รายงานหน้า2 : ‘อาคม’หนุน3กลุ่มธุรกิจ ‘ดิจิทัล-สีเขียว-สุขภาพ’ ดันศก.ไทยโต 4.5%ปี 64

หมายเหตุนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Thailand 2021 #New Game New Normal” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ช่วงปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างหยุดชะงัก ทำให้เกิดการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ โดยเฉพาะการใช้ดิจิทัล จึงไม่แปลกที่จีดีพีของประเทศจะติดลบมา 3 ไตรมาส แต่เมื่อเทียบกันระหว่างไตรมาส ไตรมาสที่ 3/2563 บวกเพิ่มจากไตรมาส2/2563 ถึง 6.5% เนื่องจากการคลายล็อกดาวน์ประเทศที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา อาทิ การผลิต การบริโภค อาจจะไม่หวือหวา เพราะว่ากำลังซื้อมีเฉพาะเพียงภายในประเทศ

สิ่งที่ทุกคนอยากจะรู้ในขณะนี้ คือ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มมีสัญญาณตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 นั้น และขณะนี้ใกล้สิ้นสุดปีเราทำอะไรไปบ้าง แล้วปีหน้าเราจะทำอะไร ซึ่งวันนี้มีวิทยากรหลายท่านมาให้มุมมองในเรื่องนี้ ซึ่งพร้อมจะรับฟังทุกข้อมูล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่พึ่งได้รับตำแหน่งไม่นาน และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะกระทรวงการคลังถือว่าเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลนโยบายการเงิน การคลัง รวมทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สำคัญและทุกคนรอคอย เหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น ทำให้เกิดการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ วิถีการดำเนินชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป ที่เห็นมากขึ้นก็คือ การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีบนสมาร์ทโฟนที่เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของคน แม้แต่รัฐบาลเองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน

Advertisement

ในส่วนที่หายไป คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่มีสัดส่วนขนาดใหญ่มากถึง 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยใน 1 ปีมีประมาณ 40 ล้านคน ซึ่งหายไปจำนวนมาก เหลือเข้ามาในประเทศบ้างแบบประปราย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ทำงานประเทศไทย อาทิ นักธุรกิจ นักการทูต ผู้ที่ทำงานในหน่วยงานรัฐบาล หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ ที่เดินทางเข้าโดยได้รับอนุญาต ซึ่งความหวังของประเทศเรา คือ เรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และเรื่องของการดูแลรักษา เรื่องการจำกัดการแพร่ขยายของเชื้อโรค เราทำให้ดีขึ้น ด้านการสาธารณสุขนั้นเชื่อเรามีความมีมั่นใจ เพียงแต่ว่าเราพร้อมที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การเดินทางของผู้คนทั่วโลกนั้นเมื่อไหร่ ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านนา ได้มีโอกาสชมวีดิทัศน์ของกระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ในฉากสุดท้ายของวิดีโอได้เขียนไว้ว่า เราพร้อมแล้วที่จะเปิดประเทศ น่าจะปีหน้า

แต่ว่าต้องฟังอีกว่าเปิดแบบไหน เปิดแบบมีเงื่อนไข จึงทำให้การคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างน้อยที่สุดอยู่ที่ 8 ล้านคนในปี 2564 แต่หากสถานการณ์ทั่วโลกดีขึ้นมาก และประเทศต้นทางปลอดเชื้อโควิด-19 ก็อาจจะทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

ต้องยอมรับ ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังไม่ฟื้นตัว เพราะภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศของไทยคิดเป็น 12% ของจีดีพีประเทศ แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศ คิดเป็น 6% ของจีดีพี ซึ่งมาตรส่งเสริมไทยเที่ยวไทย สามารถทำได้ประมาณครึ่งหนึ่งของการท่องเที่ยวภายในประเทศมาอยู่ที่ 3%

Advertisement

ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการด้านสาธารณสุขที่ดี สามารถจำกัดพื้นการแพร่ระบาดได้ จึงทำให้มีความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศ แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยกระทรวงการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงประเมินปี 2564 น่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคน ขึ้นกับมาตรการของประเทศต้นทางด้วยว่ามีการอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ และเมื่อมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และค้นพบการรักษา ทำให้คนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้มากขึ้น

ในด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นักวิเคราะห์หลายค่าย คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้น ส่วนของภาคการท่องเที่ยว ถ้าหากยึดว่าจะกลับมามีนักท่องเที่ยวจำนวน 40 ล้านคนต่อปีเมื่อไหร่นั้น จะต้องใช้เวลา

จากสมมุติฐานที่ว่าปี 2564 รับได้ที่ 8 ล้านคน ดังนั้นเชื่อว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี หรือประมาณปี 2567 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าไทยเราปลอดภัย และประเทศต้นทางปลอดภัยได้เร็วเท่าไร การท่องเที่ยวก็สามารถก้าวกระโดดกลับสู่ปกติ ที่จำนวน 40 ล้านคนต่อปีเท่าก่อนเกิดโควิดระบาด คาดว่ารับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลับมาสู่จำนวนปกติ 40 ล้านคนต่อปีนับจากปี 2567 ซึ่งเป็นอีกความหวังหนึ่งที่ฝากไว้กับภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เราไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อต้นปีรัฐบาลการออกมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในทันที ที่เกิดการแพร่ระบาดคือ การล็อกดาวน์ประเทศ การจำกัดเวลาการเดินทางของคน ส่วนมาตรที่เข้ามาช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ มาตรการเยียวยา ช่วยเหลือในช่วงที่ว่างงานจากการล็อกดาวน์ประเทศ รัฐได้มอบเงินให้ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และในการเยียวยาแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม

รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งมีบางโรงงานที่อาจไปต่อไม่ไหว จึงต้องปลดพนักงานออก ซึ่งมีสถิติผู้ที่ว่างงานในประเทศไม่ถึง 1 ล้านคน ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ส่วนที่รวมทั้งมาตรการทางการเงิน การพักชำระหนี้นั้น กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องออกมาตรการที่สอดประสานกัน ทั้งมาตรการการคลังและการเงิน ส่วนมาตรฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการการท่องเที่ยว โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่รัฐจะช่วยออกค่าที่พัก ค่าตั๋วเครื่องบิน เพื่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ โครงการคนละครึ่งที่รัฐช่วยออกเงินสมทบให้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน รัฐบาลได้ใช้งบประมาณไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท และจะขยายต่อไปอีก 3 เดือนเนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศยังอ่อนมากในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในปีหน้าเราจะเห็นอะไร New game New normal ทำให้เราเห็นหลายอย่าง ประการแรกคือ การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งมีอิทธิพลต่อทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าเรื่องบริการทางการแพทย์ เรื่องสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ เรื่องสิ่งบันเทิงภายในบ้าน การเรียนทางไกล รวมถึงการเดินทางและการท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนไป มีการปรับตัวในเรื่องของสาธารณสุข ในส่วนที่จะเห็นในภาครัฐ เห็นได้ชัดจากมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่รัฐจ่ายเป็นเงินใส่ในบัตรโดยตรง พร้อมเพย์ที่มีโครงการจะร่วมมือกับประเทศสิงคโปร์ โดยไม่ต้องดูเลขที่บัญชีใช้บนสมาร์ทโฟน เพราะฉะนั้นในเรื่องของการใช้จ่ายเงินบนระบบดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงการคลังต้องดำเนินการ ขณะนี้ทางกรมสรรพากรก็ได้พัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีออนไลน์ ไม่ต้องเดินทางมาสรรพากร คำนวณภาษีทางออนไลน์ การขอใบกำกับภาษีโครงการช้อปดีมีคืน

ดังนั้นสิ่งที่ต้องปรับตัวคือ การเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่เกิดขึ้นแล้วในโครงการคนละครึ่ง ที่ต้องใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง และแม่ค้ารับเงินบนแอพพ์ ถุงเงิน ที่ตอนแรกคนให้ความสนใจน้อย เพราะรู้สึกว่าระบบทำงานยุ่งยาก

รวมทั้งการกลัวการจัดเก็บภาษี ซึ่งปกติร้านค้ารายย่อยไม่ต้องเสียภาษี เมื่อมีความชัดเจนแบบนี้ จึงทำให้มีร้านค้าสนใจร่วมลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการปัจจุบันประมาณ 8 แสนร้านค้า เป็นร้านหาบเร่ แผงลอยประมาณ 1.5 แสนร้านค้า รวมทั้งประชาชนด้วยที่เข้าร่วม 10 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าทุกคนให้ความสนใจในส่วนนี้อย่างมาก ที่จะเรียนการใช้ระบบการจ่ายเงินดิจิทัล (อี-เพย์เมนต์)

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจเองก็ต้องปรับตัวในทิศทางเดียวกัน ในด้านการลงทุนกระทรวงการคลังจะมีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ให้สนับสนุนธุรกิจ 3 กลุ่ม จาก 10 อุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 2.กลุ่มธุรกิจสีเขียว การลดปัญหาโลกร้อน และ 3.กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ

ส่วนในสิ่งที่เราจะเห็นในปี 2564 คือ การพัฒนาออนไลน์ การจัดเก็บภาษีบริการออนไลน์ โดยเฉพาะบริการออนไลน์จากต่างประเทศ ซึ่งความคืบหน้ากฎหมายขณะนี้อยู่ในขั้นกรรมาธิการของรัฐสภา ส่วนในเรื่องนโยบายการเงินนั้น เป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้มีการหารือกันว่า นโยบายการเงินและการคลังจะต้องมีการประสานกัน ถ้านโยบายการเงินไม่เอื้ออำนวยให้กับนโยบายการคลังให้สามารถใช้จ่ายเงินได้ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไปต่อไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงของการฟื้นฟูที่เราต้องการสภาพแวดล้อมทางการเงินที่เป็นประโยชน์ที่สุดของภาคเอกชน เมื่อรัฐบาลใช้จ่ายเงินเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน และส่วนการช่วยเหลือ นโยบายการเงินก็ต้องคอยดูไม่ใช่ว่าจะเข้มงวดขึ้นมาในช่วงระยะการฟื้นตัว

ส่วนปี 2564 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยเติบโต 4-4.5% ถือว่าสามารถฟื้นตัวได้เร็ว หากเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 นั้น มีปัจจัยที่ต่างกัน โดยจากคนทั้งหมดไปสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแนวทางการแก้ไขคล้ายๆกัน แต่จะดำเนินการให้เร็วกว่าในปี 2540 แน่นอน ตัวเลขจีดีพีที่เพิ่มขึ้นปีหน้านั้น คาดการณ์จากจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศกว่า 8 ล้านคน มาตรการการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศต่อเนื่อง พบว่า โครงการคนละครึ่ง ที่เริ่มใช้จ่ายในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แสดงผลในตัวเลขของเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2563 รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการพักชำระหนี้ โดยธนาคารส่วนใหญ่บอกว่า ลูกค้ากว่า 70% ที่พักชำระหนี้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ

ในส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
และผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 วงเงินโครงการ 150,000 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 วงเงินโครงการ 25,000 ล้านบาท ที่ผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อย (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ประกอบการรายย่อย วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 500,000 บาทรวมทุกสถาบันการเงิน ค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ก็ได้เตรียมวงเงินสำหรับชดเชยประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นให้ธนาคาร และสถาบันการเงินมีความมั่นใจที่จะปล่อยสินเชื่อ แต่ที่ผ่านมาการค้ำประกันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ก็ไม่มีความเสียหายถึง 94%

สำหรับมาตรการใหม่ๆ ออกมาอีกหรือไม่ในระยะนี้ ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาสต่อไตรมาสว่า ควรกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ทิศทางไหน มาตรการด้านการท่องเที่ยว เป็นส่วนที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยดูแล ส่วนเรื่องกองทุนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจโรงแรมนั้น เป็นข้อเสนอจากภาคเอกชน เมื่อตอนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ภูเก็ต เรื่องนี้กำลังอยู่ในระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image