‘หนุน-ค้าน’ชงกู้เพิ่ม1ล้านล. กระตุ้น ศก.-ท่องเที่ยว

‘หนุน-ค้าน’ชงกู้เพิ่ม1ล้านล. กระตุ้น ศก.-ท่องเที่ยว

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว และฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่อกรณีข้อเสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวช่วงปี 2564 รวมทั้งข้อเรียกร้องของพรรคเพื่อไทยให้ตั้งธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว

ณัฐพล คำถาเครือ
ผอ.ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย)

Advertisement

ข้อเสนอแนะของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มองว่ารัฐบาลควรออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อมาดูแลเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งยังสามารถทำได้ เนื่องจากหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ระดับต่ำ โดยต้องยอมรับว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเสียหายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เพราะมูลค่าการท่องเที่ยวของไทยในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท จึงเห็นด้วยว่ารัฐบาลควรกู้เงินเพิ่ม เพื่อกระตุ้นการลงทุน เนื่องจากขณะนี้ได้ประเมินภาพทิศทางในอนาคต มองว่าภาคการท่องเที่ยวยังจะคงซบเซาอีกนาน จึงต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นท่องเที่ยว การบริโภค และลงทุนในประเทศก่อน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ต้องเน้นย้ำมากที่สุด โดยประเมินว่า รัฐบาลยังมีความสามารถในการกู้เงินเพิ่มได้อีก 5-7 แสนล้านบาท โดยไม่ทำให้เสียวินัยการคลัง คือ หนี้ต่อจีดีพีจะต้องไม่เกิน 60% ในปี 2564

ภาคเอกชนมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ หลังจากที่ยังเห็นยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ไม่อยากเห็นการเกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดระลอก 2 ในประเทศขึ้น เพราะจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งหลังจากมีข่าวการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ เกิดขึ้นที่ภาคเหนือนั้น ค่อนข้างมีผลกระทบกับบรรยากาศและความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศ จึงมองว่าภาครัฐจะต้องเร่งดึงความเชื่อมั่นกลับมาให้เร็วที่สุด

สำหรับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ให้รัฐบาลจัดตั้งธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ของเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะนี้ยังไม่ได้ให้น้ำหนักกับข้อเสนอแนะดังกล่าวมากนัก เนื่องจากประเมินว่า ปัญหาหลักของภาคการท่องเที่ยวไทย และการท่องเที่ยวทั่วทั้งโลก อยู่ที่ความไม่คึกคักมากเท่าอดีต เนื่องจากการเดินทางยังไม่ฟื้นกลับมาเป็นปกติ และภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความกังวลมากอยู่

Advertisement

จึงมองว่า รัฐบาลควรต้องแก้ไขให้ถูกจุดคือ เน้นกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศมากกว่านี้ เนื่องจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังสามารถทำได้ไม่เต็มที่ เพราะความกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ยังมีอยู่ อีกทั้งยังต้องรอการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสที่ต้องมีประสิทธิภาพ 100% และสามารถกระจายการใช้วัคซีนรักษาผู้ป่วยติดเชื้อได้ทุกพื้นที่ทั่วโลก นอกจากนี้ ปัญหาในเรื่องสภาพคล่องของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ขณะนี้มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมไว้รองรับอยู่แล้ว

ซึ่งการที่ภาคเอกชนยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากเท่าที่ควรนั้น ต้องมีการปรับเงื่อนไขในการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ให้ภาคธุรกิจแทน เพราะเงินมีรอไว้อยู่แล้ว แต่ยังใช้ในการช่วยเหลือ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการได้ไม่เต็มที่

ธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย

ข้อเสนอตั้งธนาคารเพื่อท่องเที่ยวนั้น มองว่าคงทำได้ยาก แต่ถ้าทำเป็นกองทุนเยียวยาผลกระทบจากโควิดน่าจะได้มากกว่า และสามารถใช้เงินซอฟต์โลนในการข่วยเหลือภาคธุรกิจได้ ขณะนี้มีวงเงินเหลือถึง 3 แสนล้านบาท เพียงแต่ปรับเงื่อนไขให้กระทรวงคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย รับรองเงินกู้ให้ธุรกิจจากเดิม 2 ปี เป็น 5 ปี เพราะในส่วนของภาคท่องเที่ยว คาดว่ากว่าจะฟื้นตัวเท่าเดิมก็ใช้เวลาอีก 4-5 ปี หรือในปี 2566-67

ขณะเดียวกัน รัฐต้องส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีให้บริษัทหรือองค์กร ที่จัดกิจกรรมต่างๆ ประชุม สัมมนาหรือสังสรรค์พนักงาน รวมถึงภาคประชาชน ส่วนนี้รัฐจะใช้งบไม่สูงเกินไป ประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาท ควบคู่กับการเปิดประเทศ แบบเฉพาะกลุ่ม หรือจับคู่ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างกลุ่มที่เข้ามารักษาพยาบาลซึ่งพบว่ากลุ่มประเทศอาหรับนิยมเข้ามารับการรักษาด้านพยาบาลในไทย น่าจะมากกว่าชาวจีน

เช่นเดียวกับกรณีข้อเสนอให้รัฐบาลกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เห็นว่าไม่จำเป็นในขณะนี้ เพราะโครงการหรือมาตรการที่รัฐออกมาก็ยังใช้เงินไม่เต็มจำนวน อย่างซอฟต์โลน 4 แสนล้านบาท ยังเหลือ 3 แสนล้านบาท ที่รอการปรับเงื่อนไขให้คล่องตัวขึ้น และรัฐบาลกำหนดงบประมาณปี 2564 ขาดดุลไว้ 6 แสนล้านบาท รวม 2 ส่วนนี้ก็เกือบ 1 ล้านล้านบาทแล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากเข้าไตรมาส 2/2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดยังสูงและยาฉีดวัคซีนยังไม่เพียงพอ เปิดประเทศไม่ได้จะกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีถัดไปก็น่าจะพิจารณาอีกครั้ง

ในส่วนภาคธุรกิจมองว่าจากนี้อีก 9 เดือนกว่าไทยจะเริ่มฟื้นตัว บนสมมุติฐานโควิดคลี่คลาย มียาวัคซีน ปัญหาค่าบาทไม่แข็งเกินไป และขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งออกไม่มีแล้ว ดังนั้นรัฐบาลก็ควรต้องเสริมมาตรการกระตุ้นและช่วยลดภาระประชาชน ธุรกิจต่อเนื่องตลอดปี 2564 ซึ่งควรเป็นมาตรการที่หลากหลายแบบด้วย

วิชิต ประกอบโกศล
นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)

ข้อเสนอแนะของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มองว่ารัฐบาลควรออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เบื้องต้นเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากมองว่าปี 2564 กว่าที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเดินทางท่องเที่ยวเป็นปกติก็น่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 4/264 เพราะวัคซีนต้านไวรัสจะมาในช่วงไตรมาส 3/2564 ซึ่งกว่าจะมีการกระจายการใช้วัคซีนได้อย่างทั่วโลก ก็คงต้องใช้เวลาสักระยะ จึงคาดการณ์ว่าปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสกลับเข้ามาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพียง 50% เท่านั้น

โดยหากรัฐบาลเห็นด้วยว่าควรที่จะมีการกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาทจริง ก็มองว่าควรบริหารจัดการและแบ่งสัดส่วนเม็ดเงินก้อนดังกล่าว เป็นส่วนของภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ 20% หรือ 2 แสนล้านบาท เพราะที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทย หรือคิดเป็นรายได้ในสัดส่วน 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย โดยประเมินเบื้องต้นพบว่า หากในไตรมาสแรกของปี 2564 ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมของรัฐบาลเข้ามา จะทำให้ผู้ประกอบการ ในธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มีโอกาสปิดตัวถาวรมากขึ้นอีก เพราะสภาพคล่องมีอยู่ถึงเพียงสิ้นปีนี้ และหากปล่อยไปถึงกลางปี 2564 ธุรกิจท่องเที่ยวจะปิดตัวอีกกว่า 50%

ในช่วงที่รัฐบาลมองว่ายังไม่เหมาะสมที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในระยะสั้นๆ นี้ ทุกอย่างก็ต้องหวังไว้ที่วัคซีนต้านโควิด-19 ให้มาเร็วที่เท่าที่จะทำได้ โดยต้องมีประสิทธิภาพในการรักษาคนได้สูงสุด 100% และกระจายไปในทั่วทุกพื้นที่ของโลก เพื่อให้ความกังวลในการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศหมดลง รวมถึงความกังวลของประเทศที่เปิดให้เดินทางท่องเที่ยวหมดลง โดยในระยะที่ยังเปิดรับต่างชาติไม่ได้ มองว่ารัฐบาลควรหามาตรการในการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนในธุรกิจ และส่งต่อรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจต่อไป

อันดับแรกที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือคือ การจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว และการลดต้นลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ปี เพื่อยืดระยะการผ่อนชำระของผู้ประกอบการออกไปก่อน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจหารายได้และตั้งต้นตัวเองได้ใหม่ นอกจากนี้ มองว่าเป็นเรื่องของแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่อยากให้เข้าถึงมากขึ้น เพราะขณะนี้ ปัญหาด้วยการเพิ่มสภาพคล่องของผู้ประกอบการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับการเข้าถึงซอฟต์โลนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากหากประเมินในขณะนี้พบว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เข้าถึงซอฟต์โลนมีไม่ถึง 20% เท่านั้น

สำหรับมาตรการที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนคือ การเข้ามาช่วยสนับสนุนในการจ่ายเงินเดือนพนักงาน 50% ผู้ประกอบการจ่ายเอง 50% เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลิกจ้างมากกว่านี้และรักษาแรงงานในภาคบริการที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะสูงไว้ เนื่องจากหากมีการปล่อยให้เกิดการเลิกจ้างในจำนวนมากๆ กว่าที่แรงงานเหล่านี้จะถูกฝึกให้มีทักษะเท่าเดิม ต้องใช้เวลานาน และลดโอกาสในการให้บริการนักท่องเที่ยว ที่จะทยอยฟื้นตัวกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อไป รวมถึงรัฐบาลควรต้องเข้าไปฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาและซ่อมบำรุง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการท่องเที่ยวในนาคต

ส่วนที่พรรคเพื่อไทย ต้องการให้จัดตั้งธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว ในการช่วยธุรกิจท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้อันดับ 2 ของประเทศ เบื้องต้นเห็นด้วยอยู่แล้ว แต่จะตั้งขึ้นมาในลักษณะใดนั้น ยังต้องศึกษาต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และป้องกันไม่ให้เกิดการเอื้อผลประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้ในอนาคต เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ที่มีการจัดตั้งธนาคารช่วยเหลือ อาทิ เกษตรกร ที่มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ไว้ช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) คอยช่วยเหลือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image