วีระศักดิ์ เครือเทพ : วิเคราะห์เลือกตั้งอบจ. แค่เกมเปลี่ยนผู้เล่น กระจายอำนาจล้มเหลว

เหลืออีกไม่นาน ก็จะถึงวันเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบเกือบสิบปี  หลายคนมองว่าการเลือกตั้งวันที่ 20 ธันวาคม จะเป็นการปลดล็อกการเมืองท้องถิ่นให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ยิ่งมีผู้เล่นหน้าใหม่มากขึ้นยิ่งน่าจับตา

แต่นั่นเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นการเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตย เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจมากขึ้นหรือไม่ หลังการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเปลี่ยนแปลงจริงหรือไม่  อำนาจของนายกฯอบจ. มีมากน้อย เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เราเอาคำถามนี้ไปคุยกับ รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่คลุกคลีอยู่กับการวิจัยเรื่องท้องถิ่น ให้มองประเด็นนี้

 

Advertisement
  • เราไม่ได้เลือกตั้งท้องถิ่นมานาน หลายปีที่ผ่านมาเราสะสมปัญหาที่เกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่นอะไรไว้

เยอะ เอาง่ายๆก่อนก็คือฝ่ายการเมืองถูกดอง มันคือการที่ไปชะลอการริเริ่ม นโยบายการพัฒนาท้องถิ่น ในแง่ของงานประจำคงไม่เป็นไร มันก็เดินไปตามระบบ ส่วนใหญ่เป็นคนเก่างานก็ต่อเนื่อง แต่ผลไม่ดีเลยคือการริเริ่มผลักดันมันไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ เพราะฝ่ายการเมืองที่รักษาการเขาก็ไม่กล้าทำอะไรแบบผลีผลาม ตัวที่จะเป็นการพัฒนาตามแผนก็ไม่ได้ทำเต็มที่ นี่คือผลเสียในแง่ของการเสียโอกาส อันนี้เห็นชัด

หลายที่เราจะเห็นการชะลอตัวของการริเริ่มโครงการใหม่ๆ ท้องถิ่นถูกปรับสภาพให้กลายมาเป็นคนทำงานของรัฐบาล คือกรมไหนอยากทำอะไรก็โยนมาให้ท้องถิ่น มันเหมือนรับไม้ต่อกันเลย ท้องถิ่นก็ไม่มีเวลาไปคิดงานของตัวเอง รัฐบาลก็เอางานมาโยนให้ เป็นแขนเป็นขาให้ราชการส่วนภูมิภาค ภูมิภาคกลายเป็นเจ้านายคนใหม่มากขึ้น

ผลไม่ดีอันที่ 2 คือเราเห็นท้องถิ่นหลายแห่งถูกดอง ไม่ Active ถ้าพูดภาษารัฐศาสตร์คือไม่ Accountable กับชาวบ้านเลย ตัวที่เห็นชัดใกล้ตัวที่สุดคือกทม. เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้งและผู้ว่าที่มาจากการแต่งตั้งมาก คือขี้หมูขี้หมานะ จะดีหรือไม่ดีก็ว่ากัน แต่เวลากทม.น้ำท่วม เราเห็นผู้ว่าสุขุมพันธ์ออกไปแล้ว แก้ได้แก้ไม่ได้ไม่รู้ แต่ในแง่ของการตอบสนองเราเห็นชัด จะพูดดีไม่ดี จะโวยวายนู่นนี่ก็อีกเรื่องนึง แต่เราเห็นการตื่นตัวของผู้บริหารในการแก้ไขปัญหาใช่ไหม เราลองดู 3 ปีหลังหม่อมสุขุมพันธ์ถูกปลดออก ผู้ว่าฯอยู่ไหนหลายคนถาม การจัดการแก้ไขปัญหามันไม่เข้มข้นเท่ากับผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้ง กรณีป้าทุบรถหายไปไหนแล้ว ถ้าเป็นยุคเลือกตั้งคงออกมาไล่บี้กันหนักกว่านี้ มันเห็นชัดในหลายพื้นที่ที่ผู้บริหาร ถูกดอง คือมันไม่ขยับอย่างที่ควรจะเป็น อันนี้คือ 7-8 ปีที่ผ่านมานะ

Advertisement
  • มองการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะจัดขึ้นเร็วเร็วนี้อย่างไรหลังหลายฝ่ายกดดันเพราะคสช. ยื้อมานาน

ต้องบอกว่าดี… ขอบคุณที่ยอมปล่อยให้มีการเลือกตั้ง ต้องบอกว่าขอบคุณเลยนะ แต่ถ้าผมมองนี่คือสัญญาณหรือเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวของการกระจายอำนาจ ล้มเหลวเลย ล้มเหลวในรอบทศวรรษที่ 3 ของการกระจายอำนาจ ฟังดูเหมือนอาจจะเว่อร์ ผมอธิบาย 3 ลักษณะดังนี้

เรากระจายอำนาจในทศวรรษแรก อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับ BigBang ระดับหนึ่ง ช่วงปี 2542 ถึง 43 หลังจากมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายกระจายอำนาจ มีการถ่ายโอนภารกิจมีการเพิ่มทรัพยากร ตอนนั้นเราเห็นการเปลี่ยนแปลงชัด ท้องถิ่นตื่นตัวชัด ยุคที่ 2 มันคือยุคชะลอตัว และเริ่มถอยหลัง มันมากับยุคผู้ว่า CEO จังหวัดเริ่มกลับมามีบทบาทใหม่ ท้องถิ่นในยุคปี 2548 ถึง 2549 จนมาถึงปี 2556 จนถึง 2557 มันก็ถอยมาเรื่อยๆ

ยุคที่ 3 สัญญาณเห็นชัดตั้งแต่คสช.เข้ามา ต้องบอกว่าล้มเหลวเพราะการกระจายอำนาจไม่ใช่กว่าลาของรัฐบาลเลย ตั้งแต่รัฐบาลคสช. รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่มี keyword เรื่องการกระจายอำนาจเลย ฉะนั้นยุคที่ 3 ล้มเหลว

มันโยงมาถึงเลือกตั้งวันที่ 20 ธันวาคมอย่างไร 1. การเมืองท้องถิ่นก็ยังตกเป็นเบี้ยล่างของการเมืองระดับชาติ ไม่แยกเป็นเอกเทศออกจากกัน คือทั้งๆที่ในทางสากล การเมืองระดับชาติ มันจะปั่นป่วนอะไรยังไง การเมืองท้องถิ่นมันต้องเดินไปตามวัฏจักรของมัน ไม่ใช่ว่าคสช.มาปุ๊บ แล้วแช่แข็งทุกอย่างของประเทศ แช่แข็งแม้กระทั่งการปกครองท้องถิ่น มันไม่ถูกหลัก ฉะนั้นนี่คือการล้มเหลวอันที่ 1 การเมืองท้องถิ่นถูกแช่แข็ง การพัฒนาที่มันควรจะเดินไปตามลูปของมัน ซึ่งมันไม่ได้เป็นเงื่อนไขความขัดแย้งในการเมืองระดับชาติ ถูกไหม ทำไมมันถูกแช่แข็ง ฉะนั้นเราพูดได้ว่าการกระจายอำนาจไม่สามารถเรียกร้องความสำคัญได้เลยจากรัฐบาล

เงื่อนไขที่ 2 คือไม่เห็นหัวชาวบ้านเลย ตั้งแต่ปี 2556-57 เป็นต้นมาก็เรียกว่าไม่เห็นหัวท้องถิ่น คำถามคือชาวบ้านเป็นอะไรอ่ะ ชาวบ้านควรจะได้รับบริการที่ต่อเนื่อง ควรจะได้รับการพัฒนาที่ไม่สะดุดไม่ขาดตอน การที่มาแช่แข็งการเมืองท้องถิ่น ก็เท่ากับแช่แข็งการบริการที่ประชาชนพึงจะได้รับไม่ได้เต็มที่ ไปแช่แข็งโอกาสในการพัฒนาของคนในพื้นที่ กลายเป็นว่ารัฐบาลลงไปเล่นเองหลายเรื่องมาก แทบไม่ให้โอกาสท้องถิ่นเลย ใช้กลไกของรัฐที่ผ่านกระทรวง กรม ลงไปถึงท้องที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และรัฐบาลไปเรียกกลไกเหล่านี้ว่าท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องน่าตลก เท่ากับว่าไม่เห็นคุณค่าองค์กรทางการเมืองที่ชาวบ้านเลือกมาเลย นี่คือล้มเหลวที่ 2

ล้มเหลวที่ 3 ถึงจะมีเลือกตั้งวันที่ 20 ธันวาคม เราไม่เคยหลุดพ้นจากการกระจายภารกิจ ความรับผิดชอบ หรือความเป็นอิสระให้กับอบจ. มากขึ้นเลย พูดง่ายๆก็คือเราเลือกตั้งอยู่ในกรอบกฎหมายเดิม กรอบเดิมทุกอย่าง ฉะนั้นมันแค่การเปลี่ยนตัวผู้เล่น ใครจะเข้ามาก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถามว่า อบจ.หลังการเลือกตั้งวันที่ 20 ธันวาคม มีอิสระที่จะทำภารกิจของตัวเองมากขึ้นไหม มีอิสระที่จะตอบสนองต่อประชาชนตามนโยบายที่หาเสียงหรือไม่ มันจะวนกลับมาโจทย์เดิม เลือกตั้งมาแล้วปุ๊บ อบจ.ทำอะไรไม่ได้ตามที่หาเสียง เพราะว่าสตง.บอกว่าทำอะไรไม่ได้โน่นนี่ติดขัด ภารกิจถ่ายโอนไม่ได้มาเพิ่ม แล้วมันคืออะไรอ่ะ? (หัวเราะ) แล้วมันบอกถึงความสำเร็จตรงไหน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอะไรเลย

  • สตง.นี่น่ากลัวขนาดนั้นเลยหรือ?

น่ากลัวสิ สตง.สามารถบอกว่าอันไหนนี้ทำได้อันนี้ทำไม่ได้ เพียงแค่ว่าไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีระเบียบรองรับ นี่ไม่ใช่ภารกิจถ่ายโอน อบจ.คือจบ ฉะนั้นที่ไปหาเสียงไว้ช่วงนี้อาจจะไม่ได้ทำเกินครึ่งก็ได้ มันสะท้อนอะไร มันสะท้อนเลยว่า เราได้แค่เขาเปิดโอกาสให้เลือกตั้ง แต่เราไม่ประสบความสำเร็จอันที่ 3 คือเรียกร้องให้อบจ.มีบทบาทเยอะขึ้น สามารถทำภารกิจได้กว้างขวางขึ้นกว่ากว่าเดิม ไม่สำเร็จเลย

เช่นถ้าเราอยากเห็นอบจ.คล้ายกับ กทม. กทม.สามารถตั้งบริษัท กรุงเทพธนาคม ที่ไปลงทุน จับมือกับเอกชน ทำระบบ BTS คำถามคือทำไมไม่มี BTS ในระดับจังหวัด อบจ. ที่อื่นบ้าง เหตุผลหลักก็คืออบจ.มีอำนาจได้ขนาดไหนในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของตัวเอง มีหลายแห่งอยากจะทำ เช่นที่ผมได้ยินมาล่าสุดปีที่แล้ว อบจ.สมุทรปราการ เขาบอกเขามีสตางค์ อยากให้รถไฟฟ้าวิ่งไปถึงปากน้ำ ทำไมเขาถึงทำไม่ได้ เขามีสตางค์ เขาทำเรื่องมาถึงกรรมการกระจายอำนาจ เขาขอทำภารกิจนี้ได้ไหม กรรมการกระจายอำนาจเราเห็นด้วยนะ แต่มันจะไปตกอยู่ในกรอบกฎหมาย 2-3 ตัว กระทรวงคมนาคมเขาจะตั้งคำถามว่า เป็นอำนาจอบจ.ขนาดไหน กฤษฎีกาก็จะบอกว่ามีกฎหมายรองรับหรือเปล่า ถ้าพูดตรงๆกฎหมายอบจ.ไม่ได้เขียนรองรับไว้ชัดขนาดนั้น ก็ต้องไปอาศัยการตีความอีกในอนาคต อบจ.อยากทำทำได้จริงหรือเปล่า หลายที่อาจจะหาเสียงแล้วก็ได้ จะทำระบบรถไฟฟ้าของตัวเอง แต่มันไปติดกรอบกฎหมายว่าทำไม่ได้ แล้วสตง.จะเป็นคนปิดประตู บอกว่าถ้าไม่มีกฎหมายรองรับไว้ชัด ก็คือจบ ทำไม่ได้ เรียบร้อย ฉะนั้นมันก็สะท้อนเลยว่า ถึงจะมีเลือกตั้งวันนี้ โครงสร้างอำนาจหน้าที่ ความเป็นอิสระของอบจ. ไม่ได้มากไปกว่าเมื่อสัก20ปีที่แล้ว ฉะนั้นมันสำเร็จไหม ครับ ผมฟันธง 3 ประเด็นนี้ มันไม่สำเร็จเลย มันเป็นแค่การให้โอกาสในการเปลี่ยนผู้เล่น ล้มเหลว ผมตอบได้อย่างเดียวคือ ยังดีที่มีการปล่อยให้เลือกตั้ง แต่ 3 ปัจจัยนี้คือล้มเหลว การล้มเหลวไม่ได้เกิดจากตัวอบจ. แต่เกิดจากโครงสร้างอำนาจของรัฐ ไม่เปิดให้อบจ.มีอิสระทำอะไรได้มากขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

  • ตอนนี้กลไกราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมันเข้มแข็งขนาดไหน เมื่อเทียบกับ10-20 ปีที่แล้ว

เข้มแข็งกว่าเดิมเยอะมาก คือถ้าผมเทียบยุคแรกนะ ประมาณปี 42 ถึงปี 47-48 จากนั้นกลไกผู้ว่าเริ่มเข้มแข็งช่วงผู้ว่า CEO เราเริ่มกลับมามีนิยามของจังหวัดที่เป็นหนึ่งในกลไกงบประมาณ จังหวัดเริ่มตั้งงบประมาณเองได้ ประมาณปี 2551-2552 เริ่มไม่ต้องพึ่งอบจ. รัฐบาลก็ไว้ใจ เริ่มมีงบประมาณของตัวเอง ยุคแรกๆอาจจะไม่เยอะ แต่พอผ่านมาจนถึงวันนี้ ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2558 จนมาถึงปี 2561 เรามีกฎหมายตัวใหม่ หลายฉบับ กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายวิธีงบประมาณตัวใหม่ ระบบงบประมาณที่บอกว่า จังหวัด กลุ่มจังหวัด งบยุทธศาสตร์ลงไปในภูมิภาคทั้งนั้นเลย ฉะนั้นผู้ว่ามีทั้งอำนาจ ทั้งงบประมาณ มีทั้งเครื่องมือที่จะบอกว่า ไม่ช่วยท้องถิ่นแล้ว ท้องถิ่นอยากได้อะไรคุณไปจัดการงบประมาณของคุณเอง จังหวัดเขาจะเล่นงบของเขาเอง ที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ ผมยังไม่ได้ทำตัวเลขนะ แต่เข้าใจว่าที่ลงไปในจังหวัดผ่านผู้ว่า ด้วยงบจังหวัด กลุ่มจังหวัด และงบยุทธศาสตร์ 3 ก้อนนี้ มากกว่างบที่อบจ.ได้แล้ววันนี้

  • อ้าวนี้ก็ขัดกับหลักกระจายอำนาจสิครับ

แน่นอน ผมถึงบอกว่า ในทศวรรษที่ 3 ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง การมีเลือกตั้งนายกอบจ. โครงสร้างไม่ได้เปลี่ยน นอกจากนี้แต่ละกระทรวงก็มีความพยายามลงไปเล่นในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน แม้กระทั่งสำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ ยังอยากจะลงไปเล่นในพื้นที่เลย พูดง่ายๆก็คือส่วนกลางพยายามสร้างแขนขาลงไปในพื้นที่ คือมีความพยายาม 2 รูปแบบ 1.ดึงท้องถิ่นให้เป็นกลไกของภูมิภาค ซึ่งก็สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง เพราะท้องถิ่นเขาก็รู้สถานภาพของเขาตามกฎหมาย เขาเป็นองค์กรตามกฎหมาย เป็นนิติบุคคล ฉะนั้นใครจะมาสั่งโดยตรง หรือให้เป็นกลไกส่วนหนึ่งของราชการ มันไม่ได้ วิธีการที่เขาทำเขาใช้คำนี้นะ มอบอํานาจ กรมเจ้าท่ายังเป็นผู้เล่นในพื้นที่ ไม่อยากถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น ก็บันทึกอะไรมาสักแผ่นนึง แล้วก็ส่งไปถึงกระทรวงมหาดไทย กรมท้องถิ่น บอกว่าให้ช่วยบอกท้องถิ่นอีกต่อ ว่ากรมเจ้าท่ามอบภารกิจ ให้อบต.ดูเรื่องนี้เรื่องนี้ๆๆ หรือบางทีก็มอบให้ปลัด นายกอบต.เป็นเจ้าพนักงานของกฎหมายเจ้าท่า นี่คือวิธีมอบอำนาจหรือแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ของแต่ละกรม นี่คือการพยายามครอบงำแบบหนึ่ง การดึงให้มาเป็นส่วนหนึ่ง มาอยู่ในแท่งการบังคับบัญชา นี่คือวิธีที่ 1 สำเร็จบางส่วนไม่สำเร็จบางส่วน เพราะท้องถิ่นสู้ในทางกฎหมาย

แบบที่ 2 ก็คือเจาะตรงไม่ได้ ก็ไปสร้างแขนขาในพื้นที่ มหาดไทยมีแขนขาอยู่แล้ว ตั้งแต่ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ปลัดอําเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน สาธารณสุขก็ไปสร้างอสม. เราก็เห็น แทบจะทุกกระทรวงมีกลไกแบบนี้หมด บางทีก็อาศัยกลไกอาสาสมัคร ผมคิดว่าน่าจะครบทุกกระทรวงแล้วนะ ที่มีกลไกที่เรียกว่าอาสาสมัคร แม้กระทั่งที่มันตลกมากคือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมัยอธิบดีท่านเก่า ยังไปสร้างอาสาสมัครสิ่งแวดล้อมของตัวเอง ทั้งๆที่เป็นกรมที่จะต้องส่งเสริมให้ท้องถิ่น กรมส่งเสริมกลับไปสร้างอาสาสมัครธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ของตัวเอง วันนี้มีหมด พม.ก็มี เกษตรก็มี สิ่งแวดล้อมก็มี เหตุผลก็คือทุกกระทรวงรู้ ว่าโครงสร้างส่วนกลางส่วนภูมิภาค มันยึดโยงไปไม่ถึงในพื้นที่ แต่ไม่ยอมรับหลักกระจายอำนาจ คิดอยู่อย่างเดียวคือต้องสั่งการส่งตรงไปถึงพื้นที่ให้ได้ ถ้าส่งตรงไปถึงท้องถิ่นแล้วท้องถิ่นปฏิเสธก็เล่นเอง พอตั้งเสร็จอีกหน่อยนะ ก็จะให้ท้องถิ่นดูแลอาสาสมัครพวกนี้ ไปฝึกอบรมให้ ไปหาเครื่องมือให้ อีกหน่อยให้ท้องถิ่นไปจ่ายเงินให้พวกอาสาสมัครพวกนี้ด้วย อันนี้ผมว่าเป็นการก้าวล่วงท้องถิ่นเยอะเกิน ตอกย้ำอีกครั้งว่าทศวรรษ 3 ล้มเหลวมาก โชคดีแค่นั้นแหละ ที่ท้องถิ่นยังไม่ถูกยุบ แต่โตไปกว่านี้ยาก ถูกดองทั้งในเรื่องอำนาจหน้าที่ ถูกดองทั้งในเรื่องเงินงบประมาณ ถูกก้าวล่วงล้วงกระเป๋า โดนทุกดอก ยังไม่พอ ยังเอาสตง. เอาปปช.มาปิดท้าย อย่างนี้ไม่เรียกกระจายอำนาจล้มเหลวจะเรียกอะไร

  • อาจารย์ เคยบอกว่าก้าวแรกของการปฏิรูปการเมืองคือการกระจายอำนาจ เลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปการเมืองยุครัฐบาลประยุทธ์ ได้หรือไม่

ไม่ (ตอบสวนกลับทันที) 1. อย่างที่ผมบอกไม่ได้กระจายอำนาจมากขึ้นถูกไหม ต้องถามว่ายอมให้เลือกตั้ง แล้วกระจายอำนาจให้มากขึ้นตรงไหน อำนาจอะไรมากขึ้นให้กับท้องถิ่น ไม่มี เป็นแค่กลไกเลือกตั้ง ที่ยอมปล่อยให้มี ซึ่งมันคนเกิดมาตั้ง 3-4 ปีที่แล้ว 2.ทำเพราะว่าต้องการให้มีการเลือกตั้ง มี Road Map หรือทำเพราะว่าสภาพแวดล้อมทางการเมืองมันบีบบังคับให้ทำ ถ้าผมมองนะ ไม่ได้เกิดจากนโยบาย ที่ยอมให้มีการเลือกตั้ง 20 ธันวาคม แต่เกิดจากเงื่อนไขทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ มันสุกงอม คือดึงต่อไปไม่ไหวแล้ว ดึงต่อไปจะถูกเพื่อนคัดค้านเยอะ เหตุผลก็เพราะว่าถ้าไม่มีการเลือกตั้งเดี๋ยวเงินมันจะถูกส่งต่อไปไม่ถึงท้องถิ่น ถ้ามองว่าการเมืองระดับชาติท้องถิ่นคือเครือข่ายผลประโยชน์ การยอมให้มีการเลือกตั้งมันคือการขยายโอกาสสร้างผลประโยชน์ การขยายเครือข่ายที่มากขึ้น เป็นเงื่อนไขแบบนั้น หรืออาจจะมองอีกมุมหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจไม่ดีต้องการเอาเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลหมดหน้าตักแล้ว เล่นกี่วิธีเศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีไปกว่านี้ ฉะนั้นนี่คือเครื่องมือที่ต้องยอมเอาออกมาทดลองใช้ หวังว่าพอมีเลือกตั้งอบจ. สมาชิกอบจ. เม็ดเงินมันจะหมุนเวียนอยู่บ้าง และก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวระยะสั้นๆ ซัก 2-3 เดือน แค่นั้น ถ้าผมมองนะ สรุปก็คือไม่ใช่สัญลักษณ์ของกระจายอำนาจ 1. ไม่มีอะไรที่บอกว่าเป็นการกระจายอำนาจ 2. ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจวางแผน

และถ้าไม่มีอะไรสะดุด เลือกตั้งเทศบาล กับอบต. อาจจะมีในเร็วๆนี้ นั่นคือจำยอมต้องปล่อย หวังว่าเม็ดเงินหมุนเวียนมันจะเพิ่มขึ้น อย่างน้อยถ้าไม่พูดเรื่องการซื้อเสียง เงินที่ให้หัวคะแนน พูดเรื่องการรณรงค์ campaign พวกนี้ใช้เงิน เช่นป้ายโฆษณาก็กระตุ้นเศรษฐกิจ มีการจ้างทีมงานหาเสียงก็กระตุ้นเศรษฐกิจ การลงพื้นที่ ทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย ก็กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนั้น นี่คือแบบเปิดเผย แต่ไอ้ที่ไม่เปิดเผยอีกเท่าไหร่ เงินซื้อเสียง จ่ายหัวคะแนน ผมฟันธงเลยนะ มองในแง่ร้ายหน่อย รัฐบาลไม่ได้ตั้งใจให้มันมีเลือกตั้งหรอก คือถ้าดึงกว่านี้อีก ถ้าทำได้เขาจะทำ แต่เนื่องจากหมดมุกในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว นี่แหละตัวช่วย (หัวเราะ) ถ้าเดานะ อบจ.อาจจะช่วยได้สักหมื่นล้าน ถ้าเป็นเทศบาล อบต.ด้วย รวมๆทั้งประเทศ น่าจะได้ซัก 4-5 หมื่นล้าน มันก็เหมือนโครงการประชานิยมใหญ่ๆซัก 2-3 โครงการ

  • รัฐบาลบอกว่าให้มีเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นไปตามหลักการพัฒนาประชาธิปไตย

ไม่ ไม่ ไม่ ไม่เลย ถ้ากลัวว่าผมมองในแง่ร้ายเกินไป ถ้ามันเกิดจากการที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมประชาธิปไตยจริง ถามว่าวันนี้รัฐบาลพูดอะไรบ้างเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่น นอกจากออกกฎหมายและยอมให้มีการเลือกตั้ง ที่เหลือคือปล่อย ไปตามกระบวนการ ไปลุยกันเอาเอง ถ้ามันสำคัญจริงรัฐบาลต้องออกมาแคมเปญแล้ว เช่นบอกว่าครั้งนี้หลักการเลือกตั้งควรจะเป็นอย่างไร ท้องถิ่นอบจ.สำคัญอย่างไรต่อประเทศ ต่อการสร้างประชาธิปไตย มีอะไรบ้างที่ออกมาจากรัฐบาล ส่วนตัวผมไม่เห็นเลย จะบอกว่ารัฐบาลกำลังชุลมุนวุ่นวายกับการเมืองระดับชาติ เรื่องม็อบเลยไม่มีเวลาสนใจเรื่องท้องถิ่น แต่มันไม่เกี่ยวกัน เรื่องม็อบก็รัฐบาล ตำรวจ เลือกตั้งก็มหาดไทย ไม่เห็นทำอะไร มหาดไทยทำแคมเปญอะไรบ้างที่เกี่ยวกับเลือกตั้งอบจ. มาทำในเชิง Civic Education บ้าง อบจ.สำคัญอย่างไร อยู่ตรงไหนในกลไกการเมือง มีส่วนอย่างไรในการสร้าง Democracy พูดได้นี่ นี่ไม่ได้เข้าข้างใคร เปลี่ยนเรื่องการให้ความรู้ ให้การตื่นตัว

แต่ดูสิ สิ่งที่เราเห็น หยุด 4 วัน ก็อาทิตย์นึง แล้วเลือกตั้งก็อีกอาทิตย์นึง หยุด 4 วันก็วันที่ 10 11 12 13 ทำไมไม่จัดเลือกตั้งช่วงนั้น ผมก็ไม่เข้าใจ คนกลับบ้านไปเลือกตั้งเลย ถ้าจะโปรโมตกันจริงๆ ทำไมต้องมาแยกอีกสัปดาห์ ผมถามเด็กๆในทีมวิจัยผม เขาเป็นเด็กมาจากต่างจังหวัด ว่ากลับบ้านไหมช่วงวันหยุด 4 วันเขาก็บอกว่ากลับ จากนั้นก็กลับมาทำงาน แล้วอีกอาทิตย์นึงจะกลับไปเลือกตั้งไหม ไม่มีใครกลับ นี่คืออะไร นี่คือส่งเสริม Democracy ตรงไหน

  • แต่โดยหลักการ การไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกเขต ไม่ผิดใช่ไหม

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ความวุ่นวายกันเยอะ เขตเลือกตั้งมันหลากหลายมากกว่าสส. การจัดการจะยุ่งมาก การส่งบัตรจะวุ่นวาย นั่นแค่ปลายทาง การลงทะเบียนใช้สิทธิ์ล่วงหน้า ยิ่งวุ่นวายเข้าไปใหญ่ เขตเลือกตั้งมันเยอะกว่าเดิมเยอะ อันนี้พอยอมรับได้ มันเป็นข้อจำกัดเชิงการจัดการ แต่การกำหนดช่วงเวลาเลือกตั้ง ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าส่งเสริมประชาธิปไตยได้หรือไม่ แม้จะบอกว่าเป็นเรื่องของกกต. แต่จริงๆรัฐบาลส่งสัญญาณได้ รัฐบาลไม่คุยกับกกต. เผลอๆอาจจะคุยวงลับก็ได้ว่าเอาแบบนี้ละกัน คนจะได้ไปใช้สิทธิ์ไม่เยอะ (หัวเราะ)

  • อ้าว?

เป็นไปได้ ด้วยการจัดการบัตรเลือกตั้ง ก็รู้อยู่ว่ามันมีประเด็นอยู่ มันมีโอกาสใช่ไหม ถ้าคนไปใช้สิทธิ์ไม่เยอะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ถูกป่าว บัตรเขย่งก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ในระดับท้องถิ่น ฉะนั้นจะเปิดโอกาสให้มีบัตรเขย่ง ก็ต้องทำให้คนไม่ไปใช้สิทธิ์ พูดตรงๆไม่ได้ก็จัดการด้วยกระบวนการ (หัวเราะ) แค่นั้นเอง

  • อาจารย์คาดหวังอย่างไรกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ พอจะมีบ้างไหม

วันนี้ไม่เห็นหวังนะต้องบอกก่อน พูดง่ายๆก็คือถึงแม้จะเลือกตั้งสำเร็จ ถึงแม้ว่าคนจะมาใช้สิทธิ์ในระดับที่น่าพอใจ ก็ไม่ได้เรียกว่าอบจ.กระจายอำนาจสำเร็จ เราอาจจะหวังได้ 2 ระดับ

ระดับที่ 1 ก็คือด้วยกระบวนการการเลือกตั้ง ด้วยกระบวนการที่มันอัดอั้นมา 7-8 ปี มันทำให้คนในท้องถิ่นรู้สึกตื่นตัว เพราะถูกกดมาหลายปี ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงเราก็คาดหวังจะเห็น นักการเมือง หรืออบจ. พี่น่าจะเป็นคนดี สนใจรับผิดชอบปัญหาของประชาชนในพื้นที่ ในจังหวัด ที่มากขึ้น นั่นคือความคาดหวังระดับที่ 1 ในรายพื้นที่ แต่ความคาดหวังที่อยากเห็นมากกว่านี้ก็คือ ผมเชื่อเลยว่าวันนี้ทุกคนที่ลงสมัคร หาเสียงด้วยนโยบายเป็นร้อยเรื่อง อย่างพื้นที่หนึ่งที่ผมคลุกคลีอยู่ทางใต้ อย่างน้อยเขาไปคิดโครงการมาได้ 30-40 โครงการแล้วเท่าที่คุยกัน แต่ผมก็เชื่อเลยว่า ด้วยกรอบกฎหมายปัจจุบัน ทำได้ 10 เรื่องจาก 30 เรื่องก็เก่งแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็นหลังจากนี้ก็คือว่า คนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแม้จะเป็นใครก็ตาม ต้องไม่หยุดพอใจกับโครงสร้างอบจ. โครงสร้างกระจายอำนาจเท่าที่เป็นอยู่วันนี้ ต้องเรียกร้องให้มากขึ้นกว่านี้อีก หลังจากวันที่ 20 ธันวาคม มันจะมีความชอบธรรมทางการเมืองที่จะเคลื่อนไหวในระดับชาติได้มากขึ้น จะต้องเรียกร้องการถ่ายโอนภารกิจ ถ่ายโอนอำนาจ ความรับผิดชอบให้อบจ.มากขึ้น พูดง่ายๆก็คือไปเรียกร้องความสำคัญของอบจ. ที่เป็นกลไกหลักในการพัฒนาพื้นที่จังหวัด เขาต้องเรียกร้องเขาต้องไม่หยุดแค่นั้น นั่นคือความคาดหวัง

ผมไม่รู้หรอกว่าทาง 76 คนเขาจะตั้งเป้าขนาดไหน เขาจะตั้งเป้าไกล ไปมากขนาดไหน บางกลุ่มอาจจะมองว่าจังหวัดคือจุดเปลี่ยนสำคัญ เขาก็จะเรียกร้อง กลุ่มคอนเซอร์เวทีฟอาจจะมองว่า ทำแค่นี้พอแล้ว กรอบกฎหมายให้ทำเท่านี้ ฉันก็ทำเท่านี้ อยู่สบายแล้วไม่ต้องเหนื่อย ถ้าได้กลุ่มนี้มาเยอะ ก็ไม่คาดหวังว่ายุคที่ 4 จะดีขึ้นแล้ว ฉะนั้นหลังจากนี้ ถ้าเลือกตั้งแล้ว เขาตื่นตัว เป็นคนดี ตอบสนองต่อปัญหาในพื้นที่ เขาต้องไม่หยุดแค่นั้น อยากเห็นเขาเรียกร้องเคลื่อนไหวต่อว่าแล้วอบจ.จะทำอะไรได้มากขึ้น อยากเห็นจริงๆ

  • การเมืองระบบเจ้าพ่อ การเมืองระบบอุปถัมภ์ ยังทำงานอยู่ไหมในสังคมท้องถิ่น ปัจจุบัน มากน้อย ขนาดไหน

มีแต่น่าจะน้อยลง แต่ไม่รู้ พูดตอนนี้อาจจะเร็วไป ถ้าเรามองในแง่ของการเมืองอบจ. มีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นถูกไหม อย่างน้อยกลุ่มเดิมลงเล่น กลุ่มใหม่ที่เปิดตัว พร้อมที่จะชนกับเจ้าของคนเดิม มันก็มี ยกตัวอย่างถ้าพูดตรงๆ อย่างกลุ่มก้าวหน้า เขาก็มีผู้เล่นในสังกัดประมาณ 40 คน ครึ่งหนึ่งของประเทศ จะได้หรือไม่ได้ไม่รู้ แต่อย่างน้อยมันบอกได้ว่า มีคนกล้าที่จะลุยกับเจ้าพ่อ มองในมุมกลับ ความเป็นเจ้าพ่ออาจจะน้อยลงก็ได้ โทนอาจจะน้อยลง คนกล้าที่จะสู้ทางการเมืองมากขึ้น จะถามว่าสู้แล้วสำเร็จไหม ทำให้กระแสความเข้มแข็งของเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลน้อยลงหรือเปล่า ต้องรอหลัง 20 ธันวาคม เช่นเราอาจจะดูว่า พื้นที่ชลบุรี สมุทรปราการ ขั้วการเมืองจะเปลี่ยนไหม ต้องรอ

ทางเหนือบางจังหวัด เช่นที่แพร่ เชียงราย ที่เป็นกลุ่มการเมืองเก่าแก่ แม้กระทั่งอุบล กลุ่มการเมืองเก่าแก่จะถูกโค่น โดยหน้าใหม่ โดยคู่แข่งหรือไม่ ผมคาดเดาแบบล้วนๆ ว่า ผู้มีอิทธิพลรายเดิมจะรักษาฐานเสียงได้ครึ่งนึง อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้ เพราะ 7-8 ปีที่ผ่านมามันบอกอะไรเยอะ หลายคนทำงานไม่ Active ทำงานเรื่อยๆว่าไปตามสถานการณ์ บางคนไปเป็นพวกเดียวกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมันก็จะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แต่ด้วยความที่ช่วง 7 – 8 ปีที่ผ่านมาผลงานอาจไม่เข้าตา ชาวบ้านจำนวนหนึ่งก็อาจจะรู้สึกไม่พอใจ กับสิ่งที่เกิดขึ้น ฉะนั้นเขาอาจจะอยากลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งการเลือกตั้งส.ส.ปีที่แล้วมันก็บอกอะไรเยอะ มีกระแสอยากลองอะไรใหม่ๆใช่ไหม บวกกับเวลาที่เปลี่ยนไป Generation ของคนมันเปลี่ยน อย่างน้อยกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง เป็นกลุ่มใหม่ที่เข้ามาเติมตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เราตีว่า ได้ปีละล้านคน มันก็เห็นจากการเลือกตั้งส.ส.ที่เราได้พบอยู่ พวกนี้อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เลิกยึดติดกับระบบอิทธิพลเจ้าพ่อก็ได้ แล้วทดลองอะไรใหม่ๆ ใครจะไปรู้ เขาอาจจะไม่แสดงออก ไม่เห็นความเคลื่อนไหว แต่เจนใหม่ๆที่เข้ามา มันอาจมีขั้วการเมืองที่เปลี่ยนไปจากเดิมก็ได้ใครจะไปรู้

  • ต้องรอดูหลังเลือกตั้ง

หลังวันที่ 20 ธันวาคมจะเป็นตัวบอก 2 ปัจจัย ตัวผลงานของคนที่อยู่เดิม และคนที่มาใหม่อาจจะอยากลองของใหม่ รวมถึงคนที่อยู่เก่าอาจจะอยากลองของใหม่ด้วยก็ได้ ดูจากเลือกตั้งส.ส.มันบอกอะไรเยอะ

  • เปรียบเทียบอำนาจของนายกอบจ.อดีตกับปัจจุบัน

การเลือกตั้งอบจ.ครั้งนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจเมื่อเทียบกับอำนาจของอบจ.ในอดีต มีเพียงการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯอบจ.ให้ดำรงตำแหน่งได้ 2 วาระเป็นครั้งแรก แค่นั้นอำนาจในการไปจัดบริการสาธารณะ ในการประสานจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดไม่ต่างจากเดิมเลย ดีขึ้นนิดคือมีงบเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป แล้วอาจจะเก่งขึ้นตามกาลเวลาเพราะมีประสบการณ์การเรียนรู้มากขึ้น ทำให้มีทักษะในการประสานวิ่งเต้นแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น แต่กรอบกฎหมายไม่ได้พัฒนาเลยตลอด 20 ปี เลือกตั้งหลังวันที่ 20 ธันวาคม เราอาจจะได้แค่เปลี่ยนคนเป็นนายกอบจ. หน้าตาของการใช้อำนาจในการจัดการปัญหาของพื้นที่ถามว่าดีขึ้นกว่าเดิมไหม ตอบได้เลยว่าไม่ (พร้อมทำมือกากบาท)

  • หมายความว่าประชาชนก็จะได้เห็นโครงการเดิมๆเช่น ซ่อมถนน ซ่อมสะพาน ทำประปา

เท่านั้นๆ ภารกิจเหมือนเดิม พูดให้ชัด จังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ที่ผมคลุกคลี นโยบายที่เขาหาเสียง เช่นส่งเสริมศูนย์มัสยิด ส่งเสริมหลักสูตรท้องถิ่น พัฒนาตลาดกลางจังหวัด ทำระบบคมนาคมในจังหวัดให้ดีขึ้น วนๆอยู่แค่นี้ มีอะไรที่ใหญ่กว่านี้บ้าง เช่นรถไฟฟ้าในจังหวัด เชื่อมจากตัวเมืองออกอำเภอรอบนอก เอาแค่นี้ไม่มีที่ไหนกล้าพูด แต่นั่นคือสิ่งที่เราอยากเห็นคือการพัฒนาระบบขนส่งคมนาคมในจังหวัด ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อาทิตย์ที่แล้วผมไปเชียงใหม่มา ลงเครื่องบินที่ดอนเมืองเรามีแท็กซี่มิเตอร์ให้เลือก แกร็บก็มี ไม่ชอบแท็กซี่ก็ไปรถเมล์ มีทุกราคาที่เราอยากได้ ผมไปเชียงใหม่ มีทางเลือกอะไรบ้างพอเราลงสนามบิน ระยะทาง 5 กิโลเมตรที่ผมต้องเดินทางต้องใช้แท็กซี่สนามบินเท่านั้น ไม่มีแท็กซี่มิเตอร์หรือรถเมล์ให้เลือก ผมเจอค่าโดยสาร 250 บาทแค่ 5 กิโลเมตร เป็นระบบเหมาโดยไม่กดมิเตอร์ นี่คือตัวอย่างที่ชี้ว่าระบบคมนาคมขนส่งในจังหวัดต่างๆไม่ดีเลยนะ ทำไมคนในจังหวัดเรานี้ต้องจ่ายต้นทุนค่าเดินทางที่สูงกว่าคนกรุงเทพฯ ทั้งที่รายได้ไม่ได้สูงเท่าโดยเฉลี่ย ทำไมอบจ. เทศบาลไม่สามารถทำอะไรได้เลย ในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในจังหวัด อบจ.ภูเก็ตอยากทำระบบรถเมล์ สตง.ก็เล่น (หัวเราะ) บอกว่าทำแล้วขาดทุน รถเมล์ไม่ให้ทำ ถามว่ามีที่ไหนที่ทำระบบรถเมล์แล้วกำไร ขสมก. ทำไมอยู่ได้ รถไฟไทยทำไมอยู่ได้ ขาดทุนมาเท่าไหร่ กำไรอาจจะไม่ใช่โจทย์ใหญ่ก็ได้ การบริการประชาชน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางนั่นต่างหากคือกำไรของการบริการสาธารณะ ทำไมสตง.ไม่มอง นี่คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าอบจ.ไม่สามารถก้าวล่วงไปทำเรื่องขนาดนี้ได้

นี่แค่เรื่องเบสิคนะ ถ้าอบจ.อยากทำ Digital platform เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในจังหวัด สมมุติอยากจะทำระบบแบบช้อปปี้ Lazada สตง.กับกระทรวงมหาดไทยก็จะบอก เป็นงานท้องถิ่นตรงไหน หน่วยงานของรัฐก็จะบอกมันไม่เห็นเขียนเลยในกฎหมาย ก็จะบอกว่าทำแล้วแข่งกับเอกชน ทำไม่ได้ จบ อย่างนี้แล้วถามว่ารัฐบาลอยู่ไหน รัฐบาลจะทำหรือเปล่า ก็ไม่ได้ทำเพราะดูไม่ถึง คำถามคือแล้วทำไมไม่ให้ท้องถิ่นทำ นี่คือตัวอย่างเชิงรูปธรรม และหลังวันที่ 20 ธันวาคมก็จะไม่เปลี่ยนไปจากนี้หรอก ฉะนั้นผมถึงบอกว่าดูแล้วล้มเหลวไหม ล้มเหลวเหมือนเดิม โอกาสที่อบจ.จะพัฒนาการบริการแบบใหม่ๆ ให้มันเข้ากับยุคสมัยเศรษฐกิจ ไปส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมการจ้างงาน ไม่ต้องพูดถึง

หรืออีกอันคือสินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำ เกินกำลังรัฐบาลที่จะดูแลต้องมาตั้งงบประมาณอุดหนุนประกันราคาทุกปี ใช้งบหลักแสนล้าน ทั้งยางพารา ทั้งข้าว เที่ยวหน้าหนาวก็มีลำไยภาคเหนือ หอม วนๆอยู่อย่างนี้ ทำแบบนี้มา 30 – 40 ปีแล้ว เกษตรกรรวยขึ้นบ้างหรือยัง รัฐบาลต้องคิดนะ ทำแบบนี้แล้วจะหวังประเทศชาติพัฒนา เกษตรกรหลุดพ้นกับดักความยากจน มันไม่สำเร็จทำไมไม่ทบทวน

ถ้าผมมองนะ อบจ.จะไปตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ไหม ทำอุตสาหกรรมอะไรก็ตามที่มันไปดึง Supply ของผลผลิตทางการเกษตร ให้ออกมาสู่ตลาด ท้องถิ่นจะมีอิสระ ในการระดมทุน ไปลงทุน ตัดสินใจทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ทำไม่ได้เลย ไม่ต้องพูดถึงการจัดเก็บรายได้ลักษณะใหม่ๆ เก็บภาษีเพิ่ม ลงทุนหารายได้เพิ่ม ตามหลักทฤษฎีที่เราพูดกัน ไม่มีทาง

  • คนจำนวนมากมองว่าเลือกตั้งครั้งนี้จะปลดล็อคท้องถิ่น

ได้แค่เปลี่ยนผู้เล่น แล้วจะวนอยู่ในกรอบปัญหาเดิมที่เราพูดมาแล้วเกือบ 20 ปี คนที่คลุกคลีกับท้องถิ่นก็ไม่เห็นมีใครพูดเลยว่าจะต้องมีการกระจายอำนาจมากขึ้น ภูมิใจไทยก็เคยหาเสียงครั้งหนึ่งบอกต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจท้องถิ่น แล้ววันนี้อยู่ตรงไหน ประชาธิปัตย์ที่บอกว่าหนึ่งในอุดมการณ์ของพรรค คือเรื่องท้องถิ่น แล้ววันนี้พูดอะไรบ้างเรื่องท้องถิ่นดังๆให้รัฐบาลสนใจ ไม่มีเลย องค์ประกอบเหล่านี้ผมถึงบอกมันแค่เป็นเกมเปลี่ยนผู้เล่นเท่านั้นเอง ไม่เห็นสัญญาณของความก้าวหน้าของการกระจายอำนาจ ในระดับอบจ.

กระบวนการออกกฎหมายช่วงหลังของคสช.มันครอบท้องถิ่นแบบหนาขึ้นหนาขึ้นเรื่อยๆ พรบ.วิธีงบประมาณ พรบ.วินัยการคลังของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ คือทั้งหมดมันอยู่บนฐานที่ชื่อว่าทำให้ทุกอย่างเป็นแท่ง รัฐบาลสั่งการลงมาได้ เช่นยุทธศาสตร์ชาติก็พูดชัด กรอบครอบมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติก็บอกว่าให้ผูกพันกับหน่วยงานรัฐทั้งหมด เดิมแผนสภาพัฒน์ครอบคลุมแค่หน่วยงานฝ่ายบริหาร ไปไม่ถึงท้องถิ่น ไปไม่ถึงองค์กรอิสระ ไปไม่ถึงศาล แต่รัฐธรรมนูญให้มียุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์ชาติครอบคลุมหน่วยงานทั้งหมด หน่วยงานของศาลยังต้องอยู่ใต้ยุทธศาสตร์ชาติเลย มันหลักประชาธิปไตยตรงไหน ที่แบ่งอำนาจกัน 3 ฝ่ายมันไม่ใช่

พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐก็เขียนผูกไว้อีก ให้คลุมผูกพันทั้งหมด อยู่ภายใต้กรอบใหญ่ กฎหมายวิธีงบประมาณก็ดึงท้องถิ่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิธีงบประมาณ ของรัฐบาล ที่ผ่านมาท้องถิ่นของงบประมาณไม่ต้องไปดีเฟนด์ที่สำนักงบ ไม่ต้องไปดีเฟนด์เป็นที่กรรมาธิการงบประมาณ ปัจจุบันต้องไป ถ้าเป็นไปตามแผน ปี 2565 อบต.ต้องไปแล้วด้วย ระดับอบต.เลย 7,852 แห่งนี่แหละ ต้องไปที่สภา ต้องไป ดีเฟนด์ เป็นรายแห่งๆ เขาเริ่มปี 2563 ผมเป็นกรรมาธิการงบประมาณ เอาอบจ.มา ก็คิดว่า 70 กว่าแห่งก็สบายพอได้ ปี 2564 เอาเทศบาลเมืองเทศบาลนคร อีก 200 กว่าแห่ง ตอนนี้เริ่มไม่ไหว รวมกันแล้วก็ 300 กว่าแห่ง จนต้องบอกว่าให้เทศบาลตำบลและอบต.รอไปก่อน มันเกินกำลังของสภาที่จะพิจารณาได้ ฉะนั้นกฎหมายวิธีงบประมาณมันก็วิธีคิดเดียวกัน คือดึงทุกอย่างเป็นแท่งเข้าไปในระบบของเขา ที่มันยังไม่ได้วันนี้เพราะมันเกินโหลดของระบบที่จะรองรับ สภารองรับไม่ไหว แค่นั้นเองไม่งั้นเขาดึงไปหมดแล้ว

  • เลือกตั้งท้องถิ่นมักถูกมองภายใต้กรอบการทุจริตคอร์รัปชั่นเสียเป็นส่วนใหญ่

การทุจริตในระดับท้องถิ่นยอมรับว่า มี แต่อย่าลืมว่ากลไกการตรวจสอบก็พัฒนาไปมาก และอยู่ในระดับที่ดี แต่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มันเงียบๆนั่นแหละ มีอะไรในกอไผ่เยอะ ทิศทางของการกระจายอำนาจ มันยิ่งจะช่วยทำให้การตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น ถูกไหม มันมีประสบการณ์ประเทศหนึ่ง คืออินโดนีเซีย เพื่อนบ้านเรานี่แหละ ถ้ามองในภาพใหญ่ เขา BigBang decentralization ปี 1998 ของเราปฏิรูปตอนปี 1997 ห่างกันปีเดียว สภาพของอินโดนีเซียก่อนปฏิรูปติดลบกว่าไทยเราเยอะ ถูกไหม ทุจริตคอร์รัปชั่นยุค ซูฮาร์โต ผูกขาดผลประโยชน์มา 30-40 ปี

พูดง่ายๆก่อนต้มยำกุ้งอินโดนีเซียติดลบกว่าไทยเยอะมาก ทั้งในแง่รายได้เศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ความโปร่งใส แต่ผ่านมาแล้ววันนี้ตีซะ 23-24 ปี เรื่องความโปร่งใส 2 ประเทศนี้ต่างกันอย่างไร ตัวบ่งชี้ชัดมากคือ ดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใสหรือ CPI ก่อนกระจายอำนาจอินโดนีเซียลำดับติดลบ ไทยเราอยู่ประมาณกลางๆ ประมาณ 80-90 อินโดนีเซีย หลุดไป 130 จาก 180 ประเทศทั่วโลก มาวันนี้เขากระจายอำนาจไปแล้ว มีเลือกตั้งผู้ว่าแล้ว แล้วนักการเมืองท้องถิ่นก็ถูกจับกันรายวัน ปรากฏว่าผ่านมา 25 ปี ภาพลักษณ์ความโปร่งใสของอินโดนีเซียอันดับดีกว่าไทยไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าพอมีการกระจายอำนาจ คนที่ทุจริตคดโกงถูกตรวจสอบถูกจับได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ของไทยก็ยังคงย่ำอยู่กับที่ รอบ 30 ปีที่ผ่านมา วันนี้เราอยู่ที่อันดับ 101 จาก 180 ประเทศ อินโดนีเซียเคยอยู่ล้าหลังเรา วันนี้ขึ้นมาอยู่ที่ 90 กว่าๆ นำเราไปเรียบร้อย ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระจายอำนาจมันทำให้ความโปร่งใสมันดีขึ้น หรือรัฐบาลจะแย้ง รัฐบาลตั้งยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมา บอกว่าดัชนี CPI ต้องอยู่ 1 ใน 20 อันดับของโลก วันนี้เราได้ 30 กว่าคะแนนจาก 100 คะแนน

ในปี 2565 ช่วงแรกของยุทธศาสตร์ชาติ ระบุว่าต้องได้ 45 คะแนน นี่ยังไม่มีวี่แววเลยว่าจะไปถึงไหน แล้วรัฐบาลลุงตู่จะรับผิดชอบไหม อีกปีนึงเนี่ยจะถึงไหม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image