนสำรองเอาไว้ ผู้นำกองทัพจึงยืนยันว่า การเมืองจะต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง สื่อให้เห็นว่า ฝ่ายการเมืองและกองทัพยังมองว่าไม่มีใครมาแทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ ณ เวลานี้

อย่างไรก็ดี หากเกิดการรัฐประหารขึ้นจริง ภาพประเทศไทยคงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้ บรรยากาศคงเข้าสู่ความมืดมน อนธการพอสมควร

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

การทำรัฐประหารเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางออกของปัญหาบ้านเมืองที่บางกลุ่มทหาร หรือผู้มีอำนาจชอบใช้ แต่ระยะหลังประชาชนเริ่มมีความรู้สึกว่าไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มีการสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิด จึงถูกมองว่าเป็นความไม่ชอบธรรมมากขึ้น

สำหรับเหตุการณ์ในขณะนี้ โดยหลักการและเหตุผลไม่มีอะไรที่จะไปสู่การยึดอำนาจ แต่ในเรื่องอารมณ์คนเป็นเรื่องคาดเดาได้ยาก แม้ว่ายุคปัจจุบันการทำรัฐประหารเป็นเรื่องล้าหลัง ไม่ว่าจะเอาอะไรมาอ้างก็ตาม หากทำจริงก็ถือว่าฝืนธรรมชาติ แนวคิดย้อนยุคคงไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ส่วนตัวบอกตรงๆ ว่าไม่กล้ารับประกัน เพราะในบ้านเรายังมีคนคิดย้อนยุคค่อนข้างมาก

ส่วนบางเรื่องที่เป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร ก็ยังไม่น่าจะเอาไปเป็นเงื่อนไขทำรัฐประหารได้ หากมวลชนทำผิดกฎหมายเรื่องใดก็เข้าไปจัดการ แต่ไม่ใช่ว่าพอมีข้อเรียกร้องอะไรที่ล่อแหลมแล้วต้องทำรัฐประหาร ไม่คิดบ้างหรือว่ายิ่งทำนอกกติกา จะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น

สิ่งที่ยังไม่ห่างหายไปจากสังคมไทยก็คือ ประชาชนสามารถคิดได้ว่าจะต้องมีการทำรัฐประหารอีก เพราะเคยเชื่อว่าคงไม่มีใครทำ แต่ยังมีคนออกมาทำ ดังนั้น หากนายกฯจะแสดงอาการขุ่นเคือง เพราะมองว่าเป็นความคิดที่หวาดระแวงเกินไปคงไม่ได้ เพราะในอดีตรัฐประหารเคยเกิดขึ้น ทั้งที่มีคนบอกว่าจะไม่ทำ

นายทหารหลายรายก็เคยบอกว่าจะไม่ยุ่งการเมือง ในที่สุดก็อ้างความจำเป็น เพราะฉะนั้นเมื่อมีกระแสข่าวก็อย่าไปโกรธที่ประชาชนจะไม่เชื่อว่าจะไม่มี แถมมีบางฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร เรื่องนี้นายกฯควรออกมาปฏิเสธบ่อยครั้ง และควรบอกด้วยว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่มีอะไรติดขัด ประชาชนจะมั่นใจ สบายใจ

สำหรับปัญหามวลชน 2 ฝ่าย นายกฯบอกแล้วว่าจะไม่ให้ปะทะกัน วิธีที่ดีที่สุดนายกฯควรวางตัวเป็นคนกลาง อย่าไปเข้าข้างฝ่ายใด แม้จะมีเอกสารลับหลุดออกมา ทำให้เห็นจุดยืนของหน่วยงานรัฐที่มีแนวทางบริหารความขัดแย้งในการจัดการปัญหามวลชน ส่วนตัวไม่อยากบอกว่า รัฐไม่ควรจัดมวลชนมาเอง แต่ขอบอกว่ารัฐไม่ควรส่งเสริม หรือสนับสนุนในการจัดมวลชนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรืออย่าทำให้โดนจับได้ไล่ทันว่ารัฐจัดมวลชน เพราะทำให้การเคลื่อนไหวเสียราคาทันที

เพื่อหาทางออกในการยึดอำนาจ ทุกฝ่ายควรรอฟังทิศทางจากการตั้งกรรมการสมานฉันท์ 2 ชุด จะหาทางออกให้รัฐบาล หรือหาทางออกให้ประชาชนอีกไม่นานคงจะทราบ ขณะที่ต้นตอในการแก้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อยู่ที่รัฐบาลจะยื่นข้อเสนอแล้วประชาชนพอใจต่างหาก ถ้ายังไม่พอใจก็เคลื่อนไหวต่อเนื่อง

ยอมรับว่าไม่สบายใจจากกระแสข่าวรัฐประหาร เพราะไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก และไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำ ยืนยันว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้ ไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image