สำรวจอุณหภูมิการเมือง หลัง‘บิ๊กตู่’พ้นบ่วง‘บ้านหลวง’

สำรวจอุณหภูมิการเมือง หลัง‘บิ๊กตู่’พ้นบ่วง‘บ้านหลวง’

หมายเหตุเป็นการประเมินสถานการณ์การเมือง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัว จากคำร้องการพักอาศัยเรือนรับรองกองทัพบก ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าไม่มีความผิด ขณะที่บางฝ่ายเห็นว่าอาจสร้างความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น

วิโรจน์ อาลี
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

ขณะนี้การเมืองในสภาหากติดตามบทบาทของฝ่ายค้านดูเหมือนอ่อนลง ทำให้มีการข้อเรียกร้องให้การทำงานมีเอกภาพ ส่วนการขับเคลื่อนของมวลชนนอกสภานานหลายเดือน ล่าสุดก็ดูเหมือนจะอ่อนแรง แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะหมดพลัง ทำให้ระยะสั้นความมั่นใจกลับไปอยู่ที่รัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีสบายใจมากในจังหวะนี้ เพราะยังไม่มีใครทำอะไรได้ ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบกับการทำงานของฝ่ายค้าน ขณะที่การชุมนุมช่วงนี้มีการสอบของนักศึกษา แต่เชื่อว่าการชุมนุมยังเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นมวลชนอาจอ่อนกำลังลงบ้าง จึงไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะใช้ไม้แข็งกับผู้ชุมนุมมากขึ้นหรือไม่ เพราะเชื่อว่ามวลชนอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากนักเหมือนที่ผ่านมา

หากมวลชนผ่านช่วงนี้ไปได้ก็สามารถเดินหน้าชุมนุมได้อีก และเชื่อว่าจะไม่มีการลดเงื่อนไขจากเดิม นอกจากนั้นการปราศรัยยังมีการพูดถึงการปฏิรูปศาล การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่าในอนาคตจะมีประเด็นซับซ้อนมากขึ้น ในทางกลับกันสิ่งที่มวลชนต้องทำให้ได้คือ การขยายแนวร่วม จะทำอย่างไรให้คนแต่ละรุ่นที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องเข้าร่วม ทำอย่างไรให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาของคนกลุ่มเดียว เป็นสิ่งท้าทายที่แกนนำต้องคิดให้ได้

ขณะนี้คนในสังคมรู้หมดว่า อะไรเกิดขึ้นบ้าง บ้านเมืองนี้ปัญหาอยู่ตรงไหน นับวันจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ประเด็นคือ จะกระตุ้นอย่างไรเพื่อให้มีแนวร่วมเพิ่ม เพื่อสร้างพลังในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะมีการยื่นศาลตีความก็ยังเชื่อมั่นว่าจะมีการแก้ไข แต่รัฐบาลจะทำในสิ่งที่ตัวเองได้เปรียบ ขณะที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลมีความเห็นร่วมกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องจับตามองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ไขเพื่อบุคคลกลุ่มใดให้ได้ประโยชน์ สำหรับ ส.ว.บางรายคงต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ต่อ เพราะการแก้ไขจะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของ ส.ว.โดยตรง หากคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญหยิบยกขึ้นมาพิจารณาแล้วไม่เป็นผลดี หรือหากจะแก้ไขจริง ก็จะต้องมีเงื่อนไขต่อรองบางอย่าง ทราบว่า ส.ว.บางกลุ่มมีการพูดคุยโดยอาจไม่เอาอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ขออยู่ครบ 5 ปีตามบทเฉพาะกาล ขอมีสิทธิในการลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ว. หรือ ส.ว.จากการสรรหาในครั้งต่อไป หากมีการพูดคุยแบบนี้จริง คณะกรรมาธิการก็ควรแจ้งให้ประชาชนรับทราบ

ส่วนการประเมินว่ารัฐบาลนี้อาจจะอยู่ยาวไปถึงต้นปี 2566 หรือไม่นั้น เชื่อว่ายังมีอุปสรรคข้างหน้า เป็นผลพวงมาจากการทำงานของนายกรัฐมนตรีอาจเกิดขึ้นได้ในประเด็นใหญ่ และต้องดูผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปีหน้า หากรัฐบาลจะอยู่ยาวถึงต้นปี 2566 ก็ต้องบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากกกว่านี้ หากบริหารแบบเดิมโดยใช้ระบบข้าราชการบริหารให้ ก็ไม่กล้ามองไปไกลมากกว่าการดำรงอยู่ถึงช่วงปลายปี 2564

เรื่องสำคัญก็คือ การตรวจสอบปัญหาการทุจริต ถ้าดูกลไกขององค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นชัดเจนว่ามีปัญหา หลายอย่างยังไม่ถูกขับเคลื่อนตามกระบวนการ บางเรื่องถูกกลบฝังหรือเงียบไปเอง แต่ในทางกลับกันประชาชนมีการรับรู้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น จะทำให้กลายเป็นแรงกดดันที่มีความต่อเนื่อง

นอกจากนั้น รัฐบาลรอประเมินผลการเลือกตั้งนายก อบจ. 76 จังหวัด หลังวันที่ 20 ธันวาคมนี้ หากผู้สมัครในซีกฝ่ายรัฐบาลประสบชัยชนะมากกว่า ก็จะชี้ให้เห็นถึงความมีเอกภาพในการคุมฐานเสียง ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคร่วมรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับกลไกราชการในพื้นที่เลือกตั้ง จากนั้นก็จะมีการนำโครงการประชานิยมไปใช้เพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้กลไกเศรษฐกิจลดแรงกดดันทางการเมือง แต่ต้องติดตามว่าการใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

โอกาสของรัฐบาลนี้จะอยู่ได้อย่างน้อยถึงเดือนถึงสิงหาคม 2564 หรือ 2 ปี มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากกระบวนทางการเมืองขณะนี้และอนาคตยังมีเงื่อนไขอีกหลายประการที่รัฐบาลต้องเผชิญ ดังนั้นสถานการณ์ที่อาจจะพลิกผันได้ตลอดเวลา จึงไม่สามารถประเมินได้ว่าจะอยู่ครบ 4 ปี แต่ถ้าครบ 2 ปีแล้วรัฐบาลอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบทางการเมือง เพราะเศรษฐกิจดีขึ้น โอกาสจะได้เห็นการยุบสภาก่อนครบ 4 ปี มีความเป็นไปได้ แต่ถ้ารัฐบาลมีภาวะทรงตัวก็อาจจะเห็นการดึงเกมยาวเพื่อให้อยู่ได้ถึงต้นปี 2566

หลังจากมีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่ามีประเด็นทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเรื่องความชอบธรรม จากการใช้บทบัญญัติในข้อกฎหมาย ส่วนกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากการชุมนุม เมื่อมีการทำกิจกรรมในระยะหนึ่งแล้วหากไม่ได้รับการตอบสนอง หรือมียังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก พลังของขบวนการอาจอ่อนลง ทั้งจากการใช้ทรัพยากร ความอ่อนล้าของพลังมวลชน ต้องยอมรับว่าโอกาสจะทำให้มีการเคลื่อนไหวใหญ่ในระยะสั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องอาศัยระยะเวลาอีกพอสมควรที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ได้อีกครั้ง

ส่วนฝ่ายค้านกับข้อจำกัดในการทำงานการเมืองในสภา ก็มีกฎหมาย ระเบียบต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องก็เป็นปัญหา เช่น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านไม่สามารถไปยื่นอะไรเพิ่มเติมได้ เพราะญัตติยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาแก้ไขมาตรา 256 และการแก้ไขในท้ายที่สุดก็คงเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 พลัส ที่มีของใหม่บวกเพิ่มเติมอีกเพียงเล็กน้อย เช่น ระบบการเลือกตั้งการแก้ปัญหาของพรรคการเมืองและนักการเมืองเท่านั้น แต่แกนหลักยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้เป็นอุปสรรคและกระบวนการทั้งหมดไม่ได้เอื้อโประโยชน์ให้กับประชาชน เพราะ 2 ญัตติที่ผ่านเข้าไปในสภาก็มุ่งแก้ไขมาตรา 256 ต่างกันเฉพาะที่มาของ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ร.ร.) และกรอบการทำงาน ในที่สุดรัฐบาลก็ได้เปรียบในการพิจารณาในวาระที่ 2 เพราะมี กมธ.เสียงส่วนใหญ่ โดยประเมินว่าจะมีการประนีประนอมระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ

ขณะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านต้องใช้เงื่อนไขในรอบต่อไปปี 2564 และเมื่อมองถึงการตรวจสอบปัญหาการทุจริตในเชิงโครงสร้าง รัฐบาลปัจจุบันก็ถูกวิจารณ์เรื่องนี้ค่อนข้างมากในช่วงแรกของการทำงาน แต่ต่อมาถูกกลบด้วยกระแสทางการเมืองมากกว่า เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การชุมนุมประท้วง จึงยังไม่เห็นการแก้ปัญหาการทุจริตอย่างจริงจังในเชิงโครงสร้าง แม้ว่าจะมีการพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง หรือการใช้วาทกรรมการเสนอให้มีการปฏิรูปก็ตาม

เมื่อมองถึงเสถียรภาพของรัฐบาลกับการทำโครงการประชานิยม ก็ต้องดูภาวะเศรษฐกิจภาพรวมว่า วันนี้การใช้นโยบายลดแลกแจกแถมอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นแม้ว่าจะมีโครงการเหล่านี้มากมาย ท้ายสุดถ้าภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนรู้สึกถึงความฝืดเคืองจากการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน จะเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล

ส่วนเรื่องการทำรัฐประหารเชื่อว่า ยังมีความเสี่ยงอยู่ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าจะไม่มีเงื่อนไขของความรุนแรง แต่ในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่ตั้งมั่นและโครงสร้างกองทัพยังไม่เคยได้รับการปฏิรูปอย่างมีนัยสำคัญ โอกาสรัฐประหารยังมีความเป็นไปได้ตลอดเวลา ถ้าสถานการณ์และเงื่อนไขเอื้ออำนวย

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

กติกาและความรู้สึกของผู้คนในสังคมมีความเป็นสากลมากขึ้น หมายความว่าผู้คนในทางสังคม โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปได้รับรู้ว่าสิทธิประโยชน์ สิทธิพิเศษ ของการอยู่อาศัยในบ้านหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ มีมาตรฐานแตกต่างจากข้าราชการพลเรือน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการได้รับสิทธิงดเว้นชำระค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ให้เป็นความรับผิดชอบของกองทัพบก ส่วนนี้ต่างหากที่สะท้อนให้เกิดการตั้งคำถามถึงจริยธรรมของผู้นำทางการเมือง

เชื่อว่าจากนี้ต่อไปกระแสทางสังคมจะคอยกระทุ้งและชี้เป้าตั้งคำถามในลักษณะเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อันจะเป็นมูลเชื้อสะสมความไม่พอใจของผู้คน แน่นอนว่า วิธีมองสอดสายตาเข้าไปยังภาคราชการของพลเรือนนั้น ยังมีเส้นบางๆ ที่คนภายนอกคาดหวังไว้สูงมากว่า กองทัพจะต้องปรับตัวไปตามกระแสสมัยใหม่ กองทัพมีความเป็นสากล ซึ่งจะเสริมความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ดังนั้น ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันหรือผู้จะมาดำรงตำแหน่งในอนาคต ควรจะสดับรับฟังต่อความเป็นห่วง ข้อกังวล และความรู้สึกของผู้คนในทางสังคมเช่นนี้ อาจต้องปรับข้อบังคับ หรือสิทธิที่พึงจะได้รับของอดีตผู้บัญชาการ ให้เป็นไปตามความเหมาะสมมากขึ้น

ส่วนประเด็นที่ผู้ชุมนุมราษฎรจะนำมาเล่นต่อไปนั้น คิดว่าหลังการเลือกตั้งท้องถิ่นคงจะเห็นภาพว่าความนิยมของพรรคร่วมรัฐบาล จะชนะการเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน คือประเด็นแรกที่จะต้องประเมินอีกครั้ง

ประเด็นต่อมา จะเข้าสู่โหมด “การพิสูจน์ภาพความจริงใจ” ในวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2 และ 3 เมื่อดูไทม์ไลน์แล้วเป็นไปได้สูงว่า กว่าจะเสร็จ กว่าจะประกาศบังคับใช้อาจกินเวลาถึงต้นปี 2566 เกือบจะครบเทอมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เท่ากับว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศถอยคนละก้าวนั้น ไม่ได้ถอย เพียงแต่ยั้งเท้าหลังไว้ แต่ตัวเองไม่ได้ถอย นี่คือจุดที่จะพิสูจน์ความจริงใจ และกระแสกดดันนี้จะถาโถมถึงความตรงไปตรงมาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

สิ่งหนึ่งที่เห็นจากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากกติกาการเลือกตั้งยังไม่ได้รับการแก้ไข ยังใช้กติกาเดิม แค่ไปพิจารณาเรื่องอำนาจวุฒิสมาชิกไม่ให้เลือกนายกรัฐมนตรี แต่ระบบการเลือกตั้งไม่ได้รับการแก้ไข เห็นได้จากปรากฏการณ์ที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออกจากพรรคเพื่อไทย ส่วนตัวเข้าใจว่า กติกาทางการเมืองบีบบังคับให้ต้องไปเล่นกติกาเดิม เป็นไปได้หรือไม่ว่าคุณหญิงสุดารัตน์จะมาทำหน้าที่เป็นหัวหอกในอนาคต โดยอาจตั้งพรรคการเมืองในลักษณะคล้าย “ไทยรักษาชาติ” เพราะพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมาไม่ได้รับเก้าอี้บัญชีรายชื่อแม้แต่เก้าอี้เดียว ดังนั้น เมื่อกลับเข้าสู่โหมดกติกาการเลือกตั้งเดิม ทำให้เกิดความเข้มข้นทางการเมือง ซึ่งเมื่อดูทิศทางแล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะอยู่ยาวๆ

ส่วนตัวเห็นว่า ประเด็นใหม่ๆ และเรื่องราวทางการเมืองที่เกิดขึ้น ควรสร้างพื้นที่ดีเบตระหว่างผู้เห็นต่าง ให้ประชาชนได้เกิดความตระหนัก เรียนรู้ร่วมกัน คลี่คลายความกดดันจากความขัดแย้ง ก่อนจะนำไปสู่จุดแตกหักทางการเมือง หรือเผชิญหน้าใช้ความรุนแรง การเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนให้ถกอภิปรายจึงเป็นสิ่งที่น่าจะส่งเสริม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image