ชี้การบ้าน‘ฝ่ายค้าน’ เปิดซักฟอก‘รัฐบาล’ยก2

ชี้การบ้าน‘ฝ่ายค้าน’ เปิดซักฟอก‘รัฐบาล’ยก2

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางคนในช่วงต้นปี 2564

บูฆอรี ยีหมะ
นักวิชาการประจำคณะรัฐประศาสตร์ มรภ.สงขลา

Advertisement

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึงปัจจุบัน หากฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายอีกในครั้งต่อไป จะต้องมีประเด็นหรือหลักฐานในการกล่าวหาที่ชัดเจน โดยเฉพาะหากพูดถึงประเด็นการบริหารเศรษฐกิจภาพรวมซึ่งในภาวะถดถอย แต่หลังจากรัฐบาลมีโครงการคนละครึ่งพบว่าประชาชนบางกลุ่มพึงพอใจ สำหรับประเด็นทางการเมือง รัฐบาลพยายามจะคลี่คลาย ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ปัญหามวลชนนอกสภา

ขณะที่ปัญหาการทุจริตเป็นเรื่องสำคัญที่ใช้อภิปรายรัฐบาลได้ทุกยุคทุกสมัย แต่ถ้าไม่เห็นการทุจริตที่ชัดเจน ก็ยากที่ฝ่ายค้านจะสร้างความตระหนักให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ ในที่สุดก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

กรณีที่ตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน 2 พรรคใหญ่ออกมาพูดว่าจะอภิปรายเพื่อพุ่งเป้าไปยังนายกรัฐมนตรี จากการใช้อำนาจในการสั่งการผ่านเอกสารลับบางเรื่องก็ต้องรอดูว่ามีจริงหรือไม่ เพียงพอที่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการนำข้อมูลไปใช้อภิปรายนอกสภาโดยอดีต ส.ส.หญิงของพรรคอนาคตใหม่ ในเรื่องที่เกี่ยวโยงกับนายกรัฐมนตรีของประเทศเพื่อนบ้าน หยิบยกกรณีการทุจริต 1NBD หรืออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินไปนำเสนอ

Advertisement

ขณะนั้นหลายฝ่ายคาดหวังว่าอาจจะทำให้รัฐบาลมีปัญหา แต่สุดท้ายก็ไม่มีผลและไม่มีการรับรู้ของประชาชนในวงกว้าง ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญที่มีความไม่ชอบมาพากจากการถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริตระหว่างประเทศ

สิ่งที่ประชาชนต้องการเห็นในการอภิปรายครั้งต่อไป คงคาดหวังให้ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านนำเรื่องใหม่ๆ ที่ลงลึกถึงปัญหา สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการบริหารงานไปใช้อภิปราย แม้ว่า ส.ส.รัฐบาลจะยกมือให้ผ่านแล้ว แต่ประชาชนจะต้องออกไปเรียกร้องขอให้ยุบสภา หรือมีบุคคลที่ถูกพาดพิงแสดงความรับผิดชอบ แต่ขณะนี้ยังไม่มั่นใจว่าการอภิปรายจะไปถึงจุดนั้นจริงหรือไม่

หรือจะมีการอภิปรายเพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่กระทบกับการใช้สิทธิและเสรีภาพของมวลชน ทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลมีลักษณะการทำงานประเภทปากว่าตาขยิบได้หรือไม่ จากการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด หรือมีการสั่งการอะไรบางอย่างที่เกินขอบเขตของอำนาจหน้าที่

ประเมินว่าการอภิปรายครั้งต่อไป ฝ่ายค้านจะอภิปรายนายกรัฐมนตรี โดยพูดถึงการบริหารงานเป็นหลัก ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ามีรัฐมนตรีบางราย หรือรองนายกรัฐมนตรีบางรายจัดอยู่ในประเภทหมู่บ้านกระสุนตกมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาจะต้องถูกพูดถึง แม้ว่าบุคคลเหล่านั้นอาจจะไม่มีกระแสอะไรที่โดดเด่น หลังการอภิปรายเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งต่อไป ควรจะทำได้ดีกว่าในอดีต ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของรัฐบาล ทำให้ประชาชนเห็นว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่จากการอภิปรายครั้งก่อน หรือมีอะไรที่ทำแล้วยังแย่กว่าเดิม เพราะการอภิปรายคงไม่ได้มีเป้าหมายให้รัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง แต่ฝ่ายค้านต้องการให้รัฐบาลนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแก้ไขในประเด็นที่เคยชี้แนะไว้

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

คิดว่าประชาชนค่อนข้างคาดหวังมากในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปีหน้า เนื่องจากการทำงานของรัฐบาลในปีนี้ มีหลายอย่างที่สังคมตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาเรื่องการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา ปัญหาภาพรวมทั่วๆ ไป ปัญหาในการทำมาหากิน การประกอบอาชีพของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด นี่คือความคาดหวังของประชาชนที่อยากเห็นพรรคฝ่ายค้านติดตามตรวจสอบและอภิปรายในประเด็นเหล่านี้รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นบางโครงการที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะไร้คำตอบมาตลอด โดยเฉพาะการชี้มูลของ ป.ป.ช.ก่อนหน้านี้ ที่บอกว่ารัฐบาลนี้มีการคอร์รัปชั่นหรือความเสียหาย 2 แสนกว่าล้าน

ตัวบุคคลที่จะต้องถูกอภิปราย ได้แก่ 1.รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่รับผิดชอบภาพรวมทางเศรษฐกิจ อาจต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่ 2.รัฐมนตรีที่ดูแลความมั่นคงทางการเมือง 3.นายกรัฐมนตรีที่ดูแลภาพรวมทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการดูแลปัญหาการถูกคอร์รัปชั่น และข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษา ทั้ง 3 ข้อ รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการที่นายกรัฐมนตรีต้องลาออก อีกทั้งการปฏิรูปสถาบัน ประเด็นเหล่านี้ คิดว่าจะต้องถูกอภิปรายจากพรรคฝ่ายค้าน ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านเอง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย อยู่ในภาวะระส่ำระสายพอสมควรในสถานการณ์ช่วงนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าพรรคเพื่อไทยอยากเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส น่าจะใช้โอกาสนี้เปิดพื้นที่ให้ ส.ส. รุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถได้แสดงตัวท่ามกลางวิกฤตของพรรคเพื่อไทย จริงๆ แล้วยังมี ส.ส.ที่มีศักยภาพ ดังนั้น ควรให้ ส.ส.รุ่นใหม่ทำการบ้านให้เต็มที่ เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย อาจกู้ภาพลักษณ์ขึ้นมาได้ สำหรับพรรคก้าวไกล ไม่น่าเป็นกังวล เพราะ ส.ส. เป็นคนรุ่นใหม่ และมีประสบการณ์ด้านนี้พอสมควรอยู่แล้ว

ที่ผ่านมา จะเห็นว่า พรรคก้าวไกลมีความสามารถหาข้อมูลและใช้การสื่อสารผ่านข้อมูล โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย พรรคเพื่อไทยต้องเรียนรู้ประสบการณ์ บทเรียนของพรรคก้าวไกลให้มากๆ ส.ส. ที่จะขึ้นมาเป็นผู้อภิปราย ต้องทำข้อมูลให้มีความน่าสนใจ นำเสนอในรูปแบบที่สื่อสารกับคนได้ทุกกลุ่ม บางครั้ง เมื่อพรรคการเมืองสื่อสาร อาศัยผู้อาวุโส คนที่จะฟังคือคนกลุ่มเดียว คนวัยเดียวกัน ในขณะที่การเมืองเริ่มเปิดพื้นที่กว้างมากขึ้นต้องสื่อสารด้วยภาษาที่ง่าย กระชับ เป็นทางการ เพื่อทำให้ประชาชนกลุ่มอื่นๆ สนใจการเมือง และการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งต่อไปด้วย

พินสุดา วงศ์อนันต์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

กรณีฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลปีหน้า น้ำหนักการอภิปรายขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์และกลยุทธ์สื่อสารที่นำเสนอไปสู่ประชาชนเป็นหลัก โดยเฉพาะตัวบุคคลที่นำเสนอต้องเป็น ส.ส.เกรดเอ หรือดาวรุ่งหน้าใหม่ เพื่อดึงความสนใจ โดยเรียงลำดับความสำคัญการอภิปราย อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่และทุกชนชั้น ปัญหาการเมือง เช่นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และปัญหาการทุจริตที่อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการ เพื่อตีแผ่ให้ประชาชนและสังคมได้รับรู้ ก่อนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีขึ้น

การนำเสนอข้อมูลหรือข้อเท็จจริง ควรเป็นวิทยาศาสตร์ มีเอกสารหลักฐานพยานประกอบ หรือมีใบเสร็จมาแสดงในสภา ไม่ใช่การตีฝีปากหรือโต้คารมกันไปมาเท่านั้น เพื่อให้การอภิปรายดังกล่าวเป็นรูปธรรมหรือจับต้องได้ ไม่ใช่การกล่าวหาแบบเลื่อนลอย ไร้หลักฐาน ที่สำคัญต้องวางน้ำหนักการอภิปรายในช่วงเวลาที่ประชาชนสนใจติดตาม มีแผนผังประกอบ พร้อมชี้แจงข้อมูลหลักฐานให้เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนเกินไป ทำให้ประชาชนใช้วิจารณญานและใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจ เลือกตั้งใหญ่ หรือ ส.ส.สมัยหน้าด้วย

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทุกครั้ง ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังฝ่ายค้านนำเสนอข้อมูล และข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา กระชับได้ใจความ พร้อมเสนอแนะให้ฝ่ายรัฐบาล รับไปพิจารณาแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่ประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนปัญหาการเมือง อาทิ ร่างรัฐธรรมนูญ การชุมนุมของม็อบ ถือว่ามีแรงเขย่าทางสังคมพอสมควรที่ทำให้ประชาชนตื่นตัว เพื่อสร้างความยุติธรรม เท่าเทียม และเสมอภาคไปพร้อมกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม หากทุกฝ่ายยึดผลประโยชน์ประเทศและประชาชนเป็นหลัก เชื่อว่าทุกอย่างมีทางออกภายใต้หลักปรองดอง สมานฉันท์ ไม่แบ่งฝ่าย

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผอ.ศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต

การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นหน้าที่และสิทธิตามรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ปกติทำได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ฝ่ายค้านต้องรอจังหวะและโอกาสให้มีความเหมาะสม ต้องมีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และส่งผลถึงบุคคลที่จะพิจารณาเพื่อตัดสินใจลงมติหรือไม่ ถ้าหากมองจากเสียงของ ส.ส.รัฐบาลในปัจจุบัน หากการอภิปรายไม่มีข้อมูลใหม่ที่สำคัญที่ทำให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเจอแรงกดดัน เพราะการลงมติทุกครั้งก็ทำให้รัฐมนตรีอยู่ต่อไปได้

ดังนั้นปัจจัยสำคัญจึงอยู่ที่การเสาะหาข้อมูลของฝ่ายค้าน จะอภิปรายอย่างไรเพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลคิดว่า เมื่อรับทราบข้อมูลแล้วคงจะอยู่ร่วมกันต่อไปอีกไม่ได้ จะต้องมีการถอนตัวหรือมีการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าชุดข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาใช้จะนำไปสู่การพิจารณาของ ส.ส.รัฐบาลได้มากน้อยเพียงใด

การอภิปรายครั้งต่อไปข้อมูลที่นำไปใช้ต้องเป็นของใหม่ มีความคมชัดในรายะละเอียดที่สะท้อนความล้มเหลว เพราะไม่เช่นนั้นก็คงไม่สามารถทำให้เสียงในสภาที่สนับสนุนรัฐบาลจะมีความหนักใจ หากฝ่ายค้านยังไม่มีข้อมูลใหม่ก็ไม่ควรหวังผลอะไรมากว่าการอภิปรายจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ถ้าให้ประเมินการอภิปราย ถ้าตั้งเป้าเจาะไปที่ตัวบุคคลที่มีพฤติกรรมตามเป้าหมายที่กำหนด จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าการอภิปรายรัฐมนตรีทั้งคณะ เพราะจะทำให้ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลช่วยกันปกป้อง

การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในการอภิปรายครั้งหน้า ไม่ควรทำให้มีการตั้งข้อสังเกตเหมือนการอภิปรายครั้งก่อน เช่น การบริหารเวลา การยกเว้นการไม่อภิปรายรัฐมนตรีบางคน เนื่องจากทำงานร่วมกันควรมีเอกภาพ มีความไว้วางใจซึ่งและกัน มีการกำหนดตัวบุคคล มีการบริหารเวลาในการอภิปรายให้เหมาะสม เนื่องจากเคยมีบทเรียนจากการอภิปรายครั้งก่อน ทำให้เกิดความบาดหมางในพรรคฝ่ายค้าน การอภิปรายครั้งหน้าจึงควรปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

การอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้งในทุกรัฐบาล เป็นเรื่องที่ประชาชนคาดหวังกับการทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุล จึงเป็นภาระของพรรคฝ่ายค้านที่จะต้องทำการบ้าน เพราะเมื่อมีโอกาสอภิปรายแล้วก็ควรทำอย่างเต็มที่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ส่วนตัวเห็นว่าการใช้ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ การที่จะนำหลักฐานไปนำเสนอ เพื่อจะทำให้ฝ่ายของพรรคร่วมรัฐบาลหันมาลงคะแนนเสียงร่วมกับฝ่ายค้านจะเป็นตัวชี้วัดของความสำเร็จ แต่ถ้าข้อมูลดังกล่าวยังไม่มีความหนักแน่น ก็จะเป็นการเสียโอกาสอีกครั้ง

ดังนั้น หากฝ่ายค้านยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่ลงลึกในรายละเอียด ขอแนะนำให้ใช้การอภิปรายโดยไม่ลงมติจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะสามารถใช้ได้ปีละครั้งเช่นกัน โดยเก็บการอภิปรายโดยมีการลงมติไว้ก่อน เพื่อใช้ในโอกาสที่มีความจำเป็นจะเหมาะสมกว่า หากมีข้อมูลดีแม้ว่าจะเสียงของรัฐบาลจะเกินปริ่มน้ำไปมากกก็มีผลกระทบได้ แต่ถ้าใช้ข้อมูลที่ไม่หนักแน่นเพียงพอก็คงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ยาก ส่วนการอภิปรายในครั้งต่อไปจะประสานกับการเคลื่อนไหวของการเมืองนอกสภาด้วยหรือไม่ ต้องรอประเมินในช่วงก่อนที่จะมีการอภิปราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image