ชี้สัญญาณ‘เพื่อไทย’ ‘หญิงหน่อย’ตั้งพรรคใหม่

ชี้สัญญาณ‘เพื่อไทย’ ‘หญิงหน่อย’ตั้งพรรคใหม่

หมายเหตุการให้สัมภาษณ์ของวัฒนา เมืองสุข และความเห็นนักวิชาการ กรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานคณะยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิก พท. พร้อมกับ วัฒนา เมืองสุข, โภคิน พลกุล และพงศกร อรรณนพพร เพื่อไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่

 

Advertisement

วัฒนา เมืองสุข
แกนนำกลุ่มสร้างไทย

การลาออกจากพรรคเพื่อไทย (พท.) เราไม่ได้ทะเลาะไม่ได้แตกกันเรื่องอื่น แต่ขัดแย้งกันเรื่องความคิด การเมืองเหมือนกับนั่งรถคันเดียวกัน คนนั่งอยากเลี้ยวซ้าย คนขับอยากเลี้ยวขวา มีทางเดียว ไม่ลง ก็แย่งพวงมาลัยกัน ผมไม่คิดว่าจะไปแย่งพวงมาลัยด้วย การขัดแย้งทางความคิดในเชิงหลักการที่จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวานั้นก็จำเป็นที่จะต้องเลือก และผมก็เลือกที่จะลงจากรถ ไม่ใช่ว่าจะเลี้ยวขวาจะไปเครื่องบิน หรือจะไปรถไฟดี แบบนั้นยังพอคุยกันได้แต่เพราะหลักคิดในเชิงหลักการที่ไปด้วยกันไม่ได้ อย่างแรกคือเรื่องยุทธศาสตร์ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องมี และพรรคเพื่อไทยคือพรรคการเมืองแรกที่ใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์” จนกระทั่งทุกพรรคการเมืองมีประธานยุทธศาสตร์ คณะผมเป็นคณะยุทธศาสตร์ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเมืองแบบวันต่อวัน แต่ในแง่ของพรรคการเมือง คิดว่ากรรมการยุทธศาสตร์ไม่จำเป็น จะเปลี่ยนไปเป็น “กรรมการบริหารพรรค” ขึ้นมาดูแลแทน แต่กรรมการบริหารพรรคไม่ได้ดูแลปัญหาวันต่อวัน การประชุมกรรมการบริหารพรรค ผมก็คิดว่าไม่ใช่ ตอนนั้นพวกผมจึงลาออก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่คิดไม่ตรงกันแล้ว

ในเรื่องยุทธศาสตร์ทางการเมือง พวกผมมองว่าการแก้ปัญหาของประเทศนี้ต้องเริ่มต้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการคืนอำนาจให้แก่ประชาชน โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พวกผมเป็นคนผลักดันทำในขณะที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้และเราทำจนสำเร็จ กระทั่งรัฐบาลยอมรับแล้วใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเดียวกับเรา เรามองว่านั่นคือปัญหา ถ้าจำได้จะมีกระบวนความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา เฉพาะการคืนอำนาจให้ประชาชนก็จะมีกระบวนการไปล็อกนู่นล็อกนี่ ส่วนตัวไม่เห็นด้วย แทนที่จะไปในทิศทางเดียวกัน

ในขณะนั้นก็มีแนวคิดที่ว่าเราจะต้องเอากับกลุ่มผู้เรียกร้องกับพรรคนู้นพรรคนี้ที่ต้องไปปิดสวิตช์ ส.ว. ส่วนตัวไม่อยากไปพาดพิงพรรคอื่น แต่มองว่าเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ เรามีทิศทางของตัวเอง และเดินไปของเราเองไม่จำเป็นต้องไปเดินตาม เพราะคิดว่าตลาดการเมืองเป็นคนละตลาด และการที่เราจะไปเดินด้วยก็ใช่ว่าเราจะได้ตลาดนั้นมา มันไม่มีประโยชน์ การมองปัญหาในระดับเด็ก-กลาง-ผู้ใหญ่ จะไม่เหมือนกัน แล้วแต่ประสบการณ์ แต่ผมมองว่าทางออกที่ดีของประเทศคือทางนี้จะนำประเทศไทยสู่การเปลี่ยนแปลงที่ต้องมีแน่ เป็นเรื่องปกติ

ถามว่าอำนาจใหม่ในพรรคเพื่อไทยเล่นเกมการเมืองแบบเกาะหลังเด็กหรือไม่นั้น ไม่มีใครไปเกาะหลังใคร แต่เขาอาจจะคิดว่าแนวทางอย่างนี้ถูกต้อง การทำงานเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดแล้วของกฎหมาย ถ้ารัฐธรรมนูญยังเล็กก็ไม่มีเรื่องอื่น เรามองว่าต้องเดินไปทางนี้เคลียร์ประเทศไปสู่การเลือกตั้ง บางทีการเปลี่ยนแปลงบางเรื่องไม่อาจทำได้ในข้ามคืน เมื่อเราต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ทุกคนก็ต้องพร้อมร่วมมือกับเรา การที่เราจะไปรุกอย่างเดียวนั้นไม่มีใครยอม หากจะเปลี่ยนแปลงอย่างสันติต้องเดินในวิธีนี้ เมื่อเราคิดไม่เหมือนกันก็มีทางเดียว ว่าผมจะแย่งพวงมาลัยหรือลงจากรถ

ส่วนที่ว่ายุทธศาสตร์ของอำนาจใหม่ในพรรคเพื่อไทยจะเล่นเกมเขี่ย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ร่วง แล้วจะไปบวกกับพรรคพลังประชารัฐ ตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่นั้น ตอบด้วยความสัตย์จริงว่า ผมไม่ทราบ เพราะเมื่อลาออกจากทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้หารือกับพรรคเพื่อไทยอีก ไม่มอง แต่ตอบล่วงหน้าให้เลยว่าการโหน คสช.ไปโหนกันที่อื่น อย่ามาโหนแถวพวกผม แถวนี้ไม่มีที่โหน

หลังจากนี้จะทำการเมืองแบบไหนก็คงไปตั้งพรรค ลาออกกันเป็นหมู่คณะแบบนี้จะบอกว่าไปร่วมหุ้นตั้งร้านก๋วยเตี๋ยวคงไม่มีใครเชื่อ การสื่อสารทางการเมืองที่ดีคือการพูดอย่างตรงไปตรงมา เราคงจะไปตั้งพรรคการเมืองและไม่ได้ออกมาเพื่อจะไปรวมกับใคร และไม่ได้ออกมาเพื่อแตกแบงก์ย่อย เพราะรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร.พวกผมผลักดันเอง รูปแบบการเลือกตั้งใบเดียวที่ออกแบบกันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจนั้น ไม่มี ส.ส.ร.ถูกยกเลิกทิ้งไปหมดแล้ว ฉะนั้นไม่ต้องไปจินตนาการ

ทั้งนี้ เรื่องสาขาของพรรคเพื่อไทยก็เป็นไปไม่ได้ แบงก์ย่อยยกเลิกตั้งแต่เราแก้ ส.ส.ร.สำเร็จ ต้องไปเขียนรัฐธรรมนูญกันใหม่แล้ว ส่วนพรรคใหม่ที่คุณหญิงสุดารัตน์จะไปตั้ง ส่วนตัวไม่ได้ลงรายละเอียด แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีการคุยกัน ไม่ได้มีการไปตั้งก่อนลาออก ตอนที่เราออกมา ก็บอกว่าคงต้องทำในเรื่องนี้แล้ว ไม่เช่นนั้นจะถูกตีความไปต่างๆ นานา เราก็จะตั้งของเรา รอให้ตั้งสำเร็จก่อน

ฝากถามทาง กกต.ด้วย ถ้ากระบวนการเร็วก็จะเปิดตัวได้เร็ว ตอนนี้ยื่นคำขอไปยัง กกต.แล้ว ผมมองว่าการเมืองประเทศในวันนี้มุ่งไปสู่การเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ขาดคุณสมบัติ ดังนั้น ประชาชนควรจะมองไปที่รัฐธรรมนูญใหม่ที่จะร่างออกมา ส.ส.ร.จะมีที่มาเป็นแบบไหน ให้มีความเป็นธรรมมากที่สุด เราก็จะได้ประชาธิปไตยมากที่สุด มาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ตรงนี้แก้อะไรกันไม่ได้ เพราะมาไกลเกินไปแล้ว

คาดว่าจากนี้ไปประมาณ 1 ปีครึ่ง น่าจะมีการเลือกตั้งระหว่างนี้เราก็เตรียมตัว ส่วนพรรคใหม่จะขาดจากทักษิณ-คุณหญิงพจมาน อย่างสมบูรณ์แบบหรือยังมีเยื่อใยอยู่นั้น เราเป็นตัวของเราเองแน่นอน ออกมาขนาดนี้จะไปอยู่ใต้ร่มเงาของใคร ต้นไม้ใหญ่ขึ้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ไม่ได้หรอก ที่เราออกมา คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อาจารย์โภคิน พลกุล ก็เป็นอดีตประธานรัฐสภา คนเหล่านี้ที่ออกมา เป็นผู้มีประสบการณ์ทั้งสิ้น ไม่ไปอยู่ใต้ร่มเงาของใคร

ผมไม่ได้ไปขัดแย้งกับทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน ผมขัดแย้งทางความคิดกับผู้บริหารพรรค เมื่อคิดไม่เหมือนกันผมจะอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ก็ต้องไปหาที่ ผมอายุ 63 ปีแล้ว ไม่มีเวลาให้ไปลองทางการเมือง อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราอยากทำอะไร ก็ทำไม่สำเร็จ ขณะนี้ใช้ชื่อกลุ่ม “สร้างไทย” ไปก่อน มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อาจารย์โภคิน พลกุล และพงศกร อรรณนพพร ที่ลาออกมาด้วยกัน

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การแยกตัวออกจากพรรคเพื่อไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ ประการแรกมีปัญหาจากรัฐธรรมนูญ แม้มีการเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ใช้ระยะเวลายาวนาน ต้องมีการตั้ง ส.ส.ร. ทำประชามติ หากเกิดอุบัติเหตุการเมืองต้องเลือกตั้งใหม่ในระยะเวลาอันใกล้ก็ต้องใช้กติกาเลือกตั้งเดิม ทำให้พรรคเพื่อไทยเสียเปรียบ การแตกตัวออกไปเป็นกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มแคร์ หรือกลุ่มของคุณหญิงน่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่คุณหญิงจะกลับไปอยู่พรรคเพื่อไทยเหมือนที่กลุ่มแคร์กลับมาสังกัดอีก

ประการต่อมาต้องยอมรับว่าในพรรคเพื่อไทยมีความขัดแย้งในแง่แนวคิดและวิธีปฏิบัติทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม เป็นเรื่องธรรมชาติขององค์กรการเมืองขนาดใหญ่ ดังนั้นแต่ละกลุ่มก็คงไม่มีแนวคิดต่างๆ ที่สอดคล้องกันทั้งหมด โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยในอดีตมีการรวมตัวจากหลายกลุ่มการเมือง หรือเคยมีการควบรวมกับหลายพรรคการเมืองสมัยพรรคไทยรักไทย แต่พรรคนี้ยังไม่มีกลไก เช่น สภานโยบายพรรคเหมือนพรรคแอลดีพีของญี่ปุ่น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจึงไม่มีทางออกนำไปสู่การแยกตัวออกไป

ขณะที่การปรับยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทยควรมีกลไกเพื่อบริหารพรรคที่ดีกว่าปัจจุบัน เนื่องจากพรรคนี้มีพัฒนาการมาจากการรวมกลุ่มทางการเมือง แต่ยังเกาะติดอยู่กับตัวบุคคลเป็นหลัก ในอดีตคือทักษิณ ชินวัตร แต่เมื่อทักษิณถอยห่างออกจากการเมืองไปพอสมควร ทำให้พรรคขาดแกนนำในทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาตำแหน่งในพรรคจึงมีหลากหลาย ทั้งหัวหน้าพรรค ประธานยุทธศาสตร์พรรค ท้ายที่สุดไม่ทราบว่าใครคือแกนนำพรรคตัวจริง พรรคจึงควรวางกลไกเชิงโครงสร้างมากกว่าการยึดติดกับตัวบุคคล การนำต้นแบบจากพรรคแอลดีพีมาใช้ มีกลไกสภานโยบายพรรคจะเป็นคำตอบที่น่าสนใจมาก โอกาสในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ต้องใช้กลไกสภานโยบายเพื่อยกระดับเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีฐานจากมวลชนก็จะมีสูงขึ้นด้วย เพราะสภานโยบายจะมีที่มาจากบุคคลที่หลากหลาย รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่ไม่เป็นสมาชิกพรรค ดังนั้นพรรคควรปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้มีพัฒนาการทางการเมืองที่มั่นคงมีเสถียรภาพ

ส่วนแนวร่วมของพรรคในระยะหลัง จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย อาจไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ถามว่าจะเป็นรอยร้าวของพรรคเพื่อไทยกับ นปช.หรือไม่ เชื่อว่าไม่ได้เกี่ยวข้องในการเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างการเคลื่อนไหวทางสังคมกับพรรคการเมืองในระบบ ขณะที่สนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ มีการเขียนจดหมายมาจากทักษิณ ให้ประชาชนช่วยเลือกตัวแทนผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย การแสดงทัศนะของแกนนำ นปช.เชียร์อีกฝ่าย ต้องแยกเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หรืออาจจะมองได้ว่าเป็นเรื่องของการเมืองระดับชาติด้วย แต่คงไม่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด

พรรคเพื่อไทยปรับโครงสร้างเมื่อไม่กี่เดือนก่อน แต่ในระดับผิวเผินเท่านั้น เปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค ตำแหน่งเลขาธิการพรรค แต่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างหลัก สะท้อนให้เห็นว่าบทบาทของ ส.ส.เขต มีส่วนมากขึ้น และวันนี้ 136 ส.ส.ของพรรคก็มี ส.ส.เขตทั้งหมดที่รักษาสถานการณ์ของพรรคในปัจจุบัน การปรับโครงสร้างจึงต้องตอบสนอง ส.ส.เขต แต่การปรับแบบนี้ไม่พอ สิ่งที่ต้องทำนับจากนี้คือการปรับโครงสร้างพรรคเพื่อจัดตั้งสภานโยบายพรรคจะทำให้พรรคก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน

พรรคเพื่อไทยมีจุดเด่นที่ ส.ส.เขต ส่วนใหญ่มาจากฐานความสัมพันธ์ในระดับพื้นที่ ตระกูลการเมือง โอกาสได้รับชัยชนะมีมากกว่าพรรคอื่น แม้วันนี้ไม่ได้อยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ถ้ามีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยยังมีโอกาสกลับมาอีก แต่สิ่งสำคัญ อาจมีกรณีที่จะทำให้ ส.ส.ย้ายพรรคเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่าการไม่ได้สร้างผลงานให้ประชาชนเห็นในฐานะฝ่ายค้าน

หากในอนาคตการทำหน้าที่ฝ่ายค้านนานๆ โอกาสที่จะมี ส.ส.ย้ายพรรคยังมีความเป็นไปได้ ฉะนั้นพรรคควรสร้างฐานมวลชนให้มีความเข้มแข็งมากกว่าตัวบุคคล ปัจจุบันอยู่ในยุคของการเมืองผันผวนพรรคการเมืองทุกพรรคต้องปรับตัว จะได้เห็นตัวอย่างจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ตั้งมายาวนาน ดังนั้นทุกพรรคต้องตอบสนองต่อบริบทของกติกาตามรัฐธรรมนูญ ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

เหตุผลสำคัญคุณหญิงสุดารัตน์ลาออกไปตั้งพรรคใหม่ เชื่อว่าคงมาถึงจุดแตกหักจากความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนาน แม้จะมีการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลและการช่วงชิงตำแหน่งในพรรค นอกจากนั้น อาจจะมีการส่งสัญญาณถึงทักษิณ หลายฝ่ายยังมีความเชื่อน่ายังมีอิทธิพลเหนือพรรคและอาจมีท่าทีบางอย่างที่ส่งผลให้มีความเปลี่ยนแปลงบุคลากรภายในพรรค หลังเคยปรับโครงสร้างพรรคเมื่อหลายเดือนก่อน

หลังจากนี้มีโอกาสที่ ส.ส.ไหลออกจากพรรค หากประเมินว่า ส.ส.หลายรายคงเห็นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้โดนแรงกดดันหนักจากมวลชนนอกสภา ขณะที่รัฐบาลวางกลไกในการสืบทอดอำนาจเอาไว้ กรณีนี้ผู้ที่เป็นนักการเมืองอาชีพหรือนักธุรกิจการเมืองจะไม่มีท่าทีสนใจอุดมการณ์มากนัก แต่สนใจเรื่องผลประโยชน์จากธุรกิจการเมือง เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดการปัญหาได้ให้สะเด็ดน้ำ ก็เป็นไปได้ที่จะมี ส.ส.ส่วนหนึ่งอาจจะไหลไปสังกัดพรรคของคุณหญิงสุดารัตน์หรือพรรคอื่น

หากติดตามการเลือกนายก อบจ.ทั่วประเทศ พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครนายก อบจ.หลายจังหวัด แต่มีสัญญาณให้เห็นว่าผู้สมัครยังมีฐานคะแนนเป็นรองผู้สมัครในซีกพรรครัฐบาล เมื่อดูการหาเสียง การแสดงท่าทีพบว่าพรรคเพื่อไทยเป็นรองทางการเมือง การเลือกตั้งที่ จ.เชียงใหม่ สะท้อนปัญหาได้ชัดเจน เนื่องจากทักษิณต้องส่งจดหมายเพื่อขอคะแนนเสียง แสดงให้เห็นถึงภาวะถดถอยทางการเมือง หลังจากนี้อาจจะมีผลกระทบกับ ส.ส.เพื่อไทยใน จ.เชียงใหม่ ด้วยหรือไม่ จากความระส่ำระสายภายในพรรคหรืออาจกระทบกับ ส.ส.เขตในภาคอื่น หากผู้สมัครนายก อบจ.ของพรรค ได้รับเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะข้อมูลในทางลับพบว่ามีผู้สมัครบางรายในบางจังหวัดแอบไปรับทรัพยากรในสนับสนุนจากตัวแทนพรรคใหญ่บางพรรคในซีกรัฐบาล

เชื่อว่าหลังจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยจะปรับโครงสร้างอีกครั้ง อย่างน้อยต้องเลิกเน้นความสำคัญของตัวบุคคล หรือกลุ่มการเมืองเก่า ต้องไปเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองแบบใหม่ที่ติดตามปัญหาสาธารณะ การเมืองที่ยืนยันในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ให้เป็นนิวเพื่อไทย รวมทั้งให้โอกาสคนรุ่นใหม่ในพรรคแสดงศักยภาพให้มากขึ้น เพื่อเอาใจกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่

ปัญหาที่น่าสนใจ หากในอนาคตกติกาในรัฐธรรมนูญยังไม่เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ต้องมีการตั้งพรรคการเมืองไว้หลายพรรค ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยมีเพียง ส.ส.เขตเท่านั้น เป็นไปได้ที่คุณหญิงสุดารัตน์อาจจะรับรู้สัญญาณอะไรบางอย่างจึงต้องแตกตัวเพื่อวางรากฐานในการตั้งพรรคเพื่อเข้าร่วมรัฐบาล หรืออาจประเมินว่าพรรคเพื่อไทยไปไม่รอด

ความสัมพันธ์ของคุณหญิงสุดารัตน์คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความใกล้ชิดกับ คสช.อยู่ไม่น้อย ถ้าดูจากบุคคลสำคัญในพรรคเพื่อไทยหรือ นปช.จะเห็นสัญญาณแปลกๆ ตั้งแต่จตุพร พรหมพันธุ์ ตระกูลบูรณุปกรณ์ รวมถึงคุณหญิงสุดารัตน์ มีท่าทีที่มีแนวโน้มจะแยกค่ายอย่างชัดเจน ในโอกาสข้างหน้าหาก พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจไม่ได้ คนกลุ่มนี้ก็อาจมาร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยก็ยังมีความเป็นไปได้ เพราะการอยู่ต่างพรรคอำนาจในการต่อรองอาจจะมีสูงกว่าการสังกัดพรรคเดียวกัน

พินสุดา วงศ์อนันต์
อาจารย์ประจำสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนาศาสตร์ ม.เชียงใหม่

คุณหญิงสุดารัตน์ได้ลาออกเพื่อจัดตั้งพรรคใหม่ ถือเป็นการท้าทายแสวงหาโอกาสทางการเมือง เพื่อตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น เป็นการเอาตัวรอดอย่างชาญฉลาด แต่ส่งผลให้เพื่อไทยกลายเป็นพรรคที่มันสมองไหล เสถียรภาพอ่อนแอลง แต่ไม่ถึงล่มสลาย ถ้าพรรคปรับตัวและโครงสร้างใหม่ยึดโยงกับคนในพรรค เชื่อมโยงประชาชนเป็นสำคัญเพราะการเมืองไทยเปลี่ยนรูปแบบ ประชาชนสนใจและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ใหม่มากกว่าผลิตภัณฑ์เดิม ถ้าไม่ปรับตัวอาจกลายเป็นพรรคเล็กในอนาคตได้

ธรรมชาติของพรรคการเมืองไทยเป็นเรื่องของตัวบุคคล ไม่ใช่การรวมตัวของบุคคลที่มีพื้นฐานมาจากอุดมการณ์ เมื่อผู้นำทางการเมืองไม่อยู่ ไม่ว่าจากเป็นหรือจากตายมักเป็นเช่นนี้มาตลอด ส่วนกลุ่มที่ออกไปตั้งพรรคใหม่ ดูแล้วแทบไม่มีโอกาสฟื้นกลับมาอีกครั้ง หากระบอบ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ยาวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นอกจากคุณหญิงสุดารัตน์แล้ว ยังมีนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตแกนนำเพื่อไทยไปตั้งพรรคเสมอภาค เพื่อหาจุดยืนและพื้นที่การเมืองให้ตัวเอง อีกมุมหนึ่งมองว่า เป็นการส่งเสริมสิทธิสตรีเท่าเทียมกับผู้ชาย เพื่อมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ไม่ถูกจำกัดสิทธิด้านความเท่าเทียม เสมอภาค หรือสถานภาพใดๆ อีกมุมการแยกตัวของคุณหญิงสุดารัตน์อาจเป็นไปได้ว่าใช้ยุทธวิธี สลายตัวเพื่อรวมกันใหม่ โดยแตกเป็นพรรคเล็ก เพื่อรวบรวม ส.ส. จัดตั้งรัฐบาลในอนาคต ต้องรอดูสถานการณ์อีกสักระยะ อาจเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image