‘ศักดิ์สยาม’อัพเดต สถานีกลางบางซื่อ จ่อวิ่งรถไฟฟ้าสายสีแดง

‘ศักดิ์สยาม’อัพเดต สถานีกลางบางซื่อ จ่อวิ่งรถไฟฟ้าสายสีแดง

‘ศักดิ์สยาม’อัพเดต สถานีกลางบางซื่อ จ่อวิ่งรถไฟฟ้าสายสีแดง

หมายเหตุนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ และโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เยี่ยมชม พร้อมทดลองการเดินขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต ในวันที่ 15 ธันวาคม และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2564

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ความพร้อมของโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ในส่วนของงานก่อสร้างดำเนินการแล้วกว่า 99.8% ส่วนงานติดตั้งระบบควบคุมและจัดหาตู้รถไฟฟ้าคืบหน้า 89.1% หลังจากการทดสอบวิ่งในวันที่ 15 ธันวาคมนี้แล้ว เบื้องต้นจะเปิดทดสอบวิ่งเสมือนจริงในเดือนมีนาคม 2564 เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยจะเปิดให้ผู้ใช้บริการลงทะเบียนเพื่อใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงต้นปี 2564 แต่ยังไม่ได้กำหนดเวลาที่ชัดเจนว่าจะวิ่งเวลาใดบ้าง ส่วนในเดือนกรกฎาคม 2564 จะเริ่มมีการทดลองวิ่งแบบกำหนดช่วงเวลาและจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2564

Advertisement

ทั้งนี้ รถไฟสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างย่านใจกลางเมืองกับย่านชานเมืองให้เดินทางถึงกันได้รวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถถ่ายเทผู้โดยสารจากท้องถนนเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะทางรางที่สะดวกและปลอดภัยได้เป็นจำนวนมาก จากสถานีต้นทางบางซื่อถึงสถานีปลายทางรังสิตในระยะเวลา 30 นาที ด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 272,500 คน/วัน ปัจจุบันได้เริ่มวิ่งทดสอบมาระยะหนึ่งแล้ว

ในส่วนของระบบการให้บริการในตัวสถานีกลางบางซื่อ อาทิ ระบบรักษาความปลอดภัย ห้องน้ำ และที่จอดรถ พร้อมให้บริการเรียบร้อยแล้ว โดยภายในสถานีจะครบครันทั้งร้านค้า ศูนย์อาหาร และห้องน้ำไว้บริการ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สร้างห้องน้ำเพิ่มขึ้น ไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนสนามบินสุวรรณภูมิที่เปิดบริการช่วงแรกไม่เพียงพอต่อผู้มาใช้บริการ โดยทั้งสถานีจะมี 713 ห้อง กระจายไปตามชั้นต่างๆ ยกเว้นชั้นชานชาลา

แต่ยังมีในส่วนของระบบการเชื่อมต่อบริเวณทางเดินลอดอุโมงค์บริเวณรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินมายังสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเบื้องต้นได้ข้อยุติแล้วว่า รฟท.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนนี้ตามระเบียบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ระบุไว้ว่าหากจะมีการเชื่อมต่อกับสถานี ผู้ขอเชื่อมต่อจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าจะเปิดทันช่วงเปิดทดลองวิ่งเสมือนจริงในเดือนมีนาคม 2564 แน่นอน

Advertisement

ส่วนระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นที่จะเข้ามาซัพพอร์ตการเดินทางในสถานีกลางบางซื่อ ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้เร่งหารือระบบขนส่งมวลชนทุกโหมดการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่เวลานี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดเตรียมรถโดยสารและวางเส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวกและเชื่อมต่อการเดินทางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้นที่ 2เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟทางไกล และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต) ส่วนชั้นที่ 3 ประกอบด้วยรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ต เรล ลิงก์) รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ สายเหนือ และสายใต้

สถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์รวมการเดินทาง จุดเชื่อมต่อทั้งรถไฟ รถไฟใต้ดิน รถขนส่งสาธารณะต่างๆ พื้นที่โดยรอบยังมีแผนพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่รายล้อมไปด้วยศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน บนที่ดินรวม 2,325 ไร่

ในช่วงแรกการเปิดให้บริการ สถานีกลางบางซื่อ จะทำหน้าที่เป็นเพียงจุดขึ้นลงของรถไฟฟ้าเท่านั้น ยังไม่มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ไว้บริการ ซึ่งในส่วนของเรื่องนี้อยู่ระหว่างรอ รฟท.คัดเลือกเอกชนมาบริหารจัดการพื้นที่สถานีในระยะต่อไป

อีกทั้งการเปิดบริการจะถึงแค่ชั้น 2 ซึ่งเป็นชานชาลารถไฟทางไกลเท่านั้น ส่วนชั้นที่ 3 จะปิดตายรอจนกว่ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีนและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสร้างเสร็จเปิดบริการหลังปี 2568 เป็นต้นไป

ข้อมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เมื่อปี 2552 ได้เสนอปรับกรอบวงเงินลงทุนรวมของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยมีกรอบวงเงินโครงการรวม 93,950 ล้านบาท จากเดิม 75,548 ล้านบาท ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอ โดยเป็นกรอบวงเงินที่ครอบคลุมงานปรับแบบรายละเอียดตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ไว้แล้ว และมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการขยายวงเงินกู้เพิ่มเติมให้ครอบคลุมการปรับกรอบวงเงิน

จะมีการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2564 หรือเป็นเวลากว่า 10 ปี ในการดำเนินงานระบบและงานก่อสร้าง อีกทั้งสถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลาง หรือฮับการเดินทางเชื่อมโยงโครงข่ายในประเทศและภูมิภาค

ขณะเดียวกันต้องขยายกรอบวงเงินอีก 10,345 ล้านบาทเป็นค่างานส่วนเพิ่มที่ครอบคลุมทั้งในสัญญาที่ 1 คืองานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและปรับเขตทางรถไฟ เพื่อให้ครอบคลุมจำนวนราง (Track) ที่มีในโครงการ รวมถึงงานส่วนเพิ่มในสัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 3 ที่เป็นระบบอาณัติสัญญาณด้วย

ส่วนในด้านวงเงินกู้นั้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลังได้รับทราบกรอบวงเงินแล้ว หลังจากที่ไม่สามารถกู้เงินจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ได้ โดย สบน.ระบุว่าจะมีการจัดหาแหล่งเงินกู้ในประเทศหรือต่างประเทศเข้ามารองรับวงเงินดังกล่าว แต่ต้องมีการรายงานที่มาของแหล่งเงินกู้ใหม่ให้ไจก้าทราบด้วย

ส่วนกรณีการขอขยายวงเงินดำเนินงานโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต งานก่อสร้างเพิ่มเติม (วีโอ) ในสัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง เพิ่มเติมประมาณ 10,345 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าภาษีกว่า 3 พันล้านบาท และค่าก่อสร้างกว่า 6 พันล้านบาทนั้น ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาเรื่องข้อกฎหมายและสรุปรายละเอียด คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับการเดินรถแน่นอน

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ดำเนินการโดย รฟท.ระยะทางรวมทั้งหมด 26.3 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นทางยกระดับจากสถานีกลางบางซื่อไปถึงสถานีดอนเมือง แล้วลดระดับลงมาเป็นระดับพื้นดินเมื่อพ้นจากสถานีดอนเมืองไปจนถึงสถานีรังสิต ประกอบไปด้วย 10 สถานีคือ 1.สถานีกลางบางซื่อ 2.สถานีจตุจักร 3.สถานีวัดเสมียนนารี 4.สถานีบางเขน 5.สถานีทุ่งสองห้อง 6.สถานีหลักสี่ 7.สถานีการเคหะ 8.สถานีดอนเมือง 9.สถานีหลักหก 10.สถานีรังสิต เดินทางได้ด้วยความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 3 สาย คือ รถไฟฟ้าใต้ดิน (เอ็มอาร์ที) สายสีน้ำเงินสถานีบางซื่อ สายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก) แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ) ในอนาคตจะมีส่วนต่อขยาย สายสีแดงเข้ม (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-มหาชัย)

ข้อมูลทางเชื่อมต่อ รพ.จุฬาภรณ์-สถานีหลักสี่

โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีหลักสี่จะมีการสร้างทางเชื่อมสกายวอล์กกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นโครงการที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีหนังสือขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงคมนาคมให้จัดสร้างทางเชื่อมจากโรงพยาบาลมายังโครงการระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เพื่อรองรับบุคลากรและผู้รับบริการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการดำเนินการโครงการเฉลิมพระเกียรติ 90 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นอกจากนี้ รฟท.เตรียมงบประมาณ 242 ล้านบาท ในการดำเนินการก่อสร้าง โดยจะก่อสร้างทางเชื่อมหรือสกายวอล์ก ระหว่างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์กับสถานีหลักสี่ ระยะทางประมาณ 720 เมตร ซึ่งเป็นทางเดินเชื่อมที่ยาวที่สุดเท่าที่รถไฟเคยก่อสร้าง สำหรับทางเดินเชื่อมจะมีระยะทางประมาณ 720 เมตร ความกว้าง 4 เมตร สร้างบนความสูงระดับเดียวกับทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยมีจุดสูงที่สุดที่ระดับ 17 เมตร โดยมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟหลักสี่กับศูนย์การค้าไอที สแควร์ โดยหัก 90 องศา ตั้งฉากกับถนนแจ้งวัฒนะ มีสิ่งอำนวยความสะดวกการเปลี่ยนระดับการเดินทาง คือบันไดหลัก 1 ชุด บันไดเลื่อนขึ้นและลงอย่างละ 1 ชุด และลิฟต์สำหรับคนพิการ 1 ชุด เพื่อข้ามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพูและทางยกระดับข้ามถนนวิภาวดีรังสิต และจะมีการเปลี่ยนระดับการเดินทางเชื่อมต่อ
ด้วยบันไดหลัก 1 ชุด บันไดเลื่อนขึ้นและลงอย่างละ 1 ชุด ลิฟต์สำหรับคนพิการ 1 ชุด ที่บริเวณฝั่งด้านทิศใต้

จากนั้นทางเดินเชื่อมจะปรับมุม 90 องศา ไปยังแนวเสาของโครงสร้างทางวิ่งรถไฟชานเมืองสายสีแดง และเลี้ยวเข้าพื้นที่ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อก่อสร้างเป็นจุดขึ้นลงของทางเดินเชื่อม โดยมีจุดขึ้นลงที่ระดับพื้นของทางเดินเชื่อมหรือสกายวอล์ก 2 จุด คือจุดขึ้นลงบริเวณหน้าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประตูเข้า-ออกหมายเลข 3 และหมายเลข 5 โดยจะมีบันไดเลื่อนขึ้น ลิฟต์สำหรับคนพิการ ทางลาดของผู้พิการ และลิฟต์ที่สามารถขนย้ายรถกอล์ฟได้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ให้บริการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image