วิพากษ์โมเดล‘ส.ส.ร.’ ‘ล็อกหรืออิสระ’ร่าง รธน.

วิพากษ์โมเดล‘ส.ส.ร.’ ‘ล็อกหรืออิสระ’ร่าง รธน.

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการถึงความขัดแย้งโมเดลการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งล่าสุด นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม เสนอให้ล็อกการทำงานและกำหนดกรอบการแก้ไขของ ส.ส.ร. ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเสนอปล่อยให้ ส.ส.ร.มีอำนาจเต็มในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

Advertisement

โมเดลการตั้ง ส.ส.ร.ที่ยังเป็นประเด็นขัดแย้งกันอยู่คิดว่ามาจากจุดยืนของแต่ละพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่เชื่อว่าน่าจะได้ตัวแทนในการที่จะเลือกสรรคนที่สัมพันธ์กับประชาชน การเลือกทุกคนที่เข้ามาโดยสัมพันธ์กับประชาชนให้เป็นตัวแทนในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลักการที่ใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่เห็นว่าหลายคนยังไม่ได้เสนอ คือความสัมพันธ์บนฐานเศรษฐกิจ หรือสัมพันธ์บนฐานอาชีพ ส่วนตัวเห็นด้วยกับการเลือกตั้งส.ส.ร. แต่จะให้เลือกบนฐานของอาชีพของประชาชนซึ่งดูเหมือนยากในการกำหนดว่าคนไทยมีอาชีพอะไรบ้าง แต่เราสามารถใช้กรอบนี้เป็นกรอบกว้างๆ ให้มีความสัมพันธ์ทั้ง 2 ด้าน 1.สัมพันธ์ทางการเมือง คือมาจากการเลือกตั้ง 2.สัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ คือมาจากฐานอาชีพ แต่ตอนนี้เป็นสิ่งที่เป็นปัญหา คือยังไม่มีการตกผลึกร่วมกันว่าจะเป็นแบบใด จะเป็นการเลือกตั้งผสมสรรหา หรือการเลือกตั้งผสมกับการคัดสรรผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักรัฐประศาสนศาสตร์

การเลือกตั้งทั้งหมดดีแน่ เพราะอธิบายได้ว่าเป็นตัวแทนที่มาจากความสัมพันธ์ของประชาชน คนที่ประชาชนไว้วางใจจะได้เป็นตัวแทนในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาหลักที่กลับมาใช้กับประชาชนทั้งหมด แต่ถ้าไม่มีคนที่มีความรู้พื้นฐานทางกฎหมายความรู้พื้นฐานทางรัฐธรรมนูญคอยกำหนดทิศทาง ประเด็นหลายๆ อย่าง บางครั้งอาจมีผลต่อหลักการ ดังนั้น จึงทำให้กลุ่มหนึ่งต้องการสรรหาด้วยเพราะเชื่อว่าการสรรหาอย่างน้อยที่สุดทำให้คนมีประสบการณ์ทางการบริหาร ประสบการณ์ทางการเมือง ทางกฎหมายเข้ามาช่วยวางกรอบ แต่จุดอ่อนคือการสรรหาเป็นการใช้อำนาจกลุ่มเฉพาะบุคคลที่คนเหล่านี้ไม่สมควรมีอภิสิทธิ์มากกว่าประชาชนทั่วไป เขาสามารถไปเลือกกรรมการอีกชุดหนึ่งที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการสรรหา เท่ากับว่าเป็นการได้สิทธิพิเศษขึ้นมา ถ้ามองจากความเสมอภาคก็ไม่เป็นธรรม

สำหรับโมเดล ส.ส.ร.ในอดีตสามารถนำมาใช้ได้ ตัวอย่างคือในปี’40 มาจากฐานจังหวัด เป็นการใช้ประชาชนเป็นฐาน ประชาชนมีสิทธิเลือกตัวแทนภายในจังหวัด ประชาชนได้เลือกคนที่เขาเห็นว่าจะเป็นตัวแทนของเขา และมีความรู้ความสามารถ ความสนใจในการเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการเลือกโดยตรง จะเป็นเขตจังหวัดละ 1 คน หรือตามสัดส่วนประชากรก็ตามแต่ นอกจากนี้จะให้มีการเลือกอีกชั้นหนึ่งก็ได้ คือเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้วย ให้ประชาชนเลือก 2 ชั้น เช่น ถ้ามีผู้ทรงคุณวุฒิทางการเมือง ทางรัฐศาสตร์ ใครที่ประชาชนต้องการ กล่าวคือ ใช้ตัวแทน 2 ชั้น จากจังหวัดและผู้ทรงคุณวุฒิก็มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

Advertisement

เศวต เวียนทอง
อาจารย์พิเศษด้านกฎหมาย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมกุฏราชวิทยาลัย (มมร) วิทยาเขตล้านนา

โมเดล ส.ส.ร.เพื่อลดความขัดแย้งและเป็นทางออกวิกฤตของประเทศ ส.ส.ร.ต้องมาจากภาคประชาชนทุกกลุ่มวิชาชีพ โดยมีนักวิชาการ นักการเมือง และผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม แต่ไม่จำเป็นต้องตั้ง ส.ส.ร. 200 คน เพราะจำนวนหรือปริมาณไม่ได้วัดความพึงพอใจประชาชนว่าเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญดังกล่าวหรือไม่ ที่ผ่านมาการตั้ง ส.ส.ร.มักเป็นเครือข่ายรัฐบาลที่ชิงความได้เปรียบทางการเมืองมากที่สุด ดังนั้น อาจตั้ง ส.ส.ร.เพียง 40-50 คนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ทุกฝ่ายยอมรับได้เช่นกัน

สังเกตจากร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ส.ส.ร.มักมาจากบุคคล หรือคนกลุ่มเดิม ที่เป็นนักการเมืองหรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญจึงไม่แตกต่างกันมากนัก หากตั้ง ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะบุคคล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญทุกฝ่ายต้องส่งตัวแทนมาเป็น ส.ส.ร.เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดปฏิเสธและไม่ยอมรับการตั้ง ส.ส.ร.ดังกล่าว การร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่มีความหมาย ทำให้เสียเวลา งบประมาณ และโอกาสขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้

หากทุกฝ่ายมีความจริงใจแก้รัฐธรรมนูญ ต้องร่วมมือ เลิกอคติ หรือสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ทางตัน ต้องหันหน้ามาพูดคุย ใช้การเจรจาต่อรอง หรือไกล่เกลี่ย ให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ต้องเป็นอิสระ มีความคิดตัวเอง ไม่ถูกชี้หรือครอบงำจากใคร โดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ในทางวิชาการอาจดูง่าย แต่ทางปฏิบัติอาจทำยาก เพราะฝ่ายประชาธิปไตยหรือเผด็จการต่างมีเครือข่ายและมวลชนหนุนหลัง เพื่อทำให้สถานการณ์วุ่นวายและยืดเยื้อจนไม่สามารถเจรจาหาทางออกได้ เป็นเกมแห่งการชิงอำนาจหรือเพาเวอร์เกม ที่ใช้มวลชนเป็นตัวประกัน ชิงความได้เปรียบทุกวิถีทางเพื่อให้ฝ่ายตนเองและเครือข่ายกลับมามี หรือครองอำนาจอีกครั้ง

สถานการณ์ของฝ่ายสนับสนุนหรือเห็นต่างในปัจจุบันต่างจากการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เพราะเป็นผลจากวิกฤตรัฐธรรมนูญฉบับเก่า แต่การตั้ง ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่เกิดจากแรงขับเคลื่อนของนักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างอนาคตที่ดีวันข้างหน้า ดังนั้น ความยากง่ายหรือความสำเร็จจึงต่างกัน อยู่ที่สถานการณ์เป็นทิศทางใด ใครเป็นคนกำหนดเกมมากกว่า แต่ไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร ต้องรอดูและติดตามสถานการณ์อีกสักระยะถึงมีความชัดเจนมากขึ้น

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ณจุดนี้ เมื่อตัดสินใจว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ซึ่งการมีส่วนร่วมคือสิ่งสำคัญ พื้นฐานคือ ส.ส.ร.น่าจะมาเป็นตัวแทนของคนทุกคน จะได้ไม่มีคำว่าคนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ การคัดเลือกต้องให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนทุกฝ่าย แต่เท่านี้ยังไม่พอ ต้องมีเรื่องกระบวนการที่มีการรับฟังความคิดเห็น การประชาพิจารณ์ ซึ่งขอให้เป็นกระบวนที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมจริงๆ หรือให้ความใส่ใจจริงๆ ไม่อย่างนั้นจะเกิดคำถามที่ว่าประชุมเมื่อไหร่ ประชาพิจารณ์เมื่อไหร่ ทำไมไม่เห็นรู้เรื่องเลย นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือ ไม่ใช่ว่า ส.ส.ร.ดีแล้วรัฐธรรมนูญจะออกมาดี กระบวนการอาจต้องทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ด้วย

สำหรับโมเดลที่ดีที่สุดนั้น แน่นอนว่าการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายควรมี แต่ในขณะเดียวกันในการร่างกฎหมายต้องมีนักกฎหมายหรือนักเทคนิค และนักวิชาการเข้าไปมีส่วนร่วม ดังนั้น โมเดลควรมีส่วนผสม เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องของหลักการ แต่อาจมีสัดส่วนไม่มาก ส่วนโมเดล ส.ส.ร.ในอดีตอย่างปี’40 ที่บอกว่าเลือกตั้งมาจากจังหวัด ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่การเลือกตั้งจากประชาชนทุกคน แต่เป็นกระบวนการเลือกตั้งแบบทางอ้อม ถ้าจะใช้สูตรนั้นต้องทำให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการก่อน

สมมุติว่าเป็นรายจังหวัด จังหวัดละ 1-2 คน แล้วบวกกับนักวิชาการ ส่วนตัวก็เห็นด้วย เพียงแต่กระบวนการในการทำความเข้าใจถึงที่มาเป็นเรื่องสำคัญกว่า

ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ส่วนตัวมองว่าหากต้องการลดความขัดแย้งและอุณหภูมิทางการเมือง โมเดลของ ส.ส.ร.นั้นควรที่จะให้ความสำคัญกับหลักการการมีส่วนร่วมและการสร้างความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม ดังนั้น ส.ส.ร.จึงต้องมาจากเลือกตั้งเท่านั้นเพื่อเคารพในหลักการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

หากให้เสนอองค์ประกอบนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าควรมีผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งมาจาก 2 ส่วน คือผู้แทนเชิงพื้นที่ และผู้แทนตามกลุ่มทางสังคม อนึ่งในเชิงพื้นที่ควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในระดับจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดอาจมีสมาชิกตามสัดส่วนประชากร และผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละจังหวัดจะรวบรวมข้อคิดเห็นภายในพื้นที่ของตนเพื่อเป็นผู้แทนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในระดับชาติ แนวทางดังกล่าวจะสามารถรวบรวมข้อเสนอความต้องการเชิงพื้นที่ของทั้ง 76 จังหวัด

ในขณะที่สมาชิกประเภทที่ 2 มาจากผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของแต่ละกลุ่มสังคม อาทิ สภาวิชาชีพต่างๆ ทั้งแพทยสภา สภาวิศวกร หรือคุรุสภา เป็นต้น รวมไปถึงกลุ่มผลประโยชน์ทางสังคม เช่น กลุ่มแรงงาน กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มเยาวชน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่มศาสนาเพื่อนำเอาข้อคิดเห็นจากมุมมองเฉพาะและบูรณาการในภาคส่วนไปปรับใช้ ทั้งนี้ จำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวควรมีไม่เกิน 150 คน

นอกเหนือจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญข้างต้นแล้ว ในการดำเนินงานร่างรัฐธรรมนูญควรให้มีคณะทำงาน/คณะที่ปรึกษาจากอีก 2 กลุ่มคือกลุ่มผู้แทนหลักวิชาและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อให้สาระมีความครบถ้วนและสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดมความรู้และความคิดเห็นจากข้าราชการ นักวิชาการทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ รวมไปถึงผู้แทนกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นมาอีกคณะหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกกลุ่มการเมือง แต่ทั้งนี้ มีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษาเท่านั้นและไม่มีอำนาจในการลงมติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

การให้ผู้แทนเพื่อเป็น ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งย่อมตอบสนองหลักคิดที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่ในขณะเดียวกันการให้มีคณะทำงานที่คอยรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์จะทำให้เห็นหลายมิติของการร่างรัฐธรรมนูญ หากโมเดลในลักษณะเช่นนี้ส่วนตัวเชื่อว่าจะช่วยลดอุณหภูมิความขัดแย้งในสังคมได้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image